'JUMP THAILAND HACKATHON 2024' เวทีโชว์ของจาก Gen Z ชูนวัตกรรมช่วยกลุ่มเปราะบาง

'JUMP THAILAND HACKATHON 2024' เวทีโชว์ของจาก Gen Z ชูนวัตกรรมช่วยกลุ่มเปราะบาง

AIS ร่วมกับ พม. เปิดเวที "JUMP THAILAND HACKATHON 2024" โชว์ 15 ไอเดียฝีมือคนรุ่นใหม่ ชูนวัตกรรมเชื่อมรอยต่อช่วยกลุ่มเปราะบาง ภายใต้โจทย์ "เราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างไร?"

"JUMP THAILAND" เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2561 เป็นหนึ่งในโครงการของ AIS (บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) ที่ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนกล้ากระโดดออกมานอกกรอบ ให้ทั้งพนักงานและบุคคลทั่วไปได้นำเสนอไอเดียหลากหลายที่จะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาสร้างประโยชน์เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งแก่สังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต

ล่าสุด AIS ได้ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. จัดการแข่งขันภารกิจคิดเผื่อ "JUMP THAILAND HACKATHON 2024" มาพร้อมกับโจทย์ "เราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างไร?"

\'JUMP THAILAND HACKATHON 2024\' เวทีโชว์ของจาก Gen Z ชูนวัตกรรมช่วยกลุ่มเปราะบาง

ลบอคติ เปลี่ยน "ภาระ" เป็น "พลัง"

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า นวัตกรรมคือโอกาสแห่งการสร้างความเท่าเทียมของคนไทย เพราะปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับ "วิกฤติประชากร" โครงสร้างประชากรของไทยมีการเปลี่ยนแปลง เด็กเกิดน้อยลง วัยแรงงานแบกรับภาระการดูแลเพิ่มมากขึ้น การเป็น สังคมผู้สูงอายุ อย่างสมบูรณ์ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 13.06 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งกระทรวง พม. ได้มีนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ ได้แก่ 1. เสริมพลังวัยทำงาน 2. เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3. สร้างพลังผู้สูงอายุ 4. เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าคนพิการ และ 5. สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคงของครอบครัว

"ปัญหาที่พบได้มากในสังคมคือ อคติของคนในสังคมที่มองว่าคน กลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ คือภาระของสังคม ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยปลดเปลื้องความคิดเหล่านี้คือเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยี = โอกาส ที่จะทำให้ทุกคนมีศักยภาพในตัวของตัวเอง"

 

นวัตกรรมคือทางออกและคำตอบ

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. เชื่ออย่างยิ่งว่า ไอเดียและนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่ที่ได้จากโครงการครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากถูกต่อยอดพัฒนามาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก และยกระดับศักยภาพการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยและคนพิการ รวมถึงในมิติของการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีเครื่องมือในการทำงานที่มีประสิทธิภาพสามารถเชื่อมต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ตรงเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เฟ้นหาผู้ชนะจาก 114 ทีม 31 สถาบันการศึกษา

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช กล่าวเสริมว่า หลังจากเปิดตัวโครงการ JUMP THAILAND HACKATHON 2024 กับโจทย์ "เราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างไร?" ร่วมกับกระทรวง พม. ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีนิสิต นักศึกษาให้ความสนใจนำเสนอไอเดียอย่างมากมาย รวม 114 ทีม 31 สถาบันการศึกษา ซึ่งเมื่อทีมพนักงาน AIS ได้ลงไปร่วมพัฒนาไอเดียด้วยการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มเข้าไปผสมผสานแล้ว ทำให้รอบสุดท้ายในวันที่ 8 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมานี้ เราได้มาถึง 15 ไอเดียที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการนำไปต่อยอดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มคนพิการ และผู้สูงอายุได้อย่างตอบโจทย์ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาสร้างประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต แก้วิกฤติประชากร

\'JUMP THAILAND HACKATHON 2024\' เวทีโชว์ของจาก Gen Z ชูนวัตกรรมช่วยกลุ่มเปราะบาง

พันธมิตร + Commitment = ความสำเร็จ

การทำงานจากทุกภาคส่วนเพื่อประชาชนจากนวัตกรรม ทักษะความรู้ และโอกาสใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่เราเชื่อว่าทั้ง 15 ไอเดีย จะเป็นแรงบันดาลใจ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกลไกการดูแลประชาชน จากนวัตกรรม ทักษะความรู้ และโอกาสใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน

นางสาวกานติมา กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นต้องมีองค์ประกอบหลักคือการมีพันธมิตรที่ดี เป็นพันธกิจร่วมกันในระยะยาว มองเป้าหมายสิ่งเดียวกัน การลดช่องว่างคนในสังคมทั้งจากหลายหลากเจนเนอเรชัน หรือการเพิ่มโอกาสของกลุ่มเปราะบางนี้ จำเป็นต้องวางรากฐานที่มั่นคง มีแผนระยะยาวที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการไม่ใช่การสงเคราะห์ระยะสั้น การมอบเงินช่วยเหลือเพียงเท่านั้น

AIS มองว่า ในทุกธุรกิจจะเติบโตอย่างแข็งแรงมั่นคงได้ยาก หากสังคมภายนอกยังมีความท้าทาย AIS เราจึงเชื่อในเรื่องของการเติบโตแบบร่วมกัน และสร้างสำนึกสาธารณะ การสร้างโครงการ ภารกิจคิดเผื่อ ที่เปิดพื้นที่ให้กับพนักงานในการส่งต่อความรู้ สร้างอาชีพกับประชาชน และการทำงานร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาสังคม ต้องขอขอบพระคุณ กระทรวง พม. ที่ให้โอกาส AIS ได้เข้าไปทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วยกัน โดยยืนยันที่จะเดินหน้าตามเจตนารมณ์นี้อย่างต่อเนื่อง เพราะงานลักษณะนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่โครงการแข่งขันเพื่อวัดขีดความสามารถของนิสิต นักศึกษาที่สนใจเรื่องนวัตกรรมเพียงเท่านั้น แต่เป็นโครงการต้นแบบที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มคนพิการให้มีศักยภาพในการดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป

\'JUMP THAILAND HACKATHON 2024\' เวทีโชว์ของจาก Gen Z ชูนวัตกรรมช่วยกลุ่มเปราะบาง

เปิดใจทีมชนะที่นำ AI มาสร้างผลงาน

สำหรับ 3 ทีมที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ประกอบด้วยรางวัล ดังนี้

รางวัลที่ 1 : ทีม PathSense จากนักศึกษามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล พัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง ผ่านกระเป๋าสะพายข้างซึ่งมีการติดตั้งกล้อง AI เอาไว้ที่สายกระเป๋า ตัวกล้องมีความสามารถในการตรวจจับวัตถุและสิ่งกีดขวางต่างๆ เช่น บันได ประตู กำแพง และอื่นๆ ซึ่งอยู่ด้านหน้าของผู้สวมใส่ แล้วทำการแจ้งแก่ผู้สวมใส่ผ่านทางหูฟังหรือลำโพงโทรศัพท์

\'JUMP THAILAND HACKATHON 2024\' เวทีโชว์ของจาก Gen Z ชูนวัตกรรมช่วยกลุ่มเปราะบาง

ตัวแทนของทีม PathSense เปิดเผยว่า สิ่งที่สำคัญในการจะช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาคือ การนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปช่วยเพิ่มการมองเห็น จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ AI มาสร้างสะพายข้างที่ติดกล้องที่มีเซนเซอร์ตรวจจับสิ่งรอบตัว ซึ่งเมื่อทีมได้รับเลือกเป็นผู้ชนะโครงการก็ดีใจอย่างมากที่จะได้เห็นผลงานของตัวเองนำไปต่อยอดและใช้งานจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้พิการต่อไป

"ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ JUMP THAILAND HACKATHON 2024 สิ่งที่ได้จาก AIS มี 2 เรื่องหลักคือได้ Mentor ที่ร่วมคิดค้นพูดคุยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างดี และการได้ลงพื้นที่จริงที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในการนำเอาอุปกรณ์ที่คิดค้นนี้ไปทดลองใช้งานจริงกับกลุ่มพี่ๆ ผู้พิการ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ล้ำค่ามาก"

\'JUMP THAILAND HACKATHON 2024\' เวทีโชว์ของจาก Gen Z ชูนวัตกรรมช่วยกลุ่มเปราะบาง

รางวัลที่ 2 : ทีม AUTISM จากนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร พัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มสื่อสารการทำงานสำหรับผู้มีภาวะออทิสติก (Autism spectrum disorder: ASD) เพื่อสร้างอาชีพไปพร้อมกับการบำบัด โดยนำอาการของผู้มีภาวะออทิสติก มาปรับใช้ร่วมกับ AI ทำให้การสื่อสารในการทำงานระหว่างผู้มีภาวะออทิสติกด้วยกันเอง และผู้มีภาวะออทิสติกกับบุคคลทั่วไปเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รางวัลที่ 3 : ทีมหลานม่า จากนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนานวัตกรรมเข็มขัดตรวจจับการล้มกระตุ้น AirBag พร้อมติดต่อญาติหรือรถโรงพยาบาล ผ่านสัญญาณ Cellular, DevioBeacon ของ LINE OA