ธรรมศาสตร์เร่งสร้างสุขภาวะดี ลดเสี่ยงซึมเศร้า-เครียดช่วงสอบ

ธรรมศาสตร์เร่งสร้างสุขภาวะดี  ลดเสี่ยงซึมเศร้า-เครียดช่วงสอบ

สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health: WFMH) ได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก หรือ World Mental Health Day นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535

KEY

POINTS

  • ช่วงการสอบมิดเทอมและไฟนอล ราว 1 ใน 3 ของนักศึกษาทั้งหมด จะมีภาวะเครียดและเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า 
  • TU GREATS แอปรวบรวมทุกบริการของมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกคนมี พร้อมกันนี้ยังจะมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลในลักษณะ Health Profile 
  • TUCEEC ทำหน้าที่เชื่อมโยงนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ากับโลกของการทำงาน

สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health: WFMH) ได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก หรือ World Mental Health Day นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต สำหรับปี2567 หรือ World Mental Health Day 2024 คือสุขภาพจิตในที่ทำงาน (Mental Health at Work)โดยองค์การอนามัยโลกได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างสุขภาพจิตและการทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ สามารถทำหน้าที่เป็นปัจจัยป้องกันสุขภาพจิตได้

ทั้งนี้ สภาพที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต เช่น การถูกทำให้อับอาย การเลือกปฏิบัติ และการเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การถูกคุกคามและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่อื่น ๆ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตโดยรวม และส่งผลต่อการมีส่วนร่วมหรือประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาถึง 60% ของแต่ละวันอยู่ในที่ทำงาน จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่างานป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต และปกป้องและสนับสนุนสุขภาพจิตในที่ทำงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดแผนอัปเกรด ‘รพ.ธรรมศาสตร์ฯ’ บริการสุขภาพขั้นสูงไม่เสียค่าใช้จ่าย

บทบาทใหม่‘ธรรมศาสตร์’มหาวิทยาลัยสุขภาพดีเพื่อคนทั้งมวล

TU GREATS แอปรวบรวมทุกบริการของธรรมศาสตร์

“เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” เขียนโดย Kim Rando อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เล่าถึงประสบการณ์ร่วมของผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่น ความยากลำบากในการรับมือกับความคาดหวังของครอบครัว การเผชิญหน้ากับความผิดพลาด-ล้มเหลว การลุกขึ้นมาแบกรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง การจัดการอารมณ์ความรู้สึกความคิด และการก้าวเท้าเข้าไปสู่โลกของผู้ใหญ่ 

โดยเฉพาะช่วงชีวิตการเป็น “นักศึกษา” ที่ต้องจากบ้าน เปลี่ยนสังคม ออกจากครอบครัวอันเป็นพื้นที่ปลอดภัยเดิม เข้าสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ที่ต้องสร้างกลไกและสภาพแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีสุขภาวะดี หรือ Well-being นอกเหนือไปจากการจัดการเรียนการสอน 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้จัดตั้ง“Thammasat Well BeingCenter”ขึ้นมาดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักศึกษาและบุคลากร โดยจะทำงานเชิงรุก เชื่อมต่อบริการผ่านแอปพลิเคชัน‘TU Future Wellness’ที่ฝังอยู่ภายใน Super Application ของธรรมศาสตร์ที่ชื่อว่า TU GREATS ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันรวบรวมทุกบริการของมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกคนมี พร้อมกันนี้ยังจะมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลในลักษณะ Health Profile เพื่อให้เห็นภาพรวมของสุขภาวะคนในประชาคมธรรมศาสตร์

ธรรมศาสตร์เร่งสร้างสุขภาวะดี  ลดเสี่ยงซึมเศร้า-เครียดช่วงสอบ

พร้อมดำเนินการเก็บสถิติและติดตามสถานการณ์นักศึกษาอย่างใกล้ชิด นำมาสู่ความเข้าใจและการพยากรณ์พฤติกรรม โดยพบว่า ในช่วงการสอบมิดเทอมและไฟนอล ราว 1 ใน 3 ของนักศึกษาทั้งหมด จะมีภาวะเครียดและเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และยังพบอีกว่า “นักศึกษาชั้นปีที่ 1” เป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด   

Thammasat Well Being Center

ผศ.บุรชัย อัศวทวีบุญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา อธิบายว่า Thammasat Well Being Center คือศูนย์กลางการให้บริการทุกมิติสุขภาพ แบ่งเป็น 

1. ดูแลสุขภาพกาย มีการจัดพยาบาลประจำศูนย์ รวมทั้งมีแพทย์เข้ามาสนับสนุนการให้บริการเป็นรายกรณี พร้อมกับจัดบริการ Virtual Clinic ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้นักศึกษาและบุคลากรสามารถเข้ามาพบแพทย์ออนไลน์ทางไกลได้ ครอบคลุมทั้งนักศึกษาและบุคลากรทั้งท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา

 2. ดูแลสุขภาพใจ เริ่มจากการประเมินคัดกรองด้านสุขภาพจิตผ่านทางแอปพลิเคชัน TU Future Wellness ตลอดจนการมีนักจิตวิทยาประจำศูนย์​ นักศึกษาสามารถนัดหมายได้ตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น. ส่วนในช่วงนอกเวลาจะมีทีม outsource คอยให้บริการรับสายผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะเป็นเครือข่ายจากศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ และในกรณีเร่งด่วนจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือทันที

“เราพยายามทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการได้อย่างง่ายที่สุด เช่น คุณลองเปิดโทรศัพท์ประเมินดูหน่อย อย่างน้อยก็เกิด Self-Awareness ที่ทำให้คุณรู้เท่าทันตัวคุณเอง และเมื่อใดที่คุณต้องการความช่วยเหลือ ก็อยากให้รู้ว่ามหาวิทยาลัยมีพื้นที่ตรงนี้เปิดไว้ สิ่งที่อยากบอกคือ ไม่ต้องกลัว การปรึกษาด้านจิตวิทยาไม่ได้แปลว่าเราบ้า เราแค่มาดูแลตัวเอง เพราะว่าอาจมีอะไรบางอย่างที่เราจัดการด้วยตัวเองไม่ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญช่วยได้” ผศ.บุรชัย ระบุ

นอกเหนือจาก Thammasat Well Being Center ที่เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 Good health and Well-being หรือ สุขภาพดี-สุขภาวะดี แล้ว ยังได้จัดระบบดูแลนักศึกษาที่ตอบเป้าหมายที่ 8 Decent Work and Economic Growth หรือ การส่งเสริมการมีงานที่ดีที่เหมาะสำหรับทุกคน ด้วย

สร้างสุขภาวะดี ทั้งกาย-ใจ

เพราะโลกแห่งการทำงานต้องการทักษะที่มากกว่าความรู้ในห้องเรียน จึงมีการจัดตั้ง “ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” หรือ TUCEEC ขึ้นมาเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพในการทำงานจริงให้แก่นักศึกษา ตลอดจนพัฒนาทักษะใหม่ให้แก่ศิษย์เก่า

TUCEEC จะทำหน้าที่เชื่อมโยงนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้ากับโลกของการทำงาน อาทิ การจัดอบรมพัฒนาทักษะ ตั้งแต่บุคลิกภาพ การสัมภาษณ์งาน การต่อรอง การรับมือกับปัญหาในที่ทำงาน การประสานเพื่อให้เกิดการฝึกงาน สหกิจศึกษา ตลอดจนการจัดหางาน การแนะนำตำแหน่งงาน ที่ตรงตามสมรรถนะและความต้องการของทั้งสถานประกอบการและนักศึกษา รวมถึงการสนับสนุนให้ศิษย์เก่าเข้ามาพัฒนาทักษะใหม่ๆ 

เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาจบไปแล้วมีงานทำ 100% จึงได้มีการจัดตั้ง TUCEEC เพื่อเชื่อมโยงธรรมศาสตร์กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะดูแลเรื่อง Job Matching, Up-Skills Re-Skills และที่สำคัญคือมีการจัดทำ “ศูนย์กลางข้อมูล” ผ่านแอปพลิเคชัน ที่จะบรรจุข้อมูลของนักศึกษา-ความถนัด ฯลฯ ในลักษณะ portfolio ให้ผู้ประกอบการได้พิจารณา ขณะเดียวกันก็มีการบรรจุข้อมูลของบริษัทต่างๆ ที่เปิดรับสมัครงาน รับสหกิจศึกษา ตลอดจนความต้องการอื่นๆ ให้นักศึกษาได้พิจารณาด้วย

“ในอนาคต ตรงนี้จะถูกพัฒนาเป็น Big Data ที่ช่วยสนับสนุนทั้งบัณฑิตและผู้ใช้บัณฑิต รวมถึงศิษย์เก่า โดยมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้รับรอง คือใครอยากได้บัณฑิตธรรมศาสตร์ไปทำงาน ก็เข้ามาในนี้ได้เลย” 

ทั้งนี้ การดูแลคุณภาพชีวิตและการสร้างสุขภาวะดีให้นักศึกษา ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความปลอดภัย ตลอดจนสวัสดิภาพในชีวิต ถือเป็นวาระสำคัญของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เขาได้ใช้เวลาตลอด 4 ปี ในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ค้นหาตัวเองอย่างเต็มที่ และเปิดโอกาสให้กับตัวเองอย่างเต็มที่ โดยมีมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนอยู่ข้างหลัง

ขณะเดียวกัน ในสังคมโลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก การศึกษาเรียนรู้จำเป็นต้องมีความรอบด้าน ทั้งวิชาการและประสบการณ์ นับจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีทักษะทั้ง Hard skill และ Soft skill ซึ่งจะสอดคล้องกับความต้องการและการทำงานในอนาคต ไม่ว่านักศึกษาจะผันตัวเองเข้าสู่การทำงานในรูปแบบองค์กร หรือการทำงานส่วนตัว ตลอดจนการเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการ