avocado (อะโวคาโด) Superfood ของโลก ทำไมราคาสูง

avocado (อะโวคาโด) Superfood ของโลก ทำไมราคาสูง

บ้านเราในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา  ผลไม้กึ่งผักที่มาแรงในตลาด   ไม่ว่าไปที่ไหนก็จะพบเห็นและมีราคาสูงนั่นก็คือ avocado (อะโวคาโด)  มันมีที่มาอย่างไร  มีประโยชน์อย่างไร   ทำไมจึงมีราคาสูงเเละมีข้อเสียบ้างหรือไม่

 อะโวคาโดมีหลายรูปลักษณ์เพราะมีนับร้อยพันธุ์   แต่ที่ปลูกและบริโภคกันนั้นมีไม่กี่ชนิดคล้ายกับมะม่วง    อะโวคาโดบ้างก็กลม   บ้างก็รี    บ้างก็ยาวคล้ายแตงกวา  

ที่มาของชื่อนั้นถ้าเล่าไปแล้วบางท่านที่บริโภคอาจรู้สึกเขิน    avocado ในภาษาอังกฤษมาจากภาษาสเปนว่า aguacate  โดยมาจากภาษาพื้นเมืองของชาว Aztec อีกที  ซึ่งหมายถึง “อัณฑะ” เข้าใจว่าเนื่องจากมันห้อยลงมาจากกิ่งโดยมีก้านยาวและบ่อยครั้งที่ห้อยเป็นคู่   นับว่าจินตนาการของชาวพื้นเมืองใช้ได้เลย

ชาวพื้นเมืองรู้จักอะโวคาโดมานับพันปี    มีการพบฟอสซิลในบริเวณตอนกลางและใต้ของเม็กซิโกว่ามีอายุนับล้านปี

นอกจากนี้มีหลักฐานว่ามนุษย์นำมาปลูกเป็นอาหารเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน    ผู้คนในวัฒนธรรมอเมริกากลางไม่ว่า Olmec (ประมาณ 1,200-400 ก่อนคริสตกาล) หรือ Maya (2,000 ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. 1700) หรือ Aztec (ค.ศ. 1300-1520))  ฯลฯ  ล้วนบริโภคอะโวคาโดเป็นอาหาร

จุดเปลี่ยนของมันคือเมื่อคริสโตเฟอร์  โคลัมบัส  เดินทางไปบริเวณอเมริกากลาง (คนไทยเหมารวมเรียกส่วนนี้ว่าเป็นอเมริกาใต้ด้วย) เมื่อศตวรรษที่ 16 อันนำไปสู่การล่มสลายของหลายวัฒนธรรมของคนพื้นเมือง    โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักร Aztec

และเมื่อพวกรุกรานเหล่านี้เดินทางกลับก็นำเอาพืชหลายอย่างของทวีปอเมริกา (โลกใหม่) ติดตัวไปยุโรปและแพร่หลายไปเอเชียในเวลาต่อมา  เช่น   พริก   ข้าวโพด             มันฝรั่ง   มะเขือเทศ    มันเทศ    สับปะรด ลฯล  และอะโวคาโด

อย่างไรก็ดี  อะโวคาโดไม่เป็นที่นิยมเหมือนพืชอื่น ๆ     มันเริ่มเป็นที่รู้จ้กเมื่อเดินทางไปถึงสหรัฐอเมริกาในต้นศตวรรษที่ 19 และรู้จักกว้างขวางขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นประมาณกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการพัฒนาการขนส่งและการแช่เย็น จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นและแพร่กระจายไปยุโรป   ออสเตรเลีย   และเอเชีย    

อะโวคาโดฮิตมากขึ้นทุกทีในทศวรรษ 1990 และ 2000 อันเป็นผลจากการตลาดซึ่งสอดคล้องกับการพุ่งขึ้นของรสนิยมบริโภคอาหารสุขภาพของชาวโลก

อะโวคาโดกินสดก็ได้   แต่ที่นิยมคือเอามาปั่นกับนมและน้ำเเข็งเป็นสมูทตี้ หรือเอามาบดให้เละใส่มะนาว เกลือผสมกันเป็นเครื่องจิ้มหรือdip กินกับแผ่นมันฝรั่งทอด หรือเอา dip ไปทาขนมปังปิ้ง                 ในสหรัฐอเมริกาการเอามาทำเป็น dip นั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก

อะโวคาโดมันมีดีอะไรหนักหนา   ผู้คนถึงบ้าคลั่งกันทั้งโลก    

คำตอบอยู่ที่การอุดมด้วยสารอาหาร  ใน 100 กรัมของอะโวคาโดมีไขมันมากถึง 15% โดยเป็นไขมันดีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ   กล่าวคือ เป็น ไขันประเภท monounsaturated และ polyunsaturated  มีคาร์โบไฮเดรต 9% มีโปรตีน 2%   มีเส้นใยอาหาร 7%  และมีน้ำตาลเพียงไม่ถึง 1%    

นอกจากนี้ยังมีวิตามิน K  /  B9  /  B6  /  B3  /  B5 /    B2 / สาร niacin ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพในหลายด้าน / สาร lutein สนับสนุนสุขภาพตา / เบตาเคโรตีน  ต้านอนุมูลอิสสระ เเละกรดไขมัน omega-3  ซึ่งสนับสนุนสุขภาพหัวใจ  ฯลฯ  

กล่าวโดยสรุปอะโวคาโดมีสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก   โดยเฉพาะต่อสุขภาพหัวใจ   สุขภาพตา   การควบคุมระดับคอเลสตอรอลในร่างกาย  ลดการอักเสบในร่างกายและมีสารต้านอนุมูลอิสระ   น้ำหนัก 100 กรัมหรือครึ่งลูกให้พลังงานประมาณ 160  แคลลอรี่ 

อะโวคาโดมีหลายพันธุ์ที่มีการนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์    ที่นิยมและบริโภคกันมากสุดในโลกในปัจจุบันคือพันธุ์ Hass ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยคนอเมริกันในปี 1935 เนื่องจากมีรสชาติดี   มีไขมันมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ    ออกลูกดี ทนความหนาวได้ 

Hass มีรูปร่างเเละขนาดคล้ายไข่ไก่  ผิวขรุขระสีเขียวแก่    ส่วนพันธุ์อื่นในบ้านเราได้แก่   พันธุ์ปีเตอร์สัน  /   รูเฮิล   /   บัคคาเนียร์   / บูธ 7 เเละ8  /     ฮอลล์   ฯลฯ 

กรมส่งเสริมการเกษตรบ้านเราได้ทดลองเพาะพันธุ์มาหลายปีโดยร่วมงานกับโครงการหลวงและหลายหน่วยงาน   จนได้ผลเเละมีการปลูกกันไปทั่วโดยเฉพาะในบริเวณที่ราบ   พื้นที่สูง    ตราบที่ไม่มี     น้ำขัง   น้ำถึง   ดินระบายน้ำดีไม่ชื้นแฉะและมีแดดดี    อะโวคาโดเป็นไม้ยืนต้น  สูงได้ถึง 18 เมตร   รากตื้น แต่ขยายร่มใบไปไกลถึง 5-7 เมตรโดยรอบ

อะโวคาโดผลิตโดยเม็กซิโกมากสุดเชิงปริมาณในโลก คือประมาณ  33-35%  รองมาก็เป็นโดมินิกัน 10%   โคลัมเบีย  ชิลี โดมินิกันรวมกันกว่า 20%    สหรัฐอเมริกาผลิตมากในรัฐแคลิฟอร์เนีย และฟลอริดารวมประมาณ 5% ประเทศอื่น ๆ ได้แก่ อาฟริกาใต้   สเปน   อิสราเอล  เคนยา ชิลี ฯลฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   นอกจากไทยก็มีเวียดนาม   อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมกันแล้วเป็นเพียง 2% ของผลผลิตโลก

เหตุที่อะโวคาโดแพงถึงกิโลละ 80-120 บาทสำหรับผลผลิตในบ้าน และอาจถึง 200 กว่าบาท หากนำเข้าก็เพราะมีอายุสั้นเพียง 2-3 วัน หลังจากสุก    เวลาเก็บต้องใช้แรงงานมาก   เลือกเก็บเฉพาะลูกแก่   และนำมาไว้นอกต้นอีก 1-2 อาทิตย์ (ผลกลายเป็นสีดำ)  

เมื่อสุกแล้วก็มีอายุสั้น   หากเก็บไว้ตู้เย็นอาจยืดออกไปได้ 2-3 วัน  เมื่อความต้องการในโลกมีสูงมากอย่างที่การผลิตไล่ตามไม่ทัน   แรงกดดันราคาจึงสูง   นอกจากนี้แหล่งผลิตอยู่ไกลถึงอเมริกากลาง จึงมีต้นทุนขนส่งและการแช่เย็นที่สูง   ลูกออกเป็นฤดูกาล   มักออกสลับสระหว่างดกกับไม่ดก

ถึงอะโวคาโดมีข้อดีมากมายแต่ก็มีข้อเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมันใช้น้ำมากในการปลูก        มีการคำนวณว่าในการปลูกหนึ่งลูกใช้น้ำถึง  300 ลิตรโดยคำนวณตั้งแต่เริ่มปลูกจนเป็นลูก  ในอเมริกากลางบางประเทศมีการทำลายป่าเพื่อเอามาปลูกจนเป็นปัญหา

อะโวคาโดเดินทางยาวไกลจากการเป็นอาหารของชาวพื้นเมืองในอเมริกากลางเป็นเวลานับพัน ๆ ปี  มาสู่การเป็น superfood ของชาวโลกในปัจจุบัน   หากคิดไปแล้วเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มาก  มีผลไม้หรือผักอื่นใดที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อสุขภาพเหมือนอะโวคาโดบ้างครับ.