NCDs โรคร้ายยอดฮิตวัยเกษียณ ปิดความเสี่ยงค่าใช้จ่ายด้วยประกันโรคร้ายแรง
รค NCDs (Non-Communicable Diseases) เป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ หรือเชื้อโรค แต่สาเหตุมาจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
โรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) ถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของไทยและโลก แต่ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล ทำให้คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยค่าใช้รักษาพยาบาลที่ค่อนข้างสูง จึงมีความจำเป็นในการเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรค NCDs ที่มีโอกาสเกิดขึ้นหลังเกษียณมากขึ้น
โรค NCDs (Non-Communicable Diseases) เป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ หรือเชื้อโรค แต่สาเหตุมาจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ขาดการออกกำลังกาย สัมผัสควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งล้วนส่งผลให้เกิดความเสื่อมสภาพของร่างกาย
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organisation) ระบุว่า โรค NCDs คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 41 ล้านคนในแต่ละปี คิดเป็นสัดส่วนผู้เสียชีวิตสูงถึง 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 37 คน โดยโรค NCDs ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด (17.9 ล้านคนต่อปี) รองลงมาคือ โรคมะเร็ง (9.3 ล้านคนต่อปี) โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (4.1 ล้านคนต่อปี) และโรคเบาหวาน (2.0 ล้านคนต่อปี) ซึ่งรวมถึงการเสียชีวิตด้วยโรคไตที่เกิดจากโรคเบาหวานด้วย
สำหรับประเทศไทย โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 เฉลี่ย 4 แสนคนต่อปี คิดเป็น 76% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ยกตัวอย่างโรค NCDs จากสถิติกรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2023 พบว่า มีจำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 740,000 รายต่อปี มีอัตราการเสียชีวิตถึง 70,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 ราย และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 46,000 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยต่อหัวราว 488,000 - 2,476,000 บาท
ถัดมาโรคมะเร็ง เป็นโรคที่คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด มีผู้ป่วยโรคมะเร็งในไทยอยู่ที่ราว 306,995 ราย เสียชีวิตประมาณ 80,000 รายต่อปี มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคมะเร็ง 12,000 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยต่อหัวราว 700,000-1,500,000 บาท
อีกทั้งมีข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2023 (ดังกราฟที่ 1) พบว่า ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวถึง 56.3% สูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ และมีโอกาสเป็นโรคสูงที่สุดถึง 4-5 โรค อันได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคสมองเสื่อม เป็นต้น
จะเห็นว่า โรค NCDs ดังกล่าวข้างต้น เป็นโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายในระยะยาวค่อนข้างสูง นอกเหนือจากค่าผ่าตัดแล้ว ค่ายาที่ต้องกินต่อเนื่องหรือต้องกินไปตลอดชีวิต และค่าอุปกรณ์ในการตรวจรักษาที่อาจไม่สามารถเคลมกับประกันสุขภาพได้ รวมถึงผู้สูงอายุที่เป็นโรค NCDs ไม่ได้เป็นแค่โรคเดียว และยิ่งมีโอกาสเป็นได้หลายโรคเพิ่มขึ้นตามอายุ หากไม่วางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมทางการเงินแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในช่วงวัยเกษียณได้ เราจึงต้องหาวิธีการปิดความเสี่ยงไม่ให้เงินก้อนที่เก็บสะสมมานั้นรั่วไหล
ซึ่งทางเลือกหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยปิดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายโรคร้าย NCDs นั่นก็คือ การทำประกันโรคร้ายแรงที่ให้ผลประโยชน์ความคุ้มครองในรูปแบบของเงินก้อน เมื่อตรวจเจอโรคร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตาม ประกันโรคร้ายแรงส่วนใหญ่ที่ผ่านมา มักจะคุ้มครองแค่โรคเดียว หรือไม่ก็ต้องรักษาให้หายจากโรคเดิมก่อนถึงจะสามารถเคลมกลุ่มโรคอื่นได้ เราจึงควรพิจารณาเลือกประกันโรคร้ายแรงแบบยุคใหม่ ที่ไม่มีระยะเวลารอคอยระหว่างกลุ่มโรค เพราะโรคร้ายแรงที่เป็นอาจไม่มีทางรักษาให้หายได้ทันที รวมทั้งควรเลือกประกันโรคร้ายแรงที่ให้เป็นเงินก้อนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่สูง คุ้มครองโรคร้ายแรงหลายกลุ่มโรค สามารถต่ออายุกรมธรรม์ได้ต่อเนื่องยาวนานหลังเกษียณอายุ จากโอกาสเจ็บป่วยที่มากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เบี้ยประกันโรคร้ายแรงยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้สูงสุด 25,000 บาทต่อปี เมื่อรวมกับเบี้ยประกันสุขภาพตัวอื่นและเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ดังนั้น แม้ว่าค่ารักษาพยาบาลโรคร้าย NCDs จะค่อนข้างสูงและอาจส่งผลกระทบกับแผนการเงินหลังเกษียณ แต่เราสามารถวางแผนปิดความเสี่ยงได้ด้วยการทำประกันโรคร้ายแรง ที่ให้ความคุ้มครองเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลดังกล่าว เพียงแค่นี้ เราก็สามารถเกษียณได้อย่างสบายใจหายห่วงแล้ว