ห้ามพลาด!! 'Hackathon' เฟ้นหานวัตกรรมเพื่อสุขภาพ 80% สูงวัยอยู่ในอาเซียน
อัตราการเกิด อัตราการเสียชีวิตของประชากรไทยลดน้อยลง ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ อย่างเต็มตัว
KEY
POINTS
- ปี 2050 คาดว่า 80% ของผู้สูงอายุจะอยู่ในอาเซียน และจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลศิริราช พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ
- บุคลากรทางการแพทย์คิดเกี่ยวกับนวัตกรรมสุขภาพอาจจะจำกัดอยู่ในกรอบ งาน Hackathon เป็นการสร้างความร่วมมือการรวมกลุ่มของสหสาขา โอกาสของสตาร์ตอัป
- ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine’ และ การแข่งขัน Hackathon จะช่วยให้ประชาชนได้รับทราบถึงปัญหาสูงวัย และสร้างพลังความร่วมมือในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสุขภาพสูงวัยจากคนรุ่นใหม่
อัตราการเกิด อัตราการเสียชีวิต ของประชากรไทยลดน้อยลง ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ อย่างเต็มตัว การเตรียมการรับมือเรื่องดูแลผู้สูงอายุ จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชนต่างออกแบบเทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น
World Population Prospects 2022 คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 16% และผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 3 เท่าในอีก 30 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับประเทศไทยที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดย 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 13 ล้านคน เป็นประชากรอายุมากกว่า 60 ปี
ขณะที่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่าปัจจุบันเศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy)ทั่วโลกมีมูลค่าราว 26.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 880-900 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก โดยเราคาดว่า ในปี 2573 ตลาดกลุ่มผู้สูงอายุของไทย จะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 2.6 ล้านล้านบาท เทียบเท่า 12% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
80% ผู้สูงอายุจะอยู่ในอาเซียน
วันนี้ (7 สิงหาคม 2567) โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) จัดการแข่งขัน “Hackathon” ณ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2567 พร้อมจัดตั้งโครงการเพื่อค้นหานวัตกรรมดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้โครงการ ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine’ ในหัวข้อ ‘Scaling Aged Care in Developing Countries’ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในอาเซียน ที่มีการจัดโครงการรวบรวมสุดยอดความคิดเพื่อสร้างสรรค์แนวทางการดูแลผู้สูงอายุ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน พ.ศ.2567
ศ.นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ทั่วโลก และประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งปี 2050 คาดว่า 80% ของผู้สูงอายุจะอยู่ในอาเซียน และจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลศิริราช พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เข้ามาทั้งเป็นผู้ป่วยนอก และแอดมิท ซึ่งโรคที่เข้ามารักษา จะเป็นกลุ่มโรค NCDs รวมถึงภาวะสมองเสื่อม โรคทางหัวใจ อีกทั้งประเทศไทย มีการประกาศให้สังคมผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกกระทรวงต้องร่วมกับดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร
นวัตกรรมด้านสุขภาพด้วยสหสาขา
“การเตรียมพร้อมดูแลผู้สูงอายุ ต้องทำหลายด้าน ซึ่งเรื่องสุขภาพ ถือเป็นปัจจัยความท้าทายสำคัญ และไม่ใช่เป็นเพียงสุขภาพกายเท่านั้น ผู้สูงอายุจำนวนมากกำลังประสบปัญหาสุขภาพใจ เป็นโรคซึมเศร้า ภาวะความเครียด ศิริราช เล็งเห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ได้มีการเปิด ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช โรงพยาบาลศิริราช เพื่อบริการการดูแลผู้ป่วยสูงวัยระยะกลาง(Intermediate care) กิจกรรมฟื้นฟูด้วยนวัตกรรมทันสมัยจากทีมสหสาขาวิชาชีพ การตรวจคัดกรองดูแลสุขภาพผู้สูงวัย และต้นแบบวิทยาการที่พร้อมส่งต่อองค์ความรู้สำหรับบุคคลทั่วไป และครอบครัวผู้ป่วยสูงอายุได้มีสุขภาวะที่ดี และมีคุณภาพอย่างยั่งยืนในสังคมและอนาคต”
นอกจากนั้นได้มีการส่งคณาจารย์ บุคลากรทางการแพทย์ไปศึกษาเรียนรู้การดูแล ฟื้นฟู ป้องกัน รักษาผู้สูงอายุในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประเทศทางฝั่งสแกนดิเนเวีย ซึ่งหลายประเทศเป็นต้นแบบของการดูแลผู้สูงอายุ ดังนั้น การจัดโครงการ ‘Siriraj x MIT Hacking Medicine’ และ การแข่งขัน Hackathon ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับทราบถึงปัญหาสูงวัย สร้างพลังความร่วมมือในการสร้างสรรค์ การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะช่วยให้สุขภาพสูงวัยดียิ่งขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของทั่วโลก
“สังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องใกล้ตัว และคนที่จะเป็นกำลังสำคัญหลักในการเตรียมพร้อม และแก้ไขปัญหา ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยพลังการจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะของคนรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ โดยความร่วมมือของสหสาขา ไม่ใช่เพียงบุคลากรทางการแพทย์ แต่วิศวกร นักไอที หรือผู้ประกอบการ สตาร์ตอัป ทุกสาขาต้องร่วมมือกัน สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ และประเทศ”
เพิ่มนักนวัตกรด้านสุขภาพไทย
ปัญหาสภาพเร่งด่วนที่ต้องดูแล ฟื้นฟู รักษาผู้สูงอายุเร่งด่วน นอกจากเรื่องของโรค NCDs ภาวะสมองเสื่อม และโรคหัวใจ แล้วนั้น คือ เรื่องของภาวะกระดูกบาง กระดูกหัก ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกัน เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีมวลกล้ามเนื้อน้อยลง ขาไม่มีแรงทำให้ใช้ชีวิตปกติ เดินได้ลำบาก และบางคนหากเกิดการหกล้ม ทำให้กระดูกหัก ขณะที่ตาก็มองไม่ชัด หูก็ไม่ค่อยได้ยิน และสภาวะจิตใจที่อาจจะโดดเดี่ยว รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า การสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนในสังคมได้รับทราบเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำ
ศ.นพ. อภิชาติ กล่าวต่อไปว่าสิ่งที่คาดหวังจากการจัดงานครั้งนี้ คือ ความสนใจของคนรุ่นใหม่ในการเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสุขภาพ โดยเฉพาะสตาร์ตอัปที่ร่วมต่อยอดวิจัยให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งศิริราชมั่นใจว่าประเทศไทยมีงานวิจัยจำนวนมาก และมีสตาร์ตอัปที่สนใจเรื่องเหล่านี้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถผลักออกมาได้อย่างเข้มแข็งเหมือนกับ MIT
“หากได้เรียนรู้กระบวนการจาก MIT และนำมาถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดที่อยากทำ ซึ่งถ้าภาครัฐต้องขอความสนับสนุนทั้งงบประมาณ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายที่จะควรเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และการจะทำให้เกิดความยั่งยืนต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน อยากให้ทุกภูมิภาคของไทย มีนักนวัตกรด้านสุขภาพมากขึ้น” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว
Hackathon โอกาสของสตาร์ตอัป
Prof. Zen Chu อาจารย์อาวุโส นวัตกรรมเทคโนโลยี การเป็นผู้ประกอบการ และการจัดการเชิงกลยุทธ์ ของMIT กล่าวว่า MIT ได้มีการดำเนินการ Hackathon มาประมาณ 15 ปี ใน 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างแพทย์ วิศวกร และผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านสุขภาพ และHealthcare เพื่อให้เกิดการบริการทางการแพทย์ ทั้งการดูแล รักษา ป้องกัน ฟื้นฟู อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมด้านสุขภาพในราคาที่ไม่แพง และสามารถจับต้องได้
“MIT ไม่ได้เป็นโรงเรียนด้านการแพทย์ แต่มีวิศวกรในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประโยชน์ ซึ่งโซลูชันทางการแพทย์ใหม่ๆ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ทาง MIT ได้ดำเนินการ เพื่อรองรับการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และเตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาMIT ได้จัดกิจกรรม 200 กว่าอีเวนต์ที่มีการจัดงาน ทั้งด้านเด็ก สังคม และผู้สูงวัย โดยจะมีเครื่องมือ นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทุกคนสามารถใช้ได้ด้วยตนเองในการตรวจเช็ก ดูแลสุขภาพ และเป็นการเปิดโอกาสให้แก่สตาร์ตอัป 100 กว่าราย มูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความร่วมมือในครั้งนี้กับทางศิริราช จะเป็นการเรียนรู้ และถ่ายทอดเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การขยายในวงกว้างมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมงาน หรือ ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.SirirajxMITHackingMedicine.com หรือ ติดต่ออีเมล [email protected] ซึ่งผู้ชนะการแข่งขัน จะได้รับ Golden Tickets เพื่อเข้าร่วม ‘MIT Grand Hack 2025’ ที่จะจัดขึ้นที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ชวนร่วมงาน ‘Hackathon’ นวัตกรรมสุขภาพสูงวัย
‘ศิริราช’ มีการจัด ‘Hackathon’ มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้จะเป็นการยกระดับในระดับสากลพร้อมกับทาง MIT โดยจัดในธีมผู้สูงอายุ เพราะเชื่อว่าการจัดงานครั้งนี้น่าจะได้นวัตกรรมสูงวัยจำนวนมาก รวมถึงการเรียนรู้ กระบวนการ และวิทยาการเทคโนโลยีตะวันตกจาก MIT ก่อเกิดเป็นโปรเจกต์ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เรื่องสังคมสูงวัย
ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ภาพรวมของสูงวัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คล้ายๆ กับประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลขณะนี้ไม่ใช่เพียงอัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ควรมองอัตราการเกิด เพราะตอนนี้การเกิดในประเทศไทย ดรอปลงมากกว่า 10 เท่า และดรอปลงมากสุดในอาเซียน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ ไม่ใช่เพียงเรื่องสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีผู้สูงอายุร่วมด้วย
“ปัจจุบันโลกวิ่งเร็วมาก บุคลากรทางการแพทย์คิดเกี่ยวกับนวัตกรรมอาจจะจำกัดอยู่ในกรอบ ซึ่งการจัดงาน Hackathon จะเป็นการสร้างความร่วมมือ การรวมกลุ่มของสหสาขา ทั้งด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไอที รวมถึงสตาร์ตอัป ได้มาทำงานร่วมกัน ซึ่ง MIT มีศักยภาพ และมีองค์ความรู้ ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ เพราะคอนเซปต์ของการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพแก่ผู้สูงอายุจาก MIT ทำให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาล แต่สามารถสร้างนวัตกรรมที่ทำให้เกิดขึ้นจริงๆ ต้นทุนไม่สูง และที่สำคัญแก้ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุได้จริง ดังนั้น การจัดงานที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุได้เข้าร่วม คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันมากกว่าครั้งที่ผ่ามา 5-10 เท่า”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์