'ไวรัสตับอักเสบ' ต้นเหตุของ 'มะเร็งตับ'
รู้เท่าทัน "ไวรัสตับอักเสบ" หนึ่งในสาเหตุหลักของโรคมะเร็งตับ หลังพบผู้เสียชีวิตจากไวรัสตับอักเสบมากกว่า 3,500 รายในแต่ละวัน แบ่งเป็นไวรัสตับอักเสบบี 83% ไวรัสตับอักเสบซี 17% และยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้เป็น "วันตับอักเสบโลก" (World Hepatitis Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคตับอักเสบ และรับรู้ถึงวิธีการป้องกันตนเองจาก ไวรัสตับอักเสบ ได้อย่างถูกต้อง
โดยผลสำรวจปี 2566 จากสมาพันธ์ตับอักเสบโลก พบว่า คนทั่วโลกเกือบครึ่งหนึ่ง 42% ไม่ทราบว่า ไวรัสตับอักเสบเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของ โรคมะเร็งตับ ขณะที่เกือบสามในสี่ หรือ 74% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า การได้รับรู้ว่าตับอักเสบเป็นสาเหตุของมะเร็งตับ ทำให้มีแนวโน้มที่จะเข้ารับการตรวจมากขึ้น และมากกว่าสี่ในห้า หรือ 82% มีแนวโน้มที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้น
ทั้งนี้ ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีมากกว่า 350 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.1 ล้านคนในแต่ละปี และภายในปี พ.ศ. 2583 คาดว่าผู้เสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบจะสูงกว่าผู้เสียชีวิตจากเอชไอวี มาลาเรีย และวัณโรครวมกัน
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ระบุว่า ขณะนี้กำลังมีผู้คนที่เสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบมากกว่า 3,500 รายในแต่ละวัน แบ่งเป็นไวรัสตับอักเสบบี 83% และไวรัสตับอักเสบซี 17% และยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยรายงานที่เผยแพร่ก่อนการประชุมสุดยอดไวรัสตับอักเสบโลกในโปรตุเกส อ้างอิงจากการรวบรวมข้อมูลใหม่ของ 187 ประเทศ โดยแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสตับอักเสบเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านคนในปี 2565 เพิ่มจาก 1.1 ล้านคนในปี 2562
รู้เท่าทัน "โรคไวรัสตับอักเสบ"
ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (วันที่ 4 มีนาคม 2567) พบว่า ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีรายใหม่ มีจำนวน 2,202 ราย
พญ.สุรีย์พร ศันสนีย์วิทยกุล แพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและตับ รพ.เจ้าพระยา กล่าวว่า "ตับ" เป็นอวัยวะสำคัญที่อยู่ในช่องท้องด้านขวา ทำหน้าที่สังเคราะห์สารอาหาร ช่วยขับสารพิษและยาออกจากร่างกาย ซึ่ง ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) คือการที่ตับมีอาการอักเสบและติดเชื้อ
หากพูดถึงไวรัสตับอักเสบ คนส่วนใหญ่คงคุ้นหูกับ "โรคไวรัสตับอักเสบบี" เพราะพบบ่อยในไทย และประเทศเพื่อนบ้านอย่าง AEC แต่ความจริงแล้วไวรัสตับอักเสบมีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี ซึ่งไวรัสตับอักเสบดีและอี พบได้น้อยมากในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามโรคไวรัสตับอักเสบบางชนิด ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ จึงควรได้รับการตรวจรักษาเพื่อป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว
ระวัง! ไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด แพร่เชื้อได้
"ไวรัสตับอักเสบเอ" สามารถแพร่เชื้อได้ดังนี้
- ติดจากการรับประทานอาหารจากผู้ป่วย
- การล้างมือไม่สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ
- ดื่มน้ำที่มีเชื้อแฝงอยู่
- ติดต่อทางน้ำลายได้ (ติดจากการกินเป็นส่วนใหญ่)
อาการของผู้ป่วย ไวรัสตับอักเสบเอ มักเป็นแบบเฉียบพลันคือ เป็นไข้ตัวร้อนนำมาก่อน และต่อมาจะมีร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แน่นบริเวณชายโครงด้านขวา ท้องร่วง อุจจาระสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม และมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง
"ไวรัสตับอักเสบบี" สามารถแพร่เชื้อได้ดังนี้
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
- การใช้เข็มฉีดยา เข็มสักตามตัว และการเจาะหู รวมถึงของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน และที่ตัดเล็บร่วมกับผู้อื่น
- การติดเชื้อขณะคลอดจากแม่ที่มีเชื้อ (ถ้าแม่มีเชื้อลูกมีโอกาสได้รับเชื้อ 90%)
- การสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล
ไวรัสตับอักเสบบี ไม่ติดต่อทางลมหายใจ อาหารหรือน้ำดื่ม แม่ที่มีเชื้อสามารถถ่ายทอดให้ลูกทางน้ำนมได้แต่เปอร์เซ็นต์น้อย และการจูบกัน (ถ้าปากไม่มีแผล)
เช็กให้ชัวร์ อาการไวรัสตับอักเสบ
พญ.สุรีย์พร กล่าวต่อว่า สำหรับอาการผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีนั้น แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
- ระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 1-4 เดือน หลังติดเชื้อ มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องด้านชายโครงขวา อาการอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เป็นผื่น ปวดข้อ อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันจะดีขึ้นใน 3-4 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ ซึ่งมักใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน แต่ผู้ป่วยส่วนน้อย (5-10%) ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด ทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
- ระยะเรื้อรัง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- พาหะ คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกายในปริมาณน้อย ซึ่งผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ดังนั้นการแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่ผู้ป่วยที่เป็นพาหะผลการตรวจเลือดจะพบค่าการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- อักเสบเรื้อรัง คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกายในปริมาณมาก และตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ (การติดเชื้อแบบเรื้อรังมักพบบ่อยในเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด) กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับสูง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ แต่ในบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียหรือเบื่ออาหาร
พญ.สุรีย์พร กล่าวต่อไปว่า ส่วนอาการ ไวรัสตับอักเสบซี นั้น ส่วนใหญ่มากกว่า 90% สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือผลิตภัณฑ์จากเลือด หรือส่วนน้อยติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการให้นมบุตร และการไอ จามรดกัน โดยผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีมักเป็นแบบเรื้อรังมากกว่าเฉียบพลัน และผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง จนกว่าจะเริ่มกลายเป็นตับแข็ง อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจะมีอาการคล้ายกันคือ ตัวเหลือง ตาเหลือง (หรือที่เรียกกันว่าดีซ่าน) มีปัสสาวะสีเข้ม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดชายโครงขวา ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ
ป้องกันลดเสี่ยงติดไวรัสตับอักเสบ
แพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเจ้าพระยา กล่าวต่อไปว่า การที่จะแยกว่าอาการตับอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใด ต้องทำการตรวจร่างกายโดยอายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกัน ภูมิที่แสดงถึงการติดเชื้อต่อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ และสามารถป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้ โดยการไม่นำตัวเองไปเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามที่กล่าวมาข้างต้น และฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไว้รัสตับอักเสบชนิดต่างๆ
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการเจาะ การสักผิวหนัง การใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น การสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน ผู้ที่มีคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือความเสี่ยงดังกล่าว ควรได้รับการตรวจเลือดหา HBsAg ว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ และตรวจ Anti-HBs เพื่อหาภูมิต้านทาน เนื่องจากผู้ติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ ระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ จึงควรได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังควรได้รับการรักษาและเข้าถึงระบบบริการสุขภาพตามมาตรฐาน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับ
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเจ้าพระยา ได้มีการจัดทำ โปรแกรมค้นหาไวรัสตับอักเสบและโปรแกรมวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามหรือศึกษารายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยา หรือโทร. 02-884-7000
ข้อมูลอ้างอิง