"16 ตุลา วันอาหารโลก" ลดความอดยาก เช็กอาการขาดสารอาหาร -โภชนาการ
16 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันอาหารโลก” เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงปัญหา “ความอดอยาก” และร่วมมือกันแก้ไข สร้างความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาในการจัดการและการกระจายอาหาร
KEY
POINTS
- 16 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันอาหารโลก” เพื่อแก้วิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหาร ความอดอยากของคนทั่วโลก
- ปี 2566 พบว่าผู้คนกว่า 705,000 คน ประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุด และมีความเสี่ยงต่อความอดอยากในระดับภัยพิบัติ
- วิธีที่ดีที่สุดที่สามารถช่วยป้องกันภาวะขาดสารอาหารได้ คือ การรับประทานอาหารให้ได้สัดส่วนและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ โดยเน้นอาหารที่มีคุณประโยชน์สูง
16 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันอาหารโลก” เพื่อให้ทุกคนเห็นถึงปัญหา “ความอดอยาก” และร่วมมือกันแก้ไข สร้างความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาในการจัดการและการกระจายอาหาร รวมถึงระลึกถึงการก่อตั้งขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO)
รายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ฉบับปี 2567 (Global Report on Food Crises : GRFC 2024) เปิดเผยว่าประชากรเกือบ 282 ล้านคนใน 59 ประเทศและเขตแดน กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร เผชิญกับความหิวโหยเฉียบพลันในระดับที่สูง
ตัวเลขผู้คนได้รับผลกระทบทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 24 ล้านคน เป็นผลมาจากเหตุการณ์ 1.ภาวะสงคราม-ความขัดแย้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ฉนวนกาซา และสงครามยูเครน-รัสเซีย 2.สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่ทวีความรุนแรง และ 3.ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
“ไก่น้อง” KFC ไม่ทิ้งให้ใครต้องหิว Food Bankแก้วิกฤตขยะอาหาร
เด็กต่ำกว่า 5 ปี กว่า 36 ล้านคน ขาดสารอาหารรุนแรง
ขณะที่ รายงานประจำปีของ Global Network Against Food Crises จัดทำ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) โครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) และสหภาพยุโรป ได้วิเคราะห์ว่าเด็กและผู้หญิง ถือเป็นด่านแรกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตความหิวโหย พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวนกว่า 36 ล้านคน ขาดสารอาหารอย่างรุนแรงใน 32 ประเทศ แสดงให้เห็นถึงภาวะทุพโภชนาการที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2566 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พลัดถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติ
โดยในปี 2566 พบว่าผู้คนกว่า 705,000 คน ประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลันอย่างรุนแรงที่สุด และมีความเสี่ยงต่อความอดอยากในระดับภัยพิบัติ (IPC/CH Phase 5) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2559 และถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการรายงานมา
ไทยผลิตอาหาร แต่มีปัญหาภาวะโภชนาการ
ผศ.ชล บุนนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) อธิบายถึงความมั่นคงทางอาหารว่า องค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งสหประชาชาติ (FAO) นิยามความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก คือ
1.อาหารพอกินหรือไม่
2.เข้าถึงอาหารได้หรือไม่
3.มีอาหารกินแล้วดีต่อสุขภาพหรือไม่
4.ความมีเสถียรภาพว่ามีวิกฤตแล้วยังเข้าถึงอาหารหรือไม่
“อาหารในประเทศมีเพียงแต่อย่างแน่นอน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตอาหาร แต่เรื่องการเข้าถึงอาหาร สถิติในฐานข้อมูล อย่าง ช่วงโควิด พบว่า คนที่มีความมั่นคงทางอาหารปานกลางหรือรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 7% ของประชากร และมีปัญหาภาวะโภชนาการก็เพิ่มขึ้น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีภาวะแคระแกร็นมีประมาณ 13% เราจะมองแค่ตัวอาหารอย่างเดียวไม่พอ เพราะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ และระบบอาหารด้วย”
SDG เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย หรือ Zero Hunger ของยูเอ็นมีประเด็นที่ครอบคลุมในหลายมิติมากกว่าเพียงแค่เรื่องของอาหาร ความเข้าใจของคนมักคิดว่าประเทศไทยป็นผู้ส่งออกอาหาร น่าจะมีสถานะในเรื่องนี้ที่ดี แต่ความเป็นจริง จากการประเมินโดยหลายแหล่งกลับชี้ให้เห็นตรงกันว่า ระบบอาหาร กลับเป็นประเด็นความท้าทายที่สำคัญในเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทย
"ไทย" เร่งฟื้นฟูการเกษตรของประเทศ
FAO มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับโภชนาการทั่วโลก รวมถึงเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในทุกระดับ เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรในชนบท และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในการเปลี่ยนนโยบายทางการเกษตร และช่วยเหลือทุกภูมิภาคจากสถานการณ์ความอดอยาก และผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงอำนวยความสะดวกในสภาวะที่เป็นกลาง เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการผลิตอาหาร
สำหรับประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การ ฯ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2490 และเป็นสมาชิกลำดับที่ 45 จากสมาชิกปัจจุบันทั้งสิ้น 190 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ได้เข้าเป็นสมาชิกแล้ว ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเร่งฟื้นฟูการเกษตรของประเทศ ในระยะแรกมีโครงการที่ประสบความสำเร็จมาก คือ โครงการประมงน้ำจืด ซึ่งทางองค์การฯ ได้ส่งนักวิชาการด้านประมงมาให้คำแนะนำแก่ชาวประมงไทยในการเลี้ยงปลาหมอเทศ และการเพาะพันธุ์ปลาสวาย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตอาหารปี 2567
ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านอาหาร ในปี 2567 ได้แก่
- ปัญหาความขัดแย้ง เป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้ผู้คน 135 ล้านคน ใน 20 ประเทศและเขตแดน เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลัน ขณะที่ซูดาน ประสบกับความเสื่อมถอยครั้งใหญ่ที่สุด เหตุจากความขัดแย้ง โดยมีผู้คนถึง 8.6 ล้านคนเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูง เมื่อเทียบกับปี 2566
- เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้ผู้คนกว่า 77 ล้านคน ใน 18 ประเทศและเขตแดน เผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลันในระดับสูง เพิ่มขึ้นกว่าในปี 2565 จาก 57 ล้านคน ใน 12 ประเทศและเขตแดน ขณะที่ ปี 2566 โลกเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชากร ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง พายุ ความแห้งแล้ง ไฟป่า โรคและการระบาดศัตรูพืช
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลกระทบให้ผู้คนกว่า 75 ล้านคน ใน 21 ประเทศต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างเฉียบพลันในระดับสูง เนื่องจากการพึ่งพาอาหารนำเข้าและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในระดับสูง ความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีอยู่ เช่น ปัญหาค่าเงินอ่อนค่า สินค้ามีราคาสูง และภาวะหนี้สูง
เช็กอาการขาดสารอาหารที่ต้องรู้
ร่างกายขาดสารอาหาร อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น อ่อนเพลีย ผิวหนังมีลักษณะผิดปกติ กระดูกหยุดเจริญเติบโต หรือมีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น ซึ่ง โรคขาดสารอาหาร มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ
โดยเฉพาะอาหารหลักอย่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน หรือแร่ธาตุต่าง ๆ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที อาจมีอาการร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
15 อาการของโรคขาดสารอาหาร
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผมร่วง
- ตัวซีด
- ง่วง อ่อนเพลีย
- เวียนศีรษะ
- มีความอยากอาหารที่ผิดปกติ
- มีปัญหาในการย่อยอาหาร ซึ่งอาจทำให้ท้องผูก
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- รู้สึกเสียวหรือชาที่ข้อต่อ
- ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย
- หดหู่ ซึมเศร้า
- มีปัญหาด้านการหายใจ
- ใจสั่น
- เป็นลมหมดสติ
- ผู้ป่วยเด็กอาจเจริญเติบโตช้า หรือมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
สาเหตุของโรคขาดสารอาหาร
- ปัญหาทางจิตใจ อาจส่งผลต่ออารมณ์และทำให้ความอยากอาหารลดลง
- อาการป่วยที่อาจทำให้ความอยากอาหารลดลง เช่น อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น
- โรคหรือภาวะที่ส่งผลต่อการดูดซึมและการย่อยอาหารของร่างกาย ทำให้ร่างกายขาดธาตุบางชนิด เช่น โรคมะเร็งลำไส้ โรคเซลิแอค ภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล โรคโครห์น หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดมีแผล เป็นต้น
- การใช้ยาบางชนิด ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย หรืออาเจียน เป็นต้น จึงทำให้ผู้ป่วยมีความอยากอาหารลดลง หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
การวินิจฉัยโรคขาดสารอาหาร
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจซักประวัติผู้ป่วย สอบถามเกี่ยวกับอาการป่วย และประเมินภาวะโภชนาการโดยสอบถามเกี่ยวกับอาหารที่รับประทาน และนิสัยการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ แพทย์อาจสอบถามด้วยว่าผู้ป่วยมีอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือมีเลือดปนในอุจจาระหรือไม่ จากนั้นอาจให้ตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของระดับสารเคมีในเลือด และตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ซึ่งช่วยตรวจหาภาวะโลหิตจางด้วยเช่นกัน
การป้องกันโรคขาดสารอาหาร
วิธีที่ดีที่สุดที่สามารถช่วยป้องกันภาวะขาดสารอาหารได้ คือ การรับประทานอาหารให้ได้สัดส่วนและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ โดยเน้นอาหารที่มีคุณประโยชน์สูงอย่างผัก ผลไม้ หรือธัญพืชไม่ขัดสี และรับประทานอาหารจำพวกแป้งให้เพียงพอ เช่น ข้าว ขนมปัง มันฝรั่ง เป็นต้น รวมถึงเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ไข่ ถั่ว และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม
อ้างอิง: sdgmove , องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ,โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต