ผักที่ไม่ควรกินดิบ กินมากไปอาจเกิดโทษต่อสุขภาพ
คงไม่มีใครปฎิเสธ ว่าการทาน “ผักและผลไม้” ย่อมเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย แต่รู้หรือไม่? หากรับประทานผิดวิธีอาจจะเกิดโทษได้เช่นเดียวกัน
KEY
POINTS
- ผักทั้ง 12 ชนิดนี้ หากนำมารับประทานแบบดิบ ๆ ในปริมาณมาก ย่อมส่งผลทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย ซึ่งผักการรับประทานผักดิบบางชนิด อาจจะทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
- สารในผักดิบที่กระทบต่อสุขภาพมีมากมาย ทั้ง ไซยาไนด์ สารฟอกขาว ออกซาเลต แลคติน หรือ แม้แต่น้ำตาลบางชนิดในผัก ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายทั้งสิ้น
- การล้างผักให้สะอาด ปลอดจากสารเคมี มีความจำเป็นอย่างมากก่อนจะนำมาปรุงอาหาร เพราะหากต้องการให้สุขภาพดีควรรับประทานผัก ผลไม้ที่ถูกสุขลักษณะ ประมาณ 400 กรัมต่อวัน
คงไม่มีใครปฎิเสธ ว่าการทาน “ผักและผลไม้” ย่อมเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย แต่รู้หรือไม่? หากรับประทานผิดวิธีอาจจะเกิดโทษได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารแบบดิบๆ ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ หากกินดิบๆ และในปริมาณมากๆ อาจจะได้รับโทษมาแทน
ผักบางชนิดไม่สามารถกินดิบได้ เพราะอาจมีสารปนเปื้อนหรือเชื้อแบคทีเรีย ที่ถ้าเรากินเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายได้ มาดูกันว่ามีผักอะไรบ้างที่ไม่ควรกินดิบ และกินอย่างไรให้ปลอดภัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘ผักผลไม้ฤดูร้อน’ เพิ่มวิตามิน 'กินคลายร้อน' มีอะไรบ้าง
เลือกทาน Plant-based foods อย่างไร? ให้ดีต่อหัวใจ ดีต่อสุขภาพ
รู้จักผัก 12 ชนิด กินดิบๆ อาจทำให้เกิดโทษ
ผัก 12 ชนิดเหล่านี้ ที่หากกินดิบ ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดโทษ และทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตแบบที่คุณอาจจะไม่รู้ตัว
- กะหล่ำปลี
ถึงแม้ว่าผักอย่าง กะหล่ำปลี จะเป็นผักที่มีวิตามินซีสูงก็ตาม แต่เราจะได้รับวิตามินซีจากกะหล่ำปลีอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเรานำกะหล่ำปลีมาปรุงสุกแล้วค่อยรับประทาน เนื่องจากในกะหล่ำปลียังคงมี สารออกซาเลต ซึ่งเราจะได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกาย เมื่อมีการรับประทานกะหล่ำปลีดิบ ๆ ในปริมาณมาก ซึ่งถ้าหากมีสารออกซาเลตเข้าไปที่กรวยไตมาก ๆ อาจจะทำให้เกิดโรคนิ่วขึ้นได้
นอกจากนี้กะหล่ำปลีดิบ ยังคงมีสารกอยโตรเจน ซึ่งเป็นสารที่คอยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนของต่อมโทรอยด์ในร่างกายของเรา ซึ่งจะส่งผลทำให้ร่างกายของเรานั้น ดึงไอโอดีนจากเลือด เพื่อนำไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ จนทำให้เกิดโรคคอหวยพอกขึ้นได้ แต่สำหรับสารนี้สามารถสลายตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อโดนความร้อน เพราะฉะนั้น การบริโภคกะหล่ำปลีแบบสุก ๆ ถือได้ว่าปลอดภัยอย่างมากที่สุด
- ดอกกะหล่ำ
ดอกกะหล่ำถือได้ว่าเป็นพืชชนิดหัวอีกชนิดหนึ่ง ที่เราไม่สามารถนำมารับประทานแบบดิบ ๆ ได้ เพราะดอกกะหล่ำยังคงมีน้ำตาลชนิดหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ซึ่งจะไม่สามารถย่อยน้ำตาลชนิดนี้ได้ ส่งผลทำให้เกิดอาการท้องอืด และรู้สึกแน่นท้อง ซึ่งถ้าหากคุณรับประทานดอกกะหล่ำปรุงสุก คุณจะสามารถมั่นใจได้ ว่าคุณจะไม่พบเจอโทษจากดอกกะหล่ำ
ผักบางชนิด ไม่ควรกินดิบ
- บรอกโคลี
เนื่องจากบรอกโคลี เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับกะหล่ำปลี จึงมีน้ำตาลที่ส่งโทษทำให้เกิดอาการท้องอืดได้เช่นกัน หากมีการนำมารับประทานแบบดิบ ๆ อีกทั้งในบรอกโคลี ยังคงมีฮอร์โมนบางชนิด ที่กระตุ้นทำให้เกิดโรคไทรอยด์ได้อีกเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ผักอย่างบรอกโคลี จึงเป็นผักอีกหนึ่งชนิด ที่เราไม่ควรนำมารับประทานแบบดิบ ๆ ในปริมาณมากนั่นเอง
- ถั่วฝักยาว
การรับประทานถั่วฝักยาวแบบดิบ ๆ ในปริมาณมาก ค้นพบว่า ถั่วฝักยาว จะมีปริมาณไกลโคโปรตีน พร้อมทั้งเลคตินสูง สารชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเกิดอาการท้องเสียได้ในระยะเวลา 3 ชั่วโมงได้นั่นเอง
- ถั่วงอก
ถือได้ว่าเป็นผักยอดนิยม ที่ถูกนำมารับประทานสด ๆ อย่างเป็นประจำ ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับโทษจากสารโซเดียมซัลไฟต์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สารฟอกขาว ซึ่งถ้าหากผู้รับประทานถั่วงอกดิบ ๆ ในปริมาณมาก เป็นผู้ที่แพ้สารชนิดนี้ด้วยแล้ว ย่อมทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ มีลักษณะหายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ และมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งสารฟอกขาวนี้จะสลายและถูกทำลายได้ เมื่อมีการนำไปปรุงสุกแล้วเท่านั้น
- หน่อไม้
ในหน่อไม้สดจะมีสารไซยาไนด์ ซึ่งจะเป็นพิษต่อร่างกาย เมื่อร่างกายได้รับสารนี้ในปริมาณมาก สารนี้จะเข้าไปจับกับฮีโมโกลบิน ส่งผลทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน จนทำให้หมดสติ และอาจจะเสียชีวิตได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าหากใครอยากจะรับประทานหน่อไม้ ควรปรุงสุกด้วยความร้อนเสียก่อน ถึงจะปลอดภัย
- มันสำปะหลัง
ทางสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ประกาศแจ้งเตือนว่า หากมีการรับประทานมันสำปะหลังดิบ โดยเฉพาะในส่วนหัว รากและใบ อาจจะมีพิษส่งผลทำให้ถึงตายได้ ซึ่งพิษในมันสำปะหลังจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของระบบหัวใจ ในรายที่ได้รับพิษน้อยที่สุด จะเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ มีอาการปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ และอุจจาระร่วง
- ผักโขม
เป็นผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก แต่ถ้าหากนำมารับประทานแบบดิบ ๆ จะส่งผลทำให้เกิดโทษต่อร่างกายอย่างมากเช่นกัน เพราะภายในผักโขมดิบ ๆ จะมีกรดออกซาลิก ซึ่งจะส่งผลทำให้ลำไส้ของเราระคายเคือง และยังเป็นตัวขัดขวาง ที่จะทำให้ไม่ร่างกายของเรานั้น ได้ดูดซึมธาตุเหล็กและแคลเซียม ซึ่งในภายหลังจะส่งผลทำให้เราเป็นโรคนิ่ว แต่ถ้าหากเรานำผักโขมไปปรุงสุกเสียก่อน โทษต่าง ๆ เหล่านี้จะหายไปในทันที
- แครอท
ถึงแม้ใน แครอท จะมีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ที่ช่วยในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ ยับยั้งและต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี แต่การกินแครอทดิบจะทำให้การดูดซึมสารเบต้าแคโรทีน ที่เป็นตัวช่วยต้านอนุมูลอิสระได้น้อยลง จึงควรนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน จะได้ประโยชน์มากกว่า และแครอทเป็นพืชที่มีประโยชน์สูงแต่หากเรากินในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ผิวมีสีเหลืองขึ้น ฟันเสื่อม หรือฟันผุ
- มันฝรั่ง
มันฝรั่ง เป็นพืชที่ต้องนำมาผ่านความร้อน และปรุงสุกก่อนรับประทานเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการต้ม ผัด อบ หรือทอด ไม่ควรนำมากินแบบดิบเด็ดขาด เพราะในหัวมันฝรั่งดิบจะมีสารโซลานีน (Solanine) มีอยู่มากในส่วนหน่อที่งอกออกมากจากหัว และสารพิษไกลโคแอลคาลอยด์ (Glycoalkaloids) ซึ่งเป็นสารที่พืชสร้างมาเพื่อปกป้องตัวเองจากแมลงศัตรูพืช อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น ใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว และสุดท้ายอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยการนำมันฝรั่งไปทำให้สุกด้วยความร้อนจัด 170 องศาเซลเซียส จะช่วยลดปริมาณสารพิษเหล่านั้นลงได้
- มันเทศ
มันเทศ หรือมันหวานสีต่างๆ อีกหนึ่งพืชที่ต้องนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน เพราะมีปริมาณสารไซยาไนด์ (Cyanide) อยู่ ถึงแม่ปริมาณจะไม่มากเท่ามันสำปะหลัง และในหัวมันเทศยังมีสารออกซาเลต (Oxalates) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียม และแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด และอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดนิ่วในไตได้ ก่อนนำมันเทศมาปรุงอาหาร ควรล้างทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารพิษหรือสิ่งตกค้างก่อนนำไปปรุงอาหาร
- เห็ด ชนิดต่างๆ
เห็ดทุกชนิด ควรจะนำมาลวก ต้ม หรือทำให้สุกก่อนทาน เพราะในเห็ดจะมีผนังเซลล์ที่ย่อยยากอยู่ ซึ่งการนำมาปรุงให้สุกจะช่วยไปทำลายผนังเซลล์ที่ย่อยยากนั้นได้ บางคนทานเห็ดดิบแล้วอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด และในเห็ดอาจมีสารพิษปนเปื้อนอยู่มาก จึงคารนำมาล้างให้สะอาด และปรุงสุกก่อนทานจะดีที่สุด
ผักทั้ง 12 ชนิดนี้ หากนำมารับประทานแบบดิบ ๆ ในปริมาณมาก ย่อมส่งผลทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย ซึ่งผักการรับประทานผักดิบบางชนิด อาจจะทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น การรับประทานผักที่ถูกต้อง พร้อมทั้งได้รับประโยชน์จากผักทุกชนิด เราควรนำผักทุกชนิดมาปรุงสุกเสียก่อน เพื่อที่จะสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย ได้ประโยชน์อย่างครบครัน โดยที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย
สารในผักดิบที่กระทบต่อสุขภาพ
- ออกซาเลต
หากได้รับไปในปริมาณมาหรือระยะเวลานาน จะเข้าไปสะสมอยู่บริเวณกรวยไต อาจทำให้เป็นโรคนิ่วในไตได้
- กอยโตรเจน
สารนี้จะไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายดึงไอโอดีนจากโลหิตได้น้อยกว่าปกติ เป็นสาเหตุโรคคอพอก
- ไกลโคโปรตีนและแลคติน
จะทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียหลังบริโภคผักดิบในระยะเวลา 3 ชั่วโมง
- โซเดียมซัลไฟต์ หรือสารฟอกขาว
โดยเฉพาะการบริโภคผักสีขาวแบบดิบ ทำให้เกิดอาการหายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ และปวดท้อง
- ไซยาไนด์
สารนี้จะเข้าไปจับฮีโมโกลบิน ส่งผลให้เกิดร่างกายขาดออกซิเจน หมดสติ ถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ออกซาลิก
เมื่อได้รับเข้าไปแล้ว มันจะไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กและแคลเซียมในร่างกาย ภายหลังจะส่งผลทำให้เกิดโรคนิ่วขึ้น
- น้ำตาลบางชนิด
ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลประเภทนี้ได้ ทำให้มีอาการท้องอืด แน่นท้อง
- สารในบรอกโคลี
เลือกผักอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ
- เลือกซื้อตามฤดูกาล
- มีสีสันตามธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด ไม่มีคราบเชื้อรา
- สังเกตว่ามีรู รอยเจาะ กัดของแมลงหรือไม่ หากมีแสดงว่าไม่มีการใช้สารเคมีของผักนั้น
- ดูฉลาก บอกแหล่งที่มา รวมทั้งวัน เดือน ปี หมดอายุ หรือได้รับการรับรองจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ
- รับประทานผักผลไม้อย่างหลากหลายชนิด
- หากสามารถทำการปลูกได้และนำมาบริโภคเอง เช่น พริก กะเพรา และผักชี เป็นต้น
- ดูฉลากก่อนซื้อผัก
ล้างผักอย่างไรให้ปลอดจากสารเคมี
- ล้างผ่านน้ำสะอาด
- เด็ดผักออกแช่ในน้ำนาน 15 นาที
- ต่อมาเปิดน้ำไหลผ่านผัก
- ถูบริเวณต่าง ๆ ให้สะอาดทั้งหมด
ผงฟู หรือ Baking Soda
- นำผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำ 20 ลิตร
- นำผักแช่ไว้ 15 นาที
- ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกรอบ
น้ำส้มสายชู
- น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 4 ลิตร
- แช่ผักไว้ 10 นาที
- ล้างด้วยน้ำสะอาด
ด่างทับทิม
- นำด่างทับทิมประมาณ 20 – 30 เกล็ด ละลายในน้ำ 4 ลิตร
- แช่ไว้ 10 นาที
- ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
หากต้องการให้สุขภาพดีควรรับประทานผัก ผลไม้ที่ถูกสุขลักษณะ ประมาณ 400 กรัมต่อวัน นอกจากนี้ยังสามารถป้องกัน หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบ และมะเร็งบางชนิด เพราะเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ ทั้งนี้สารตกค้างในผักหรือยาฆ่าแมลงเราไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ จึงต้องใส่ใจในการล้างทำความสะอาดผักก่อนนำมาปรุงอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย
อ้างอิง:โรงพยาบาลเพชรเวช ,สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม