ชาบอกโรค!! อย่าปล่อยไว้ ชาปลายมือ ปลายเท้า สัญญาณเตือนโรค

ชาบอกโรค!! อย่าปล่อยไว้ ชาปลายมือ ปลายเท้า สัญญาณเตือนโรค

อาการชาเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบได้บ่อย คือ บริเวณมือและเท้า เช่น มือชา เท้าชา ชาปลายนิ้วมือ ซึ่งอาการชาในระยะแรกๆ มักไม่รบกวนชีวิตมากเท่ากับอาการปวด แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาท 

KEY

POINTS

  • อาการชาที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมองหรือไขสันหลัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โดยตำแหน่งของอาการชามักเป็นด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย อาจมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย
  • อาการชาในแต่ละส่วนของร่างกายเป็นสัญญาณเตือนโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อมีอาการชามือ ชาเท้า อย่าปล่อยไว้ ควรไปพบแพทย์
  • อาการชาไม่ใช่โรค แต่เรียกว่าเป็นกลุ่มอาการ การป้องกันสามารถทำได้ด้วยการยืดเหยียดบริเวณข้อมือ หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

อาการชาเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบได้บ่อย คือ บริเวณมือและเท้า เช่น มือชา เท้าชา ชาปลายนิ้วมือ ซึ่งเมื่อเกิดอาการ "ชาตามปลายมือปลายเท้า" เพียงชั่วครู่  หรือมีอาการนานขึ้น หลายคนก็มักจะปล่อยให้หายเอง และมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพียงแต่ทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้น

ถึงอาการชาปลายมือปลายเท้า หรืออาการชาทั้งมือ ในระยะแรกๆ มักไม่รบกวนชีวิตมากเท่ากับอาการปวด แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาท 

โดยลักษณะของอาการชาอาจเป็นได้ทั้งสูญเสียความรู้สึก รู้สึกแบบผิวหนังหนาๆ เป็นปื้นๆ หรือมีความรู้สึกที่แสดงออกมากกว่าปกติ เช่น ยิบๆ ซ่าๆ เหมือนเข็มทิ่ม ปวดแสบร้อน เสียวคล้ายไฟช็อต โดยลักษณะของอาการชาเหล่านี้ อาจเป็นอาการของโรคหรือเป็นสัญญาณแรกของโรค เช่น อาการชาจากการขาดวิตามิน จากโรคเบาหวาน อาการชาที่เกิดจากบางสาเหตุ หากทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการเสียหายของเส้นประสาทอย่างถาวร ทำให้การรักษาหรือฟื้นฟูกลับมา ต้องใช้เวลามากกว่าปกติ หรือรักษาแล้วอาจเกิดความพิการหลงเหลืออยู่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดอาการ ‘ภาวะด้านชาทางความรู้สึก’ กลไกปิดกั้นใจเมื่อเรื่องร้ายถาโถม

'ชา อ่อนแรง' ภัยเงียบของวัยทำงาน

กลุ่มเสี่ยง สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชา

  • สาเหตุของอาการชา

อาการชาที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมองหรือไขสันหลัง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โดยตำแหน่งของอาการชามักเป็นด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย อาจมีอาการทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนแรง ทรงตัวลำบาก โดยอาการมักเป็นฉับพลันทันที หรือ โรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ (Multiple Sclerosis) อาจพบอาการปวดตามตำแหน่งของประสาทที่มีอาการอักเสบ มีอาการเกร็ง รีเฟลกซ์การตอบสนองไวกว่าปกติร่วมกับอาการชาได้หลายตำแหน่งของร่างกาย

  • กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มควรเฝ้าระวัง

กลุ่มคนที่ใช้งานมือในลักษณะเดิมๆ ซ้ำๆ มีการใช้แรงที่มืออย่างต่อเนื่อง หรืออยู่ในท่าทางเดิมเป็นเวลานาน เช่น

  • กลุ่มแม่บ้านที่ใช้มือในการทำงานบ้านต่างๆ เป็นประจำ
  • กลุ่มคนที่ขับรถทางไกล หรือต้องขับเป็นเวลานาน
  • การเล่นกีฬาบางประเภทที่ต้องใช้มือจับอุปกรณ์ เช่น เทนนิส แบดมินตัน 
  • กลุ่มคนทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาการมือชานับเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการของออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)

ชาบอกโรค!! อย่าปล่อยไว้ ชาปลายมือ ปลายเท้า สัญญาณเตือนโรค

อาการชาที่เกิดกับร่างกายบ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง

  • ชาเฉพาะนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางครึ่งซีก (ซีกที่อยู่ติดกับนิ้วกลาง) อาจเป็นสัญญาณของโรคเส้นประสาทมือถูกบีบรัด เนื่องจากเยื่อหุ้มเอ็นที่อยู่ในช่องใต้กระดูกมือบวม หรือกระดูกมือโตทำให้ช่องใต้กระดูกมือแคบ เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หรืออาจเกิดจากแผ่นพังผืดเสื่อม และหนาตัวขึ้น
  • ชานิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และอาจมีอาการปวดมือ ปวดร้าวไปถึงแขน อาจหมายถึงสัญญาณของโรคเส้นประสาทกดทับที่ฝ่ามือ โดยเกิดจากการใช้งานมือในลักษณะเกร็งนาน ๆ ในท่าเดิม เช่น การจับมีด กรรไกร ไดร์เป่าผม คอมพิวเตอร์ มักจะมีอาการปวดในเวลากลางคืนหรือตื่นนอนตอนเช้า
  • ชาที่นิ้วก้อย อาจเกิดจากเส้นประสาทบริเวณรักแร้ที่ยาวไปถึงนิ้วก้อย สาเหตุจากงอและเกร็งข้อศอกในการยกของเป็นเวลานาน
  • ชาปลายเท้าและปลายมือ อาจเกิดจากอาการปลายประสาทอักเสบหรือเสื่อม หรือภาวะขาดวิตามินบี 1 บี 6 หรือบี 12 ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคไต โรคมะเร็ง และจากยาหรือสารพิษ เป็นต้น
  • ชาปลายนิ้วมือเกือบทุกนิ้ว แต่ไม่มีอาการชาปลายเท้า และมักจะชาช่วงกลางคืนหรือก่อนนอน อาจเกิดจากการใช้งานมือหนักมากเกินไป เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ต่อเนื่องนาน ๆ เล่นโทรศัพท์บ่อย ๆ ครั้งละนาน ๆ ซึ่งอาจทำให้เอ็นกดทับเส้นประสาทตรงข้อมือได้
  • ชานิ้วก้อย นิ้วนาง และด้านข้างฝ่ามือ (สันมือ) อาจเกิดจากเส้นประสาทบริเวณข้อศอกถูกกดทับ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ควรเปลี่ยนท่านั่งหรือท่านอนเพื่อหลีกเลี่ยงอาการชาดังกล่าว
  • ชาง่ามนิ้วระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ อาจเกิดจากเส้นประสาทกดทับที่ต้นแขน แนะนำให้เปลี่ยนท่านั่งบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการเอาแขนพาดพนักเก้าอี้
  • ชาทั้งแถบ ตั้งแต่แขนลงไปถึงนิ้วมือ อาจเกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อมและกดทับเส้นประสาท ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ชาหลังเท้าลากยาวไปถึงหน้าแข้ง แต่ไม่มีอาการชาที่มือ อาจเกิดจากการนั่งไขว้ห้าง ขัดสมาธิ พับเพียบ เป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เส้นประสาทบริเวณใต้เข่าด้านนอกถูกกดทับจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก
  • ชาทั้งเท้า และเลยไปถึงสะโพก อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท
  • อาการชาที่เริ่มเกิดขึ้นจากปลายเท้า ฝ่าเท้า ปลายนิ้ว ลามขึ้นไปที่ข้อเท้า เข่า และลำตัว เป็นอาการที่มักเกิดกับผู้ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์เข้าไปทำลายเส้นประสาทให้เสียหายหลายเส้น

ชาบอกโรค!! อย่าปล่อยไว้ ชาปลายมือ ปลายเท้า สัญญาณเตือนโรค

เช็กอาการชาที่เกิดจากระบบเส้นประสาท

อาการชาที่เกิดจากระบบเส้นประสาทส่วนปลาย

  • ภาวะรากประสาทถูกกดทับ จากกระดูกต้นคอเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อน
  • ภาวะการกดทับของเส้นประสาทในแขนขา โดยมักพบในตำแหน่งที่เส้นประสาทอยู่ตื้น และสัมพันธ์กับการนั่งหรือทำท่าเดิมนานๆ ทำท่าทางใดๆ ซ้ำๆ หรือมากเกินไป เช่น การนั่งไขว้ขา การใช้มือทำงานคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ใช้มือและนิ้วเล่นโทรศัพท์นานๆ ถือของหนัก นักกีฬาที่ต้องใช้มือหรือข้อมือเป็นหลัก ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการอ่อนแรง หรือมีกล้ามเนื้อในลีบได้หากถูกกดทับนานๆ
  • การบาดเจ็บที่เส้นประสาทโดยตรง เช่น ได้รับอุบัติเหตุ ทั้งนี้ ขึ้นกับตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกรบกวนด้วย โดยมักจะมีอาการชาแบบสูญเสียความรู้สึกและอ่อนแรงร่วมด้วย
  • โรคทางพันธุกรรม ที่ทำให้เส้นประสาทหรือปลอกประสาทส่วนปลายเสื่อม เช่น Charcot Marie Tooth Syndrome โดยผู้ป่วยมักมีประวัติคนในครอบครัวมีอาการเกี่ยวกับปลายประสาท มักมีอาการผิดรูปของเท้าหรือมือร่วมด้วย
  • ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ มักมีความเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปลายประสาทอักเสบจากโรคเบาหวานหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้
  • การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสงูสวัด ซิฟิลิส เฮชไอวี
  • โรคต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
  • โรคไตเสื่อมเรื้อรังหรือโรคตับ
  • การขาดวิตามินในผู้ป่วยที่ดื่มสุราต่อเนื่อง ผู้ที่ทานมังสวิรัติ ผู้ป่วยที่ขาดสารอาหารเรื้อรังทานได้น้อย ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการดูดซึมสารอาหารมีโรคทางเดินอาหารหรือมีโรคประจำตัวหลายโรค โดยเฉพาะ วิตามิน  B1, B6, B12, E, ไนอะซิน
  • การได้รับยาหรือสารบางอย่าง ที่ทำให้เส้นประสาทอักเสบ เช่น ยาฆ่าเชื้อได้แก่ Metronidazole, Ethambutol, Amiodarone, Colchicine เป็นต้น
  • ภูมิคุ้มกันแปรปรวนชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง
  • ความเจ็บป่วยทางร่างกายที่รุนแรง

อาการชาที่เกิดจากโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย 

  • การอุดตันของหลอดเลือดแดง ทำให้การไหลเวียนเลือดแดงเพื่อนำเลือดดีมาเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทส่วนปลายลดลง นอกจากอาการชาบริเวณแขนขาแล้ว ยังมีอาการซีดลงอีกด้วยเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดแดงลดลง อุณหภูมิจึงลดลง ปวด และคลำชีพจรไม่ได้ เป็นต้น
  • การอุดตันของหลอดเลือดดำ ทำให้การนำกลับของเลือดและของเสียลำเลียงออกไม่ได้ มีความดันในแขน ขา สูงขึ้น และรบกวนการนำเข้าของเลือดแดงมาเลี้ยง ซึ่งส่งผลต่อเลือดที่มาเลี้ยงเส้นประสาทในที่สุด โดยมักมีอาการแขน ขา บวม สีคล้ำ ชา ปวด อ่อนแรงได้ อาจจะคลำชีพจรของแขน ขาได้ถ้าอาการเป็นไม่มาก

โรคข้ออักเสบ

  • อาการอักเสบของข้อ ส่งผลต่อเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียงกับข้อ ทำให้มีอาการชาร่วมด้วยได้

โรคกล้ามเนื้อ

  • เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม เนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทหรือการไหลเวียนเลือดไปยังเส้นประสาท อาจพบอาการชาร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว

อาการชาแบบไหนที่ควรรีบมาพบแพทย์

โดยทั่วไป อาการชาที่เกิดร่วมกับอาการปวด มักทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญหรือรบกวนชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและบรรเทาอาการอันไม่พึงประสงค์ดังกล่าว แต่อาการชาที่มีลักษณะร่วมอื่นๆ ที่ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ ทำการรักษา และหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • อาการชาที่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีอาการในตำแหน่งอื่นๆ เพิ่มขึ้น หรือตำแหน่งที่ต่อเนื่องกัน
  • อาการชาที่มีลักษณะรับความรู้สึกของตำแหน่งไม่ได้ เสียการทรงตัว
  • อาการชาที่มีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย
  • อาการชาที่มีอาการผิดรูปหรือมีแผลร่วมด้วย
  • อาการชาร่วมกับมือเท้าร้อนหรือเย็นผิดปกติ

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยอาการ

  • การซักประวัติ อาการ ปัจจัยเสี่ยง หรือโรคที่อาจเป็นสาเหตุ รวมถึงยาที่ผู้ป่วยรับประทานในแต่ละวัน
  • การตรวจร่างกาย โดยการใช้ไม้จิ้มฟันปลายแหลม หรือการใช้สำลีสัมผัสเบาๆ ที่ผิวหนัง

การตรวจเพิ่มเติม โดยการส่งตรวจแบบเฉพาะของเส้นประสาท ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยไฟฟ้าของเส้นประสาท (Nerve Conduction Study – NCS) เพื่อให้ข้อมูลรายละเอียดของโรค การตรวจเพิ่มเติมทางระบบประสาทอื่นๆ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคดังที่กล่าวข้างต้น เช่น ภาพวินิจฉัยแม่เหล็กไฟฟ้าของสมอง กระดูกไขสันหลัง บางรายอาจมีอาการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง รวมถึงการตรวจเลือดเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น การตรวจน้ำตาล/น้ำตาลสะสมในเลือด การตรวจระดับวิตามินบีในร่างกาย การตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมน การตรวจหาภาวะติดเชื้อบางอย่าง เป็นต้น

ชาบอกโรค!! อย่าปล่อยไว้ ชาปลายมือ ปลายเท้า สัญญาณเตือนโรค

การรักษาอาการชาตามสาเหตุ

จากสาเหตุของอาการที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการดูแลรักษาอาการชาเบื้องต้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การทานวิตามินบีเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีสาเหตุการเกิดอาการชานั้นมีมากมาย ซึ่งแนวทางการรักษาอาการชา มีดังนี้

  • เน้นการรักษาตามสาเหตุของอาการชา
  • การรักษาอาการชาทั้งอาการปวดหรือสูญเสียความรู้สึก โดยการใช้ยา
  • การรักษาอาการชาด้วยไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulation) 
  • การกายภาพบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือสูญเสียการทรงตัวร่วมด้วย
  • การหลีกเลี่ยงและป้องกันผลที่ตามมาเมื่อเกิดอาการชา เช่น การดูแลเท้าให้เหมาะสม ตัดเล็บให้สั้น ตรวจเท้าสม่ำเสมอเพื่อค้นหาแผลและให้การรักษาก่อนที่แผลจะลุกลามหรือมีภาวะแทรกซ้อน การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม เช่น รองเท้ารัดข้อหรือรองเท้าหุ้มส้นที่มีขนาดพอดีในผู้ที่สูญเสียความรู้สึกที่เท้ามาก รวมถึงป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในกรณีที่มีอาการชามากๆ เช่น การได้รับบาดเจ็บจากความร้อน เป็นต้น

การป้องกันและความเตรียมพร้อมก่อนเกิดอาการมือชา

จริงๆ แล้วอาการมือชาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จากการใช้งานข้อมือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะฉะนั้นการป้องกันที่ได้ผลแน่นอนจึงเป็นไปได้ยาก แต่กระนั้นการเตรียมพร้อมก่อนเกิดอาการมือชาก็ยังเป็นสิ่งที่ควรทำ

  • หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือทำงานหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • ระหว่างการใช้งาน ในกรณีที่พิมพ์คอมพิวเตอร์ พยายามให้ข้อมืออยู่ในท่าตรง เพื่อไม่ให้ข้อมือต้องทำงานหนักขึ้น 
  • วางตำแหน่งให้มือสูงกว่าข้อมือเล็กน้อย แขนควรวางอยู่ข้างลำตัว ในท่าที่สบายๆ ไม่เกร็ง
  • หากจำเป็นต้องใช้งานมือข้างใดข้างหนึ่งในการทำงาน ควรฝึกให้มืออีกข้างใช้งานแทนกันได้ เพื่อไม่ให้ข้อมือข้างใดข้างหนึ่งทำงานหนักเกินไป
  • การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง จะช่วยให้ข้อมืออยู่ในท่าทางที่ถูกต้องระดับหนึ่ง
  • จัดสรรเวลาการทำงาน เพื่อให้ข้อมือได้มีเวลาพัก
  • ดูแลสุขภาพทั่วไป ไม่ให้น้ำหนักตัวเกินพอดี เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพอื่นที่อาจส่งผลต่ออาการมือชา เช่น เบาหวาน ข้ออักเสบ
  • ยืดเหยียด และออกกำลังกายข้อมือ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดอาการบาดเจ็บของเส้นเอ็น
  • ท่ายืดเหยียดที่ทำได้เองที่บ้าน
  • นวดเบาๆ 3-5 นาที บริเวณเส้นประสาทข้อมือ และกล้ามเนื้อ เพื่อยืดคลาย
  •  ออกกำลังกายยืดข้อมือ ด้วยการยกดัมเบลขนาดตามความเหมาะสมของแต่ละคน ยกขึ้นและลง เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อมือแข็งแรงขึ้น

ทั้งนี้การยืดเหยียดและออกกำลังกายข้อมือควรทำตามกำลังของแต่ละคน เพราะหากทำผิดท่า หรือหักโหมเกินไปอาจส่งผลเสียต่อข้อมือมากกว่าข้อดี แนะนำว่าควรปรึกษาทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และทีมนักกายภาพบำบัดร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม อาการชาไม่ใช่โรค แต่เรียกว่าเป็นกลุ่มอาการ เนื่องจากอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรือมีอาการหลายอย่างรวมกัน เช่น บางคนมือชาน้อยแต่ปวดเยอะ บางคนปวดเยอะแต่ชาน้อย หรือบางคนมีอาการกล้ามเนื้อมือลีบลง ใช้งานได้ไม่ถนัด 

แต่อาการชาอาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่ซ่อนอยู่ หากผู้ป่วยที่มีอาการชามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ นอกจากจะรักษาอาการชาเพื่อลดการรบกวนของผู้ป่วยแล้ว แต่ยังสามารถนำไปสู่การค้นหาโรคที่เป็นสาเหตุร่วม รวมถึงให้การวินิจฉัยก่อนเกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนของโรคนั้นๆ ได้

อ้างอิง: โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลเวชธานี ,โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข kdms