ค้นหาคำตอบ! ทำไม? เก็บยาไว้ในตู้เย็น เก็บแล้วดีจริงหรือ

ค้นหาคำตอบ! ทำไม? เก็บยาไว้ในตู้เย็น เก็บแล้วดีจริงหรือ

"ยารักษาโรค” หนึ่งในปัจจัย 4 ใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยหรือรักษาให้หายขาดจากโรค ไม่ว่าจะเป็นยาสามัญประจำบ้านหรือยารักษาโรคประจำตัวก็ตามล้วนต้องมีการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี

KEY

POINTS

  • การแช่ยาบางชนิดในตู้เย็น นอกจากจะทำให้เกิดการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญแล้ว ยังทำให้เกิดสารพิษขึ้นได้
  • ถึงแม้จะเก็บยาไว้ในตู้เย็นตามฉลากแล้ว ยาก็ต้องหมดอายุตามกำหนด ดังนั้น การเก็บยาไว้ในตู้เย็น จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับยาทุกประเภท ควรอ่านฉลากยาหรือรายละเอียดบนกล่องยา
  • การเก็บยาเพื่อให้ยาคงคุณภาพและปลอดภัยต่อสมาชิกทุกคนในบ้าน ควรหลีกเลี่ยงความร้อน ความชื้นและเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม

"ยารักษาโรค” หนึ่งในปัจจัย 4 ใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยหรือรักษาให้หายขาดจากโรค ไม่ว่าจะเป็นยาสามัญประจำบ้านหรือยารักษาโรคประจำตัวก็ตามล้วนต้องมีการเก็บรักษาอย่างถูกวิธี

เนื่องจากการเก็บยาที่ไม่เหมาะสม สามารถเป็นสาเหตุของปัญหาและผลเสียต่างๆ ได้ เช่น ยาเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุส่งผลให้ผู้ป่วยไม่หายจากโรค หรือผู้ป่วยได้รับอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพหรือแปรสภาพ เป็นต้น

ขณะที่หลายคนมีความเชื่อว่า การเก็บยาไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ ๆ จะทำให้รักษาความคงตัวของยาได้นานขึ้น หรืออาจเข้าใจว่าจะสามารถยืดวันหมดอายุของยาให้นานขึ้นได้ จึงมักพบว่าบางคนจะเก็บยาทุกชนิดไว้ในตู้เย็นเพื่อแช่อาหาร  แท้จริงแล้วการเก็บยาไว้ในตู้เย็น เป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร้านยากรุงเทพ ตั้งเป้าขยายสาขา ดึงเทคโนโลยีช่วยเภสัชกรดูแลสุขภาพ

‘Arincare’ แพลตฟอร์มร้านขายยา เติบโต 20% เล็งขยายอีก 9,000 ร้าน

ยาบางชนิดไม่เหมาะกับการแช่ตู้เย็น

ภก.อนุชิต ตุงธนบดี งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการเก็บยาไว้ในตู้เย็น ส่วนใหญ่มักจะมองว่าสามารถยืดอายุการใช้งานได้ แต่แท้จริงแล้ว อาจทำให้ยาหมดความคงตัวได้เช่นกัน เพราะอุณหภูมิและความชื้นอาจไม่เหมาะสมกับยาบางชนิด เช่น หากนำยาแขวนตะกอน หรือยาน้ำเชื่อมบางประเภทมาแช่เย็น จะทำให้เกิดการตกตะกอนได้ หรือยาแคปซูลบางชนิดที่มีการเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีความชื้นสูง มักทำให้แคปซูลเยิ้มหรือติดกันได้

การแช่ยาบางชนิดในตู้เย็น นอกจากจะทำให้เกิดการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญแล้ว ยังทำให้เกิดสารพิษขึ้นได้ เช่น การแช่ยาเม็ดแอสไพรินในตู้เย็นที่มีความชื้นสูงจะทำให้เกิดการสลายตัวเป็นกรดซาลิไซลิกและกรดอะซิติก ซึ่งไม่มีผลในการต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด รวมทั้งยังทำให้เกิดพิษ ทำให้ร่างกายเกิดการขาดออกซิเจน ชัก และหมดสติได้เมื่อรับในประมาณปริมาณสูง

"การเก็บยาไว้ในตู้เย็น จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับยาทุกประเภท ควรอ่านฉลากยาหรือรายละเอียดบนกล่องยาเพื่อศึกษาถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาอย่างถูกต้อง"

ค้นหาคำตอบ! ทำไม? เก็บยาไว้ในตู้เย็น เก็บแล้วดีจริงหรือ

ยาเสื่อมคุณภาพอาจไม่ต่างไปจากสารพิษ

รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ ผศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนในบทความว่าเมื่อคุณได้รับยามาแล้ว ต้องรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดและที่สำคัญคือต้องเก็บยาให้ดีด้วย เพราะหากเก็บรักษายาไม่ดีจะส่งผลเสียคือยาเสื่อมคุณภาพ หรือออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ อย่าลืมว่ายาเสื่อมคุณภาพอาจไม่ต่างไปจากสารพิษ กินเข้าไปแล้ว โรคก็ไม่หาย แต่ที่แย่ยิ่งกว่าคืออันตราย

ยาบางชนิดไม่คงตัวเมื่อเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง จึงต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำ ยาพวกนี้เภสัชกรจะย้ำว่าต้องเก็บไว้ในตู้เย็น เมื่อดูฉลากยาจะระบุชัดเจน ว่าต้องเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส

ตู้เย็นในปัจจุบันออกแบบช่องเก็บความเย็นไว้หลากหลาย แต่ละจุดให้อุณหภูมิต่างกัน เมื่อฉลากยาระบุให้เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หมายถึงต้องช่องแช่เย็นปกติที่ไม่เย็นเกินไป(ไม่ใช่ช่องทำน้ำแข็ง) ตู้เย็นบางยี่ห้อมีช่องใต้ห้องแช่แข็ง ซึ่งอาจให้อุณหภูมิต่ำเกินไป แต่ที่สำคัญที่สุดคือห้ามเก็บยาในห้องแช่แข็งเป็นอันขาด ถ้าคุณเก็บยาที่ระบุให้เก็บในช่วง 2-8 องศาเซลเซียสไว้ในช่องแช่แข็ง จะทำให้ยาสูญเสียประสิทธิภาพในการรักษาและอาจทำให้ไม่ปลอดภัยเมื่อนำไปใช้

ส่วนยาที่ระบุให้เก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส หมายถึงการเก็บในห้องทั่วไปที่ไม่ร้อนจัด แต่บางคนอาจคิดว่าการนำยาทุกชนิดไปเก็บไว้ในตู้เย็นจะช่วยถนอมยา ไม่ให้ยาเสีย แต่ที่จริงแล้วเมื่อยาอยู่ในอุณหภูมิต่ำจะทำให้มีโอกาสเสียสภาพเร็วขึ้น และกระทบต่อคุณภาพยา เช่นยาหยอดตาบางประเภท หรือยาพ่นที่ระบุให้เก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส หากเก็บไว้ในตู้เย็นจะทำให้อนุภาคของตัวยามีขนาดเปลี่ยนแปลงไป ส่วนยาน้ำบางชนิดถ้าอยู่ในตู้เย็น ตัวยาสำคัญจะตกตะกอน ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพการรักษา

ถึงจะเก็บยาในตู้เย็น แต่ยาจะหมดอายุตามกำหนด

การเก็บยาในตู้เย็นควรเป็นตำแหน่งที่อุณหภูมิค่อนข้างคงที่ (ช่วง 2-8 องศาเซลเซียส) ไม่แนะนำให้เก็บยาไว้ที่ประตูตู้เย็น ถึงแม้ว่าเป็นตำแหน่งที่สะดวกในการหยิบยามาใช้ประตูตู้เย็นเป็นตำแหน่งที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงง่ายเมื่อมีการเปิด-ปิดตู้เย็น จึงแนะนำให้เก็บไว้ในตู้เย็นด้านใน และควรหากล่อง หรือภาชนะใส่ยาที่เก็บในตู้เย็น แทนที่จะวางปะปนไปกับอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้เป็นระเบียบ และง่ายต่อการหยิบใช้

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ถึงแม้จะเก็บยาไว้ในตู้เย็นตามฉลากแล้ว ยาก็ต้องหมดอายุตามกำหนด เช่น ยาหยอดตาที่เปิดแล้ว อายุจะเหลือเพียง 1 เดือนหลังเปิดใช้ เนื่องจากยามีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคจึงเป็นอันตรายเมื่อนำไปใช้ เมื่อคุณเปิดใช้ยาต้องจดวันเปิดใช้ไว้ที่กล่องยา หรือขวดยา และเมื่อผ่านไป 30 วัน ควรทิ้งไป

ส่วนยาน้ำของเด็กประเภทผงแห้งที่ต้องผสมน้ำให้เป็นของเหลวก่อนใช้ก็ยิ่งต้องระวังมากขึ้น เพราะเป็นยาปฏิชีวนะที่ต้องกินจนหมด หากเผลอลืมกินไม่หมด ยาที่เหลืออยู่ก็มีอายุแค่ประมาณ 7-14 วัน แล้วแต่ชนิดของยา โดยให้ดูที่ฉลากหรือเอกสารกำกับยาเป็นสำคัญ ยาที่อายุเกินกำหนดก็คือยาเสื่อมสภาพย้ำว่าห้ามใช้เด็ดขาด

เมื่อเราเจ็บป่วยและต้องใช้ยา ต้องใช้ยาให้ถูกต้อง และต้องเก็บยาให้ถูกต้องด้วย จึงจะทำให้เราได้รับประสิทธิผลการรักษา และได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา ย้ำว่ายาทุกชนิดไม่ควรนำไปไว้ในตู้เย็น และต้องไม่แช่ยาไว้ในช่องแช่แข็งเป็นอันขาด

ค้นหาคำตอบ! ทำไม? เก็บยาไว้ในตู้เย็น เก็บแล้วดีจริงหรือ

ปัจจัยที่มีผลต่อการเก็บรักษายามีอะไรบ้าง ?         

การเก็บรักษายา ต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นตัวกระตุ้นหรือทำให้เกิดการเสื่อมสลายของยา ดังนี้

  • อุณหภูมิ   

ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิที่ระบุตามฉลากหรือเอกสารกำกับยา อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไปสามารถส่งผลต่อคุณภาพของยา  โดยทั่วไปแนะนำให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง ประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส เเต่ยาบางชนิดอาจต้องเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส

 

  • เเสงเเดด  

ควรเก็บยาไม่ให้โดนเเสงเเดด เนื่องจากตัวยาหลายชนิดจะเกิดการแปรสภาพหรือเสื่อมสภาพเมื่อโดนเเสงเเดดโดยตรง สามารถป้องกันยาจากแสงแดดได้โดยการเก็บยาในภาชนะบรรจุตั้งต้นจากบริษัทยา หรือเก็บในซองหรือกระปุกที่ป้องกันแสงได้

  • ความชื้น 

ตัวยาหลายชนิดเมื่อโดนความชื้นจะเกิดการแปรสภาพหรือเสื่อมสภาพ อาจทำให้มีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น เม็ดยาบวม หรือเม็ดยาเกาะกันเป็นก้อน เป็นต้น ดังนั้น ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุตั้งต้นจากบริษัทยา ควรหลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชี้นสูง เช่น ห้องน้ำหรือห้องครัว เเละปิดฝาขวดยาให้สนิททุกครั้งหลังเปิดใช้

  • อากาศ

ในอากาศปกติจะมีก๊าซต่างๆ ซึ่งก๊าซบางชนิดสามารถเร่งให้เกิดการแปรสภาพหรือเสื่อมสภาพของตัวยาให้เกิดเร็วขึ้น ดังนั้น จึงควรเก็บเม็ดยาไว้ในภาชนะบรรจุตั้งต้น หากไม่จำเป็นไม่ควรนำเม็ดยาออกจากภาชนะบรรจุตั้งต้นก่อนใช้

การใช้กล่องแบ่งยาสำหรับรับประทาน

ปัญหาการเก็บยาที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การเเบ่งยาที่ต้องรับประทานแต่ละมื้อใส่กล่องเตรียมไว้สำหรับแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ เพื่อความสะดวกในการใช้ยา โดยการนำเม็ดยาออกจากเเผงยาหรือภาชนะบรรจุตั้งต้นแล้วนำเม็ดยามาใส่รวมกันในกล่อง ทำให้ยามีโอกาสสัมผัสกับแสงแดด ความชื้น อากาศ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งอาจส่งผลเร่งการแปรสภาพหรือเสื่อมสภาพของยา

ทั้งนี้แล้ว หากท่านมีความจำเป็นต้องเเบ่งยาออกมาจากแผงยาหรือภาชนะบรรจุตั้งต้นก็สามารถทำได้ ดังนี้

  • ยาที่บรรจุในแผงยา วิธีการที่ดีที่สุดควรตัดเเผงยาออกเป็นขนาดเล็ก ตามจำนวนเม็ดที่ต้องรับประทาน เเล้วใส่ในกล่องแบ่งยา
  • ยาเม็ดเปลือยที่บรรจุในกระปุกยาขนาดใหญ่ควรเเบ่งเม็ดยาใส่กล่องแบ่งยาออกมาทีละน้อย ไม่ควรเกินจำนวนที่รับประทานใน 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ กล่องแบ่งยาที่ใช้ควรเป็นภาชนะที่ปิดมิดชิด สามารถป้อง กันเเสงได้ และแยกยาในแต่ละมื้อหรือแต่ละวันออกจากกันอย่างชัดเจน

ค้นหาคำตอบ! ทำไม? เก็บยาไว้ในตู้เย็น เก็บแล้วดีจริงหรือ

บริเวณที่เหมาะสมในการเก็บยา

การเก็บยาเพื่อให้ยาคงคุณภาพและปลอดภัยต่อสมาชิกทุกคนในบ้าน นอกจากหลีกเลี่ยงความร้อน ความชื้นและเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้ว มีคำแนะนำดีๆ ดังต่อไปนี้

  • ควรแยกยารับประทานและยาใช้ภายนอกออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสนหรือการหยิบใช้ยาผิดประเภท
  • เก็บยาในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับชื้น ไม่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง เช่น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เป็นต้น
  • ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
  • สำหรับยาบางชนิดอาจต้องเก็บในตู้เย็น การเก็บยาในตู้เย็น ควรเก็บในช่องธรรมดาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส และควรแยกยาออกจากอาหาร หลีกเลี่ยงการเก็บยาบริเวณฝาตู้เย็นซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิบ่อย และห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง
  • จัดเก็บยาพร้อมฉลากยาที่ได้รับมา
  • ไม่ควรเก็บยาต่างชนิดกันในบรรจุภัณฑ์เดียวกัน

 “วันหมดอายุของยา” สิ่งสำคัญที่มักหลงลืมกันไป

ยาบางชนิดอาจมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการคงสภาพตลอดอายุของยา เช่น ยาหยอดตามีอายุ 1 เดือนหลังจากเปิดใช้ ยาปฏิชีวนะชนิดแขวนตะกอนบางชนิดที่ผสมน้ำแล้วมีอายุ 1 สัปดาห์ เมื่อเก็บที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และมีอายุ 2 สัปดาห์ เมื่อเก็บในตู้เย็น เป็นต้น ท่านควรอ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างละเอียด หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเภสัชกรโดยตรง

แต่ละบ้านมีการเก็บยาต่างๆ ไว้มากมาย มีทั้งยาใหม่และยาเก่า แม้จะเก็บรักษาอย่างถูกวิธี แต่ต้องไม่หลงลืมกันไปว่ายาแต่ละตัวมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้น ท่านควรตรวจสอบวันหมดอายุของยาบนบรรจุภัณฑ์ก่อนรับประทานยาทุกครั้ง และสังเกตลักษณะทางกายภาพของเม็ดยาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติหรือไม่

หากพบว่ายาหมดอายุ หรือลักษณะเม็ดยาผิดปกติ เช่น มีสีเปลี่ยนไปจากเดิม มีจุดด่างบนเม็ดยา มีกลิ่นที่ผิดปกติ มีการตกตะกอนหรือจับกันของผงยา การแยกชั้นของเนื้อครีม เป็นต้น ท่านไม่ควรใช้ยาที่มีความผิดปกติดังกล่าว เพื่อป้องกันอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพ

จากที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บยา เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการรักษา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เห็นถึงความสำคัญในการเก็บยา เพื่อให้ยายังคงคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุด ทางโรงพยาบาลได้มีการจัดเก็บยาที่เป็นแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกันทั้งโรงพยาบาล

รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการติดตามและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตลอดเวลา เพื่อให้ยาคงคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับเมื่อแรกผลิตจากโรงงานยา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยที่รับยาจากโรงพยาบาลได้ใช้ยาที่มีคุณภาพดีและส่งผลต่อการรักษาที่ดีที่สุด

อ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ,คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย