เปิด "นวัตกรรมยารักษาโรคเบาหวาน"ในประเทศไทย
นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย เผยนวัตกรรมยารักษาโรคเบาหวานในประเทศไทย พร้อมเปิดงานวิจัยทางคลินิกที่มีความเฉพาะของกลุ่มประชากรไทย ป้องกัน รักษาโรคเบาหวาน
ข้อมูลจาก IDF Diabetes Atlas ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 537 ล้านคน มากกว่า 90% เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย คาดว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน และภายในปี 2588 จะเพิ่มมากถึง 783 ล้านคน
ขณะที่สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย ข้อมูลจากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยพบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสมจำนวน 3.3 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 มากถึง 1.5 แสนคน สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยรายใหม่ในปี 2566 พบว่า การคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานในประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป ยังไม่ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวานมากถึง 5 ล้านคนจากเป้าหมายทั่วประเทศ 22 ล้านคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แนวทางการรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบัน
ศ.คลินิก นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าโรคเบาหวานเป็นปัญหาสำคัญของคนไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะในยุคที่การใช้ชีวิตของคนเรามีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกๆ ปี
โรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติของร่างกายในการนำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์จากภาวะที่ขาดฮอร์โมนอินซูลินและหรือภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติในผู้ป่วยเบาหวานมีความสำคัญในการลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ของโรคเบาหวาน ได้แก่ โรคไตวาย ตาบอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด
การดูแลรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี ได้แก่ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด วิธีการเหล่านี้มีความสำคัญในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป เนื่องจากผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลและปัจจัยร่วมที่แตกต่างกัน ปัจจุบันมียาใหม่ๆ ที่สามารถเป็นทางเลือกเพื่อให้การดูแลรักษาโรคเบาหวานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นวัตกรรมยารักษาโรคเบาหวาน
ในช่วงแรกเริ่มของการรักษาโรคเบาหวานมีการใช้ยาฉีดอินซูลินและยาเม็ดในกลุ่ม sulfonylurea ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งข้อเสียของยา 2 กลุ่มข้างต้นที่สำคัญ คือ การเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหลังการรักษา นอกจากนี้ ยังมียาเม็ด metformin ซึ่งไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดและน้ำหนักตัวที่ไม่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมียาที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการรักษาโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นยารับประทาน ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สะดวกในการใช้วิธีการฉีดยา ได้แก่
1. GLP-1 Receptor Agonists
ยาในกลุ่ม GLP-1 Receptor Agonists ทำงานโดยการกระตุ้นตัวรับ GLP-1 ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดเดียวกับฮอร์โมนในร่างกายที่ถูกผลิตขึ้นจากลำไส้ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยยาจะออกฤทธิ์เฉพาะเวลาที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเท่านั้น เพราะฉะนั้นจะไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยในการลดน้ำหนักซึ่งเป็นข้อดีที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มักมีปัญหาน้ำหนักเกินได้ด้วย
ยากลุ่มนี้ยังมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย จึงเป็นคุณลักษณะที่ทำให้ยากลุ่ม GLP-1 Receptor Agonists เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดยังพบว่าสามารถชะลอการเสื่อมของไตในผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วยเช่นกัน
ในช่วงที่ผ่านมา ยาในกลุ่ม GLP-1 Receptor Agonists ได้มีการพัฒนาจากรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นยาฉีดมาเป็นยารูปแบบรับประทานที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน นับเป็นความก้าวหน้าที่แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาที่สะดวกสบายขึ้น
2. SGLT2 Inhibitors
กลุ่ม SGLT2 Inhibitors มีบทบาทในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยการยับยั้งการดูดกลับน้ำตาลที่ไต ทำให้ร่างกายขับน้ำตาลออกไปกับปัสสาวะ ยากลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดและยังมีข้อดีในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและชะลอการเสื่อมของไต ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคเบาหวาน
3. DPP-4 Inhibitors
กลุ่ม DPP-4 Inhibitors ทำงานโดยการยับยั้งเอนไซม์ DPP-4 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายฮอร์โมน GLP-1 ในร่างกาย ยากลุ่ม DPP-4 Inhibitors มีข้อดีที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด แต่ยากลุ่มนี้ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัวและไม่มีผลโดยตรงในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคไต
ความก้าวหน้าทางการวิจัยในไทย
งานวิจัยทางคลินิกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อแพทย์และผู้ป่วย โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย งานวิจัยทางคลินิกที่มีความเฉพาะของกลุ่มประชากรไทย ไม่เพียงแต่ช่วยให้เข้าใจความต้องการและปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยแต่ยังสามารถพัฒนาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นวัตกรรมยาโรคเบาหวานในประเทศไทยในปัจจุบัน ได้ส่งผลต่อการดูแลผู้ป่วยโดยการเพิ่มทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคล ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่การพัฒนาที่ดีเหล่านี้เพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอในการป้องกันโรคเบาหวาน
การควบคุมอาหารและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยังคงเป็นกลยุทธ์หลักในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานอย่างมีประสิทธิภาพ การทำความเข้าใจถึงการบริโภคชนิดและปริมาณของอาหาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมใหม่ๆ ของยารักษาโรคเบาหวานและการบริโภคอาหารที่ถูกต้องร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยจัดการโรคเบาหวานในประเทศไทย