รู้ไว้ก่อนที่จะใช้ปัญญาประดิษฐ์ AI เรื่องสุขภาพ
Generative AI ออกมามากมายในช่วงนี้ กลายเป็นที่ปรึกษาคนใหม่ในสารพัดเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ยังต้องระวังกันให้มากคือ การใช้สาระจาก Generative AI ในเรื่องสุขภาพ
คงทราบกันมาบ้างว่าที่ AI ตอบเรามานั้น ความฉลาดของเขาเรียบเรียงมาจากเอกสารมากมายที่มีคนฝึกให้เขาอ่านและทำความเข้าใจ
AI จะตอบได้ดีแค่ไหนนั้น ฝีมือของคนฝึกและความถูกต้องของเอกสารที่ใช้ในการฝึกเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยทราบกันมากนัก บางคนก็เป็นคนใหญ่คนโตมาชวนให้ใช้งาน AI กันอย่างไม่ระมัดระวังกันใหญ่
Google เองก็เตือนไว้เป็นประจำว่า AI เป็นเครื่องมือที่คนใช้ต้องสามารถคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองได้ด้วยว่า แค่ไหนจะเชื่อได้อย่างมั่นใจ แค่ไหนต้องมีการตรวจสอบความจริงเพิ่มเติม
เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อคนสนใจปรึกษาเรื่องสุขภาพกับ Generative AI มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกแห่งหนึ่ง ตระหนักว่ามหาวิทยาลัยเป็นขุมปัญญาที่ต้องมีหน้าที่ใช้ปัญญานั้นช่วยดูแลผู้คน
เลยมีทีมวิจัยทีมหนึ่ง ชื่อว่า Standford’s Internet Observatory ติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง แล้วไปพบว่า ยังมีสาระที่ผิดพลาดเกี่ยวกับสุขภาพ จากสาระที่ AI สร้างขึ้นมา ซึ่งไม่ได้พยายามบอกว่า AI ใช้ไม่ได้ แต่บอกว่า AI ยังถูกฝึกมาดีไม่เพียงพอในบางเรื่อง
การตรวจสอบความจริงเพิ่มเติม ก่อนที่จะเสนอสาระนั้นให้ผู้ใช้ยังไม่มีประสิทธิผลดีพอ ยิ่งถ้าเป็นสาระทางสุขภาพที่เป็นภาษาไทย ซึ่งแม้จะมีมากอยู่ แต่ต้องยอมรับว่า มีสาระจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบความจริง
หากเอกสารภาษาไทยที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบความจริงเหล่านี้ถูกรวมไว้ในการฝึก AI ย่อมมีโอกาสสูงขึ้นที่จะได้สาระที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงจาก AI
เรื่องใดที่ข้อมูลที่ใช้ฝึกมีน้อย และข้อมูลส่วนหนึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขีดความสามารถของ AI ก็จะลดลงไปในเรื่องนั้น แม้จะเป็น AI ตัวเดียวกับที่มีขีดความสามารถสูงมากๆ ในเรื่องอื่น
ถ้าคิดจะใช้ AI หาคำตอบเรื่องสุขภาพ อย่าทำตัวเหมือนคนสิ้นหวังกับการรักษาพยาบาลที่กระทำอยู่ แล้วหันไปแสวงหาทางเลือกใหม่ที่มีคนบอกว่าได้ผล โดยที่ไม่ได้ตรึกตรองให้รอบคอบก่อนว่า ทำไมวิธีใหม่นั้นจึงได้ผล ถ้าทำตัวเช่นนั้น เราจะตั้งคำถามกับ AI ที่ลำเอียงไปทางที่ไม่เป็นจริง
ถ้ามีคนบอกว่า กินหินแล้วจะหายจากโรคนั้นโรคนี้ ในจังหวะที่เรากำลังสิ้นหวัง เราจะไปถาม AI ว่า เราต้องกินหินมากแค่ไหนถึงจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งคำถามลำเอียงทำนองนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้สาระที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
Generative AI จะไปควานหาเอกสารที่จะตอบคำถามนี้ แล้วถ้าไปพบเอกสารบนเน็ตที่บอกว่ากินหินแล้วรักษาโรคได้ ซึ่งเอกสารนี้มีอยู่บนเน็ตจริงๆ เป็นรายงานผลงานวิจัยที่มีขอบเขตจำกัดมากๆ เรื่องหนึ่ง
เราจะได้คำตอบที่ชวนให้เชื่อว่ากินหินแล้วหายเจ็บป่วย ซึ่งไม่จริง ถ้านำไปปฏิบัติ โรคเดิมก็ไม่หาย โรคใหม่อาจมาแทน
ทุกครั้งที่ AI เสนอสาระเกี่ยวกับเงินและสุขภาพ ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่ามีข้อมูลเพิ่มเติมให้เราค้นหาเพื่อยืนยันความจริง
ดังนั้น ก่อนจะทำอะไรตามที่ AI แนะนำ ขอให้ตรวจสอบความจริงจากต้นทางที่ AI อ้างอิงมาให้มั่นใจมากๆ ก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อนไปบอกใครต่อใครให้ทำตามที่ AI บอก โดยที่ตนเองมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นไม่เพียงพอที่จะกลั่นกรองอย่างมั่นใจว่า สาระนั้นไม่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง
ข้อความหนึ่งที่ผู้จัดการทีมวิจัยนี้เขียนขึ้นมา อาจช่วยเตือนใจก่อนการนำสาระที่เกี่ยวกับสุขภาพที่สร้างขึ้นโดย AI ไปใช้ ได้เป็นอย่างดี เธอเขียนไว้ว่า “ Online propagandists can turn lies into reality”
ที่จะมั่นใจได้มากที่สุดหนีไม่พ้นการไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ว่าสาระที่ AI แนะนำมานั้น ดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ต้องเพิ่ง AI อีกว่า ใครคือผู้เชี่ยวชาญ เพราะบ้านเราไม่มีทำเนียบผู้เชี่ยวชาญประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้ เลยถูก AIหลอกซ้ำอีกรอบจนได้ เพราะแนะนำให้ไปถามผู้เชี่ยวชาญตัวปลอม.