Check List! นิสัย-พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ทำแล้วจิตป่วย

Check List! นิสัย-พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ทำแล้วจิตป่วย

"สุขภาพจิต" เป็นสภาวะทางจิตใจของบุคคล ซึ่งโดยธรรมชาติภาวะทางจิตใจมีการปรับเปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวของผู้นั้น

KEY

POINTS

  • หากอยากสุขภาพจิตดี ต้องหลีกเลี่ยงนิสัยเหล่านี้  ขี้ระแวง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง มักกล่าวโทษผู้อื่นอย่างไม่รู้จบสิ้น ชอบหลีกหนีปัญหา มองโลกในแง่ร้าย และหมกมุ่นอยู่กับความอาฆาตแค้น ชิงชัง ริษยา
  • รู้หรือไม่ การเดินตัวงอ การถ่ายภาพทุกอย่าง ประเมินตัวเองต่ำไป ไม่ออกกำลังกาย เครียดเกินไป นอนหลับไม่สนิท ไม่เคยอยู่คนเดียว แชตไม่ใช่การคุย ติดมือถือ พฤติกรรมเหล่านี้เสี่ยงทำจิตป่วย
  • วิธีดูแลสุขภาพจิต เริ่มจากสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว กำหนดเป้าหมาย เน้นคิดเชิงบวก ดูแลสุขภาพร่างกาย ดื่มน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ เรียนรู้สิ่งใหม่ และหลีกเลี่ยงยาเสพติด บุหรี่ แอลกอฮอล์

"สุขภาพจิต" เป็นสภาวะทางจิตใจของบุคคล ซึ่งโดยธรรมชาติภาวะทางจิตใจมีการปรับเปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวของผู้นั้น ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งมีการพัฒนาการไปอย่างไม่หยุดยั้ง

สุขภาพจิตของคนเรา ต้องมีการปรับเปลี่ยนแปลงตาม นับเป็นความยากลำบากพอควรของมนุษย์ที่จะต้องปรับตัวปรับใจไปกับการเปลี่ยนแปลง ที่เปลี่ยนแปลงไป

คนเรายังติดใจรสชาติของการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ชีวิตสมัยใหม่ไม่ต้องทนกับความยากลำบากในการเดินทางนานๆเพราะมีเครื่องบินให้ความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องทนร้อนเพราะมีเครื่องปรับอากาศใช้ มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมายให้เลือกใช้อย่างเสรี แสนจะสนุก และแสน จะสบายเป็นยิ่งนัก

มนุษย์จึงต้องลงทุนปรับตัว ปรับใจให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราหยุดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็จริง แต่เราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนแปลงตามได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเป็นไปได้หลายรูปแบบ เช่น อาจจะเปลี่ยนเป็นใหม่ทั้งหมด หรือคงเก่าที่ดีไว้ หรือปรับรับแต่สิ่งใหม่ๆที่ดีๆทั้งหมด เป็นต้น ซึ่งการที่จะปรุงแต่งหรือผสมผสานอย่างไรนั้น ย่อมแล้วแต่ความพึงพอใจของแต่ละคนไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"วัยทำงาน"ป่วยจิต ระดับความเครียดพุ่ง!!

ผลสำรวจเผย คนไทยป่วย ‘ซึมเศร้า’ เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม ‘โรคทางจิตเวช’

ปัญหาโรคทางจิตใจและอารมณ์

ชีวิตนี้หนีไม่พ้นการต้องปรับตัว ปรับใจ บุคคลผู้สามารถปรับตัวได้ในสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตนเองมีความสุข สามารถในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตนเองได้ตามสถานการณ์ ด้วยเหตุด้วยผลอันเหมาะสมมีความยืดหยุ่น ก็คือผู้ที่มีสุขภาพจิตดี ซึ่งสุขภาพจิตที่ดีเปรียบได้กับต้นไม้ของสุขภาพจิตดีดังต่อไปนี้ เกิดขึ้นเมื่อตนเองไม่สบายใจ ไม่สบายกาย ทำความลำบากให้ผู้อยู่ในแวดล้อมเดียวกัน ผู้อื่นเห็นว่าพฤติกรรมของผู้นั้นไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม

สาเหตุของปัญหาจิตใจและอารมณ์

อาจเกิดจากความผิดปกติของ

  • ด้านร่างกาย : โรคทางกาย โรคสมอง ความพิการ พันธุกรรม
  • ด้านจิตใจ : ลักษณะบุคลิกภาพ การพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจ
  • ด้านสิ่งแวดล้อม : สภาพสังคม วัฒนธรรม ครอบครัว เศรษฐกิจ

อาการของปัญหาจิตใจและอารมณ์

  • อาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีปัญหาในการนอน แขนขาชา ใจเต้นเร็ว เหนื่อยอ่อนเพลียไม่มีแรง
  • อาการทางจิตใจ เช่น เครียด กังวล ซึมเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง สับสนฟุ้งซ่าน เซ็ง กลัว ระแวง อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย คิดฆ่าตัวตาย
  • อาการทางพฤติกรรม เช่น ซึม เฉยเมย กระสับกระส่ายไม่อยู่นิ่ง ก้าวร้าว พูดหรือยิ้ม คนเดียว ไม่สนใจตนเองและสิ่งแวดล้อม เดินเรื่อยเปื่อยไม่มีจุดหมาย ติดเหล้า ติดยา

Check List! นิสัย-พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ทำแล้วจิตป่วย

6 นิสัยหลีกเลี่ยงหากไม่อยากจิตป่วย

ใครที่อยากสุขภาพจิตดีต้องพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่อไปนี้

1. ขี้ระแวง 

คนที่มีนิสัยขี้ระแวงนั้นเป็นคนที่ไม่เคยไว้วางใจใครเลย ใครทำอะไรคิดอะไรก็นึกคิดไปว่าเขามีความประสงค์ร้ายกับตน คิดว่าใครๆไม่รัก ไม่นับถือ ระแวงว่าถูกทรยศหักหลัง ถ้าคุณเป็นเจ้านาย คุณก็ระแวงว่างานที่มอบหมายให้ลูกน้องอาจทำไม่สำเร็จ ถ้าคุณมีแฟน ก็ระแวงว่าแฟนมีกิ๊ก

2. ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง 

นิสัยไม่มั่นคงในตนเอง มักสร้างความทุกข์เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไรกันแน่ ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิตได้ ตั้งแต่เรื่องเล็กจนถึงเรื่องใหญ่ นิสัยขาดความเชื่อมั่นในตนเองใช่ว่าเจ้าของนิสัยจะชอบ แต่ไม่อาจลบล้างความรู้นึกด้อยในใจตนเองได้ ทั้งที่ความรู้สึกนี้อาจไม่ใช่ความจริงก็ได้

3. มักกล่าวโทษผู้อื่นอย่างไม่รู้จบสิ้น 

ถ้าคุณเป็นคนที่คอยแต่โทษผู้อื่น เห็นว่าความผิดของคนอื่นนั้นยิ่งใหญ่เท่าภูเขา เป็นความผิดที่ร้ายแรงที่ไม่มีวันให้อภัย มองเห็นแต่ความไม่ดี ความไม่ถูกต้อง ความไม่เหมาะสมของคนอื่น โดยไม่มองด้วยใจที่เป็นกลางและเป็นธรรมหรือมองด้วยเหตุผล ถ้าคุณมีนิสัยเช่นนี้ ย่อมทำให้คุณทนทุกข์และไม่มีความสุขอย่างแน่นอน

Check List! นิสัย-พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ทำแล้วจิตป่วย

4. ชอบหลีกหนีปัญหา

 ด้วยการหาทางออกให้กับตนเองอย่างผิดๆ เช่น การดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด การเล่นการพนัน โดยคิดว่าการใช้สุรายาเสพติดเป็นการแก้ปัญหา แต่จริงๆแล้วกลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากขึ้นไปอีก บางคนอาจเป็นลักษณะไม่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น พาลทะเลาะ ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข มิหนำซ้ำกลับทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนเข้าไปอีก

5. มองโลกในแง่ร้าย 

คนที่คิดหรือมองคนอื่นในแง่ลบ มีชีวิตในแต่ละวันด้วยความหดหู่และเศร้าหมอง มองผู้คนรอบตัวว่าเป็นศัตรูของตนเอง เป็นผู้ที่คอยทำลายตนเอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนต่างก็เลวร้ายทั้งนั้น

6. หมกมุ่นอยู่กับความอาฆาตแค้น ชิงชัง ริษยา

จิตใจเช่นนี้หาความสงบไม่ได้แน่ เพราะคอยแต่อาฆาตแค้น ไม่ยอมอภัยและคอยคิดทำร้าย มีทางใดที่จะชนะ หรือทำให้คนที่ตนเห็นเป็นศัตรูเดือดร้อนเจ็บปวดก็จะทำ ถ้าคุณมีนิสัยอย่างนี้ก็จะมีแต่ความทุกข์ไม่หยุดหย่อน

12 พฤติกรรม ทำให้สุขภาพจิตไม่รู้ตัว

ข้อมูลด้านสุขภาพจิตเกี่ยวกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน 12 ข้อ ที่ทำให้คุณสุขภาพจิตเสียโดยไม่รู้ตัว

1. เดินตัวงอ อ้างอิงจากวารสารที่ศึกษาพฤติกรรมและกายภาพของมนุษย์ พบว่า คนที่เดินหลังงอ ห่อไหล่ และก้าวถี่ๆ จะอารมณ์เสียง่ายกว่าคนที่เดินอกผายไหล่ผึ่งและก้าวยาว นอกจากนี้คนประเภทแรกยังจดจำเรื่องราวที่ไม่ดีและมักพูดเรื่องซีเรียส

2. ถ่ายภาพทุกอย่าง คนชอบแชะฟังทางนี้ มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จิตวิทยาออกมาว่า การถ่ายภาพสิ่งที่อยู่ตรงหน้าทำให้เราจดจำสิ่งเหล่านั้นได้น้อยลงถ้าเทียบคนที่โฟกัสสิ่งที่กำลังมอง ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้น (ไม่ได้ห้ามถ่ายภาพ) และสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมเพื่อดื่มด่ำความสุข ณ ขณะนั้นมากกว่าถ่ายภาพเสร็จแล้วจากไป

3. ประเมินตัวเองต่ำไป จากการศึกษาพบว่า 35% ของลูกจ้างชาวอเมริกันถูกกดขี่ข่มเหงจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งทำให้คุณหมดความภาคภูมิใจและขาดความเคารพในตัวเอง ส่งผลให้ไม่อยากไปทำงานและทำให้ผลของงานมีประสิทธิภาพน้อยลง วิธีการแก้ไขในระยะยาวควรปรึกษาจิตแพทย์และเปลี่ยนทัศนคติให้เคารพตัวเองมากขึ้น

4. ไม่ออกกำลังกาย ข้อมูลจากสถาบันจิตเวชศาสตร์ JAMA Psychiatry เผยว่า ถ้าคุณออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์คุณจะมีความเสี่ยงเครียดน้อยลง 19% อาจเริ่มจากสิ่งง่ายๆ เช่น การเดินขึ้นลงบันได การเดินระยะสั้นๆ ก็จะทำให้ชีวิตแอ็กทีฟและความหดหู่ก็จะน้อยลง

5. ผัดวันประกันพรุ่ง หลายคนคงเคยเป็นทั้งนั้นการผัดวันประกันพรุ่ง แต่หากคุณไม่อยากทำทันทีเพราะงานนั้นทำให้กังวลใจ หรือคุณกลัวที่จะทำได้ไม่ดีพอ การผัดวันประกันพรุ่งจะยิ่งทำให้คุณจิตเสีย ดังนั้นจึงควรลบความเครียดนั้นโดยการฟังเพลง ออกไปเล่นหรือทำกิจกรรมที่ทำให้หัวเราะ เมื่อกังวลน้อยลงแล้วจะได้มีใจอยากทำงานมากขึ้น

6. ความสัมพันธ์เป็นพิษ บางครั้งความเครียดหรือความวิตกกังวลต่างๆ อาจเกิดเพราะความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษจะทำให้คุณกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว และคิดว่าตัวเองถูกต้องเสมอ ดังนั้นคุณควรหมั่นสอบถามคนใกล้ชิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปไหม เปลี่ยนไปอย่างไร เพื่อที่จะแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดี

Check List! นิสัย-พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ทำแล้วจิตป่วย

7. เครียดเกินไป มีการวิจัยมากมายชี้ว่า การหัวเราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นยาที่รักษาความเครียดได้เร็วที่สุด จึงสำคัญอย่างยิ่งที่คุณต้องมีอารมณ์ขัน หรืออยู่กับคนที่ทำให้คุณยิ้มได้ หรือไม่คุณควรหาโอกาสเป็นอาสาสมัครกับเด็กๆ เพราะรอยยิ้มและการกระทำของเด็กน้อยจะทำให้คุณยิ้มได้เสมอ

8.นอนหลับไม่สนิท นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบาสเตีย (Bastyr University)สหรัฐ กล่าวว่า การนอนหลับส่งผลต่อทุกอย่างเพราะการนอนเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้ฟื้นฟูและพักผ่อนดีที่สุด ดังนั้นถ้าคุณกำลังประสบปัญหานอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ต้องหาสาเหตุนั้นแล้วแก้ไขมัน อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่ดีก็มีผลต่อประสิทธิภาพในการนอนด้วย

9.ไม่เคยอยู่คนเดียว หากในหนึ่งวันคุณใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่นตลอดไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ลูกๆ หรือคู่ชีวิต คุณอาจมีความสุขที่ได้อยู่กับพวกเขา แต่อย่างไรก็ควรหาเวลาอยู่กับตัวเองบ้างสัก 10 นาที หรือ 1 วัน เพื่อคุยกับตัวเอง ซึ่งจะทำให้คุณรู้สาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่

10.แชตไม่ใช่การคุย “การคุยผ่านเฟซบุ๊กเป็นเพียงความบันเทิงเท่านั้น” เคลย์ (DiedraL. Clay) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบาสเตียกล่าวไว้ เธอยังกล่าวด้วยว่า บนโซเชียลมีเดียไม่มีบทสนทนาที่แท้จริง แต่มันคือการติดต่อสื่อสารเทียมที่ไม่สามารถสร้างประสบการณ์ร่วมหรือความรู้สึกร่วมกันได้ “ในที่สุดแล้วตัวเลขคนติดตามในเฟซบุ๊กไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่เพื่อนในชีวิตจริงต่างหากที่สำคัญ” เธอจึงแนะให้ทุกคนพูดคุยกับคนอื่นแบบเห็นหน้ากัน ไม่เพียงจะได้สนทนาโดยตรง แต่ยังสร้างช่วงเวลาดีๆ ด้วยกัน

11.ติดมือถือ คุณจำได้หรือไม่ว่าคุณอยู่โดยไม่มีมือถือครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ไม่แปลกที่จะจำไม่ได้ เพราะสมัยนี้มันคือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่นั่นคือสัญญาณที่ทำให้คุณเครียดโดยไม่รู้ตัว เพราะข่าวสารจากสมาร์ทโฟนทำให้คุณต้องคิดตลอดเวลาซึ่งทำให้สมองและจิตใจไม่ได้พักผ่อนแม้ว่าตอนนั้นคุณจะว่างอยู่ก็ตาม

12.ทำหลายอย่างพร้อมกัน ขณะที่กำลังกินข้าว อีกมือก็เลื่อนดูเฟซบุ๊ก และตอบไลน์เพื่อนในเวลาเดียวกันการทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน บางคนอาจคิดว่าดี แต่มีการศึกษาทางจิตวิทยาออกมาแล้วว่า การทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันทำให้ไม่ดีเลยสักอย่าง แถมยังทำให้เครียดวิตกกังวล และอาจทำให้การสื่อสารผิดพลาดบ่อยๆ ดังนั้นแล้วคุณควรตั้งใจทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด เพื่อประสิทธิภาพของงานและสุขภาพจิตที่ดีของตัวเอง

7 วิธีดูแลสุขภาพจิตใจ สร้างอารมณ์ดี

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์   ได้ออกมาให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพจิตใจของตนเองและคนใกล้ชิดให้เข็มแข็งและสามารถมีความสุขได้ด้วยตนเอง

1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว 

หมั่นใช้เวลาในการกระชับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่เพื่อนบ้าน

2. ดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง

ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง เดิน โยคะ เต้น ขี่จักรยาน หรือแม้แต่การทำสวน จะช่วยเสริมอารมณ์และปรับสุขภาพให้ดีขึ้นได้ รวมถึงรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดื่มน้ำให้เพียงพอ อีกทั้งนอนหลับอย่างเพียงพอด้วย

3. เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา 

ทักษะความสามารถหรือความรู้ใหม่ ๆ จะช่วยให้รู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จในการทำสิ่งนั้น ๆ และเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง โดยอาจเริ่มจากการทำงานอดิเรกหรือศาสตร์ที่ตนสนใจ เช่น ทำอาหาร เล่นดนตรี เย็บปักถักร้อย เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ช่วยให้เข้าถึงความรู้ต่าง ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น และมีหลักสูตรอบรมออนไลน์ที่คอยอำนวยความสะดวกให้เลือกมากมาย

Check List! นิสัย-พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ทำแล้วจิตป่วย

4. หลีกเลี่ยงสารที่เป็นอันตราย

อย่าใช้สารที่เป็นอัตราย เช่น ยาเสพติด แอลกอฮอล์ บุหรี่ เพื่อรับมือกับความรู้สึก แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นในระยะสั้น แต่มันก็สามารถทำให้รู้สึกแย่ลงในระยะยาว อีกทั้งสารเหล่านี้ยังเป็นอันตรายที่ทำให้ทั้งตัวเราและคนรอบข้างเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายหรือบาดเจ็บได้

5. กำหนดเป้าหมายและลำดับความสำคัญ

ตั้งเป้าหมายในชีวิต การใช้ชีวิตอย่างไร้แผนการและไร้จุดมุ่งหมายอาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลต่อชีวิตในอนาคต จึงควรตั้งเป้าหมายในระยะยาว เพื่อช่วยให้ตระหนักว่าสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบันนั้นมีความหมาย และมีกำลังใจที่จะทำต่อไปเพื่อบรรลุในสิ่งที่มุ่งหวัง ซึ่งอาจเขียนเป้าหมายต่าง ๆ ลงบนกระดาษ เช่น การพัฒนาด้านการศึกษา อาชีพ หรือบุคลิกภาพ เป็นต้น และจัดสรรเวลาเพื่อฝึกฝนหรือทำตามเป้าหมายในแต่ละวันอย่างพอดี เพื่อไม่ให้กดดันตัวเองมากเกินไป

6. เน้นคิดในเชิงบวกและฝึกขอบคุณตัวเอง

พยายามคิดในแง่บวก ยิ้มและบอกขอบคุณตัวเองทุกวัน ปฏิบัติกับตัวเองอย่างเคารพและเมตตา เห็นคุณค่าในตัวเอง หลีกเลี่ยงการวิจารณ์หรือด้อยค่าตัวเอง  

7. ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเมื่อจำเป็น 

หากมีปัญหาควรบอกเล่าให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวฟัง เพื่อระบายความรู้สึก เปิดโอกาสให้ตัวเองได้ฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น และเพื่อให้สามารถหาทางแก้ไขไปด้วยกัน โดยไม่ควรแบกรับปัญหาไว้คนเดียว แต่หากไม่อยากเล่าให้คนรอบข้างฟัง อาจเลือกปรึกษานักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญผ่านการโทรศัพท์ไปยังสายด่วนสุขภาพจิต 1323

อ้างอิง: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,โรงพยาบาลมนารมย์ ,Posttoday ,โรงพยาบาลจุฬาภรณ์