'Total Lifestyle Modification' ดูแลสุขภาพ ปรับวิถีชีวิต ต่อต้านโรคเรื้อรัง
ปัญหาหลักสุขภาพของคนไทย คือ การเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ กลุ่มโรค NCDs (non-communicable diseases) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
KEY
POINTS
- ด้วยการทำงานที่เร่งรีบ ความเครียดสะสมจากการทำงาน การรับประทานอาหารสำเร็จรูป และไม่ชอบออกกำลังกาย พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค NCDs
- "Lifestyle Modification" : การปรับเปลี่ยนแนวทางการกิน การอด การใช้ชีวิตเพื่อให้เรามีสุขภาพดี
- Healthy Lifestyle style แม้อาจจะดูว่าเป็น "ยาขม" กินยาก แต่ก็เป็น "ยาดี" ยาขนานเอก ที่จะช่วยให้เราแก้เป็นหาสุขภาพที่ต้นตอได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง
ปัญหาหลักสุขภาพของคนไทย คือ การเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ กลุ่มโรค NCDs (non-communicable diseases) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เช่นโรคหัวใจขาดเลือด อัมพาตอัมพฤกษ์ ความดันเลือดสูง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน เป็นต้น
สถิติล่าสุดของไทยบอกเราว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 32.4% เป็นสาเหตุการตายสูงสุดที่แซงหน้าการเสียชีวิตด้วยชราภาพซึ่งลดเหลือเพียง 23.5%
นอกจากสถิติปัจจุบันจะบ่งบอกว่าโรคเหล่านี้ซึ่งมีน้อยมากในอดีตได้เพิ่มจำนวนขึ้นมากในปัจจุบันแล้ว ยังทำนายได้อย่างค่อนข้างแม่นยำอีกด้วยว่าโรคเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาสุขภาพหลักของประเทศมากขึ้นทับทวีคูณในช่วงเวลาอีก 20 ปีข้างหน้านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วิจัยพบทานยาใช้เทคโนโลยีรักษา แต่สุขภาพแย่ลง
งานวิจัย พบว่าถ้าเกาะติดกับรูปแบบของการรักษาแบบไฮเทคปัจจุบันนี้ไปแล้วอนาคตเราจะเป็นอย่างไร งานวิจัยนี้ชื่องานวิจัยยูโรแอสไปร์ (Euroaspire) เขาตามดูคนไข้โรคหัวใจหลอดเลือดจำนวน 13,935 คนซึ่งได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลชั้นดี 76 แห่ง ใน 22 ประเทศของยุโรป
โดยใช้ปัจจัยเสี่ยงของโรคเป็นตัวชี้วัด คนไข้เหล่านี้เป็นพวกที่ทำตัวดี ไปหาหมอตามนัด กินยาตามที่หมอบอก เมื่อตามดูนานถึง 12 ปีจึงพบว่ามีแต่สาละวันเตี้ยลง กล่าวคือ จากเดิมมีคนอ้วน 25% ก็เพิ่มขึ้นเป็น 33% คนเป็นความดันเลือดสูงเดิมมี 32% เพิ่มเป็น 43% คนเป็นเบาหวานเดิมมี 17% เพิ่มเป็น 20%
อย่าลืมว่าคนเหล่านี้กินยาและใช้เทคโนโลยีอย่างดีรักษาทุกอย่าง แต่โครงสร้างสุขภาพกลับแย่ลง งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานว่ารูปแบบของการดูแลคนป่วยโรคเรื้อรังซึ่งมุ่งไปที่การใช้ยารักษาอย่างที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมันไม่ได้ผล
เปลี่ยนพฤติกรรม ป้องกันโรคได้
นอกจากนั้น งานวิจัยการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่นงานวิจัยป้องกันเบาหวานในคนที่ใกล้จะเป็นเบาหวาน ซึ่งเรียกย่อว่างานวิจัยดีพีพีอาร์จี(DPPRG) เขาเอาคนที่ใกล้จะเป็นเบาหวาน หมายความว่า เจาะเลือดแล้วมีน้ำตาลสูงกว่า 100 มก.มาจำนวน 3,234 คน เอามาจับฉลากแบ่งเป็นสามกลุ่ม
- กลุ่มแรก ให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง คือให้ออกกำลังกายจนถึงระดับมาตรฐาน ให้เปลี่ยนอาหารไปในทางเพิ่มผักผลไม้และลดแคลอรี่
- กลุ่มที่สอง ให้กินยารักษาเบาหวาน
- กลุ่มที่สาม ไม่ทำอะไรเลย แล้วตามดูไป 5 ปี
พบว่า กลุ่มที่ปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงกลายเป็นเบาหวานน้อยที่สุดคือ 4.8% กลุ่มที่กินยาเบาหวานเป็นเบาหวานมากกว่าคือ 7.8% กลุ่มที่ไม่ทำอะไรเลยเป็นเบาหวานมากที่สุดคือ 11.0% งานวิจัยนี้บอกเราว่าการปรับวิถีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิงนี้ป้องกันเบาหวานได้ดีกว่าการใช้ยาเกือบเท่าตัว
ในแง่ของความดันเลือดสูง การรวบรวมผลงานวิจัยในการประชุมนานาชาติ (JNC7)ก็สรุปได้ว่า มีวิธีลดความดันเลือดสูงลงโดยไม่ต้องใช้ยาได้หลายวิธี กล่าวคือ ถ้าอ้วนอยู่และลดน้ำหนักได้ 10 กก. ความดันจะลดลง 20 มม. ถ้าปรับอาหารไปทานหนักไปทางผักผลไม้และไขมันต่ำ จะลดความดันได้ 14 มม. ถ้าเลิกกินเค็มจะลดความดันได้ 8 มม. ถ้าออกกำลังกายสม่ำเสมอจะลดความดันได้ 9 มม. ถ้าดื่มแอลกอฮอล์มากแล้วลดแอลกอฮอล์ลงจะลดความดันได้ 4 มม. ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงศักยภาพของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงในการแก้ปัญหาโรคเรื้อรัง
รู้จัก Lifestyle Medicine
การใช้ชีวิตแบบผิดๆ อาจเกิดจาก “ความไม่รู้” หรือ “รู้..แต่ไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้” Total Lifestyle Modification จึงถูกคิดค้นขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยประเด็นสำคัญของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนนิดๆ หน่อยๆ แต่เป็นการเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพื่อเปลี่ยนคุณให้เป็นคนใหม่…ที่ใส่ใจในสุขภาพมากยิ่งขึ้น!!
ดังนั้น ถึงคุณจะป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อย่าง โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน โรคไต หรือแม้แต่มะเร็ง อยู่แล้ว การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตนี้ยังคง “จำเป็น” อยู่!! เพราะการรักษาด้วยยาจะไม่สำเร็จผล…หากผู้ป่วยยังคงใช้ชีวิตบนปัจจัยเสี่ยงแบบเดิม
การวางแผนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) โดยมีแพทย์และทีมสหวิชาชีพเข้ามาร่วมดูแลอย่างใกล้ชิด (Health and wellness coaches; HWCs) อาทิ นักกำหนดอาหาร นักกายภาพบำบัด เทรนเนอร์การออกกำลังกาย ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เป็นต้น
4 Steps ช่วยให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
- Check-up: Step นี้จะช่วย เปลี่ยน…คนที่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยง เป็น…คนที่รู้! แล้วมุ่งเน้นกิจกรรมพิเศษเพื่อแก้ปัจจัยเสี่ยงก่อนเป็นโรคเรื้อรัง เช่น คนที่อ้วนก็ต้องลดความอ้วน หรือ คนที่สูบบุหรี่ก็ต้องเลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคความดัน
- Cooking Class: Step นี้จะช่วย เปลี่ยน…คนที่กินแต่อาหารแคลอรี่สูง เป็น…คนที่เลือกกินอาหารแคลอรี่ต่ำและเน้นหนักผักผลไม้สูงแทน เพราะเรามี Exhibition hall (Health Promotion Hall) ที่เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ทางโภชนาการ พร้อมมีชั้นเรียนทำอาหารให้ผู้ร่วมโปรแกรมได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อให้รู้ว่าการทำอาหารแคลอรี่ต่ำและอร่อยด้วยนั้น…มันเป็นไปได้!!!
- Workout: Step นี้จะช่วย เปลี่ยน…คนไม่(ชอบ)ออกกำลังกาย เป็น…คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยนอกจากชั้นเรียนทำอาหาร รพ.พญาไท 2 ยังมีชั้นเรียนออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ และผู้ป่วยวัยต่างกันด้วย
- Mental Health: Step นี้จะช่วย เปลี่ยน…คนที่ชอบพักผ่อนน้อยและจมกับความเครียด เป็น…คนที่ได้นอนหลับพักผ่อนมากพอและจัดการกับความเครียดของตัวเองได้ดี
อย่างไรก็ตาม การ“ปรับวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง” คือแนวทางการใช้ชีวิตของเราในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่มีแคลอรี่สูง ชีวิตประจำวันที่ไม่มีโอกาสหรือแม้กระทั่งหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย การขาดการพักผ่อนที่พอเพียง
การมีพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ล้วนเป็นถนนที่จะนำพาเราไปสู่การป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งจะเป็นตัวบั่นทอนคุณภาพชีวิตของเราในบั้นปลายไปอย่างน่าเสียดาย
แม้ว่าขณะนี้เรายังไม่ป่วยและยังดีๆอยู่ก็ตาม การจะออกจากถนนเส้นนี้ไปได้เราต้องเปลี่ยนตัวเอง ไม่ใช่เปลี่ยนนิดๆหน่อยๆ ต้องเปลี่ยนตัวเองแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
ประเด็นสำคัญของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต คือ
- ต้องเปลี่ยนจากคนไม่ออกกำลังกายไปเป็นคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ต้องเปลี่ยนอาหารที่มีแต่แคลอรี่สูงไปเป็นอาหารแคลอรี่ต่ำแต่มีผักผลไม้สูงแทน
- ต้องจัดเวลาให้ตัวเองได้นอนหลับพักผ่อนมากพอและจัดการความเครียดให้ดี
- ต้องรู้ว่าตัวเรามีปัจจัยเสี่ยงสุขภาพตัวใดมากเป็นพิเศษแล้วก็ต้องมีกิจกรรมพิเศษเพื่อแก้ปัจจัยนั้น เช่นคนที่อ้วนก็ต้องมุ่งลดความอ้วน คนที่สูบบุหรี่ก็ต้องมุ่งเลิกบุหรี่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือสาระหลักของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง หรือ Total Lifestyle Modification (TLM)
ปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วยการทำงานที่เร่งรีบ ความเครียดสะสมจากการทำงาน การรับประทานอาหารสำเร็จรูป และไม่ชอบออกกำลังกาย ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุที่ส่งผลทำให้เกิดโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพหรือการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ช่วยป้องกันการเกิดโรค และหลีกเลี่ยงความรุนแรงของโรคได้หลายชนิด อีกทั้งยังช่วยให้แพทย์ได้รับข้อมูลทางสุขภาพของคุณอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นประโยชน์ในการประเมินสุขภาพ ให้คำแนะนำ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ส่งผลให้สุขภาพโดยรวมของคุณแข็งแรงมากยิ่งขึ้นเท่ากับเป็นการป้องกันโรคแต่เนิ่น ๆ
การออกแบบการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Care) แตกต่างจากการรักษาทั่วไป โดยมีเป้าหมายการดูแลสุขภาพในด้านต่าง ๆ ได้แก่
- การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย
- การออกกำลังกาย เสริมสร้างสมรรถภาพทางกายและการใช้ชีวิต
- การนอนหลับที่มีคุณภาพ ลดกิจกรรมที่ทำให้นอนหลับไม่สนิท เข้าใจธรรมชาติการนอนหลับของร่างกาย
- การจัดการกับความเครียด สร้างสภาวะทางอารมณ์ที่ดี มองโลกในเชิงบวก
- การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมอันตรายต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
อ้างอิง:โรงพยาบาลพญาไท ,BDMSwellness ,Doctor Weight Wellness Clinic