ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด รู้ไว้ให้ห่างความยุ่งยาก
ถ้าท่านเป็นคนชอบกระทำสิ่งที่สุ่มเสี่ยงต่อชีวิตและชื่อเสียงของตนเอง จากการขับรถหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ก็ควรข้ามข้อเขียนนี้ไป
แต่หากท่านเป็นคนชอบดื่มหรือต้องดื่มบ้างเเละไม่อยากมีปัญหา มีความรับผิดชอบต่อสังคม ข้อเขียนนี้น่าจะเป็นประโยชน์เพราะพยายามไขข้อข้องใจหลายอย่าง
เช่น เขาวัดแอลกอฮอล์ในเลือดด้วยหน่วยอะไร (น่างุนงงมากที่เป็นทั้งเปอร์เซ็นต์ และมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ระดับไหนถึงจะผิดกฎหมาย และแต่ละระดับแอลกอฮอร์ในเลือดมีผลต่อร่างกายอย่างไร และดื่มเพียงใดจึงจะไม่เกิดปัญหา โดยไม่ทำร้ายตนเอง และผู้อื่น
ในทางเศรษฐศาสตร์มีคำว่าผลกระทบภายนอก (externality) ซึ่งหมายถึงผลกระทบที่มีต่อบุคคลภายนอก (ผู้ถูกกระทำ) ทั้งในด้านบวกและลบจากการบริโภคหรือการผลิตของบุคคลหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น การสูบบุหรี่สร้างผลกระทบภายนอกด้านลบแก่คนอื่นที่ต้องสูดควันพิษเข้าไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คนสูบมีความสุขแต่ไปสร้างความทุกข์ให้ผู้ถูกกระทำ
การขับรถภายใต้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ก็คล้ายกัน ถ้าขับรถตกถนนลงคูน้ำตายไปโดยไม่เป็นผลร้ายต่อผู้อื่นก็ไม่เข้าประเด็นนี้ แต่ถ้าทำให้คนอื่นบาดเจ็บ พิการหรือตาย หรือชนเสาไฟฟ้าจนบริเวณแถวนั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ (อาหารและยาในตู้เย็นเสีย คนป่วยไข้ที่มีเครื่องประคองชีวิตซึ่งอาศัยไฟฟ้ามีปัญหา โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กผลิตไม่ได้) ก็เกิดผลกระทบภายนอกด้านลบต่อผู้อื่น
และด้วยเหตุนี้จึงมีความชอบธรรมที่ภาครัฐจะควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ โดยมีโทษทางกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำเช่นว่าขึ้น
ข้อสังเกตอันหนึ่งก็คือผลกระทบภายนอกด้านบวกมักเกี่ยวพันกับเรื่องดี ๆ การสร้างคุณค่า การทำความดี คุณธรรม ฯลฯ ในขณะที่ด้านลบมักเกี่ยวกับเรื่องการทำลายล้าง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับอบายมุข (ดื่มสุราและเสพของมึนเมา ใช้ชีวิตเที่ยวไปอย่างไร้สาระ เล่นการพนัน และคบคนชั่วเป็นมิตร)
ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood Alcohol Concentration___BAC) ซึ่งเป็นสาเหตุของการมึนเมาและปัญหาในการควบคุมร่างกายยามขับรถ ยิ่งมีมากก็ยิ่งเป็นปัญหามากนั้นวัดได้โดย
(ก) ผ่านลมหายใจ ใช้การทดสอบแบบ Breathalyzer เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป มันจะเข้าไปในเส้นเลือด และไปยังปอด เครื่องชนิดนี้ใช้ปฏิกิริยาทางเคมี และการตรวจรังสีอินฟราเรดเพื่อวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด
(ข) ตรวจเลือดโดยตรงว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด
(ค) ตรวจปัสสาวะ ถึงแม้จะแม่นยำน้อยที่สุดแต่ก็สะดวก
(ง) ตรวจน้ำลายนั้นมักไม่ใช้กัน ที่ใช้กันมากที่สุดคือตรวจจากลมหายใจ
หน่วยที่วัด BAC คือ “เปอร์เซ็นต์” และมักกำกับคำว่า “มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์” ไว้ด้วย
“เปอร์เซ็นต์” ในที่นี้คือปริมาณของแอลกอฮอล์ ซึ่งวัดเป็นน้ำหนักในปริมาณเลือด 100 ซี.ซี (c.c) หรือ milliliters (ml) ซึ่ง c.c และ ml หมายถึงสิ่งเดียวกันคือ 1 ลูกบาศก์เซ็นติเมตร (กว้าง / ยาว และสูง 1 ซ.ม.) ดังนั้น 0.05% (50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) หมายถึงมีขนาดแอลกอฮอล์อยู่ 0.05% ในเลือด 100 ซี.ซี. หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่ามีแอลกอฮอล์อยู่หนัก 50 มิลลิกรัมในเลือด 100 ซี.ซี.( หนึ่งกรัมเท่ากับ 1,000 มิลลิกรัม ดังนั้น .05 % ของกรัมจึงเท่ากับ 50 มิลลิกรัม)
ตัวเลข 0.05% นี้ ไม่ใช่ 5% ไม่ใช่ 0.5% ซึ่งคือครึ่งหนึ่งของ 1 เปอร์เซ็นต์ หากเป็น 0.05% ซึ่งน้อยลงไปอีก 10 เท่า อย่าลืมว่าเลือดทั้งตัวของมนุษย์นั้นมีอยู่ประมาณ 5-6 ลิตร (5,000-6,000 ซี.ซี. ชาย) และ 4-5 ลิตร (หญิง) หากมีแอลกอฮอล์ถึงครึ่งของ 1 เปอร์เซ็นต์ก็เมาตายแน่นอน ดังนั้น 0.05% จึงพอทำให้รู้สึกว่าเริ่มเมา
โดยสรุป ถ้าตัวเลขในระดับสากลที่บอกขนาดของแอลกอฮอล์ในเลือดคือ 0.05 % BAC และอาจเขียนในวงเล็บเพื่อขยายความว่า (50มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ก็หมายความว่ามีแอลกอฮอล์อยู่หนัก 50 มิลลิกรัมในเลือด 100 c.c. หรือ ml
ที่ยกเอาตัวเลข 0.05 % BAC มาก็เพราะเป็นกฎหมายของบ้านเราที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องมี BAC ไม่เกิน 0.05% (50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) และผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องมี BAC ไม่เกิน 0.02% (20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
ในสหรัฐอเมริกา ตัวเลขสำหรับผู้ขับขี่ทั่วไปคือ 0.08% / อังกฤษ 0.08% / ออสเตรเลีย 0.05% / EU 0.05% / เยอรมัน (0.05%) / ญี่ปุ่น (0.03%) / จีน (0.02%) / อินเดีย 0.03% / รัสเซีย 0.03% สำหรับผู้ขับขี่เชิงพาณิชย์ และอายุต่ำกว่า 21 มักมีเงื่อนไขที่ต่ำกว่านี้
คำถามที่น่าสนใจก็คือ แต่ละระดับของแอลกอฮอล์มีผลต่อร่างกายอย่างไร
(ก) 0.02%BAC รู้สึกเริ่มสนุก ความอายลดลง รู้สึกผ่อนคลาย มีผลต่อการขับขี่บ้างในการใช้วิจารณญาณ และการทำงานหลายอย่างไปพร้อมกัน
(ข) 0.05%BAC สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อบ้างเช่นการใช้สายตา เริ่มมีผลต่อวิจารณญาณ ตื่นตัวน้อยลง มีความสามารถในการควบคุมพวงมาลัยน้อยลง มีเวลาตอบรับต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในการขับขี่น้อยลง
(ค) 0.08% BAC การขับขี่มีปัญหามากขึ้น ยากในการควบคุมความเร็ว การรับรู้รับทราบน้อยลง มีวิจารณญาณในการขับขี่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
(ง) 0.10% BAC ความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายมีปัญหา ความสามารถในการขับขี่ลดลงไปอย่างมาก ปฏิกิริยาช้าลง การประสานงานระหว่างเวลาและความเร็วทำได้เลวลง คิดช้า พูดไม่ชัด
(จ) 0.15% BAC สถานการณ์ในข้อ (ง) เลวร้ายลงมาก อาจอาเจียน เสียการทรงตัว กล้ามเนื้อทำงานได้ ช้าลง การขับขี่มีปัญหามาก วิจารณญาณในการขับขี่เป็นปัญหามาก
หากต้องดื่มก่อนขับ ควรดื่มมากน้อยเพียงใดจึงจะอยู่ในขอบเขต 0.05% BAC คำตอบนี้ไม่ง่ายเพราะมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าไปในเส้นเลือดของแอลกอฮอล์ซึ่งแต่ละคนก็ต่างกันไป เช่น น้ำหนักตัว ดื่มช้าหรือเร็วเพียงใด เพศ มีอาหารในท้องตอนดื่มมากน้อยเพียงใด
คำแนะนำทั่วไปคือ
(ก) เบียร์ (แอลกอฮอล์ 5%) น้ำหนัก 54 ก.ก. ไม่เกินหนึ่ง Standard Drink (เท่ากับประมาณ 355 ซี.ซี. หรือ 1 เบียร์ขวดเล็ก) / น้ำหนัก 73 ก.ก. ไม่เกินสอง Standard Drink (710 ซี.ซี.) หรือ 1 เบียร์ขวดใหญ่
(ข) ไวน์ (แอลกอฮอล์ 12%) น้ำหนัก 54 ก.ก. ไม่เกินครึ่งของ Standard Drink (ครึ่งของ 1 เบียร์ขวดเล็ก) / น้ำหนัก 73 ก.ก. ไม่เกินหนึ่ง Standard Drink (1 เบียร์ขวดเล็ก)
(ค) วิสกี้ (แอลกอฮอล์ 40%) ต้องระวังมากเป็นพิเศษเพราะแรงกว่าไวน์ 3 เท่า ดังนั้นปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มต้องลดลงเป็นสัดส่วน เช่น น้ำหนัก 73 ก.ก. ไม่ควรดื่มเกิน 1 ใน 3 ของเบียร์ขวดเล็ก หรือประมาณ 120 ซี.ซี. หรือประมาณ 4 เป๊ก (เป๊กละ 30 ซี.ซี. ซึ่งเท่ากับ 2 ช้อนโต๊ะ) โดยสรุปไม่ควรเกิน 8 ช้อนโต๊ะ (ขอเอามาตรฐานยาแก้ไอลูกมาเทียบเคียงเพื่อให้เห็นภาพ)
ถ้ามันอ่านแล้วยุ่งยากนักก็อย่าไปดื่มมันเสียเลยก่อนขับรถ แต่ถ้าจำเป็นเพราะ “ใจสั่งมา” หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ ที่คิดขึ้นมาเป็นข้ออ้างก็ไม่ควรเกินกว่าปริมาณที่กล่าวมานี้ ซึ่งเป็นตัวเลขคร่าว ๆ ถ้าจะให้ “กันเหนียว” ก็ลดลงไปจากปริมาณที่กล่าวถึงนี้สักครึ่งก็น่าจะห่างไกลความยุ่งยากค่อนข้างแน่นอน เเละถ้าจะให้ชัวร์สุด ๆ ก็ไม่ดื่มเลยครับ.