"อาหารติดคอ" อันตรายกว่าที่คิด เตรียมพร้อมปฐมพยาบาลอย่างไร?

"อาหารติดคอ" อันตรายกว่าที่คิด เตรียมพร้อมปฐมพยาบาลอย่างไร?

ขอแสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัยกับ “ครอบครัวของน้องอิคคิว เด็กวัย 7 ขวบ” ล้มป่วยกลายเป็นเจ้าชายนิทราหลังจากเกิดเหตุการณ์ "ลูกชิ้นปลาติดคอ" เข้าไปค้างอยู่ที่หลอดลมทำให้หายใจไม่ออก

KEY

POINTS

  • หากอาหารติดคอ จะมีอาการสำลัก หรือมีอาการไออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง หายใจไม่ออก หรือหายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด พูดไม่มีเสียงออกมา หรือพูดได้ลำบาก หายใจเร็วผิดปกติ
  • เมื่อลูกอาหารติดคอ พ่อแม่จะต้องตั้งสติให้ดีๆ รีบช่วยเหลือลูกโดยเร็วที่สุดอย่างถูกวิธี เพราะหากสมองของลูกขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที ก็อาจทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทราตลอดไป
  • วิธีป้องกัน คือ ควรเก็บอาหารชิ้นเล็กๆให้พ้นมือเด็ก สอนให้เด็กเคี้ยวอาหารช้าๆ  ไม่ควรให้เด็กเล็กกินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลม ลื่นและแข็ง  เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก รวมไปถึงปลาที่มีก้าง ผลไม้ที่เม็ด

ขอแสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัยกับ “ครอบครัวของน้องอิคคิว เด็กวัย 7 ขวบ” ล้มป่วยกลายเป็นเจ้าชายนิทราหลังจากเกิดเหตุการณ์ "ลูกชิ้นปลาติดคอ" เข้าไปค้างอยู่ที่หลอดลมทำให้หายใจไม่ออก สมองขาดออกซิเจนไป 3 นาที จนสมองถูกทำลายทำให้น้องไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จากไปอย่างสงบเมื่อเวลา 03.59 น.ที่ผ่านมา

เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตน้องอิคคิว จากกรณีเพียง “อาหารติดคอ” ซึ่งอาการอาหารติดคอแม้จะไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง แต่หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้ รวบรวมอาการเตือนเมื่อลูก เด็กเล็ก เด็กโต หรือคนใกล้ชิด “อาหารติดคอ” รวมถึงวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่ออาหารติดคอ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจาก  “ภาวะทางเดินหายใจ” หรือ “หลอดอาหารถูกอุดกั้น” จากสิ่งแปลกปลอม (choking) เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีความพร้อม ความรู้ความเข้าใจ ในการรับมือและป้องกันเบื้องต้น ก็จะช่วยให้เด็กมีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น หรือหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

8 วิธี กินปลอดภัย ป้องกันอาหารติดคอ พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

แนะกินให้ปลอดภัย แบ่งชิ้นเล็ก พอดีคำ

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อลูก “อาหารติดคอ”

อาการเตือนเมื่อลูกอาหารติดคอ 

  • สำลัก หรือมีอาการไออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
  • หายใจไม่ออก หรือหายใจเสียงดังเหมือนคนเป็นโรคหอบหืด
  • พูดไม่มีเสียงออกมา หรือพูดได้ลำบาก
  • หายใจเร็วผิดปกติ

นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เมื่ออาหารติดคอเด็ก หรือลูกสำลักของติดคอนั้น 

"กรณีเด็กเล็ก" หรือ "น้อยกว่า 1 ปี "ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

  1. กรณีไม่หมดสติ ตรวจดูอาการทางเดินหายใจอุดกั้น เช่น ร้องไม่มีเสียง ไอไม่ออก
  2. จับคว่ำตบหลัง 5 ครั้ง สลับกับนอนหงาย กดหน้าอก 5 ครั้ง
  3. ใช้ฝ่ามือรองเพื่อซัพพอร์ตคอเด็กขณะตบหลัง
  4. ทำซ้ำจนสิ่งแปลกปลอมออกมา
  5. กรณีหมดสติ ให้ทำปฏิบัติการกู้ชีพ ขอความช่วยเหลือ ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมค่อยดึงเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา ทำการปฏิบัติการกู้ชีพจนความช่วยเหลือมาถึง

\"อาหารติดคอ\" อันตรายกว่าที่คิด เตรียมพร้อมปฐมพยาบาลอย่างไร?

ส่วน "กรณีเด็กโต" ให้ปฎิบัติ ดังต่อไปนี้

  1. กรณีไม่หมดสติ ถามว่าพูดได้ไหม ให้ลงมือช่วยเมื่อเห็นว่า พูดไม่มีเสียง
  2. รัดกระตุกที่ท้อง เหนือสะดือใต้ลิ้นปี (Abdominal Thrust)
  3. ทำซ้ำจนสิ่งแปลกปลอมออกมา
  4. กรณีหมดสติ ให้ทำปฏิบัติการกู้ชีพ และขอความช่วยเหลือ
  5. ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอมค่อยดึงเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา
  6. ทำการปฏิบัติการชีพจนความช่วยเหลือมาถึง

ป้องกันอาหารติดคอในเด็กได้อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม หากลูกมีอาการอาหารติดคอ  สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยลูกจากภาวะฉุกเฉินดังกล่าวนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องตั้งสติให้ดีๆ รีบช่วยเหลือลูกโดยเร็วที่สุดอย่างถูกวิธี เพราะหากสมองของลูกขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที ก็อาจทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทราตลอดไป

วิธีป้องกัน…ไม่ให้อาหารติดคอ

  • เก็บอาหารชิ้นเล็กๆ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด ลูกอม ข้าวโพดคั่ว องุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ ฯลฯ ให้พ้นมือเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการที่เด็กอาจจะหยิบกินโดยที่ไม่ได้อยู่ในสายตาและความดูแลของพ่อแม่
  • ควรสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่กินอาหารขณะนอนราบ รวมถึงไม่ให้พูดหัวเราะ หรือวิ่งเล่นขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก
  • ไม่ควรให้เด็กเล็กกินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลม ลื่นและแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก รวมไปถึงปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ที่ติดกระดูก และผลไม้ที่มีเม็ดขนาดเล็ก ควรเอาเม็ดออกพร้อมตัดแบ่งเป็นคำเล็กพอที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ เนื่องจากเม็ดของผลไม้มีความลื่นและมีโอกาสหลุดเข้าหลอดลมได้ง่าย

ช่วยเหลือผู้สูงอายุสำลักอาหาร-อาหารติดคอ

  • หากผู้สูงอายุเริ่มแสดงอาการทรมาน ไม่สามารถส่งเสียงได้ ลองทุบหลังตรงระหว่างไหล่ทั้งสองข้างก่อน 5 ครั้ง ด้วยแรงพอประมาณ หากอาหารยังลงไปไม่ลึกมาก อาจจะออกมาทางปากได้
  • หากอาหารยังไม่ออกมา ให้เข้าทางด้านหลังของผู้ป่วย โอบผู้สูงอายุจากทางด้านหลัง เอามือประสานกัน กดไปที่หน้าอก ยกผู้สูงอายุเล็กน้อยแล้วเขย่าตัวเพื่อให้ผู้สูงอายุสำลักอาหารออกมา ทั้งหมดนี้ควรรีบทำภายใน 3-5 นาทีที่แสดงอาการ เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้
  • หากผู้สูงอายุมีอาการหายใจไม่ได้ พูดไม่ออก ให้จับผู้สูงอายุนอนหงายบนพื้น เปิดทางเดินหายใจ ยกปลายคางขึ้น และ อีกมือหนึ่งกดหน้าผากลง เป่าปากเพื่อช่วยในการหายใจ 
  • ถ้าลองเป่าปากแล้วหน้าอกไม่ยกขึ้น ให้ใช้มือกดที่ท้อง ในท่านอนหงาย 6-10 ครั้ง
  • หากผู้สูงอายุยังคงรู้สึกตัว พูดได้ และหายใจได้ตามปกติ แต่ยังรู้สึกว่ามีอาหารติดคออยู่ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

อ้างอิง: โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 ,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  , มูลนิธิหมอชาวบ้าน