จริงหรือไม่? ชัวร์หรือมั่ว!! “ดื่มน้ำที่เก็บไว้ในรถนานๆ” เสียชีวิต

จริงหรือไม่? ชัวร์หรือมั่ว!! “ดื่มน้ำที่เก็บไว้ในรถนานๆ” เสียชีวิต

ผ่านพ้น “วันแห่งการดื่มน้ำ”  6 มิถุนายน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมเภสัชกรของคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เห็นการดื่มน้ำที่มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

KEY

POINTS

  • “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” ได้ทำการทดลองนำขวดน้ำดื่มทิ้งไว้ในรถที่จอดตากแดด ซึ่งเมื่อนำน้ำมาตรวจสอบไม่พบสารก่อมะเร็ง 
  • น้ำขวดพลาสติกที่ยังไม่เปิดดื่ม ทิ้งตากแดดในรถดื่มได้ไม่อันตราย แต่ถ้าเปิดแล้วควรดื่มให้หมด เก็บไว้ดื่มอาจป่วยเพราะเชื้อโรคที่เล็ดลอดเข้าไปในขวดได้
  • การผลิตขวดน้ำดื่มพลาสติกทั้งชนิด PET, PPและ PC ไม่ได้มีการใช้สารไดออกซินและสารทาเลต ดังนั้น จึงไม่มีโอกาสปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้

ผ่านพ้น “วันแห่งการดื่มน้ำ”  6 มิถุนายน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมเภสัชกรของคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เห็นการดื่มน้ำที่มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อร่างกาย และเพื่อทดสอบคุณภาพของน้ำประปาในกรุงโตเกียวเพื่อให้ได้มาตรฐานที่ดีต่อสุขภาพ

หลาย ๆคน คงเคยสงสัย หรือค้นหาคำตอบว่า “การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่ตั้งไวในรถนานๆ หรือ วางตากแดดไว้นานๆ อาจจะทำให้เกิดโรคมะเร็งได้”จริงหรือไม่ แล้วทำไม..ถึงมองว่าเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญต่างบอกว่า การดื่มน้ำมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“ดื่มน้ำ“เพียงพอมีประโยชน์ ดื่มน้ำมากเกินไป ระวัง!น้ำเป็นพิษ

"วัยทำงาน" ควร "ดื่มน้ำ" เยอะแค่ไหน? ดื่มมากไประวังภาวะ "สมองบวมน้ำ"

ยันดื่มน้ำเก็บไว้นาน ตากแดดไม่ก่อสารก่อมะเร็ง

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” ได้ทำการทดลองนำขวดน้ำดื่มทิ้งไว้ในรถที่จอดตากแดด เมื่อนำน้ำมาตรวจสอบ ปรากฏว่า ไม่พบสารก่อมะเร็ง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อแบคทีเรียปะปนในน้ำที่ถูกเปิดดื่มแล้ว และวางตากแดดในรถ เพราะขวดน้ำดื่มที่เปิดแล้วแต่ดื่มไม่หมด มีโอกาสเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคมากกว่า ดังนั้นน้ำดื่มที่เปิดแล้วควรดื่มให้หมดในวันเดียว

ส่วนที่ว่าสารก่อมะเร็งจากภาชนะพลาสติก เมื่อถูกความร้อนจากแดดอาจละลายปนเปื้อนในน้ำ ข้อนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของขวดน้ำดื่ม ว่าต้องผลิตจากพลาสติก PET (พลาสติกใส มองทะลุได้) ซึ่งไม่มีสารก่อมะเร็ง และทนความร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 60-95 องศาเซลเซียส

ขวดน้ำพวกนี้ก็ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะอาจมีแบคทีเรียตกค้างในขวด หากนำมาใส่น้ำหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ก็จะเกิดการปนเปื้อนได้เหมือนกัน

"น้ำขวดพลาสติกที่ยังไม่เปิดดื่ม ทิ้งตากแดดในรถดื่มได้ไม่อันตราย แต่ถ้าเปิดแล้วควรดื่มให้หมด เก็บไว้ดื่มวันต่อๆ ไปอาจป่วยเพราะเชื้อโรคที่เล็ดลอดเข้าไปในขวดได้"

จริงหรือไม่? ชัวร์หรือมั่ว!! “ดื่มน้ำที่เก็บไว้ในรถนานๆ” เสียชีวิต

ขวดน้ำดื่มพลาสติกไม่มีโอกาสปนเปื้อนสารพิษ

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้ออกมายืนยันว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมเผยแพร่ว่า ในความเป็นจริงแล้วการผลิตขวดน้ำดื่มพลาสติกทั้งชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate; PET)  พอลิพรอพิลีน (Polypropylene; PP)  และพอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate; PC)  ไม่ได้มีการใช้สารไดออกซินและสารทาเลต ดังนั้น จึงไม่มีโอกาสปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้

สำหรับสารบีสฟีนอลเอ ถึงแม้ว่าจะมีการใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกชนิดพอลิคาร์บอเนต (polycarbonate; PC) แต่ อย. มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานของภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากพลาสติกชนิดต่าง ๆ ไว้แล้ว

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 435) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ที่จำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์ด้านความปลอดภัย เช่น ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร  ควบคุมปริมาณการแพร่กระจายของโลหะหนัก ควบคุมปริมาณการแพร่กระจายของสารตั้งต้นและสารที่ใช้ในการผลิตพลาสติก เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตน้ำบริโภคบรรจุขวด ต้องใช้ภาชนะบรรจุที่มีคุณภาพหรือมาตรฐานเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด

อีกทั้ง ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการตรวจพบสารไดออกซินในพลาสติก และยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าในที่อุณหภูมิสูงนั้นสารเคมีต่าง ๆ ที่ละลายออกมาจากขวดพลาสติกจะทำปฏิกิริยาจนเกิดเป็นสารไดออกซินได้

ที่ผ่านมาพบเพียงบางงานวิจัยเท่านั้นที่พบว่าขวดน้ำดื่มพลาสติกที่ตั้งไว้ในที่อุณหภูมิสูงเกิน 60 องศาเซลเซียส นานเป็นเวลาเกิน 11 เดือน จะทำให้สารทาเลต ละลายออกมาเกินมาตรฐานที่อียู(EU) กำหนดไว้ สรุปดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่วางตากแดดไว้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดเป็นมะเร็ง ไม่เป็นความจริง ดังนั้นผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าการดื่มน้ำจากขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เก็บในรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือที่ถูกวางตากแดดไว้เป็นระยะเวลานานนั้นไม่ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ต่อร่างกาย

จริงหรือไม่? ชัวร์หรือมั่ว!! “ดื่มน้ำที่เก็บไว้ในรถนานๆ” เสียชีวิต

ข้อมูลมั่ว ดื่มน้ำจากรถที่จอดนานๆ ไม่อันตราย

จากเพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ระบุว่า “พวกข่าวปลอม-ข้อมูลมั่ว เก่าๆ สร้างความหวาดกลัวเกี่ยวกับการ "ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก ในรถที่จอดตากแดด" นั้น วนเวียนกลับมาเรื่อยๆ โดยที่อาจจะเปลี่ยนชื่อสารเคมีที่อ้างว่ามีปนเปื้อนอยู่ในน้ำ แล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพ !?

ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง!! ทั้งที่หน่วยงานทางสาธารณสุข ก็ออกมาชี้แจงกันหลายครั้ง  อย่าง ทางศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เคยให้ข้อมูล อ้างอิงจากสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่า น้ำดื่มจากขวดน้ำไม่ว่าจะเป็นขวดขาวขุ่นหรือขวดใส (ขวดใส่ ผลิตจากสาร PET หรือที่เรียกกันว่าขวดเพ็ต ส่วนขวดสีขาวขุ่นผลิตจากสารพีอีหรือโพลีเอทิลีน) จำนวน 18 ยี่ห้อที่ถูกตากแดดทิ้งไว้ในรถเป็นเวลา 1 และ 7 วัน ไม่พบว่ามีสารไดออกซิน แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า สามารถดื่มน้ำบรรจุขวดได้อย่างปลอดภัยไร้สารก่อมะเร็งอย่างแน่นอน

ล่าสุด ขนาดเพจของโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ยังเอาเรื่องนี้มาเผยแพร่ โดยอ้างว่า ขวดน้ำดื่มที่ทำจากพลาสติกประเภทโพลีคาร์บอเนต จะมีการแพร่สารบิสฟีนอล เอ (Bisphenol A) ออกมามากกว่าปกติถึง 55 เท่าเมื่อใส่น้ำร้อน จึงไม่ควรนำขวดน้ำพลาสติกทิ้งไว้ให้โดดแดดหรือใช้กับน้ำร้อน และขวดพลาสติก เพท (PET) ก็อาจมีการปนเปื้อนของสารอะซิทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) !?

ให้ข้อมูลแบบนั้น มันทำให้คนเข้าใจผิด และหวาดกลัวเกินเหตุ เกี่ยวกับ "น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก" (ตามรูปที่เพจโรงพยาบาล นำมาประกอบ) เนื่องจาก น้ำดื่มบรรจุขวดที่เราใช้กัน จะเป็นขวด PET ไม่ใช่ขวด polycarbonate จึงไม่ได้มีสาร BPA อยู่ ไม่ได้จะกลัวเรื่องฮอร์โมนอะไรทำนองนั้น (ที่เค้ากังวลกัน ก็มีแค่ขวดนมเด็กทารก ที่รณรงค์ให้ใช้แบบ BPA-free)

และสาร อะซิทัลดีไฮด์ ที่อาจจะออกจากขวด PET ได้จริงนั้น ก็มาจากการตกค้างในกระบวนการผลิตขวดและมีปริมาณที่เคยตรวจพบน้อยมากๆ ซึ่งมีผลเสียเพียงแค่ทำเกิดกลิ่นแปลกๆ คล้ายผลไม้ในขวด ... อะซิทัลดีไฮด์ นั้นเจอตามธรรมชาติอยู่แล้ว ในผลไม้และอาหารต่างๆ และต้องได้รับเป็นปริมาณมากๆ จริงๆ ถึงจะต้องกังวลต่อสุขภาพ (จาก https://foodinsight.org/chemicals-in-food-two-that-arent)

จริงหรือไม่? ชัวร์หรือมั่ว!! “ดื่มน้ำที่เก็บไว้ในรถนานๆ” เสียชีวิต

สรุปความรู้เรื่อง "ขวด PET บรรจุน้ำดื่ม”

1. ขวดพลาสติกที่ใช้บรรจุน้ำดื่มจำหน่ายในประเทศไทยนั้น มักจะมี 2 แบบคือ ขวดสีขาวขุ่นและขวดใสไม่มีสี โดยพวกขวดขุ่นนั้น จะทำจากพลาสติกชนิดโพลีเอทีลีน (PE หรือ polyethylene หรือ PE) ส่วนขวดใส จะทำจากพลาสติกชนิดโพลีเอธิลีน เทเรพธาเลต  (polyethylene terephthalate หรือ PET) ซึ่งพบว่า ปัจจุบัน พวกขวด PET จะเป็นที่นิยมใช้มากกว่าขวด PE

2. ขวด PET ที่นิยมใช้เป็นขวดใสใส่น้ำดื่มหรือเครื่องดื่มต่างๆ นั้น ถูกผลิตมาให้เป็นขวดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่สามารถนำมากลับมารีไซเคิลได้ โดยเมื่อดูที่ก้นขวด มักจะเห็นเครื่องหมายลูกศร วนเป็นสามเหลี่ยมนั่น มีเลข 1 อยู่ตรงกลาง หมายถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นเป็นชนิด PET

3. ความที่มีหลายคนนิยมเก็บขวดน้ำดื่มเอาไว้ในรถ ซึ่งบางครั้งต้องไปจอดตากแดดทั้งวันจนมีอากาศร้อนจัด  ทำให้เกิดข่าวลือข่าวมั่วทำนองที่ว่า อุณหภูมิที่สูงมากในรถจะทำให้สารเคมีที่อยู่ในขวดพลาสติกออกมาปนเปื้อนในน้ำ เช่น สาร BPA และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ส่งผลต่อความผิดปรกติของพันธุกรรม เป็นโรคมะเร็งได้

4. สาร BPA (หรือ bisphenal A) นั้น แม้ว่าจะเป็นสารที่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนเพศ และมีความกังวลกันว่าอาจจะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ถ้าได้รับเข้าไปมาก แต่ความจริงแล้ว มันไม่ได้เป็นองค์ประกอบของพลาสติกที่มาทำเป็นขวด PET แต่อย่างไร ... สาร BPA นี้ ส่วนมากใช้ยารอยต่อของโลหะของกระป๋องอาหาร และใช้ผลิตพลาสติกพวกโพลีคาร์บอเนต (polycarbonate หรือ PC) และเคยนำมาใช้ในการผลิตเป็นขวดนมเด็กทารก แต่ปัจจุบันได้มีการรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ผลิตภาชนะสำหรับเด็กทารกไปแล้ว

5.1 นอกจากสาร BPA  ก็ยังมีสารเคมีตัวอื่นที่แชร์กันว่าออกมาจากขวด PET อีกเช่น สารไดออกซิน (dionxin) และสารพีซีบี PCB ดังนั้นโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ทำการทดลองนำน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกที่จําหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาเก็ต จํานวน 18 ยี่ห้อ ไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน

5.2 จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่ม Dionxin จํานวน 17 ตัว และ PCB จํานวน 18 ตัว โดยใช้เทคนิคขั้นสูง Isotope Dilution และวัดปริมาณด้วยเครื่องมือ High Resolution Gas Chromatography/High Resolution Mass Spectrometry ... ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบ สารประกอบกลุ่ม Dionxin และ PCB ในทุกตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด (ดู https://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news.php?names=08...)

6. จริงๆ แล้ว สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบของขวด PET และอาจจะมีออกมาจากพลาสติกชนิดนี้ได้นั้น ก็มีอยู่บ้าง ตัวอย่างเช่น สารอะซิทอลดีไฮด์ (acetaldehyde) แต่มีปริมาณน้อยมาก และไม่น่าจะเป็นกังวล โดยสารอะซิทอลดีไฮด์นี้ แค่อาจจะทำให้น้ำเปล่าในขวดมีกลิ่นที่ไม่น่าดื่ม (ดู https://en.wikipedia.org/wiki/Polyethylene_terephthalate)

7. สารอีก 2 ตัว ที่มีคนกังวลเช่นกันว่าอาจจะปนเปื้อนมาในน้ำดื่มได้ เมื่อขวดนั้นถูกตากแดดทิ้งไว้ โดนความร้อนเป็นเวลายาวนาน คือ สารธาเลต (phthalate) และสาร พลวง (antimony) ... แต่จากงานวิจัยในอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 2012 พบว่า ถ้าจะให้ระดับของสารเหล่านี้ละลายออกมาอยู่ในน้ำดื่มบรรจุขวด จนเกินมาตรฐานที่อียูกำหนดไว้นั้น ขวดน้ำดังกล่าวจะต้องตั้งไว้ในที่อุณหภูมิสูงเกิน 60 องศาเซลเซียส นานเป็นเวลาเกิน 11 เดือน (ดูรายละเอียด  https://en.wikipedia.org/wiki/Polyethylene_terephthalate...)

8. ในประเทศไทยนั้น มาตรฐานของขวด PET ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ ระบุว่าต้องทนต่อความร้อนจัดตั้งแต่ 60 ถึง 95 องศาเซลเซียสได้ โดยเคยมีการสุ่มตรวจขวดน้ำ PET กว่า 10 บริษัท และพบว่า ปริมาณของสารต่างๆ ที่ละลายออกมานั้น ไม่ได้สูงเกินมาตรฐาน (http://dmsc2.dmsc.moph.go.th/.../VARITY/recycle_plastic.htm)

9. อย่างไรก็ตาม จากการที่ขวด PET ถูกออกแบบมาให้ใช้เพียงแค่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ดังนั้น การที่บางคนนิยมนำมาใส่น้ำบริโภคซ้ำๆ หลายครั้ง ทางกระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้ทำตาม ซึ่งเหตุผลไม่ใช่การกลัวว่าจะมีสารเคมีละลายออกมาจากการใช้ขวดซ้ำ แต่เป็นเพราะว่าอาจจะมีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่างๆ ตกค้าง ถ้าล้างทำความสะอาดไม่ดีพอก่อนที่จะใส่น้ำลงไปใหม่ (โดยเฉพาะบริเวณปากขวดนั้น ถ้าล้างไม่สะอาด อาจกลายเป็นที่สะสมเชื้อโรคได้)

10. บางคนบอกว่า เก็บขวดน้ำดื่มที่ดื่มแล้วบางส่วน ไว้ในรถที่จอดตากแดด เมื่อกลับมาดื่มใหม่วันหลัง พบว่ามีกลิ่นเหม็นเกิดขึ้นในน้ำ เป็นกลิ่นจากสารเคมีออกมาหรือเปล่า ? คำตอบคือไม่ใช่ แต่เป็นกลิ่นที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากของเรา ปนลงไปอยู่ในน้ำ และเจริญเติบโตพร้อมกับสร้างกลิ่นขึ้น พูดง่ายๆก็คือกลิ่นปากเรานั้นเอง 55

สรุป : น้ำดื่มที่บรรจุขวด PET และเก็บในรถที่จอดตากแดดนั้น ไม่ได้อันตราย ไม่ได้มีสารก่อมะเร็งปนเปื้อน ตัวของขวด PET เอง ก็สามารถเก็บน้ำดื่มไว้ได้นานถ้ายังไม่ได้เปิดขวด (แต่ก็ควรจัดเก็บในที่ที่ไม่ร้อน ไม่ใช่เอาไปตากแดดไว้เวลาหลายเดือน) และถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ควรเอามาใช้ซ้ำ

อ้างอิง: GCCJS100FunPartyเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ