"Nasal Cryosurgery" รักษาโรคภูมิแพ้ด้วยความเย็น
“ภูมิแพ้” เรียกได้ว่าเป็นโรคฮิตสำหรับคนเมือง และเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งแม้จะเป็นโรคที่ไม่ใช่โรคร้ายแรงนัก แต่ก็สามารถกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเราโดยตรงได้
KEY
POINTS
- โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เกิดจากเยื่อบุจมูกไวผิดปกติเมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่น ควัน ของที่มีกลิ่นฉุน และการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เป็นต้น
- Nasal Cryosurgery เทคโนโลยีใช้ความเย็นรักษาไปยังเส้นประสาทที่ส่งมาเลี้ยงช่องจมูก ด้วยวิธีการใช้ความเย็นจี้เพื่อขัดขวางสัญญาณที่ส่งมาจากประสาท ทำให้ช่วยลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลได้
- การรักษาภูมิแพ้ด้วยความเย็น “Nasal Cryosurgery” มีความปลอดภัยและรวดเร็วกว่าการรักษาแบบดั้งเดิม และการรักษานี้จะต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
“ภูมิแพ้” เรียกได้ว่าเป็นโรคฮิตสำหรับคนเมือง และเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งแม้จะเป็นโรคที่ไม่ใช่โรคร้ายแรงนัก แต่ก็สามารถกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเราโดยตรงได้ ส่งผลให้เสียสมาธิในการทำกิจกรรมต่างๆ และยังสร้างความรำคาญให้กับตัวผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีน้ำมูกไหลหรือจามอยู่ตลอดเวลา
ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น 3 – 4 เท่า หากเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลสถิติของสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย พบว่า เด็กไทยเป็นโรคภูมิแพ้สูงถึงร้อยละ 38 และผู้ใหญ่เป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 20
ยิ่งในขณะนี้ มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้อย่างมาก เพราะกลไกการอักเสบที่ลงลึกไปที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและระบบทางเดินหายใจส่วนล่างส่งผลต่อภูมิแพ้ทางเดินหายใจและภูมิแพ้ผิวหนัง เวลาที่สูดเข้าไปจะเกิดการอักเสบทั้งทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ภูมิแพ้โพรงจมูก จาม น้ำมูก คัดจมูก ลามไปถึงโพรงไซนัสอักเสบ
ส่วนการอักเสบทางเดินหายใจส่วนล่างคือ บริเวณหลอดลมกับถุงลม ดังนั้นฝุ่น PM 2.5 นอกจากสัมพันธ์กับภูมิแพ้ยังสัมพันธ์กับโรคหอบหืดอีกด้วย ที่น่าสนใจคือมีข้อมูลระบุว่า เมื่อร่างกายได้รับฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้เดิมได้ไวขึ้น และเกิดการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งทำให้โรคภูมิแพ้โพรงจมูก โรคหอบหืดกำเริบรุนแรงขึ้นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“Ice Bath”แช่น้ำเย็นจัด ลดอักเสบ-ความเครียด-เหนื่อยล้า แต่ไม่รักษามะเร็ง
“โรคภูมิแพ้” เกิดจากอะไร?
นพ.ปวีณ เพชรรักษ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้าน โสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล กล่าวว่าโรคภูมิแพ้ คือ โรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เกิดจากเยื่อบุจมูกไวผิดปกติเมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น เช่น ฝุ่น ควัน ของที่มีกลิ่นฉุน และการเปลี่ยนแปลงของอากาศ เป็นต้น
อาการของโรคภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยสามารถสังเกตได้ เช่น
- คันจมูก จามติดต่อกันหลายครั้ง มีน้ำมูกใสไหลตลอดเวลา
- เสมหะไหลลงคอ
- จมูกไม่ได้กลิ่นหรือได้กลิ่นลดลง
- เจ็บคอ ระคายคอ ไอ เสียงแหบ
- คันตา คันคอ คันหู หรือคันที่เพดานปาก
- ปวดศีรษะ ปวดหู หูอื้อ
โดยทั่วไปผู้ป่วยมักบรรเทาอาการด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ร่วมกับการใช้ยารับประทาน การใช้ยาพ่นจมูก
แต่บางครั้งถึงแม้ว่าจะหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ข้างต้นแล้ว อาการของโรคภูมิแพ้โดยเฉพาะอาการน้ำมูกไหลยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการใช้เทคโนโลยี Nasal Cryosurgery ซึ่งเป็นการรักษาภูมิแพ้ด้วยความเย็น มาใช้ในการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด
รักษาภูมิแพ้ด้วยความเย็น “Nasal Cryosurgery”
Nasal Cryosurgery เป็นเทคโนโลยีการประยุกต์ใช้ความเย็นรักษาไปยังเส้นประสาทที่ส่งมาเลี้ยงช่องจมูก ส่งผลให้จมูกบวมและน้ำมูกไหล ด้วยวิธีการใช้ความเย็นจี้เพื่อขัดขวางสัญญาณที่ส่งมาจากประสาท ทำให้ช่วยลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอาการน้ำมูกไหลเรื้อรัง อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น
ทำการรักษาโดยแพทย์หู ลำคอ และจมูก (ENT) ซึ่งเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการดูแลและรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติที่มีผลต่อหูคอจมูกและโครงสร้างอื่น ๆ ในบริเวณลำคอและศีรษะ โดยแพทย์หูคอจมูกได้รับการฝึกฝนและได้รับใบอนุญาตศัลยแพทย์ที่มีคุณสมบัติในการรักษาภูมิแพ้
รวมถึง โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง ไม่ใช่แค่น่ารำคาญใจแต่หากไม่รักษา ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหรือมีอาการอื่น ๆ เช่น
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ(obstructive sleep apnea)
- เหนื่อยล้า (fatigue)
- ปวดศีรษะ (headaches)
- รู้สึกเจ็บป่วยไม่สบายตัวอย่างหาสาเหตุไม่ได้ (malaise)
- เบื่ออาหาร (poor appetite)
- ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
- หูชั้นกลางอักเสบ (Middle ear infections)
ข้อดีของการรักษาด้วยความเย็น
การรักษาภูมิแพ้ด้วยความเย็น “Nasal Cryosurgery” มีความปลอดภัยและรวดเร็วกว่าการรักษาแบบดั้งเดิม และการรักษานี้จะต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ หลังจากการรักษาแพทย์จะมีแนวทางการดูแล ขึ้นอยู่กับประเภทของการรักษา และสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละบุคคล เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และคืนคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย
เป็นการรักษาที่มุ่งไปที่สาเหตุของอาการด้วยการปรับเส้นประสาทอัตโนมัติที่มาเลี้ยงช่องจมูกซึ่งทำให้จมูกบวมและน้ำมูกไหลลงคอด้วยการใช้ความเย็นจี้เพื่อขัดขวางสัญญาณที่ส่งมาจากประสาท ทำให้เส้นประสาทหยุดบอกให้จมูกบวมและหลั่งน้ำมูก ช่วยลดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลได้
ข้อดีของการรักษาด้วยความเย็นมีอะไรบ้าง
- เป็นหัตถการขนาดเล็ก (Less invasive) เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการผ่าตัด
- ปลอดภัยสูง แผลที่อาจเกิดขึ้นมีขนาดเล็ก หายเร็ว
- สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
- ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการผ่าตัด
- ผู้ที่เหมาะกับการรักษาด้วยการใช้ความเย็น
- มีอายุ 12 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีอาการน้ำมูกไหลเรื้อรัง คัดจมูก น้ำมูกไหลลงคอ อาการกระแอม ปานกลางถึงรุนแรง
- เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) และจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ (non-allergic rhinitis) ที่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำมูกไหลลงลำคอหรือมีเสมหะในลำคอ
- ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือ การรักษาชนิดอื่น
ขั้นตอนในการรักษาด้วยการใช้ความเย็น
แพทย์จะฉีดยาชาก่อนการรักษา แพทย์จะทำการรักษาที่ห้องตรวจแบบผู้ป่วยนอก โดยฉีดยาชาก่อนการรักษาและนำอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายปืนบรรจุไนโตรเจนเหลว ตรงปลายอุปกรณ์มีกระเปาะ ซึ่งแพทย์จะนำปลายอุปกรณ์ไปจี้ที่บริเวณเส้นประสาท และปล่อยไนโตรเจนเหลวเพื่อจี้บริเวณเส้นประสาทด้วยความเย็น ใช้เวลาประมาณหนึ่งนาทีครึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาแก้ปวดและยาลดบวม สังเกตอาการประมาณครึ่งชั่วโมง คนไข้ก็สามารถกลับบ้านได้ อาการเจ็บปวดมักหายไปภายในเวลา 24 ชั่วโมง ในระยะแรกคนไข้อาจมีอาการคัดจมูกเพิ่มขึ้นบ้างแต่จะดีขึ้นหลังจากแผลหาย
ผลลัพธ์ที่ได้หลังการรักษา
- คนไข้ส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นหลังจากทำหัตถการ 7 -30 วัน จากรายงานทางการแพทย์พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ยังรู้สึกถึงผลลัพธ์อยู่หลังจากรักษาได้ 1 ปี
ข้อห้ามในการรักษาด้วยการใช้ความเย็น
- โรคความผิดปกติของโปรตีนในเลือด Ccryoglobulinemia)
- ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงในกระแสโลหิต (Paroxysmal cold hemoglobinuria)
- ลมพิษที่เกิดจากความเย็น (Cold urticaria)
- โรคเรนอด (Raynaud’s disease)
- มีการติดเชื้อในช่องจมูก
- เพิ่งผ่านการผ่าตัดจมูก
อ้างอิง: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล , โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล