รู้จัก 'โรคเบาจืด' คืออะไร? แตกต่างหรือเหมือน 'โรคเบาหวาน'

รู้จัก 'โรคเบาจืด' คืออะไร? แตกต่างหรือเหมือน 'โรคเบาหวาน'

หากเอ่ยคำว่า “โรคเบาจืด” เชื่อว่าหลายๆ คนคงสงสัยว่ามีโรคนี้ด้วยหรือ? เพราะทุกครั้งที่ได้ยินคำว่าโรคเบา.... ขึ้นมาทุกคนจะชินกับคำว่า “โรคเบาหวาน” มากกว่า

KEY

POINTS

  • โรคเบาจืดเป็นโรคที่สามารถพบได้ทุกวัย แม้พบได้น้อยมาก โดย 1 แสนคน จะพบผู้ป่วยเพียง 3-4 รายเท่านั้น แต่โรคเบาจืดเป็นโรคที่ไม่มียารักษาให้หายขาด ต้องกินยาไปตลอดชีวิต
  • สังเกตอาการโรคเบาจืด จะปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะครั้งละมากๆ ปัสสาวะมักไม่มีสี หรือกลิ่น กระหายน้ำบ่อย อ่อนเพลีย ปากแห้ง คอแห้ง เป็นตะคริวง่าย ปวดหัว เวียนหัว หน้ามืด และปวดบริเวณเอว ท้องน้อย 
  • หากสงสัยว่าเป็นโรคเบาจืดควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เพราะภาวะเบาจืดอาจเป็นอาการของโรคทางสมอง โรคเลือด หรือความผิดปกติแต่กำเนิดบางอย่างได้

หากเอ่ยคำว่า “โรคเบาจืด” เชื่อว่าหลายๆ คนคงสงสัยว่ามีโรคนี้ด้วยหรือ? เพราะทุกครั้งที่ได้ยินคำว่าโรคเบา.... ขึ้นมาทุกคนจะชินกับคำว่า “โรคเบาหวาน” มากกว่า ซึ่งโรคเบาจืดแม้จะเป็นโรคที่พบได้น้อยในหมู่ของคนทั่วไป แต่ขึ้นชื่อว่าโรค ย่อมอันตรายร้ายแรงที่จะต้องระวังไม่แพ้โรคอื่นๆ

โรคเบาจืด (Diabetes Insipidus)” คือ โรคที่เกิดจากร่างกายสูญเสียการควบคุมสมดุลของน้ำ ส่งผลให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมามากกว่าปกติ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือสมองส่วนไฮโปธาลามัสจากสาเหตุต่างๆ เช่น การติดเชื้อ เนื้องอกต่อมใต้สมอง การผ่าตัดหรือการบาดเจ็บบริเวณต่อมใต้สมอง ทำให้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) มาควบคุมการปัสสาวะได้ตามปกติ  ความผิดปกติของระบบการทำงานของไต ทำให้ไตไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

ในปัจจุบันยังไม่มีสถิติชัดเจนว่า พบผู้ป่วยโรคเบาจืดจำนวนเท่าใด ยกเว้นในกลุ่มเด็กที่สามารถพบได้เพียง 3-4 ราย ใน 1 แสนคน แต่หากเป็นโรคนี้ต้องได้รับการดูแลรักษาโรค เพราะต้องกินยาตลอดชีวิต ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ตื่นบ่อย ปัสสาวะบ่อย' กลางดึก ปัญหากวนใจ ที่ไม่ควรละเลย

"เบาหวาน" ปัญหาสุขภาพคนไทย ที่อันตรายไม่เบา

"โรคเบาจืด" เป็นแล้วรักษาไม่หายขาด ต้องกินยาตลอดชีวิต

นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ ประธานที่ปรึกษา สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราช ชนนี (สบยช.) ได้ให้สัมภาษณ์  ว่า โรคเบาจืดเป็นโรคที่สามารถพบได้ทุกวัย แม้พบได้น้อยมาก โดย 1 แสนคน จะพบผู้ป่วยเพียง 3-4 รายเท่านั้น แต่โรคเบาจืดเป็นโรคที่ไม่มียารักษาให้หายขาด ต้องกินยาไปตลอดชีวิต

โรคเบาจืดมีสาเหตุหลักมาจากความผิดปกติ “ฮอร์โมนวาร์โซเพรสซิน (Vasopressin)” ซึ่งเป็นฮอร์โมนควบคุมการขับปัสสาวะ โดยจะทำงานอยู่ในสมองส่วนไฮโปทาลามัส  ฮอร์โมนวาร์โซเพรสซินทำหน้าที่สั่งการให้ไตกักเก็บสารน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย และควบคุมการขับปัสสาวะให้เป็นปกติ เมื่อฮอร์โมนวาร์โซเพรสซินผิดปกติ หรือผลิตน้อยกว่าความจำเป็นของร่างกายจะทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ ซึ่งก็คือ การเริ่มต้นของโรคเบาจืดนั่นเอง

รู้จัก \'โรคเบาจืด\' คืออะไร? แตกต่างหรือเหมือน \'โรคเบาหวาน\'

สังเกตอาการของโรคเบาจืด

  • จะปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะครั้งละมากๆ  มักปัสสาวะมากกว่า 3 ลิตรต่อวัน บางรายอาจปัสสาวะมากกว่า 10 ลิตรต่อวัน
  • ปัสสาวะมักไม่มีสี หรือกลิ่น เมื่อร่างกายเสียน้ำไปมาก
  • ผู้ป่วยจะกระหายน้ำบ่อย กระหายน้ำตลอดเวลาแม้ว่าจะดื่มน้ำไปในปริมาณมาก
  • อ่อนเพลีย ปากแห้ง คอแห้ง เนื่องจากการสูญเสียน้ำ
  • หากดื่มน้ำทดแทนส่วนที่เสียไปไม่ทันหรือไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวง่าย
  • ปวดหัว เวียนหัว หน้ามืด
  • มีอาการสับสน มีไข้สูง
  • ซึม ไม่รู้สึกตัว และช็อก หรือหมดสติ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย
  • ปวดบริเวณเอว ท้องน้อย เนื่องจากการคั่งของปัสสาวะบริเวณท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้อวัยวะดังกล่าวโตขึ้น

“สาเหตุหลักของโรคเกิดจากร่างกายไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนออกมาได้ เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณใกล้ต่อมใต้สมอง มีผลแทรกซ้อนตามมาทำให้เกิดโรคเบาจืด และไตผิดปกติแต่กำเนิด โดยเมื่อแรกเกิดมักไม่ค่อยแสดงอาการของโรคเบาจืด แต่จะแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 1-3 ขวบ หรือพบในบางรายเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว”

รู้จักประเภทของโรคเบาจืด

โรคเบาจืดสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง

โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Central Diabetes Insipidus) เป็นประเภทของโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส หรือต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) จนไปสั่งการให้ฮอร์โมนวาร์โซเพรสซินกระตุ้นให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยขึ้น

โรคเบาจืดชนิดนี้สามารถเป็นอาการแทรกซ้อนได้จากสาเหตุต่อไปนี้

  • เจ็บศีรษะและอาจเกิดเนื้องอกที่สมอง
  • ภาวะสมองบวม
  • ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (aneurysm)
  • เป็นโรคมะเร็งชนิดเซลล์เม็ดเลือดขาวผิดปกติ (Langerhans cell histiocytosis)

2. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต

โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic diabetes insipidus) เป็นประเภทของโรคเบาจืดที่เกิดจากไตไม่ตอบสนองการสั่งการของฮอร์โมนวาร์โซเพรสซิน และดึงเอาสารน้ำออกไปจากกระแสเลือดมากเกินไป

โรคเบาจืดชนิดนี้สามารถเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
  • ภาวะแคลเซียมสูงในกระแสเลือด
  • ภาวะโพแทสเซียมต่ำในกระแสเลือด
  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ลิเทียม (Litium)

3. โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติในการกระหายน้ำ

โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติในการกระหายน้ำ (Dipsogenic diabetes insipidus) เป็นประเภทของโรคเบาจืดที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถควบคุมความกระหายน้ำได้ และไปลดปริมาณฮอร์โมนวาร์โซเพรสซินในร่างกาย อาจเกิดได้จากปัจจัยดังนี้

  • การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • การมีเนื้องอก
  • การติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย
  • การศัลยกรรม

4. โรคเบาจืดที่เกิดจากการตั้งครรภ์

โรคเบาจืดที่เกิดจากการตั้งครรภ์ (Gestational diabetes insipidus) เป็นประเภทของโรคเบาจืดที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์

  • สาเหตุของโรคเบาจืดชนิดนี้ เกิดจากรกเด็กซึ่งทำหน้าที่ส่งออกซิเจนและอาหารเลี้ยงทารกได้สร้างเอนไซม์ที่ลดปริมาณฮอร์โมนวาร์โซเพรสซิน และไปลดการตอบสนองของไตต่อฮอร์โมนตัวนี้ โดยปกติโรคนี้จะหายได้เองหลังจากคลอดบุตรแล้ว

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาจืด

หากไม่รีบรักษาโรคเบาจืดตั้งแต่เนิ่นๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนบางประเภทได้ เช่น

  • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) เพราะการปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
  • ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ (Electrolyte imbalance) โดยจะมีอาการหลักๆ คือ ปวดศีรษะ อ่อนเพลียตลอดเวลา ปวดเมื่อยตามตัว
  • นอนไม่พอ (Less sleep) เนื่องจากอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturia) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการของโรคเบาจืด

โรคเบาจืดวินิจฉัยอย่างไร ?

หากมีอาการเบื้องต้นที่สงสัยโรคเบาจืด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะถามประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจปัสสาวะ การทดสอบทางฮอร์โมน การตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองในกรณีสงสัยความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือสมองส่วนไฮโปธาลามัส

ดูแลและการป้องกันเมื่อเป็นโรคเบาจืด

วิธีการรักษาและปฏิบัติตัวที่สำคัญของผู้ที่เป็นโรคเบาจืด คือ

  • ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ถ้าอยู่ในที่อากาศร้อนจัด ร่างกายต้องสูญเสียน้ำไปทางผิวหนังมาก
  • คนไข้ที่มีอาการท้องเดิน ท้องเสีย ต้องพยายามทดแทนโดยการดื่มน้ำเปล่าให้มาก
  • สังเกตว่า ตนเองปัสสาวะปกติดีหรือไม่ แล้วมีอาการเจ็บ หรือแสบขัดระหว่างปัสสาวะหรือเปล่า โดยโดยปกติคนเราจะปัสสาวะประมาณวันละ 4-8 ครั้งต่อวัน
  •  หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะอาหารที่เค็มจัดจะมีเกลือมาก ร่างกายจะขับเกลือออกมาทางไตและออกมากับปัสสาวะ เป็นสาเหตุให้ร่างกายถูกดึงน้ำออกไป จึงทำให้ขาดน้ำมากขึ้น
  • ใช้ยาตามแพทย์สั่งให้ครบและตรงเวลาสม่ำเสมอห้ามหยุดยาหรืองดยาไปเอง เพราะโรคนี้จำเป็นต้องใช้ยาควบคุมเสมอ
  • ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม โรคเบาจืดมักเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ผู้ป่วยต้องใช้ยาฮอร์โมนทดแทนตลอดชีวิต หากสงสัยว่าอาจเป็นโรคเบาจืดควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป เนื่องจากภาวะเบาจืดอาจเป็นอาการของโรคทางสมอง โรคเลือด หรือความผิดปกติแต่กำเนิดบางอย่างได้

อ้างอิง:สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี , hdmal , โรงพยาบาลสินแพทย์