"ภาวะเข่าฉิ่ง" อย่ามองข้าม เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย

"ภาวะเข่าฉิ่ง" อย่ามองข้าม เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย

“ภาวะเข่าฉิ่ง” ความผิดปกติของเข่าที่หลายๆ อาจจะไม่เคยได้ยินว่ามีภาวะดังกล่าวจริงหรือ? ทั้งที่ “ภาวะเข่าฉิ่ง” เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย

KEY

POINTS

  • ภาวะเข่าฉิ่ง อาจจะไม่คุ้นหู แต่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะช่วงอายุ 3-6 ปี เจอในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • อาการเข่าฉิ่ง นั้น ขาทั้งสองข้างจะเบนเข้าหากันที่บริเวณเข่า หรือ Knocked Knee ขณะที่ ข้อเท้าทั้งสองข้างจะเบนออกไปทางด้านนอก ทำให้ขาทั้งสองข้างดูคล้ายกับตัว “X”
  • ในเด็กเล็ก ขาฉิ่งมักเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการปกติและมักจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่หากพบในผู้ใหญ่หรือมีอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสม

ภาวะเข่าฉิ่ง” ความผิดปกติของเข่าที่หลายๆ อาจจะไม่เคยได้ยินว่ามีภาวะดังกล่าวจริงหรือ? ทั้งที่ “ภาวะเข่าฉิ่ง” เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ใครๆ ก็สามารถประสบปัญหาดังกล่าวได้  ซึ่งภาวะดังกล่าวหลายคนอาจเรียกว่า “เข่าชิด/เข่าเป็ด” คือภาวะที่เกิดการบิดหรือหมุนเข้าด้านในของเข่า ทำให้เกิดการชิดกันของเข่า ในขณะเดียวกันขาด้านล่างบริเวณน่องและข้อเท้าวางออกห่างออกจากจากจุดศูนย์กลางของร่างกาย

ว่ากันว่า “เข่าฉิ่ง” (Knock Knee) เกิดขึ้นได้ในทุกวัย โดยเฉพาะช่วงอายุ 3-6 ปี เจอในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งภาวะดังกล่าว สาเหตุเกิดได้หลากหลาย  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปลี่ยนข้อเข่า-สะโพกเทียม ช่วยผู้ป่วยยากไร้สุขภาพยั่งยืน

ปวดข้อ เข่าติดขัด บวมแดง เสี่ยงเป็น 'โรคข้อเข่าเสื่อม'

สังเกต “ภาวะเข่าฉิ่ง” เป็นอย่างไร?

นพ. ภานุวัฒน์ ศิลาวัชนาไนย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และการเปลี่ยนสะโพกเทียมแบบไม่ผ่าตัดกล้ามเนื้อ  โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า   ภาวะเข่าฉิ่ง (Valgus Knee) อาจจะไม่คุ้นหู แต่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยจากหลายสาเหตุ โดยในวัยเด็กที่อาจพบได้เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปกติ (Normal Variation) ในช่วง 3 – 5 ปี หลังจากนั้นเมื่อโตขึ้นก็มักจะกลับมาตรงปกติ แต่ในกรณีที่มีภาวะเข่าฉิ่งในผู้ใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเข่าในระยะยาวได้ หากมีความผิดปกติควรตรวจเช็กสุขภาพเข่าเพื่อวางแผนการรักษาโดยเร็ว

ภาวะเข่าฉิ่ง (Valgus Knee) เป็นความผิดปกติของเข่า ซึ่งมีลักษณะที่สังเกตได้ชัดเจนคือ

  • เข่าเบนเข้าใน: ขาทั้งสองข้างจะเบนเข้าหากันที่บริเวณเข่า หรือ Knocked Knee
  • ปลายเท้าเบนออกนอก: ข้อเท้าทั้งสองข้างจะเบนออกไปทางด้านนอก ทำให้ขาทั้งสองข้างดูคล้ายกับตัว “X”
  • ทั้งนี้อาจพบผู้ป่วยที่มีลักษณะเข่าฉิ่งข้างหนึ่งและมีเข่าโก่งด้านตรงข้ามได้เรียกว่า “Windswept Deformity”

\"ภาวะเข่าฉิ่ง\" อย่ามองข้าม เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย

เข่าฉิ่งอย่ามองข้ามรักษาได้

  • รูปแบบความผิดปกติของภาวะเข่าฉิ่ง

ภาวะเข่าฉิ่งยังมีความหลากหลายทางสัณฐานวิทยา (Morphology) หรือรูปร่างภายนอก ได้แก่

  • การสูญเสียกระดูกหรือการเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ของปุ่มกระดูกด้านนอกของกระดูกต้นขา (Lateral Femoral Condyle) หรือแผ่นรองกระดูกหน้าแข้งด้านนอก (Lateral Tibial Plateau)
  • เข่าเบนเข้าที่ระดับกระดูกบริเวณ Metaphysis (Valgus Angulations at Metaphyseal Level)
  • การเสียสมดุลของเนื้อเยื่ออ่อนรอบ ๆ เข่า โดยมีการตึงของโครงสร้างเข่าด้านนอก (Tight Lateral Structures) และ/หรือโครงสร้างเข่าด้านในที่หย่อน (Attenuated Medial Structures)

เข่าฉิ่งอาจทำให้กระดูกสะบ้าเบนออกจากศูนย์กลาง โดยอาจส่งผลให้เกิดแรงกดและความเจ็บปวดที่ด้านหน้าของเข่า รวมถึงการที่แนวแรงในกลุ่มคนไข้เข่าฉิ่งนั้นมักจะมากบริเวณที่ด้านนอกของเข่า (Lateral Side) ซึ่งมีโอกาสทำให้กระดูกอ่อนเสื่อมได้

ภาวะเข่าฉิ่งเกิดได้จากอะไรได้บ้าง?

สาเหตุของภาวะเข่าฉิ่งเกิดได้จาก 

  • โรคข้อเข่าเสื่อมจากกระดูกอ่อนในข้อเข่าเสื่อมสภาพและสึกหรอ
  • การบาดเจ็บที่ข้อเข่า การบาดเจ็บซ้ำ ๆ หรือการบาดเจ็บรุนแรงที่ข้อเข่า หรือกระดูกที่สมานผิดรูปหลังจากเกิดอุบัติเหตุ
  • น้ำหนักตัวเกิน
  • ความผิดปกติของกระดูกตั้งแต่กำเนิด
  • พันธุกรรม
  • ภาวะขาดวิตามินดี
  • ภาวะไตวาย
  • โรคข้ออักเสบ
  • ประวัติเคยมีการติดเชื้อในกระดูก
  • เนื้องอกกระดูก

หากแบ่งตามช่วงอายุ ได้ดังนี้

  • ในเด็ก: มักเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการปกติ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 2-7 ปี
  • ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่: อาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ

สาเหตุทางกายภาพ:

  • น้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้เกิดแรงกดที่ผิดปกติบนข้อเข่า
  • การบาดเจ็บที่ข้อเข่าหรือขา

ความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า

  • โรคหรือภาวะทางการแพทย์:
  • โรคกระดูกอ่อน (Rickets) เนื่องจากการขาดวิตามินดี
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก
  • ภาวะกระดูกพรุน
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด

ปัจจัยทางโภชนาการ

  • การขาดแคลเซียมและวิตามินดี โดยเฉพาะในช่วงการเจริญเติบโต

ปัจจัยอื่นๆ

  • เช่น การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ,ท่าทางการยืนหรือเดินที่ผิดปกติเป็นเวลานาน

กรรมพันธุ์

  • บางครั้งอาจมีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดขาฉิ่งได้

สำคัญที่ต้องเข้าใจว่า ในเด็กเล็ก ขาฉิ่งมักเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการปกติและมักจะหายไปเองเมื่อโตขึ้น แต่หากพบในผู้ใหญ่หรือมีอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสม

เช็กภาวะเข่าฉิ่งได้อย่างไร

แพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียด ทั้งลักษณะการปวดและการบาดเจ็บ ก่อนจะทำการตรวจข้อเข่าเพื่อประเมินสภาพข้อเข่าและให้คำแนะนำในการรักษา หากพบความผิดปกติแพทย์อาจทำการเอกซเรย์ข้อเข่าเพื่อพิจารณาภาวะเข่าฉิ่งอย่างละเอียดและดูความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนและโครงสร้างข้อเข่า

  • วิธีการรักษาภาวะเข่าฉิ่ง

การรักษาภาวะเข่าฉิ่งทำได้หลายวิธี โดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและฝึกกายภาพ หากไม่ดีขึ้นอาจพิจารณารักษาด้วยยา แต่ในกรณีที่ไม่ได้ผลหรือมีภาวะเข่าฉิ่งที่รุนแรงส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อให้แนวกระดูกกลับมาตรงหรือทำการเปลี่ยนข้อเข่าเพื่อให้เคลื่อนไหวได้สะดวกในระยะยาว ซึ่งการเลือกวิธีการรักษานั้นจำเพาะเฉพาะบุคคล

\"ภาวะเข่าฉิ่ง\" อย่ามองข้าม เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย

การรักษาทางกายภาพบำบัด

ในทางกายภาพบำบัดจะใช้การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และการยืดกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง กลับมามีแรงช่วยพยุงโครงสร้างของร่างกายได้

ท่าที่ 1 ท่า Bridging

  • นอนหงายบนเตียง ชันเข่าทั้ง 2 ข้าง วางแขนแนบข้างลำตัว จากนั้นออกแรงที่ก้น ยกก้นลอยขึ้นจากพื้น ขึ้น-ลง นับเป็น 1 ครั้ง
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง วันละ 3-5 รอบ

ท่าที่ 2 ท่า Butterfly stretch

  • นั่งท่าขัดสมาธิโดยนั่งให้ฝ่าเท้าชนกัน จากนั้นใช้มือหรือข้อศอกกดต้นขาลง ให้รู้สึกตึงบริเวณขาหนีบด้านใน
  • ทำค้างไว้ 20 วินาที วันละ 3 รอบ

ท่าที่ 3 ท่า Clamshell

  • นอนตะแคงจากนั้นงอเข่างอสะโพก ออกแรงกางสะโพกขึ้นโดยที่เท้าทั้ง 2 วางชิดกัน ขึ้น-ลง นับเป็น 1 ครั้ง
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง วันละ 3-5 รอบ

ท่าที่ 4 ท่า Side Leg Raises

  • นอนตะแคงเหยียดขาข้างที่อยู่ด้านบน จากนั้นออกแรงกางขาขึ้น-ลง นับเป็น 1 ครั้ง
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง วันละ 3-5 รอบ

ท่าที่ 5 Side Lunge

  • ยืนตัวตรง จากนั้นก้าวขาออกทางด้านข้าง และสลับกลับมายืนตรง จากนั้นก้าวออกไปอีกข้าง นับเป็น 1 ครั้ง
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง วันละ 3-5 รอบ

ท่าที่ 6 ท่า Sumo Squats

  • ยืนตัวตรง แบะขาออกทางด้านข้าง จากนั้นย่อเข่าลงเล็กน้อย และยืดตัวขึ้น ขึ้น-ลง นับเป็น 1 ครั้ง
  • ทำซ้ำ 10 ครั้ง วันละ 3-5 รอบ

อ้างอิง: โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ,คลินิกกายภาพบำบัด ก้าวระรินสุข