'อินซูลีน'ฮอร์โมนสร้างขึ้นจากต่อมไร้ท่อ ทำไม? สำคัญต่อผู้ป่วยเบาหวาน

'อินซูลีน'ฮอร์โมนสร้างขึ้นจากต่อมไร้ท่อ ทำไม? สำคัญต่อผู้ป่วยเบาหวาน

‘โรคเบาหวาน’ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เกิดจากตับอ่อนสร้าง ‘ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)’ ได้น้อยหรือไม่ได้เลย ฮอร์โมนชนิดนี้มีหน้าที่คอยช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงาน

KEY

POINTS

  • คนปกติ แม้ไม่ได้รับประทานอาหาร ตับยังคงสร้างน้ำตาลเพื่อให้ร่างกายใช้เป็นพลังงาน และมีการหลั่งอินซูลินจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อนระดับต่ำๆ
  • หลังรับประทานอาหารแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า หรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ร่วมกับมีอาการของเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง กระหายน้ำ น้ำหนักลดให้ถือว่าเป็นเบาหวาน
  • ผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากรับอินซูลินตามแพทย์สั่งแล้ว ยังต้องระวังการติดเชื้อง่าย ด้วยการรักษาอนามัยส่วนตัวให้สะอาด  รวมทั้งหมั่นออกกำลังกาย  ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด

‘โรคเบาหวาน’ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เกิดจากตับอ่อนสร้าง ‘ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)’ ได้น้อยหรือไม่ได้เลย ฮอร์โมนชนิดนี้มีหน้าที่คอยช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงาน

ถ้าน้ำตาลก็ไม่ถูกนำไปใช้ หรือนำไปใช้ได้ไม่เต็มที่ ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูงผิดปกติ หากควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีในผู้เป็นเบาหวาน จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่างๆ และทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ตา ไต และระบบประสาท

ภญ.ชัยวรรณี   เกาสายพันธ์ ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวในบทความ ว่าอินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่ตับอ่อนสร้างขึ้น และมีหน้าที่ที่สำคัญคือ นำน้ำตาลในเลือดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายเพื่อสร้างเป็นพลังงาน แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้เต็มที่ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลิน มีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย  กระหายน้ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น โรคติดเชื้อเป็นแผลหายยาก โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตและตา เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

6 เสาหลัก ของการมีสุขภาพดีตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต

รู้จัก 'โรคเบาจืด' คืออะไร? แตกต่างหรือเหมือน 'โรคเบาหวาน'

โรคเบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร

คนปกติ แม้ไม่ได้รับประทานอาหาร ตับยังคงสร้างน้ำตาลเพื่อให้ร่างกายใช้เป็นพลังงาน และมีการหลั่งอินซูลินจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อนระดับต่ำๆ เมื่อรับประทานอาหารโดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรต (หมวดข้าว แป้ง) จะถูกย่อยสลาย
เป็นน้ำตาลกลูโคส ในลำไส้เล็กและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อใช้เป็นพลังงานระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นในเลือดจะกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพิ่มขึ้น เพื่อเผาผลาญน้ำตาลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

ในผู้เป็นเบาหวานไม่ว่าจะกรณีสร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่ได้ หรือสร้างได้ไม่พอ เนื่องจากความต้องการอินซูลินเพิ่มขึ้น เพราะอินซูลินออกฤทธิ์ไม่ดี ร่างกายจะใช้น้ำตาลไม่ได้ ขณะเดียวกันมีการสลายไขมันเพิ่มขึ้นทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ จนล้นออกมาในปัสสาวะสามารถตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะเป็นสาเหตุให้มีมดมาตอมปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของคำว่า “เบาหวาน

\'อินซูลีน\'ฮอร์โมนสร้างขึ้นจากต่อมไร้ท่อ ทำไม? สำคัญต่อผู้ป่วยเบาหวาน

เกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน

  • ถ้ามีระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้าตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป
  • หลังรับประทานอาหารแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า หรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรร่วมกับมีอาการของเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย คอแห้ง กระหายน้ำ น้ำหนักลดให้ถือว่าเป็นเบาหวานได้เลย

อาการของเบาหวาน

  • ปัสสาวะบ่อย และมากในเวลากลางคืน
  • คอแห้ง กระหายน้ำ และดื่มน้ำมาก
  • หิวบ่อย รับประทานจุ แต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
  • ถ้าเป็นแผลจะหายยาก มีการติดเชื้อตามผิวหนังเกิดฝีบ่อย
  • คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้เป็นเบาหวานเพศหญิง
  • ตาพร่ามัว
  • ชาปลายมือ ปลายเท้า หย่อนสมรรถภาพทางเพศ

สาเหตุที่ทำให้เป็นเบาหวาน

  • กรรมพันธุ์ เบาหวานสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้ก็จริง แต่ผู้ที่มีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่น้อง เป็นเบาหวาน) ไม่จำเป็นต้องเป็น
    เบาหวานทุกคนจะมีโอกาสเป็นสูงถ้ามีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
  • ความอ้วน
  • ผู้สูงอายุ ตับอ่อนสังเคราะห์และหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง
  • ตับอ่อนได้รับความกระทบกระเทือน เช่น ตับอ่อนอักเสบ
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น คางทูม หัดเยอรมัน หัด
  • ยาบางชนิด
  • การตั้งครรภ์

\'อินซูลีน\'ฮอร์โมนสร้างขึ้นจากต่อมไร้ท่อ ทำไม? สำคัญต่อผู้ป่วยเบาหวาน

เมื่อไรถึงต้องใช้อินซูลิน

• ผู้ป่วยเบาหวานที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

 • ผู้ป่วยเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนทางตับ ไต และรักษาโดยยาชนิดรับประทานไม่ได้ผล

ชนิดของอินซูลิน

แหล่งที่มาของอินซูลิน มี 2 แหล่ง คือ ได้มาจากการสกัดจากตับอ่อนของหมูและวัว ส่วนอีกแหล่งได้มาจากการสังเคราะห์โดยวิธีพันธุวิศวกรรม ทำให้ได้อินซูลินที่เหมือนกับอินซูลินของมนุษย์ ซึ่งมีโอกาสเกิดการแพ้น้อยกว่าแบบแรก และนิยมใช้กันในปัจจุบัน

อินซูลินแบ่งออกเป็นหลายชนิด ตามระยะเวลาที่ออกฤทธิ์

1. ชนิดออกฤทธิ์เร็วมาก ลักษณะใส ไม่มีสี ออกฤทธิ์ในเวลา 10-15 นาที ออกฤทธิ์สูงสุดที่ 1-3 ชม. และมีฤทธิ์นานประมาณ 3-5 ชม. ใช้ฉีดเมื่อต้องการลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารมื้อนั้น ๆ

 2. ชนิดออกฤทธิ์เร็วและสั้น ลักษณะใส ไม่มีสี ออกฤทธิ์ในเวลา 30-60 นาที ออกฤทธิ์สูงสุดที่ 2-4 ชม. และมีฤทธิ์นานประมาณ 5-7 ชม. ส่วนใหญ่ใช้ฉีดก่อนอาหารครึ่งชม. เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลหลังอาหารหรือเพื่อลดน้ำตาลในเลือดให้ลงอย่างรวดเร็วกรณีที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมาก

3. ชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง ลักษณะเป็นสารละลายขุ่น ต้องเขย่าขวดเบาๆให้เป็นเนื้อเดียวกันก่อนใช้ทุกครั้ง ออกฤทธิ์ในเวลา 2-4 ชม. ออกฤทธิ์สูงสุดที่ 6-12 ชม. และมีฤทธิ์นานประมาณ 18-24 ชม. ใช้เป็นอินซูลินหลักในการรักษาโรคเบาหวาน

4. ชนิดออกฤทธิ์ยาว ลักษณะใส ไม่มีสี ออกฤทธิ์ในเวลา 2 ชม. ไม่มีฤทธิ์สูงสุด และมีฤทธิ์นาน 24 ชม. ใช้สำหรับฉีดเพื่อให้ระดับอินซูลินในเลือดสูงขึ้นในปริมาณหนึ่งตลอดทั้งวัน และป้องกันไม่ให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำได้

นอกจากนี้ยังมี อินซูลินชนิดผสม ซึ่งนำเอาอินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็วมาผสมกับชนิดออกฤทธิ์ปานกลางในอัตราส่วนต่าง ๆ สะดวกสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้อินซูลินทั้งสองแบบ ลักษณะเป็นสารละลายขุ่น ต้องเขย่าเบา ๆ ก่อนใช้ทุกครั้ง

\'อินซูลีน\'ฮอร์โมนสร้างขึ้นจากต่อมไร้ท่อ ทำไม? สำคัญต่อผู้ป่วยเบาหวาน

ทำไมต้องใช้อินซูลินโดยวิธีฉีด

  • หากผู้ป่วยได้รับอินซูลินโดยการรับประทาน ตัวยาจะถูกทำลายโดยน้ำย่อยในระบบทางเดินอาหาร จึงต้องใช้วิธีฉีดเข้าร่างกายโดยตรง 
  • วิธีฉีด ปกติจะฉีดใต้ผิวหนัง แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด

การเตรียมยาในกรณีที่ใช้อินซูลินแบบขวด

ตรวจดูลักษณะยา ถ้าเป็นชนิดน้ำใส ต้องไม่หนืด ไม่มีสี ถ้าเป็นชนิดน้ำขุ่นแขวนตะกอน ให้คลึงขวดยาบนฝ่ามือทั้งสองข้างเบา ๆ เพื่อให้ยาผสมกันทั่วทั้งขวด  ห้ามเขย่าขวดอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดฟองและทำให้ได้ปริมาณยาไม่ครบตามจำนวน

ถ้าผู้ป่วยใช้อินซูลิน น้ำขุ่นและน้ำใสในเวลาเดียวกัน ให้ดูดยาชนิดน้ำใสก่อนเสมอ เพราะหากดูดน้ำขุ่นก่อนน้ำใส ยาที่เป็นน้ำขุ่นอาจเข้าไปผสม ทำให้อินซูลินน้ำใสมีลักษณะเปลี่ยนไป เมื่อดูดยาสองชนิดผสมในเข็มเดียวกันควรฉีดทันทีหรือภายใน 15 นาที เพราะหากทิ้งไว้นานจะทำให้การออกฤทธิ์ของยาเปลี่ยนไป

ฉีดอินซูลินบริเวณไหนได้บ้าง

ฉีดได้ทั้งบริเวณ หน้าท้อง หน้าขาทั้ง 2 ข้าง สะโพก ต้นแขนทั้ง 2 ข้าง และต้องใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดบริเวณฉีด ที่สำคัญ ห้ามฉีดซ้ำที่เดิมมากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 - 2 เดือน เนื่องจาก อาจทำให้บริเวณที่ฉีดเกิดเป็นก้อนไตแข็ง  เมื่อดึงเข็มออกให้ใช้สำลีกดเบา ๆ ห้ามนวดตรงที่ฉีด เพราะทำให้ยาดูดซึมเร็วเกินไป จนอาจเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำได้ และในการฉีดครั้งต่อไปควรฉีดห่างจากจุดเดิม 1 นิ้ว

นอกจากการใช้หลอดฉีดยาธรรมดา ยังมีการฉีดอินซูลินอีก 2 แบบ คือ

1. ปากกาฉีดอินซูลิน ลักษณะคล้ายกับปากกาหมึกซึมขนาดใหญ่ โดยมีอินซูลินบรรจุในหลอดแก้วขนาดเล็กใส่เข้ากับตัวปากกาพอดี ซึ่งปัจจุบันนี้นิยมใช้กันมาก เนื่องจากสะดวกในการพกพาและการใช้สอย ทำได้โดยการหมุนเกลียวไปตามตัวเลขที่ต้องการก็จะได้ปริมาณอินซูลินตามนั้น ไม่ต้องใช้วิธีดูดยาออกจากขวด แต่มีราคาค่อนข้างสูง

2. อินซูลินปัมพ์ เป็นเครื่องมือที่จะติดอยู่กับตัวผู้ป่วยตลอดเวลาโดยมีเข็มแทงเข้าใต้ผิวหนังซึ่งต่อกับตัวเครื่องซึ่งควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะตั้งโปรแกรมให้ฉีดอินซูลินขนาดต่ำ ๆ เข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา และฉีดอินซูลินปริมาณเพิ่มขึ้นก่อนอาหาร เป็นการเลียนแบบคนปกติ

อาการข้างเคียงและข้อควรปฏิบัติ

1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นผลจากการให้อินซูลินมากเกินไป รับประทานอาหารน้อยเกินไป ผิดเวลา หรือช่วงระหว่างมื้อนานเกินไป ออกกำลังกายหรือทำงานมากกว่าปกติ อาการที่เกิดมีได้หลายอย่าง เช่นปวดหัว เหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น กระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ชาในปากหรือริมฝีปาก เดินเซ หงุดหงิด มองภาพไม่ชัด ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือรับประทานของที่มีน้ำตาลผสม (ห้ามใช้น้ำตาลเทียม) และพบแพทย์ทันที

2. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นผลจากการได้รับอินซูลินไม่เพียงพอ หรือรับประทานมากเกินไป จะปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิว ปวดหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ มึนงง ถ้าเป็นลมให้นำส่งโรงพยาบาลทันที

\'อินซูลีน\'ฮอร์โมนสร้างขึ้นจากต่อมไร้ท่อ ทำไม? สำคัญต่อผู้ป่วยเบาหวาน

ข้อควรระวังในการใช้

ก่อนใช้อินซูลินควรแจ้งแพทย์ หากเคยมีประวัติแพ้อินซูลิน กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร  รวมทั้งผู้เป็นโรคต่อมไทรอยด์  โรคตับ โรคไต และโรคติดเชื้อ รวมทั้งผู้ที่กำลังใช้ยาอื่นอยู่ ต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรให้ทราบทุกครั้ง

ผู้ป่วยควรฉีดยาให้ตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์สั่ง ไม่ควรปรับขนาดยาเองหรือเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่าหากลืมฉีดยา หากมีปัญหาในการใช้ยาให้กลับมาปรึกษาแพทย์ และควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามผลการรักษา และทุกครั้งที่มาตรวจควรดูว่าอินซูลินที่ใช้เป็นแบบเดิมหรือไม่ มีการเปลี่ยนเวลาหรือขนาดในการฉีดหรือไม่ เพราะบางครั้งแพทย์อาจมีการปรับเปลี่ยนตัวยา  ขนาดยา หรือเวลาในการฉีด หากไม่แน่ใจควรสอบถามกับแพทย์อีกครั้ง

เคล็ดลับการเก็บรักษาอินซูลิน

อินซูลินที่ยังไม่ได้เปิดใช้ หากเก็บที่อุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส เก็บได้นานเท่ากับอายุยาข้างขวดแต่สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง (ประมาณ 25 องศาเซลเซียส) ได้นานประมาณ 30 วัน อินซูลินที่เก็บในอุณหภูมิสูง เช่น กลางแดดจัด หรือที่อุณหภูมิต่ำมากๆ เช่น ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่ควรใช้เป็นอย่างยิ่งเนื่องจากยาเสื่อมคุณภาพ และไม่แนะนำเก็บที่ฝาตู้เย็น เนื่องจาก อาจทำให้อุณหภูมิไม่ค่อยคงที่ จากการปิด-เปิดตู้เย็น

  • อินซูลินที่เปิดใช้แล้ว และเก็บอยู่ในปากกาฉีดอินซูลิน สามารถเก็บที่อุณหภูมิห้อง(25 องศาเซลเซียส) ได้นานประมาณ 30 วัน
  • อินซูลินแบบขวดที่เปิดใช้แล้วและเก็บในตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) จะเก็บได้นานประมาณ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่เปิดขวด ถ้าเก็บที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นานประมาณ 30 วัน

\'อินซูลีน\'ฮอร์โมนสร้างขึ้นจากต่อมไร้ท่อ ทำไม? สำคัญต่อผู้ป่วยเบาหวาน

ห่างไกลเบาหวานต้องทำอย่างไร?

ผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากรับอินซูลินตามแพทย์สั่งแล้ว ยังต้องระวังการติดเชื้อง่าย ด้วยการรักษาอนามัยส่วนตัวให้สะอาด  โดยเฉพาะฟันและเท้า รวมทั้งบาดแผล รอยข่วน หรือแผลเปื่อยยิ่งต้องระมัดระวังความสะอาดเป็นพิเศษ

รวมทั้งหมั่นออกกำลังกาย  ควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด อย่าลืมทำจิตใจให้สบาย  และสุดท้ายควรมีบัตรประจำตัวระบุชื่อนามสกุล ชื่อแพทย์ประจำตัว เบอร์โทรศัพท์ ชื่อชนิดและขนาดของอินซูลินที่ใช้พกติดตัวเสมอ เผื่อยามฉุกเฉินคนรอบข้างจะได้ช่วยเหลือทัน

อ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ,โรงพยาบาลสินแพทย์