"โรคติกส์" คืออะไร? อาการยุกยิก ที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำให้ขาดความมั่นใจ

"โรคติกส์" คืออะไร? อาการยุกยิก ที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำให้ขาดความมั่นใจ

“โรคติกส์ (Tics)” หรือ ทูเร็ตต์ (Tourette) คืออะไร? อาการยุกยิก อาการกระตุกของกล้ามเนื้อ การเปล่งเสียงซ้ำๆ สาเหตุโรคติกส์ ประเภทกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ การรักษาโรคติกส์ หรือ โรคทูเร็ตต์ และ วิธีการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคติกส์

KEY

POINTS

  • ส่วนมากมักจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกในช่วงวัย 3 – 7 ปี โดยเด็กกลุ่มนี้จะมีทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัวว่ามีกล้ามเนื้อกระตุกหรือมีการเปล่งเป็นเสียงออกมา
  • จากการศึกษาพบว่าผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุก จะตรวจเจอโรคอื่นเพิ่มด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า
  • แนวทางการรักษา ควรปรับพฤติกรรม ฝึกและควบคุมอาการ การรักษานี้ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีในเด็กโต ที่มีอาการนำ แต่ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองและตัวเด็กเอง

“โรคติกส์” (Tics) หรือ ทูเร็ตต์ (Tourette) คือ โรคความผิดปกติทางระบบประสาท ทำให้มี อาการยุกยิก อาการกระตุกของกล้ามเนื้อ หรือเปล่งเสียงซ้ำ ๆมักมีอาการขึ้นๆลงๆ ส่งผลให้ขาดความมั่นใจ ถูกล้อว่า อับอายหรือถูกตำหนิได้ หากมีอาการทั้งกล้ามเนื้อกระตุก (motor tic) และ เปล่งเสียง (Vocal tic) ร่วมกันเรียกว่า Tourette

ทั้งนี้ โรคTics จะเป็นอาการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเอง หรือ อาการกล้ามเนื้อกระตุก โดยอาการจะเกิดขึ้นทันทีทันใด ไม่นาน เป็นเร็ว หายเร็ว สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ แต่อาการที่เกิดขึ้นมักไม่มีแบบแผน ไม่เป็นจังหวะและไม่สม่ำเสมอเหมือนกับโรคลมชัก 

โดยจุดที่กระตุกก็จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายต่อสมองหรือการเรียนรู้ของเด็ก แต่อาจทำให้รู้สึกน่ารำคาญหรือเสียบุคลิกได้ โดยในเด็กที่อายุเกิน 10 ขวบ อาจรู้สึกถึงอาการเริ่มกระตุกด้วยตนเอง เช่น มีอาการคันบริเวณที่กระตุก และในเด็กที่โตขึ้น ผู้ใหญ่สามารถแนะนำวิธียับยั้งอาการที่เกิดขึ้นชั่วขณะได้

Tics ชั่วคราวมักพบได้ถึงร้อยละ 20 และพบเป็นต่อเนื่องได้ร้อยละ 2 ในขณะที่พบ Tourette ได้ร้อยละ 1  พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง (3-4 ต่อ1) อาการมักเริ่มตั้งแต่อายุน้อยกว่า 10 ปี และมักดีขึ้นเมื่อโตขึ้น อาจพบโรคจิตเวชร่วมด้วยได้ถึง 2 ใน 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคสมาธิสั้นและ ย้ำคิดย้ำทำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สาเหตุภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ (TICS)

พญ. วิรัลพัชร ผดุงมณีทรัพย์  แพทย์สาขากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า ภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ คือ (Tic disorder) การกระตุก ตามที่ต่างๆ ในร่างกาย โดยเกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจ และควบคุมลำบาก ที่พบบ่อยคือ กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ลำคอ ไหล่ บางครั้งมีการออกเสียงที่ผิดปกติร่วมด้วย ในผู้ป่วยบางรายพบทั้งกล้ามเนื้อกระตุกและออกเสียงผิดปกติทั้งสองอย่างร่วมกัน อันจะส่งผลต่อบุคลิกภาพและความเชื่อมั่น หากโดนเพื่อนหรือคนรอบข้างล้อเลียน

ภาวะกล้ามเนื้อกระตุก ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือ สารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง

 

โรคติกส์ มีสาเหตุมาจากอะไร

  1. พันธุกรรม เช่น การมีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีประวัติเป็นโรคติกส์ โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้
  2. ความผิดปกติของวงจรการทำงานของสมองซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมกล้ามเนื้อในส่วนของการเคลื่อนไหว ถ้าสมองส่วนนั้นทำงานผิดปกติไป ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคติกส์ได้
  3. การติดเชื้อ เบต้า-ฮีโมไลติก สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (Group A beta-hemolytic streptococcus ) ทำให้มีอาการอักเสบเจ็บคอ และเชื้อเข้าไปอยู่ในส่วนของสมอง ทำให้ภูมิคุ้มกันเข้าไปทำปฏิกิริยากับส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อ
  4. สาเหตุไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดจากความเครียดหรือตื่นเต้นเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคติกส์ได้

\"โรคติกส์\" คืออะไร? อาการยุกยิก ที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำให้ขาดความมั่นใจ

ประเภทกล้ามเนื้อกระตุกติกส์ มี 2 แบบ

กล้ามเนื้อกระตุก (Motor tics) พบได้บ่อยในเด็ก เป็นการกระตุกที่เริ่มจากใบหน้า อาทิ กระพริบตารัวและถี่ ยักคิ้ว ย่นจมูก ทำปากขมุบขมิบ โดยมักจะเปลี่ยนที่กระตุกไปเรื่อยๆ ซ้ายบ้างขวาบ้าง ไม่เฉพาะเจาะจง บางคนถึงกับลามไปกระตุกที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น

  • คอ โดยมักพบอาการ สะบัดคอ เอียงศีรษะ
  • ไหล่/แขน มักพบอาการแขนที่แกว่งไปมา
  • ขา มักพบอาการแกว่งขา หรือมีการกระดิกเท้า 

อาการส่งเสียงผิดปกติ (Vocal tics) อาการนี้จะพบได้น้อยกว่าแบบแรก ที่กล้ามเนื้อตามร่างกายกระตุก มักพบเป็นอาการแบบกระแอม ไอ ส่งเสียงเหมือนอึกอักในคอ สะอึก มีอาการแบบสูดน้ำมูก หรือกระทั่งเด็กบางคนอาจส่งเสียงมาเป็นคำ ทั้งคำที่มีความหมายหรืออาจไม่มีความหมายใดๆ ก็ได้

อาการมักเริ่มจาก Motor tics จากกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น กระพริบตา ย่นจมูก กระตุกมุมปาก ไปมัดใหญ่ เช่นยักไหล่ สะบัดคอ จากการเคลื่อนไหวง่ายไปซับซ้อน เช่น กระโดดตบ หรือทำร้ายตัวเอง และเกิด Vocal tics ขึ้นตามมา ซึ่งอาจเป็นเพียงเสียงกระแอมจนไปถึงขั้น สบถคำหยาบคาย (แต่พบได้ไม่บ่อยหนัก) ลักษณะสำคัญของโรคคือ

  1. ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดอาการเอง แต่บางครั้งจะสามารถกลั้นหรือห้ามการเคลื่อนไหวได้ชั่วคราว(จนบางครั้งทำให้คนใกล้ชิด เข้าใจผิดว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการให้เป็นหรือหยุดเองได้)
  2. ขณะเกิดอาการต้องมีสติรู้ตัวดี (ไม่เหมือนอาการชักซึ่งจะไม่มีสติ) ผู้ป่วยจะมาความรู้สึกและบอกได้ว่ากำลังจะเกิดอาการ โดยบางคนอาจบอกว่าคัน หรือตึงๆ หรือปวด บริเวณที่กำลังจะเกิดอาการ
  3. อาการเกิดขึ้นซ้ำๆวันละหลายๆครั้ง เกือบทุกวัน เป็นเรื้อรังนานกว่า 1 ปี แต่อาการอาจเป็นๆหายๆ เป็นช่วง บางครั้งเว้นระยะห่างออกไปแต่ไม่นานเกิน 3 เดือน ก็จะกลับมามีอาการใหม่
  4. อาการอาจเป็นหนักมากขึ้นถ้ากลั้นเป็นเวลานาน ถูกทัก ดุว่า หรือห้ามไม่ให้ทำ หรือมีความเครียดความกังวลไม่ว่าทางร่ายกายหรือจิตใจ อาการจะเป็นน้อยลงเมื่อผ่อนคลาย และแทบจะไม่มีอาการเลยขณะนอนหลับ

เด็กที่มักพบว่าเป็นภาวะกล้ามเนื้อกระตุกติกส์

เด็กๆ ส่วนมากมักจะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกในช่วงวัย 3 – 7 ปี โดยเด็กกลุ่มนี้จะมีทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัวว่ามีกล้ามเนื้อกระตุกหรือมีการเปล่งเป็นเสียงออกมา แต่อาการดังกล่าวไม่ได้เกิดลักษณะเดิมในทุกครั้ง จะเปลี่ยนตำแหน่งกล้ามเนื้อที่กระตุกหรือเปล่งเสียงไปเรื่อยๆ  โดยพบว่ามีอาการมากขึ้นเมื่อเด็กคนนั้นมีความเครียด อดนอน ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยและล้า หรืออาจเกี่ยวกับการอยู่ในสถานที่ที่แตกต่างกันไป มีอุณหภูมิร้อนหนาวมากเกินไป และมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ 

พอเด็กโตเข้าสู่วัยรุ่นก็จะเริ่มจับอาการนำก่อนที่จะเกิดอาการกระตุกต่างๆ ดังกล่าวได้ โดยบางคนก่อนที่กล้ามเนื้อกระตุกหรือเปล่งเสียง จะมีสัญญาณบางอย่างบอกว่ากำลังจะมีอาการ เด็กจะสามารถควบคุมหรือกลั้นอาการกระตุกหรือส่งเสียงได้ แต่จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก โดยทั่วไปเมื่ออายุเพิ่มขึ้นอาการของโรคจะค่อยๆ หายไปหรือลดลง ส่วนน้อยที่จะเป็นจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่ไม่สามารถบอกช่วงอายุได้อย่างชัดเจน

\"โรคติกส์\" คืออะไร? อาการยุกยิก ที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำให้ขาดความมั่นใจ

โรคอื่นร่วมด้วยเมื่อเป็นโรคติกส์

จากการศึกษาพบว่าเด็กที่เป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุก จะตรวจเจอโรคอื่นเพิ่มด้วย เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า

คำแนะนำในการดูแลผู้ที่เป็นโรคติกส์

  • การใช้ยา ยาสามารถช่วยแค่บรรเทาอาการเท่านั้น อาการมักเป็นๆ หายๆ หรือทำให้เบาลง แต่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่โรคไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด ในบางครั้งเด็กอาจมีอาการติกส์เกิดขึ้น แนะนำให้ผู้ปกครองอย่าทักเด็ก หรือห้ามไม่ให้ทำ หรือทำให้เด็กรู้สึกกังวลเพราะจะทำให้มีอาการมากขึ้น
  • ไม่กระตุ้นให้เด็กเครียดเกินไป ให้เด็กลดความกังวล หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเครียด
  • ปรับพฤติกรรมในเด็กที่โตขึ้น โดยให้เด็กเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อลดความกระตุกของกล้ามเนื้อส่วนนั้น
  • ลดความขัดแย้งในครอบครัว เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความเครียด เป็นต้น

การรักษาโรคติกส์และการช่วยผู้ป่วยโรคติกส์ หรือ โรคทูเร็ตต์

  • ปรับพฤติกรรม ฝึกและควบคุมอาการ 
  • การรักษานี้ถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีในเด็กโต ที่มีอาการนำ แต่ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองและตัวเด็กเอง
  • ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและบุคคลรอบข้าง อาการกล้ามเนื้อกระตุกหรือการส่งเสียงออกมาแบบไม่ตั้งใจนี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือแกล้งทำ พ่อแม่หรือคนรอบตัวเด็กต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่ต่อว่าตำหนิ ไม่ล้อเลียน ไม่ทักหรือห้ามใดๆ จนทำให้เด็กเครียด เพราะอย่างที่บอกว่าถ้ายิ่งเครียดอาการยิ่งเพิ่มมากขึ้น 
  • สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติตัวต่อเด็กกลุ่มนี้ คือ อย่าแสดงกริยาต่างๆ ไม่ทัก ไม่ล้อ ไม่ต่อว่า เมื่อเด็กมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก แต่ให้หาสาเหตุที่อาจทำให้เด็กเครียดแล้วช่วยแก้ไข เช่น ถ้าเห็นเด็กมีอาการ ควรหาทางให้เด็กได้พักผ่อนหรือเบี่ยงเบนให้น้องทำกิจกรรมผ่อนคลาย ที่สำคัญควรปรึกษากุมารแพทย์ 
  • หากเด็กมีอาการที่โรงเรียน คุณครูก็ต้องทำความเข้าใจโรคนี้ด้วยเช่นกัน พ่อแม่อาจหาวิธีบอกหรือแจ้งผู้ปกครองในเบื้องต้น ว่าอาการของเด็กนั้นไม่ร้ายแรง ไม่ได้ติดต่อ ขอความร่วมมือว่าห้ามทัก ล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม หากพบว่าเด็กมีอาการ ให้พาเด็กไปพักผ่อน หรือหากิจกรรมผ่อนคลายให้เด็กทำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ให้เด็กทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายหนักและเหนื่อยเกินไป 
  • ขจัดความเครียดให้เด็ก ข้อนี้เป็นสิ่งแรกที่สำคัญที่สุด พยายามไม่ให้เด็กกลุ่มนี้เกิดความเครียด เพราะความเครียดมีผลต่ออาการกล้ามเนื้อกระตุก และที่สำคัญที่สุด ควรพาเด็กไปพบแพทย์ เพื่อหาแนวทางดูแลป้องกัน ที่มีประสิทธิภาพ

\"โรคติกส์\" คืออะไร? อาการยุกยิก ที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำให้ขาดความมั่นใจ

การรักษาโรคติกส์ หรือ โรคทูเร็ตต์ ด้วยยา 

  • โดยปกติแล้วตัวโรคกล้ามเนื้อกระตุกจะมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ อาการจะมาเป็นระยะ อาจไม่ต้องรักษาโดยใช้ยา แต่ถึงแม้ไม่ได้ส่งผลเสียกับร่างกาย ก็อาจส่งผลเสียและผลกระทบทางจิตใจ เพราะเพื่อนและคนรอบข้างล้อเลียนจนทำให้ต้องอาย 
  • เด็กบางคนมีอาการมือสั่นหรือสะบัด จนเขียนหนังสือไม่ได้ หรือกระตุกและส่งเสียงจนเสียบุคลิกมากจนเกินไป เช่น อาการกระตุกหรือส่งเสียงออกมามากจนกลายเป็นการรบกวนชีวิตประจำวัน การกินยาจะเป็นการช่วยลดอาการกระตุกหรือส่งเสียงได้ โดยกินเป็นช่วงๆ ตามความรุนแรงของอาการตามแพทย์พิจารณา ไม่ต้องกินไปตลอด

 

โรคที่ตรวจพบร่วมกับการรักษาโรคติกส์ หรือ โรคทูเร็ตต์ 

การรักษาส่วนนี้ แพทย์จะรักษาร่วมกับโรคหรืออาการอื่นๆ เช่น เด็กที่พบโรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน เพราะเด็กกลุ่มที่พบโรคอื่นร่วม ความเครียดในตัวเด็กจะส่งผลให้โรคกล้ามเนื้อกระตุกมีอาการเพิ่มขึ้น

 

 

อ้างอิง:โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลพญาไท