นิ้วล็อก...ต้องปลดล็อก โรคฮิตคนวัยทำงานที่ห้ามมองข้าม

นิ้วล็อก...ต้องปลดล็อก โรคฮิตคนวัยทำงานที่ห้ามมองข้าม

ยุคที่ทุกคน โดยเฉพาะคนวัยทำงานต้องอยู่กับโทรศัพท์ และหน้าจอคอมพ์เกือบตลอดเวลา ซึ่งพฤติกรรมการอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็น การกดพิมพ์แป้นพิมพ์ หรือการสไลด์มือถือเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้

KEY

POINTS

  • โรคนิ้วล็อกเป็นกลุ่มอาการปวดบริเวณฝ่ามือใกล้ๆกับโคนนิ้ว เวลาขยับนิ้วจะรู้สึกสะดุด ไม่สามารถขยับนิ้วได้อย่างปกติ และอาการนิ้วล็อกสามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัด พบในกลุ่มคนวัยทำงานมากสุด
  • อาการของโรคนิ้วล็อกมีหลายระยะ หากคุณมีอาการนิ้วล็อกรุนแรง ปวด บวม และอักเสบ ไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
  • ป้องกันนิ้วล็อกด้วยการพักการใช้งานมือระหว่างการทำงาน โดยอาจจะยืดเส้นยืดสายด้วยการทำกายบริหารง่ายๆ ระหว่างวัน เช่น ท่ากายบริหารกำ- แบมือ หลีกเลี่ยงการหิ้วของหนัก และหยุดดีด ดัด และหักนิ้ว

ยุคที่ทุกคน โดยเฉพาะคนทำงานต้องอยู่กับโทรศัพท์ และหน้าจอคอมพ์เกือบตลอดเวลา ซึ่งพฤติกรรมการอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ไม่ว่าจะเป็น การกดพิมพ์แป้นพิมพ์ หรือการสไลด์มือถือ การถือมือถือเป็นเวลานานๆ อาจจะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อต่างๆ ของนิ้ว จนนำไปสู่การเกิดของโรค “นิ้วล็อก”

โรคนิ้วล็อก” กลายเป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน ซึ่งอาการนิ้วล็อกจะปวดบริเวณโคนนิ้ว ชาบริเวณมือหรือนิ้วมือ ส่งผลให้ไม่สามารถขยับนิ้วได้ หรือ ขยับนิ้วไม่สะดวก รู้สึกติดๆ ขัดๆ เวลาขยับนิ้ว มักพบอาการนิ้วล็อกที่นิ้วโป้ง

ทั้งนี้ อาการนิ้วล็อกสามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่มันเกิดกับวัยทำงานที่มีสาเหตุมาจากการทำงาน หรือใช้งานนิ้วมือหนัก ไม่ว่าจะเป็น คนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นประจำ โปรแกรมเมอร์ นักออกแบบกราฟิก พนักงานบัญชี

นอกเหนือนั้น กลุ่มอาชีพ อย่าง กลุ่มนักกอล์ฟ กลุ่มพนักงานนวดแผนไทย คนทำงานตามโรงงานที่ต้องใช้มือหยิบจับสิ่งของซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือพ่อครัวที่ต้องสับเนื้อหั่นผักตลอดเวลา แม้กระทั่งแม่บ้านที่ทำงานซักผ้าถูบ้านที่ต้องออกแรงบิดผ้าเสมอๆ

กรุงเทพธุรกิจ” จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคนิ้วล็อก โรคที่ทุกคนสามารถปลดล็อกได้ หากรู้ว่าสาเหตุของการเกิดนิ้วล็อกคืออะไร และจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองอย่างไร เพื่อให้ไม่เกิดอาการนิ้วล็อก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

12 สิ่งที่ 'คนวัยทำงาน' ต้องทาน ช่วยลดความเครียด

'ภาวะสมองล้า' โรคใกล้ตัววัยทำงาน เช็กสัญญาณเตือน ไม่ควรมองข้าม

รู้จักโรคนิ้วล็อก(Trigger Finger)

โรคนิ้วล็อก หรือ Trigger Finger คือ กลุ่มอาการปวดบริเวณฝ่ามือใกล้ๆกับโคนนิ้ว เวลาขยับนิ้วจะรู้สึกสะดุด ติดขัดไม่สามารถขยับนิ้วได้อย่างปกติ

โดยนิ้วล็อกเเป็นอาการที่นิ้วเกิดล็อกเมื่องอนิ้ว แล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ง่าย เกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ นิ้วจึงเกิดการล็อก ไม่สามารถกลับมายืดตรงได้ตามปกติ โดยทั่วไปแล้วนิ้วล็อกมักเกิดขึ้นกับนิ้วโป้ง นิ้วกลาง หรือนิ้วนาง หรืออาจเกิดขึ้นกับนิ้วหลายนิ้ว และนิ้วมือทั้ง 2 ข้างได้ในเวลาเดียวกัน

อาการนิ้วล็อกมักมาพร้อมกับอาการปวด และอาการนิ้วล็อคสามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัด แต่มักพบในผู้หญิงช่วงวัยกลางคนอายุตั้งแต่ 40 - 50 ปี แต่ปัจจุบันพบกลุ่มอาการนิ้วล็อกกับกลุ่มคนวัยทำงานมากขึ้น อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้น เนื่องจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เป็นโรคนิ้วล็อก

ทั้งนี้อาการของโรคนิ้วล็อกมีหลายระยะ ซึ่งความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะของโรค หากคุณมีอาการนิ้วล็อกรุนแรง ปวด บวม และอักเสบ ไม่สามารถเหยียดนิ้วให้ตรงได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ พร้อมทั้งเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด และทำให้นิ้วกลับมาสามารถใช้งานได้ปกติ

นิ้วล็อก...ต้องปลดล็อก โรคฮิตคนวัยทำงานที่ห้ามมองข้าม

4 ระยะอาการนิ้วล็อก

โรคนิ้วล็อก อาการสามารถแบ่งได้ตามความรุนแรงของโรคออกเป็น 4 ระยะ หลักๆ ดังนี้

  • อาการนิ้วล็อกระยะที่ 1

มักมีอาการปวดตึงที่บริเวณฝ่ามือ หรือบริเวณโคนนิ้ว เมื่อกดบริเวณโคนนิ้วมือด้านหลังจะยิ่งรู้สึกเจ็บมากกว่าเดิม ทั้งนี้อาการนิ้วล็อกระยะที 1 จะไม่ค่อยรู้สึกสะดุด สามารถใช้งานมือและนิ้วได้ปกติ ยืดและเหยียดนิ้วได้อย่างเต็มที่ จะมีเพียงแค่อาการปวดเพียงเท่านั้น

  • อาการนิ้วล็อกระยะที่ 2

สำหรับคนไข้ที่รู้สึกสะดุดเมื่องอนิ้ว ไม่สามารถเหยียดนิ้วตรงได้ปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้มืออีกข้างช่วยง้างออก หรือ ผู้ที่มีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้ว นั้นหมายความว่าคุณกำลังเข้าข่ายอาการนิ้วล็อกระยะที่ 2 แล้ว

  • อาการนิ้วล็อกระยะที่ 3

คนไข้ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่สามารถเหยียดนิ้วออกได้ จำเป็นต้องใช้มืออีกข้างช่วยง้างให้นิ้วกลับมาเหยียดตรง ในระยะนี้หากมีอาการหนักขึ้นจะไม่สามารถขยับนิ้ว หรือ งอนิ้วได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องใช้มืออีกข้างช่วยเท่านั้น

  • อาการนิ้วล็อกระยะที่ 4

สำหรับคนไข้อาการนิ้วล็อกระยะที่ 4 ปลอกเอ็นจะตีบแคบมากทำให้ไม่สามารถกำหมัดได้ และจะมีอาการอักเสบและบวมร่วมด้วย ทำให้ไม่สามารถเหยียดนิ้วตรงได้ เนื่องจากการอาการปวดที่รุนแรงมาก นอกจากนี้ในคนไข้นิ้วล็อกระยะที่ 4 ข้อนิ้วมืออาจจะงอผิดรูป

อาการนิ้วล็อกที่ควรพบแพทย์

สำหรับผู้ที่มีอาการนิ้วล็อก รู้สึกปวดบริเวณฝ่ามือ หรือ บริเวณโคนนิ้ว เวลาขยับนิ้วแล้วรู้สึกติดขัดไม่สามารถขยับนิ้วได้ตามปกติ ทำให้ส่งผลกระทบการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน ลองรักษาด้วยวิธีเบื้องต้นแล้ว แต่อาการนิ้วล็อกกลับไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ และเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

แม้ว่าโรคนิ้วล็อกเป็นอาการที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ไม่เข้ารับการรักษาที่ถูกต้องอาจจะส่งผลให้เกิดอาการนิ้วล็อกเรื้อรังและทำให้การรักษายากขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่า

นิ้วล็อก...ต้องปลดล็อก โรคฮิตคนวัยทำงานที่ห้ามมองข้าม

นิ้วล็อก อย่าปล่อยให้ติดเป็นเวลานาน 

หลายคนอาจจะสงสัยว่า นิ้วล็อกเกิดจากสาเหตุอะไร ทำไมเราจึงเกิดอาการเช่นนี้ โดยอาการนิ้วล็อกเกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้ว และเส้นเอ็นของนิ้วมือ ส่งผลให้เอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณนั้นไม่สามารถขยับ หรือ ยืดหดได้ตามปกติ

สาเหตุของการอักเสบส่วนใหญ่มักมาจากการใช้งานของมือและนิ้วมือหนัก และเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการเสียดสีและเกิดการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น

"หากปล่อยอาการนิ้วล็อกทิ้งไว้ไม่ได้เข้ารับการรักษา อาจจะทำให้เกิดเป็นแผล เกิดพังผืด และเกิดเป็นตุ่มในเอ็น ซึ่งจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวมากขึ้น"

การใช้งานมือและนิ้วมือหนักจนทำให้เกิดอาการนิ้วล็อก เช่น พนักงานออฟฟิศที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์พิมพ์งานเป็นเวลานานๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน หรือ แม่บ้านที่ต้องซักผ้าบิดผ้า หิ้วถุงใส่ของหนักๆ รวมไปถึงนักกีฬาบางประเภทที่ต้องจับอุปกรณ์กีฬาแน่นๆ เช่น แบดมินตัน เทนนิส หรือ กอล์ฟ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดนิ้วล็อก

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้ ดังนี้

  • การจับสิ่งของ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ซ้ำๆ เป็นประจำทุกวันเป็นระยะเวลานาน สามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้
  • โรคประจำตัว ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปที่จะเป็นโรคนิ้วล็อก
  • เพศ อาการนิ้วล็อกมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดโรคดาวน์ซินโดรม สามารถเกิดอาการนิ้วล็อกภาวะแทรกซ้อนได้ และมักพบอาการนิ้วล็อกในช่วง 6 เดือนแรกหลังการผ่าตัด

กลุ่มเสี่ยงโรคนิ้วล็อก

แม้ว่าโรคนิ้วล็อกจะสามารถพบได้ทั่วไป สามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่มีกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคนิ้วล็อคมากกว่าคนทั่วไป มีดังนี้

  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป อาการนิ้วล็อคมักพบกับคนไข้ช่วงอายุ 40 - 50 ปี
  • อาการนิ้วล็อกมักในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องทำงานบ้าน ซักผ้าและบิดผ้า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้
  • ผู้ที่มีอาชีพ หรือ งานอดิเรกที่ต้องใช้งานมือและนิ้วมือหนัก เช่น นักพิมพ์ คนสวน แม้บ้าน พนักงานออฟฟิศ ทันตแพทย์ หรือ นักกีฬาบางประเภทที่ต้องจับอุปกรณ์กีฬาตลอดเวลาการแข่งขัน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคเก๊าท์ และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

นิ้วล็อก...ต้องปลดล็อก โรคฮิตคนวัยทำงานที่ห้ามมองข้าม

 วิธีรักษาโรคนิ้วล็อก

โรคนิ้วล็อก เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้วิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ได้แก่ การรักษาและบรรเทาอาการนิ้วล็อกเบื้องต้นด้วยตนเอง

วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่เพิ่งเริ่มมีอาการนิ้วล็อคในระยะแรกๆ ส่วนการรักษาและบรรเทาอาการนิ้วล็อกด้วยวิธีทางการแพทย์ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการนิ้วล็อกรุนแรง ไม่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้ด้วยวิธีเบื้องต้น

ทั้งนี้การรักษาโรคนิ้วล็อกจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง และดุลยพินิจของแพทย์ หากมีอาการนิ้วล็อกสิ่งแรกที่ควรทำคือการไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และประเมินว่าคุณเป็นนิ้วล็อกระยะที่เท่าไหร่ เพื่อทำการรักษาที่ตรงจุดและถูกวิธีมากที่สุด

 นิ้วล็อกเบื้องต้นต้องแก้อย่างไร?

 สำหรับผู้ที่มีอาการนิ้วล็อกในระยะแรกๆ สามารถบรรเทาอาการปวด และรักษาอาการนิ้วล็อกได้ด้วยตัวเอง โดยการหยุดพักการใช้งานมือ ไม่หิ้วของหนักหากจำเป็นต้องหิ้วของหนักสามารถใช้ผ้าขนหนูรองที่ฝ่ามือเพื่อลดการเสียดสี และแรงกดทับได้, การประคบร้อน, การแช่น้ำอุ่น, ใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว (Slinting) ช่วยดามนิ้วให้เหยียดตรง ทำให้นิ้วได้พัก ป้องกันไม่ให้นิ้วเกร็งหรืองอ หรือการทำกายบริหารเพื่อแก้นิ้วล็อคง่ายนิดเดียวด้วยตัวเอง ดังนี้

วิธีบริหารนิ้วมือคลายนิ้วล็อกด้วยตัวเอง

ผู้ที่มีอาการนิ้วล็อกในระยะแรก สามารถบริหารนิ้วมือเพื่อคลายนิ้วล็อกได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • โยกแขนขึ้นให้เสมอกับไหล่ และใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมือกระดกขึ้น และข้อมืออีกกระดกลง (ฝ่ามือทั้งสองข้างต้องหันออกจากลำตัว) ปลายนิ้วเหยียบตรงค้างไว้ โดยนับ 1 - 10 แล้วปล่อย ทำแบบเดิม 5 - 10 ครั้งต่อเซต
  • บริหารนิ้วมือคลายนิ้วล็อกด้วยการกำ - แบมือ เป็นการเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือ ช่วยทำให้กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นคลายตัว แนะนำให้ทำ 5 - 10 ครั้งต่อเซต
  • สำหรับผู้ที่มีอาการปวดบริเวณฝ่ามือหรือโคนนิ้ว สามารถแช่มือในน้ำอุ่นเพื่อคลายกล้ามเนื้อ โดยแช่มือไว้ในน้ำอุ่นประมาณ 15 - 25 นาที แนะนำให้แช่วันละ 2 รอบ เช้า - เย็น

วิธีแก้นิ้วล็อกในเบื้องต้นที่สามารถทำได้ง่ายๆ แต่สำหรับผู้ที่ลองทำตามวิธีกายบริหารนิ้วมือแล้วแก้อาการนิ้วล็อกไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจประเมินความรุนแรงของโรคและเข้ารับการรักษาต่อไป ตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อบรรเทาอาการนิ้วล็อก

นิ้วล็อก...ต้องปลดล็อก โรคฮิตคนวัยทำงานที่ห้ามมองข้าม

วิธีการรักษาโรคนิ้วล็อกด้วยวิธีทางการแพทย์

วิธีรักษาโรคนิ้วล็อกด้วยวิธีทางการแพทย์ สามารถใช้ได้กับคนไข้ที่มีอาการนิ้วล็อกตั้งแต่ระยะ 1 - 4 ทั้งนี้การรักษาอาการนิ้วล็อกจะขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์แต่ละคน โดยการรักษานิ้วล็อกด้วยวิธีทางการแพทย์ มีดังนี้

1. การทานยาต้านการอักเสบ

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดบริเวณฝ่ามือ หรือ ปวดบริเวณโคนนิ้ว สามารถรับประทานยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non - Steroidal Antiinflammatory Drugs) หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “ยาแก้อักเสบ” นิยมใช้เป็นยาแก้ปวดเข่า ปวดข้อ หรือรักษาอาการเอ็นข้อมืออักเสบ และยาแก้อักเสบสามารถช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และอาการปวดลดได้ แต่ไม่สามารถบรรเทาอาการบวมตรงปลอกหุ้มเอ็นได้

นอกจากนี้การบรรเทาอาการนิ้วล็อกด้วยการรับประทานยาต้านการอักเสบ ควรทำควบคู่ไปกับการพักการใช้งานมือ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทั้งนี้ยาแก้อักเสบไม่ใช่ยาแก้นิ้วล็อก เป็นเพียงการบรรเทาการอักเสบเพียงเท่านั้น

2. การทำกายภาพบำบัด

สำหรับผู้ที่มีอาการนิ้วล็อก ปวดบริเวณโคนนิ้ว หรือเวลาขยับนิ้วแล้วรู้สึกติดขัด สามารถบรรเทาอาการนิ้วล็อก คลายกล้ามเนื้อและเอ็นได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด ตามที่แพทย์แนะนำ โดยส่วนใหญ่แล้วการทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษาโรคนิ้วล็อกจะเป็นการกายภาพบำบัดเบาๆ เพื่อช่วยให้นิ้วเคลื่อนที่ได้ปกติ

หลายคนมองว่า อาการนิ้วล็อกคบําบัดเองก็หายได้ แต่ในความจริงแล้ว การทำกายภาพรักษานิ้วล็อกควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือ นักกายภาพบำบัดเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของคนไข้

3. การฉีดยาแก้นิ้วล็อก

สำหรับผู้ที่มีอาการนิ้วล็อกรุนแรง การรักษานิ้วล็อกด้วยยาและกายภาพบำบัดไม่ได้ผล อาการไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องฉีดยาแก้นิ้วล็อกเพื่อบรรเทาอาการปวด บวม และอักเสบ ซึ่งแพทย์จะฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) บริเวณเยื่อหุ้มเส้นเอ็น ซึ่งสามารถบรรเทาอาการบวมและอักเสบของเอ็นได้ ทำให้สามารถเคลื่อนไหวนิ้วได้ปกติ

การฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นเพียงการแก้อาการนิ้วล็อกเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพียงเท่านั้น โดยทั่วไปไม่ควรฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์มากกว่า 2 - 3 ครั้ง นอกจากนี้การรักษานิ้วล็อกด้วยการฉีดยา ไม่ผ่าตัดสามารถทำให้อาการกลับมาได้อีก ไม่ใช่การรักษาโรคให้หายขาดถาวร

4. การผ่านิ้วล็อก

การผ่าตัดนิ้วล็อกเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการนิ้วล็อกมานาน ลองรักษาด้วยวิธีอื่นแล้ว แต่ไม่ได้ผล การผ่าตัดจึงเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณแผลผ่าตัด และเปิดแผลบริเวณโคนนิ้ว และผ่าตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาตัวให้เปิดออก เพื่อขยายช่องปลอกหุ้มเอ็นช่วยทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวได้สะดวก ไม่ติดขัด

ทั้งนี้การผ่าตัดรักษาโรคนิ้วล็อกเป็นการผ่าตัดเล็ก และแทบไม่มีภาวะแทรกซ้อน คนไข้สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังจากผ่าตัดเสร็จ ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม

ป้องกันอาการนิ้วล็อก

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษานิ้วล็อกด้วยตัวเอง แต่โรคนิ้วล็อกสามารถป้องกันได้ เพียงแค่ปรับเปลี่ยน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมประจำวันที่เพิ่มโอกาสความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อก ซึ่งแนวทางการป้องกันอาการนิ้วล็อก มีดังนี้

  • พักการใช้งานมือระหว่างการทำงาน โดยอาจจะยืดเส้นยืดสายด้วยการทำกายบริหารง่ายๆ ระหว่างวัน เช่น ท่ากายบริหารกำ- แบมือ
  • หลีกเลี่ยงการหิ้วของหนัก หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรใช้ผ้าขนหนูรองเพื่อลดการเสียดสี และลดแรงกดทับ
  • หยุดดีด ดัด และหักนิ้ว เพราะสามารถทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากขึ้น
  • สำหรับนักกีฬา และอาชีพบางประเภท สามารถสวมถุงมือ เพื่อลดแรงกดกระแทกต่อนิ้วได้
  • แช่มือในน้ำอุ่น เพื่อทำให้ข้อฝืดน้อยลง และสามารถเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อมือมากๆ หรือ การกำมือแน่นๆ เช่น การซักผ้าบิดผ้า หรือ กีฬาบางประเภท

นิ้วล็อก...ต้องปลดล็อก โรคฮิตคนวัยทำงานที่ห้ามมองข้าม

นิ้วล็อกเรื้อรัง อันตรายไหม?

นิ้วล็อกเรื้อรัง โดยทั่วไปแล้ว ไม่ถือว่าเป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำงานและส่งผลต่อกิจกรรมประจำวันของเราได้ ในบางกรณี อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แรงยึดเกาะลดลง หรือเกิดการเกร็ง (การงอนิ้วอย่างถาวร) ยิ่งถ้าหากอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดความพิการในระยะยาว หรือทำให้ความสามารถในการทำงานที่ต้องใช้ทักษะการเคลื่อนไหวลดลง หรืออาจจะส่งผลให้เกิดเอ็นข้อมืออักเสบหรือพังผืดทับเส้นประสาทก็เป็นได้

ดังนั้น หากมีอาการนิ้วล็อกเรื้อรัง ขอให้เข้าปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูก เพื่อทำการประเมินอาการ วินิจฉัย และแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เพื่อช่วยบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

อ้างอิง:  โรงพยาบาลสมิติเวช , โรงพยาบาลพญาไท