เช็กหัวใจด้วย NT-proBNP หยุดภาวะหัวใจล้มเหลวผู้ป่วยเบาหวาน

เช็กหัวใจด้วย NT-proBNP  หยุดภาวะหัวใจล้มเหลวผู้ป่วยเบาหวาน

รศ.นพ.ธาดา คุณาวิศรุต อายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลศิริราชให้สัมภาษณ์สถานการณ์โลกเบาหวาน และแนวทางการป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิต

KEY

POINTS

  • คนไทยเป็นเบาหวานมากถึง 6 ล้านคน หรือ 1 ใน 11 คนสำหรับคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสหรือมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวานถึง 3 เท่า
  • การตรวจ NT-proBNP เป็นตรวจโดยการเจาะเลือดที่แขนเพื่อใช้ในการประเมินภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะความผิดปกติของหัวใจในผู้ป่วย และผู้ป่วยเบาหวาน
  • การประเมินสุขภาพของหัวใจระดับ NT-proBNP ที่สูงเกินปกติ (สูงกว่า 125 pg/ml) อาจบ่งชี้ว่าหัวใจทำงานหนักขึ้นหรือมีความผิดปกติ เป็นข้อมูลช่วยจัดการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

รศ.นพ.ธาดา คุณาวิศรุต อายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลศิริราชให้สัมภาษณ์สถานการณ์โลกเบาหวาน และแนวทางการป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิต เนื่องในวันเบาหวานโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 พ.ย. 2567 ของทุกปี จัดโดยบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรณรงค์ให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญ

รศ.นพ.ธาดา กล่าวว่า โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นโรคเรื้อรังที่เกิดความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งผลิตจากตับอ่อน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยอาจเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในระดับน้ำตาลในเลือดและส่งผลเสียต่อสุขภาพ

แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ตามสาเหตุของการเกิดโรค ได้แก่

1. เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes mellitus, T1DM) : เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลาย โดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือขาดอินซูลินมักพบในเด็ก ซึ่งผู้ป่วยต้องรับอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาล

2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes mellitus, T2DM) : เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ( 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด) เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่ หรือ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน

3. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (Diabetes other specific types) : มีได้หลายสาเหตุ เช่น โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ หรือ ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

4. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus, GDM) : เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อ ไตรมาส 2-3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานในอนาคตทั้งกับมารดาและทารก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"เบาหวาน" ปัญหาสุขภาพคนไทย ที่อันตรายไม่เบา

ติดหวานเกินไป ไม่ดีต่อใจ ลดยังไง? ไม่ซึม (เศร้า)

คนไทยเป็นเบาหวานถึง 6 ล้านคน

ข้อมูลสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ และสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค พบว่าโรคเบาหวานอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็น 1 ในภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและรุนแรงในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งปัจจุบัน คนไทยเป็นเบาหวานมากถึง 6 ล้านคน หรือ 1 ใน 11 คนสำหรับคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสหรือมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวานถึง 3 เท่า

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมีความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพราะภาวะหัวใจล้มเหลวเพิ่มสูงขึ้นถึง 33% ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลว

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นหัวใจล้มเหลวถึง 14.1% ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ป่วยชาย โดยผู้หญิงมีความเสี่ยง 3.5 เท่า ในขณะที่ผู้ชายเสี่ยง 2.1 เท่า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงถึง 70%

เช็กหัวใจด้วย NT-proBNP  หยุดภาวะหัวใจล้มเหลวผู้ป่วยเบาหวาน

วิธีการตรวจ-ประเมินเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

รศ.นพ.ธาดา แนะนำว่าการประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งสามารถทำได้ผ่านวิธีการตรวจและการประเมินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • การวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c): ช่วยประเมินการควบคุมระดับน้ำตาลในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ระดับ HbA1c ที่สูงกว่า 7% บ่งชี้ว่าควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดีพอ และมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น
  • การตรวจระดับไขมันในเลือด : วัดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ หากมีระดับไขมันที่สูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • การวัดความดันโลหิต : ผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น ควรควบคุมให้อยู่ที่ระดับน้อยกว่า 140/90 มม.ปรอท (ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์)
  • การตรวจการทำงานของไต (eGFR และโปรตีนในปัสสาวะ) : ผู้ป่วยเบาหวานมักมีความเสี่ยงต่อภาวะไตเสื่อม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของโรคหัวใจด้วย การตรวจ eGFR (อัตราการกรองของไต) และโปรตีนในปัสสาวะช่วยในการประเมินการทำงานของไต
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ ECG) : ตรวจการทำงานของหัวใจว่ามีการเต้นผิดปกติหรือมีสัญญาณของโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
  • การวัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI) : ช่วยประเมินความเสี่ยงด้านน้ำหนักส่วนเกิน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน
  • การประเมินพฤติกรรมการใช้ชีวิต : เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกาย และพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพราะปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
  • การตรวจ Echocardiogram หรือเรียกสั้นๆ ว่า Echo เป็นการตรวจหัวใจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวนด์) เพื่อสร้างภาพการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ มีบทบาทสำคัญในการประเมินภาวะหัวใจในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากสามารถช่วยตรวจหาความผิดปกติได้หลายอย่าง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มผู้ป่วยนี้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง

ตรวจ NT-proBNP ประเมินภาวะหัวใจล้มเหลว

รศ.นพ.ธาดา กล่าวต่อว่าปัจจุบันมีการตรวจ NT-proBNP (N-terminal pro-B-type natriuretic peptide) เป็นตรวจโดยการเจาะเลือดที่แขนเพื่อใช้ในการประเมินภาวะหัวใจล้มเหลวและภาวะความผิดปกติของหัวใจในผู้ป่วย รวมถึงผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด มีประโยชน์อย่างมากในการประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานด้วยเหตุผลดังนี้:

ระดับ NT-proBNP มักจะสูงในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงหรือภาวะหัวใจล้มเหลวตั้งแต่ระยะแรก จึงช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบและจัดการภาวะนี้ได้ก่อนที่อาการจะแย่ลง สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวหรือปัญหาหลอดเลือดหัวใจในอนาคต โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม NT-proBNP ควรใช้ร่วมกับการตรวจอื่นๆ เช่น ECG, การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) และการวัดความดันโลหิต เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้นในการประเมินสุขภาพของหัวใจระดับ NT-proBNP ที่สูงเกินปกติ (สูงกว่า 125 pg/ml) อาจบ่งชี้ว่าหัวใจทำงานหนักขึ้นหรือมีความผิดปกติ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยในการจัดการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวและปัญหาหลอดเลือด

ข้อดีของการตรวจ NT-proBNP

ประชากรที่มีอายุสูงกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือผู้เป็นเบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ควรตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถช่วยประเมินความเสี่ยงผู้มีโอกาสเกิดโรคเรื้อรังรุนแรง ซึ่งรวมถึงภาวะหัวใจล้มเหลว และการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจวิกฤตเป็นตัวบ่งชี้ที่ช่วยในการตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวได้รวดเร็ว และถูกต้อง แม้ว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวเพียงเล็กน้อย หรือยังไม่แสดงอาการ ได้อย่างแม่นยำ

“จากการศึกษาล่าสุดพบว่า การใช้ NT-proBNP เพื่อกำหนดแนวทางการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้ผลดีกว่าการรักษาแบบมาตรฐานทั่วๆ ไป และช่วยให้แพทย์สามารถปรับวิธีการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ 40% ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวลดอัตราการเสียชีวิต และลดอัตราการนอนโรงพยาบาล มีคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น” รศ. นพ. ธาดา กล่าว