“ดื่มน้ำ“เพียงพอมีประโยชน์ ดื่มน้ำมากเกินไป ระวัง!น้ำเป็นพิษ
ทุกคนต่างทราบดีว่า การดื่มน้ำให้เพียงพอแต่ละวันย่อมเป็นผลดีต่อร่างกาย ต่อสุขภาพ แต่รู้หรือไม่? หากดื่มน้ำมากเกินไปกลับกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย ดื่มน้ำมากไป ก็ไม่เวิร์ค ดื่มน้อยไปก็แย่ แล้วในแต่ละวันเราต้องดื่มน้ำปริมาณเท่าใด…
KEY
POINTS
- การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพอย่างมาก โดยผู้ชายควรดื่มน้ำไม่เกิน 3.7 ลิตรต่อวัน ผู้หญิงควรดื่มน้ำไม่เกิน 2.7 ลิตรต่อวัน
- ภาวะน้ำเป็นพิษ(Water intoxication) เป็นภาวะที่ร่างกายสะสมน้ำไว้มากเกินไป จนส่งผลให้มีโซเดียมในเลือดต่ำ ทั่วไปมักเป็นภาวะที่ก่ออาการผิดปกติเฉียบพลัน
- ดื่มน้ำในปริมาณที่สมดุลกับความต้องการของร่างกายและกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ไม่ดื่มน้ำมากเกินไป โดยสังเกตุได้จากสีปัสสาวะที่จางมากจนใสใกล้เคียงกับสีน้ำดื่ม
ทุกคนต่างทราบดีว่า การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวันย่อมเป็นผลดีต่อร่างกาย ต่อสุขภาพ แต่รู้หรือไม่? หากดื่มน้ำมากเกินไปกลับกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย ดื่มน้ำมากไป ก็ไม่เวิร์ค ดื่มน้อยไปก็แย่ แล้วในแต่ละวันเราต้องดื่มน้ำปริมาณเท่าใด…
“การดื่มน้ำ” มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เพราะร่างกายของคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ 70 ในเลือดมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 92 ในสมองมีน้ำเป็นองค์ประกอบร้อยละ 85
ทำให้คนเราต้องการน้ำตกวันละประมาณ 2–3 ลิตร โดยจะมีการขับน้ำออกจากร่างกายในลักษณะของปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ และลมหายใจ ซึ่งจะขับออกทางปัสสาวะวันละประมาณครึ่งลิตร ถึง 2.3 ลิตร
ถ้าร่างกายขาดน้ำ หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือดื่มน้ำมากเกินไป ล้วนก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ดื่ม ‘น้ำ’ อย่างไรให้ผิวสวยสู้ ‘หน้าร้อน’
เปิด 10 จุดเติมน้ำฟรี ดื่มน้ำฟรี ดับร้อนทั่วกรุง ลดพลาสติก คนกรุงเทพฯ เช็กเลย
ดื่มน้ำมาก ระวังภาวะน้ำเป็นพิษ
ภาวะน้ำเป็นพิษ(Water intoxication) คือภาวะที่ร่างกายสะสมน้ำไว้มากเกินไป จนส่งผลให้มีโซเดียมในเลือดต่ำ ทั่วไปมักเป็นภาวะที่ก่ออาการผิดปกติเฉียบพลัน โดยอาจจากการดื่มน้ำ บริโภคน้ำมากเกินไป หรือจากการที่ร่างกายสะสมน้ำมากขึ้นๆ หรือไม่สามารถกำจัดน้ำออกจากร่างกายได้ในอัตราปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการ เหนื่อย ปวดศีรษะ ทรงตัวไม่ได้/เซ สับสน อาจคลื่นไส้ อาเจียน และถ้าอาการรุนแรงจะ ชัก โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
ภาวะน้ำเป็นพิษ เป็นภาวะพบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่ไม่มีรายงานสถิติเกิดที่แน่ชัดเพราะมักแยกรายงานตามแต่ละสาเหตุซึ่งมีได้หลากหลายสาเหตุ เป็นภาวะพบใน ทุกวัยแต่พบสูงขึ้นในผู้สุงอายุจากการมีโรคประจำตัวหลายโรคที่ทำให้ขีดความสามารถในการกำจัดน้ำของร่างกายลดลง เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ และพบในผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายเล็กน้อย
ทั้งนี้ ชื่ออื่นของน้ำเป็นพิษ คือ Water poisoning หรือ Water toxemia หรือ Hyperhydration หรือ Overhydration หรือ Dilutional hyponatremia
ปัจจัยเสี่ยงเกิด “ภาวะน้ำเป็นพิษ”
ภาวะน้ำเป็นพิษมีปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ จากบริโภคน้ำสูงเกินความต้องการของร่างกาย และ/หรือ จากร่างกายมีการสะสมน้ำ และ/หรือกำจัดน้ำออกจากร่างกายทางไต/ทางปัสสาวะได้น้อยกว่าปกติ
ปัจจัยเสี่ยงที่ร่างกายได้รับน้ำสูงเกินความต้องการ: ที่พบบ่อย ได้แก่
- เด็กอ่อน โดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 9เดือน
ร่างกายเด็กอ่อนมีน้ำเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงอยู่แล้ว คือประมาณ 75% จึงเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำเป็นพิษจาก เด็กบริโภคน้ำมากเกินไป รวมทั้งร่างกายเด็กยังเก็บสะสมโซเดียมได้น้อยจึงเสี่ยงที่จะมีโซเดียมในเลือดต่ำได้ง่าย
- นักกีฬาประเภทที่ออกแรง/ใช้กำลังมาก
เช่น วิ่งมาราธอน ไตรกีฬา แข่งจักรยาน แข่งเรือพาย นักกีฬากลุ่มนี้จะกระหายน้ำมาก เพราะร่างกายจะเสียน้ำทางเหงื่อมาก จึงมักมีการดื่มน้ำระหว่างการแข่งขันสูงเกินปกติ
- การเสียเหงื่อมากสาเหตุที่ไม่ใช่จากกีฬา
เช่น คนทำงานประเภทใช้แรงมาก ออกแดดจัด หรือการบริโภคยาบางประเภท(เช่น ยากลุ่ม MDMA) ซึ่งการเสียเหงื่อมากจะเสียโซเดียมทางเหงื่อมากขึ้น รวมถึงกระหายน้ำมาก จึงดื่นน้ำเพิ่มมากขึ้น
- ผู้ป่วยทางจิตเวช
ผู้ป่วยทางจิตเวชหลายกลุ่ม จะมีพฤติกรรมที่ดื่มน้ำมากตลอดเวลาทั้งจำนวนและปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละครั้ง จนส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ
- ผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่กินอาหารทางปากไม่ได้/ได้น้อย
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับอาหารและน้ำดื่มจากท่อให้อาหาร และ/หรือร่วมกับการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำได้ง่าย เพราะอาหารประเภทดังกล่าวจะมีโซเดียมต่ำกว่าอาหารปกติทั่วไป
สาเหตุร่างกายสะสมน้ำในร่างกาย -กำจัดน้ำได้น้อยกว่าปกติ
- ผู้มีโรคประจำตัว
ได้แก่ โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ ซึ่งโรคต่างๆดังกล่าวเป็นโรคที่ส่งผลให้ร่างกายมีการสะสมน้ำในร่างกายมากขึ้น
- ผู้สูงอายุ
เพราะเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวต่างๆที่ส่งผลให้มีการสะสมน้ำในร่างกายสูงเกินปกติ เช่น โรคดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ”โรคประจำตัว”
อาการเมื่อเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ
- อาการที่พบได้จากภาวะน้ำเป็นพิษ ได้แก่
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดศีรษะ
- ท้องเสีย
- อ่อนเพลีย
- ถ้าอาการรุนแรงขึ้น จะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก เป็นตะคริว
- ถ้าอาการยิ่งรุนแรงขึ้นอีก จะมีอาการทางสมอง เช่น สับสน ชัก โคม่า และเสียชีวิตได้
เมื่อเซลล์เกิดการบวมน้ำ จะเกิดอาการดังนี้
- สับสน มึนงง
- ปวดศีรษะ
- ง่วงซึม
- ริมฝีปาก มือ และเท้า มีอาการบวม
ระดับแร่ธาตุในร่างกายลดลงผิดปกติ จะเกิดอาการดังนี้
- เกร็งของกล้ามเนื้อหรือตะคริว
- เกิดอาการชัก
- สูญเสียการรับรู้
- การเสียชีวิตได้
สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยภาวะน้ำเป็นพิษเสียชีวิต คือ การเกิด ภาวะสมองบวม ที่เกิดจากมีการสะสมน้ำมากในร่างกาย ส่งผลให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำมากและต่ำกว่าในเซลลทั่วร่างกายโดยเฉพาะเซลล์สมอง การมีโซเดียมที่เป็นตัวอุ้มน้ำนี้ต่ำ จะส่งผลให้น้ำในเลือดที่อยู่นอกเซลล์ซึมเข้าสู่ในเซลล์ ส่งผลต่อเนื่องให้เซลล์เกิดการบวมน้ำ หรือกรณีของสมอง ก็คือ เกิดภาวะสมองบวม ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการ ปวดศีรษะรุนแรง ชัก โคม่า และอาจเสียชีวิตในที่สุดถ้าแพทย์แก้ไขภาวะสมองบวมได้ไม่ทัน
ดื่มน้ำมากเกินไปจะเกิดผลเสียอย่างไร
- โซเดียมต่ำกว่าปกติ
ค่าปกติของโซเดียมในร่างกายนั้นจะอยู่ที่ 135-145 mEg/L.
แต่ถ้าหากดื่มน้ำมากเกินไปร่างกายเสียสมดุล โดยค่าของโซเดียมนั้นจะอยู่ต่ำกว่า 135 mEq/L นี่คือภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
อาการของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำมักจะมีอาการสับสนเพียงเล็กน้อย หรือการเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ หากมีอาการรุนแรงจะมีความรู้สึกง่วงนอน และไม่รู้สึกตัวในที่สุด
- เซลล์บวม
ในร่างกายของมนุษย์จะมีโซเดียม และโพแทสเซียมไอออนที่ทำหน้าที่เป็นอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย และรักษาสมดุลของเหลว ระหว่างเซลล์ และเลือด หากดื่มน้ำมากเกินไปน้ำก็จะเข้าไปในเซลล์ ทำให้เซลล์บวมมากขึ้น จะมีอาการปวดศีรษะ ชัก และไม่รู้สึกตัว มีความเสี่ยงในการเสียชีวิต
- กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
เมื่อร่างกายเสียสมดุลจากการดื่มน้ำมากเกินไป กล้ามเนื้อจะเกิดการหดเกร็ง และเป็นตะคริวในที่สุด
- ไตทำงานหนัก
หากดื่มน้ำครั้งละมากๆ ไตจะกรองน้ำส่วนเกินออกจากเลือดอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรัง และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
- หัวใจทำงานหนัก
เมื่อดื่มน้ำเข้าไปในร่างกาย ลำไส้เล็กจะทำการออสโมซิส (Osmosis) น้ำไปในกระแสเลือด เมื่อปริมาณน้ำเข้าสู่ร่างกายเยอะ ปริมาตรเลือดก็เพิ่มสูงขึ้น หัวใจจึงต้องทำงานหนัก สามารถเกิดอาการชักได้
- โพแทสเซียมต่ำกว่าปกติ
เมื่อได้รับน้ำมากเกินไป ทำให้ระดับของโพแทสเซียมในร่างกายต่ำลง ทำให้ความดันโลหิตต่ำ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตได้
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
หากไตทำงานหนักขึ้น ร่างกายจะมีความรู้สึก อ่อนเพลีย และเหนื่อยได้เช่นกัน
ดื่มน้ำให้เหมาะสมกับร่างกาย
ใน 1 วัน เราควรดื่มน้ำเท่าไรถึงจะเหมาะสมดีต่อร่างกาย
ร่างกายของเราแต่ละคน ต้องการปริมาณน้ำไม่เท่ากัน แล้วควรดื่มน้ำเท่าไร? เรามีวิธีการคำนวณปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่ละวัน โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวของเราเอง
น้ำหนัก (กิโลกรัม) x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำ(มล.)
เช่น น้ำหนักตัว 55 x 2.2 x 30/2 = 1,815 มล. หรือ 1.8 ลิตร
- ผู้ชายควรดื่มน้ำไม่เกิน 3.7 ลิตรต่อวัน
- ผู้หญิงควรดื่มน้ำไม่เกิน 2.7 ลิตรต่อวัน
ควรจิบน้ำทีละน้อยตลอดทั้งวัน
หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำทีละมากๆ ในเวลาสั้นๆ
นอกจากการดื่มน้ำแล้ว การปัสสาวะก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ปกติแล้วควรปัสสาวะทุกๆ 3-4 ชั่วโมง ใน 1 วัน และสีปัสสาวะต้องเป็นสีเหลืองอ่อนๆ หากมีการปัสสาวะน้อยกว่า 3-4 ครั้ง ต่อวัน และปัสสาวะเป็นสีเข้ม แสดงว่าร่างกายได้รับน้ำน้อยจนเกินไป หากมีการปัสสาวะมากกว่า 6–8 ครั้งต่อวัน และปัสสาวะมีสีใส แสดงว่าร่างกายได้รับน้ำมากเกินไป
ดูแลตนเองเมื่อมีภาวะน้ำเป็นพิษ
ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง ไม่ขาดยา
- กินอาหารที่มีโซเดียมสูงขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์
- รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
- ไม่ใช้ยาอื่นๆนอกเหนือคำสั่งแพทย์/ ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ เพื่อลด/โอกาสเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากยา
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
ป้องกันภาวะน้ำเป็นพิษได้อย่างไร?
สามารถป้องกันภาวะน้ำเป็นพิษได้โดย
- ดื่มน้ำ/วันในปริมาณที่สมดุลกับความต้องการของร่างกายและกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ไม่ดื่มน้ำมากเกินไปที่สังเกตุได้จากสีปัสสาวะที่จางมากจนใสใกล้เคียงกับสีน้ำดื่ม
- เมื่อมีกิจกรรมที่ เสี่ยเหงื่อ เสียน้ำมาก เช่น จากกีฬาที่ต้องใช้แรงมาก ควรต้องดื่มน้ำเกลือแร่/เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา เพื่อคงสมดุลของโซเดียมในเลือดเสมอ
- เมื่อมีโรคประจำตัวที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณน้ำ/วันที่เหมาะสมกับตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นอย่างเคร่งครัด
- ป้องกัน ควบคุม ดูแลรักษา โรคประจำตัวต่างๆให้ได้ดี เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ เช่น โรคตับ โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ รวมถึงจะช่วยลดการบริโภคยาต่างๆที่ผลข้างเคียงของยานั้นๆอาจส่งผลให้มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
- ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ เมื่อซื้อยาใช้เอง ต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ เพื่อป้องกัน/ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่างๆจากยา
เมื่อไหร่ควรรีบไปพบแพทย์
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ "อาการ" ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยภาวะน้ำเป็นพิษได้จากการวินิจฉัยทางคลินิก ที่สำคัญ คือ ประวัติอาการ ประวัติการทำกิจกรรม การงาน/อาชีพ ก่อนเกิดอาการ การใช้ยาต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน และในอดีต โรคประจำตัว และการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจมีการตรวจเลือดดูค่าโซเดียมเพื่อยืนยันภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
การตรวจปัสสาวะดูค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะ นอกจากนั้นอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น การตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือดกรณีผู้ป่วยมีประวัติโรคเบาหวาน การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของไตกรณีสงสัยสาเหตุมาจากโรคไต เป็นต้น
รักษาภาวะน้ำเป็นพิษอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะน้ำเป็นพิษได้แก่ การลดปริมาณน้ำในร่างกายร่วมกับการเพิ่มปริมาณโซเดียมในเลือด: ได้แก่
- การจำกัดปริมาณน้ำดื่ม/วันตามคำสั่งแพทย์
- การให้อาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารรสเค็ม
- การให้ยาขับปัสสาวะ/ยาขับน้ำ
- การให้ยาเพิ่มโซเดียม กรณีมีโซเดียมในเลือดต่ำมาก ซึ่งอาจเป็นยารับประทาน เช่น ยาเม็ดSodium chloride หรือยาให้ทางหลอดเลือดดำกรณีโซเดียมในเลือดต่ำมากๆ เช่น การให้สารละลายSodium chloride
การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามสาเหตุ เช่น การรักษา/ควบคุม โรคหัวใจ หัวใจวาย โรคเบาหวาน โรคไต ไตวาย โรคตับ หรือ ตับวาย (อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของแต่ละโรคที่รวมถึง การรักษาได้จากเว็บ haamor.com) หรือการหยุดยาที่เป็นสาเหตุ กรณีสาเหตุเกิดจากผลข้างเคียงของยานั้นๆ เป็นต้น
การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น การให้ยาแก้ปวดศีรษะกรณีปวดศีรษะรุนแรง การให้ยากันชัก/ยาควบคุมอาการชักกรณีมีอาการชัก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำอย่างเพียงพอในแต่ละวันจะช่วยให้ไตทำงานได้ดี และช่วยให้ตับกำจัดไขมันได้อย่างเต็มที่ โดยไต คืออวัยวะที่หลายคนไม่ค่อยนึกถึง แต่มันกลับต้องทำหน้าที่สำคัญในการกำจัดสารพิษต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเกิดจากกระบวนการทำงานภายในเซลล์ เช่น ยูเรีย และกรดยูริก ดูดสารอาหารที่มีประโยชน์กลับคืนเข้าสู่ร่างกาย เช่น กลูโคส กรดอะมิโน ฯลฯ
อ้างอิง :หาหมอ.com ,โรงพยาบาลศิครินทร์ ,โรงพยาบาลเพชรเวช