เปิดแผนอัปเกรด ‘รพ.ธรรมศาสตร์ฯ’ บริการสุขภาพขั้นสูงไม่เสียค่าใช้จ่าย

เปิดแผนอัปเกรด ‘รพ.ธรรมศาสตร์ฯ’ บริการสุขภาพขั้นสูงไม่เสียค่าใช้จ่าย

ตั้งใจที่จะกระจายบริการสุขภาพขั้นสูงเหล่านี้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยหาวิธีบริหารจัดการงบประมาณ หรือหาการสนับสนุนแหล่งเงินจากส่วนต่างๆ 

KEY

POINTS

  • ตั้งใจที่จะกระจายบริการสุขภาพขั้นสูงเหล่านี้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยหาวิธีบริหารจัดการงบประมาณ หรือหาการสนับสนุนแหล่งเงินจากส่วนต่างๆ
  • นำเทคโนโลยีด้านการแพทย์เข้ามาใช้มากขึ้น และเน้นไปที่โรคหายากที่มีความซับซ้อน รวมถึงเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์จีโนมิกส์โดยเฉพาะ ให้บริการตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย
  • เปิดพื้นที่การเรียนรู้ทักษะที่นอกเหนือจากหลักสูตร ให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้การให้บริการด้านสาธารณสุขที่ไม่มีโอกาสได้ทำหรือได้เรียนในห้องเรียน

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี"โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ"ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ปัจจุบันมีเตียงรองรับคนไข้กว่า 800 เตียง ให้บริการผู้ป่วยนอกมากกว่า 1,300,000 รายต่อปีและผู้ป่วยในกว่า 40,000 รายต่อปีดูแลผู้ป่วยที่ซับซ้อนและเป็นศูนย์รับส่งต่อจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ ปัจจุบันก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลดิจิตอลนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ AI, high technology equipments และ database management

อีก 4-5 ปีข้างหน้า จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการให้บริการประชาชน ทั้งด้านการนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงขยายพื้นที่ในเชิงกายภาพกว่า 1 แสนตารางเมตร เกิดอาคารใหม่ มากกว่า 5 อาคาร เช่น อาคารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์, อาคารศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์, อาคาร 88 ปี มธ., อาคาร 90 ปี มธ., อาคารชวนชูชาติ วพน.7 ฯลฯ ซึ่งเป็นอาคารสำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) และผู้ป่วยใน (IPD) รวมถึงศูนย์นวัตกรรมสุขภาพธรรมศาสตร์ ฯลฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ไวรัสตับอักเสบ' ต้นเหตุของ 'มะเร็งตับ'

รู้จัก 'โรคเบาจืด' คืออะไร? แตกต่างหรือเหมือน 'โรคเบาหวาน'

ศูนย์กลางด้านการแพทย์จีโนมิกส์   

 "รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย" อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มธ. ‘ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ" กล่าวถึงแผนยกระดับให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯเป็น ‘ศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศ’ ทั้งการให้บริการดูแลรักษา การสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม การสนับสนุนการเรียนการสอนของคณะใน มธ. และ การพัฒนาองค์กร

โดยเฉพาะการให้บริการดูแลรักษา และการสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม จะมีความเกี่ยวโยงกัน เพราะจะมีการนำเทคโนโลยีด้านการแพทย์เข้ามาใช้มากขึ้น และเน้นไปที่โรคหายากที่มีความซับซ้อน ตัวอย่างเช่น การนำเข้าเครื่องฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตรอนเพื่อรักษามะเร็งที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดอัจฉริยะ da Vinci การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในทางการแพทย์ อย่างการแปลผลเอ็กซเรย์ และ CT-Scan การปลูกถ่ายอวัยวะ

รวมถึงพัฒนาศูนย์พันธุศาสตร์ทางการแพทย์ เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์จีโนมิกส์โดยเฉพาะ ให้บริการตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การวางแผนดูแลรักษาที่แม่นยำเฉพาะเจาะจง (Precision Medicine) บริการด้านนิติพันธุศาสตร์ ไปจนถึงการพยากรณ์ก่อนการเกิดโรค ครอบคลุมโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อย (โรคหายาก) โรคมะเร็ง และเภสัชพันธุศาสตร์ 

เปิดแผนอัปเกรด ‘รพ.ธรรมศาสตร์ฯ’ บริการสุขภาพขั้นสูงไม่เสียค่าใช้จ่าย

ลงทุนเพิ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์

โดยได้สั่งเครื่อง Sequencing (เครื่องถอดรหัสพันธุกรรม) ราคา 15 – 30 ล้านบาท เพราะต้องการเป็น Center และเพื่อใช้สำหรับสนับสนุนด้านการวิจัยให้เกิดประโยชน์กว้างขึ้นตอบโจทย์ประเทศด้วยเพราะจีโนมิกส์เป็นอีกหนึ่งทิศทางทางการแพทย์ในอนาคตที่หลายประเทศชั้นนำทั่วโลกเห็นร่วมกัน เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และไทยมีโครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ ซึ่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มีศักยภาพ ทรัพยากรด้านอุปกรณ์ และบุคลากรตั้งใจที่จะกระจายบริการสุขภาพขั้นสูงเหล่านี้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยหาวิธีบริหารจัดการงบประมาณ หรือหาการสนับสนุนแหล่งเงินจากส่วนต่างๆ เช่น การเปิด Premium Clinic ภายใต้ศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ กล่าวว่าแน่นอนว่าการเพิ่มเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาทำให้ต้องลงทุนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการจะให้บริการคนที่มีความจำเป็นได้ โดยไม่เก็บความค่าใช้จ่ายเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลและผู้บริหารที่จะไปหาเงินมาเพื่อทำให้เดินต่อไปได้ เพราะคนไข้บางคนเขาไม่มีกำลังจริงๆ อย่างเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยใส่สายสวนครั้งนึงเป็นหลักล้านบาท แล้วสิทธิการรักษาก็เบิกไม่ได้ ถ้าไม่ให้การรักษา ก็เท่ากับมีเทคโนโลยีในการรักษาที่ดี แต่คนเข้าไม่ถึง และตัดหนทางในการรักษาของเขา

“หลายคนเห็นแบบนี้อาจจะบอกว่าลงทุนเยอะ รายได้น้อย ไม่ทำดีกว่า แต่ผมคิดว่าเราเกลี่ย และหาทางได้ บางอย่างถ้าสร้างประโยชน์กับสังคม ถึงสร้างรายได้ให้โรงพยาบาลไม่เยอะ แต่คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้นมาก และเราพอเป็นที่พึ่งให้กับเขาได้ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เราอยากให้คนทุกคน ทุกระดับ เข้าถึงบริการพรีเมียมได้” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระบุ

เปิดพื้นที่การเรียนรู้ทักษะนอกหลักสูตร

ส่วนการสนับสนุนการเรียนการสอนของแต่ละคณะในกลุ่มศูนย์สุขศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์ โดยจะมีการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ทักษะที่นอกเหนือจากหลักสูตร ให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้การให้บริการด้านสาธารณสุขบางอย่างที่อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำหรือได้เรียนในห้องเรียน เช่น โรงพยาบาลสนาม การตั้งศูนย์การแพทย์ การบริหารจัดการในโรงพยาบาล ฯลฯ

มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดภาระงานของบุคลากรให้มากขึ้น รวมถึงจัดระบบดูแลสภาพจิตใจของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และหาแนวทางปรับค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับงานที่คนนั้นๆ ทำจริงๆ เพื่อให้เกิดการคงอยู่ในระบบ ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลมีบุคลากรเพียงพอรองรับภาระงานที่เกิดขึ้นเชื่อว่าประชาชนจะได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพได้ ไม่ใช่แค่การเพิ่มแต่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ต้องดูแลคนทำงานให้ดีด้วย

รวมทั้งการออกหน่วยไปร่วมกับการจัดกิจกรรมภายนอกมากขึ้น อย่างในช่วงที่ผ่านมาก็มีการประสานกับศูนย์การค้าเอกชน ในการร่วมกิจกรรม Happy Society โดยเป็นการออกหน่วยให้บริการตรวจสุขภาพ และให้ความรู้ด้านสุขภาพกับผู้สูงอายุภายในงานทุกวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์ ซึ่งต่อไปอาจทำให้มีความเฉพาะเจาะจงกับโรคมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคข้อเสื่อม

“วันไหนที่มีเวลาก็จะลงไปดูการทำงานของบุคลากร อาคารสถานที่ รวมถึงสังเกตการเข้ามารับบริการของประชาชน เพื่อดูว่ามีตรงไหนที่ต้องพัฒนาต่อ หรือตรงไหนที่หน่วยต่างๆ ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งผมคิดว่าข้อมูลที่ถูกต้องสำคัญมาก เพราะบางเรื่องเรานั่งอยู่ในห้องหรือดูรายงานอย่างเดียวไม่รู้ แก้ไขหรือพัฒนาอะไรไปก็จะไม่ตรงจุด” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

  

Home Pulse บริการทางการแพทย์ส่งตรงถึงบ้า

บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำในการให้บริการด้านการขยายตลาดแก่ธุรกิจ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติซึ่งมีชื่อเสียงด้านการพัฒนาทางการแพทย์ที่รวดเร็วฉับไวและมีประสิทธิภาพ ทั้งยังโดดเด่นด้านการให้บริการที่เป็นเลิศ ความร่วมมือครั้งนี้นำมาสู่การเริ่มใช้ Home Pulse บริการทางการแพทย์ที่จะยกระดับประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยซึ่งครอบคลุมในหลากหลายมิติ  

Home Pulse เป็นบริการทางการแพทย์ที่ส่งตรงถึงบ้านของผู้รับบริการ มุ่งเน้นไปที่การให้บริการเก็บและนําส่งตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผ่านบริการเจาะเลือดและเก็บตัวอย่างปัสสาวะที่บ้านของผู้ป่วย ซึ่งช่วยลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องสูญเสียไปที่โรงพยาบาลก่อนถึงวันและเวลาที่ต้องนัดพบแพทย์

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการให้บริการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ช่วยส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพในการดูแลรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยในการเข้ารับบริการไปพร้อมกัน อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลในการกำหนดวันและเวลานัดหมายจากบ้านได้ล่วงหน้า

ในช่วงแรกของการให้บริการจะครอบคลุมพื้นที่ 60 กิโลเมตรในรัศมีที่อยู่รอบบริเวณของโรงพยาบาล ก่อนจะขยายไปทั่วประเทศตามแผนที่วางไว้ ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถประหยัดเวลาอันมีค่าได้มากขึ้น บรรเทาความตึงเครียด และลดความแออัดที่โรงพยาบาลลง ซึ่งจะนำไปสู่ประสบการณ์ในการรับบริการที่ดีขึ้นและปฏิวัติการให้บริการทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต 

ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ใกล้บ้านได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเผชิญความแออัดของโรงพยาบาล หรือการรอคิวอันยาวนาน เพราะบริการจาก Home Pulse จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์บริหารจัดการเวลาให้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดอันเนื่องมาจากความซับซ้อนของโรค รวมถึงลดค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง และรายได้ที่หายไปจากการหยุดงาน เป็นต้น

ความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่กระบวนการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งขานรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังขึ้นในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ผ่านการปรับปรุงประสบการณ์การเข้ารับบริการของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น พร้อมไปกับการปรับกระบวนทัศน์ในการให้บริการทางการแพทย์ให้ทันสมัยควบคู่กันไป