ศิริราช จับมือ เมติคูลี่ จัดตั้ง ‘ออส ทรีโอ’ ผลิตกระดูกเทียมไทเทเนียมด้วย AI

ศิริราช จับมือ เมติคูลี่ จัดตั้ง ‘ออส ทรีโอ’ ผลิตกระดูกเทียมไทเทเนียมด้วย AI

ศิริราชจับมือ เมติคูลี่ จัดตั้ง "ออส ทรีโอ" ผลิตกระดูกเทียมไทเทเนียมเฉพาะบุคคลด้วยปัญญาประดิษฐ์ และการพิมพ์สามมิติที่จุดการรักษา

24 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลศิริราช ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัย (MOU) ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) และ บริษัท เมติคูลี่ จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ออส ทรีโอ จำกัด โครงการต่อยอดการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงครบวงจรที่จุดการรักษา (Point of Care) โดยเป็นกระบวนการออกแบบและผลิตเครื่องมือแพทย์ ด้วยปัญญาประดิษฐ์ และการพิมพ์สามมิติ

พิธีลงนามได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมติคูลี่ จำกัด และนายสุเมธ ไชยสูรยกานต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมมือด้านการวิจัย โดยมี ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ผศ.ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร หัวหน้าโครงการวิจัย และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท เมติคูลี่ จำกัด รวมทั้งนายธีร์ ธีระโกเมน กรรมการ บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด ร่วมในพิธี

บริษัท ออส ทรีโอ จำกัด (OSS3O) ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยสู่ระดับสากล ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงในปัจจุบันอย่างครบวงจรที่จุดการรักษา ตั้งแต่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการออกแบบ-วิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะบุคคลอย่างเหมาะสม การประมวลผลบนคลาวด์ ไปจนถึงการผลิตด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่ทันสมัย โดย บริษัท เมติคูลี่ จำกัด นับว่าเป็นเพียงไม่กี่บริษัทจากทั่วโลกที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องมือแพทย์เฉพาะบุคคล ที่ได้รับมาตรฐานในระดับประเทศและระดับสากลมาผลิตร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการให้องค์ความรู้ และสถานที่สำหรับจัดตั้ง โดยโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศไทย