หายใจไม่เต็มอิ่ม อันตรายแบบใด? ควรรีบพบแพทย์

หายใจไม่เต็มอิ่ม อันตรายแบบใด? ควรรีบพบแพทย์

เราต่างรู้กันดีว่า หากเราไม่หายใจ นั่นหมายถึงการไม่มีชีวิต "การหายใจ" จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าอาการ “หายใจไม่อิ่ม”

KEY

POINTS

  • โรคหายใจไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath) เป็นลักษณะการหายใจเร็ว หายใจสั้น ทำให้ร่างกายรู้สึกว่าได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนรู้สึกเหนื่อย อึดอัด หัวใจเต้นเร็วตามมา
  • วิธีการแก้อาการหายใจไม่อิ่ม มีด้วยกัน 2 วิธีที่แพทย์แนะนำให้ทำ ได้แก่  การฝึกหายใจ และการปรับอิริยาบถให้สามารถหายใจได้สะดวกมากขึ้น
  • หากคุณกำลังประสบปัญหาหายใจไม่อิ่มหรือหายใจไม่เต็มปอด อย่าปล่อยให้อาการนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที 

เราต่างรู้กันดีว่า หากเราไม่หายใจ นั่นหมายถึงการไม่มีชีวิต "การหายใจ" จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าอาการ “หายใจไม่อิ่ม” หรือหายใจได้ไม่เต็มปอด นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพที่ควรให้ความสำคัญ อาการดังกล่าวสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ปัญหาสุขภาพเล็กน้อยไปจนถึงโรคร้ายแรง อย่าง

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หนึ่งในอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งเสี่ยงมาก
  • โรคปอด มีอยู่หลายชนิด เช่น วัณโรค ปอดบวม หอบหืด หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง น้ำท่วมปอด เป็นต้น
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง – ALS เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง ส่งผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การติดเชื้อ Covid19 อาการเตือนของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด อาจมีภาวะเชื้อโควิดลงปอด 
  • ภาวะอื่นๆ ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไทรอยด์ โรคโลหิตจาง โรคไตเรื้อรัง สิ่งแปลกปลอมขัดขวางระบบทางเดินหายใจภาวะวิตกกังวล เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ผักที่ไม่ควรกินดิบ กินมากไปอาจเกิดโทษต่อสุขภาพ

ก่อนอายุ 40 ก็เป็นวัยทองได้ เรื่องที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน

อาการหายใจไม่อิ่มเป็นอย่างไร? 

โรคหายใจไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath) เป็นลักษณะการหายใจที่จะหายใจเร็ว หายใจสั้น ทำให้ร่างกายรู้สึกว่าได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนรู้สึกเหนื่อย อึดอัด หัวใจเต้นเร็วตามมา บางครั้งรู้สึกว่าหายใจเข้าลึกแล้ว แต่ยังไม่สุดปอด รู้สึกว่าต้องการหายใจเพิ่มอีก

จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองกำลังมีอาการหายใจไม่อิ่ม? อาการหายใจไม่อิ่ม มีข้อบ่งชี้คือ

  • หายใจแล้วรู้สึกว่าไม่พอ ไม่สุดปอด
  • รู้สึกหายใจไม่สะดวก เหมือนลดผ่านเข้าไปได้ไม่ดี
  • หายใจเข้าลึกไม่ได้ จนหายใจเป็นช่วงสั้นๆ ถี่ๆ
  • อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย อย่างอาการจุกอก แน่นหน้าอก รู้สึกอึดอัด เหนื่อย
  • หากเป็นหนัก อาจรู้สึกหายใจไม่ออก รู้สึกว่าจะขาดใจ

ระดับความรุนแรงของอาการหายใจไม่อิ่ม

ความรู้สึกหายใจไม่ออก หรือรู้สึกจะขาดใจ ไม่ใช่ข้อบ่งชี้เดียวของการเป็นโรคหายใจไม่อิ่ม ข้อสังเกตอีกอย่างที่จะรู้ได้จากการสังเกตตัวเอง คือระดับความเหนื่อยหอบเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ โดยทางการแพทย์จะแบ่งออกเป็นสเกล เรียกว่า “Dyspnea Scale” (mMRC (Modified Medical Research Council) Dyspnea Scale) ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้

  • ระดับ 0 : หายใจไม่อิ่มจากการออกกำลังกายหนักเพียงอย่างเดียว
  • ระดับ 1 : หายใจไม่อิ่มขณะเดินเร็ว หรือเดินขึ้นเนินที่ไม่ได้ชันมาก
  • ระดับ 2 : เดินช้ากว่าผู้ที่มีอายุเท่ากัน เนื่องจากการหายใจไม่อิ่ม หรือจะต้องพักหยุดหายใจหลังจากเดินระยะหนึ่ง
  • ระดับ 3 : ต้องหยุดหายใจหลังจากเดินได้เพียง 90 เมตร หรือเดินเป็นเวลาไม่กี่นาที
  • ระดับ 4 : หายใจไม่อิ่มมากเสียจนไม่สามารถออกจากบ้านได้ หรือรู้สึกเหนื่อยหอบจากการแต่งตัว

สาเหตุหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่เต็มปอด

อาการที่เกิดขึ้นอาจมีผลมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การใช้แรงมากเป็นเวลานาน มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ มีอาการตกใจ หรืออาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราส่งผลให้มีอาการเหนื่อยล้า  เช่น ตามสถานที่ที่ความกดอากาศต่ำอย่างยอดเขา สถานที่อุณหภูมิสูง  กลางแดดจัด เป็นต้น

สาเหตุอาการหายใจไม่อิ่มเฉียบพลัน

  • อาการแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่มที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เกิดจากสภาพอารมณ์และการใช้ร่างกายในช่วงเวลานั้นๆ เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม แน่นอกในระยะสั้น เมื่อหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม อาการดังกล่าวจะหายไปเองได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ ซึ่งสาเหตุอาการหายใจไม่อิ่มเฉียบพลัน มีดังนี้
  • ใช้ร่างกายหนักเป็นระยะเวลานาน การใช้ร่างกายหนัก อาจส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า จนทำให้ร่างเกิดอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม
  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย ขยับร่างกายน้อย การออกกำลังกายน้อยเกินไป ส่งผลให้ความดันต่ำจนร่างกายต้องการออกซิเจนมากกว่าปกติ เกิดเป็นอาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม เวียนหัวได้
  • พักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันหลายคืน การพักผ่อนน้อย มีผลทำให้หลอดเลือดทำงานได้น้อยละ และยังมีผลเกี่ยวกับระบบควบคุมการหายใจอีกด้วย
  • เกิดภาวะตกใจ ช็อก อาการดังกล่าวเรียกว่า The Autonomic Nervous System Triggers Hyperventilation เกิดจากเมื่อเราตกใจ ฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) จะหลั่งอย่างฉับพลัน ทำให้ใจเต้นแรง หายใจไม่อิ่ม ความดันโลหิตสูง
  • มีความวิตกกังวล ความเครียด ซึมเศร้า ความเครียดความกังวลสามารถส่งผลกับร่างกายได้หลายอย่าง สาเหตุที่ทำให้หายใจไม่อิ่ม อาจเกิดจากความดันโลหิตที่สูงขึ้นจากปฏิกิริยาของร่างกาย
  • อยู่ในที่ที่มีความกดอากาศต่ำ หรือ อากาศร้อนมาก สถานที่ดังกล่าวมักมีออกซิเจนในอากาศน้อยกว่าปกติ สมองส่วนที่ควบคุมการหายใจ (อยู่ภายในส่วน Medulla) ส่วนให้เราหายใจมากกว่าปกติ
  • อาการภูมิแพ้ อาการภูมิแพ้ก่อให้เกิดการหายใจไม่อิ่มได้ชั่วคราว เนื่องจากหากเราหายใจเอาสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้เข้าไป จะทำให้ระบบหายใจเกิดการอักเสบและบวมขึ้นชั่วคราว จนหายใจได้ยาก บางครั้งก่อให้เกิดอาการของโรคหอบหืด ทั้งนี้หากมีอาการหายใจไม่อิ่มรุนแรงจากการสัมผัสสิ่งกระตุ้นภูมิแพ้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

สาเหตุอาการหายใจไม่อิ่มแบบเรื้อรัง

  • การติดเชื้อโควิด-19

หายใจไม่อิ่มเรื้อรัง ตั้งแต่ช่วงที่ติดเชื้อโควิด ถึงช่วงหลังจากหายโควิดแล้ว อาจเป็นผลมาจากอาการป่วยและเป็นไข้ได้ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากหายใจไม่อิ่มรุนแรง เหนื่อยง่าย กลั้นหายใจหรือขยับตัวเล็กน้อยก็เหนื่อยมาก วัดออกซิเจนในเลือดได้ต่ำกว่า 94 %SpO2 อาจเป็นผลมาจาก โควิดลงปอด ได้ 

  • ภาวะลองโควิด

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการหนึ่งที่พบได้จากภาวะลองโควิด เพราะเมื่อหายจากโควิดแล้ว ปอดยังคงมีรอยโรคจากการอักเสบอยู่ ทำให้เกิดพังผืด เกิดฝ้าในปอด ถุงลมไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีเท่าเดิมจนหายใจไม่อิ่ม ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิด เพิ่มเติมด้วย

  • โรคหัวใจ

เจ็บหน้าอกซ้าย หายใจไม่อิ่มอย่างเรื้อรัง เป็นสัญญาณความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ ทั้งโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ, หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน, โรคของลิ้นหัวใจ, เส้นเลือดในปอดอุดตัน, กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม, ถ้ามีความเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว แพทย์จะให้ตรวจหัวใจ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ด้วย 

  • โรคปอด 

โรคที่เกิดขึ้นกับปอด สามารถทำให้เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่มได้ ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อ หรือการอักเสบภายในปอด ถ้าอาการเข้าข่าย แพทย์จะให้เอกซเรย์ปอด  และตรวจปอด เพื่อวินิจฉัยต่อไป

  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

การหายใจต้องใช้กล้ามเนื้อถึง 2 ส่วน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นความผิดปกติของระบบประสาท หากเป็นโรคดังกล่าวอาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ จนรู้สึกหายใจไม่อิ่มได้ 

  • โรคโลหิตจาง 

ระบบเลือดสามารถมีผลต่อการหายใจได้ หากเลือดจางจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ 

  • โรคกรดไหลย้อน 

หายใจไม่อิ่ม จุกที่คอ มักเกิดจากกรดไหลย้อน มักเกิดขึ้นบ่อยในช่วงก่อนนอน หรือเวลาที่รับประทานอาหารมากเกินไป

  • ภาวะข้างเคียงที่ส่งผลต่อระบบหายใจ 

โรคอื่นๆ อาจมีผลกับระบบฮอร์โมน ระบบเลือด ระบบหายใจ และระบบควบคุมการหายใจได้ เช่น โรคที่เกี่ยวกับไต ตับ ต่อมไทรอยด์ และสมองส่วนกลาง (Central Sleep Apnea หรือ CSA)

  • สรีระร่างกาย 

สรีระร่างกายอาจมีผลกับหลอดลมได้ ทำให้หายใจไม่สะดวก หรือมีบางอย่างขวางการหายใจชั่วขณะได้ อาจเกิดขึ้นเองจากร่างกาย หรือเกิดจากอุบัติเหตุก็ได้ ที่พบได้มากคือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ที่มักจะพบในผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์

อย่างไรก็ตาม อาการหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่เต็มปอด เกิดได้จากหลายสาเหตุ หากสังเกตตนเองและพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคที่ไม่ใช่สาเหตุ รวมทั้งตรวจดูความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว ซึ่งวิธีการตรวจนั้นสามารถตรวจได้โดยการเอกซเรย์ทรวงอก (Chest x-ray) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การตรวจความผิดปกติของปอด (Low-dose CT) ทั้งนี้วิธีในการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์และอาการของผู้ป่วย

หายใจไม่อิ่ม ไม่เต็มปอด เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

  • มีอาการหายใจไม่อิ่มอย่างเรื้อรัง เป็นนาน และเป็นบ่อย
  • ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หายใจไม่อิ่มและดูแลสุขภาพ ทั้งทานอาหารครบ 5 หมู่ นอนพักผ่อนเพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด ทานอาหารเป็นเวลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ได้เป็นภูมิแพ้ ไม่ได้มีอาการตกใจ ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการหายใจ แต่ยังคงมีอาการอยู่
  • รู้สึกเหมือนจะขาดใจ หายใจลำบากมาก โดยเฉพาะในขณะที่นอนราบ
  • หายใจมีเสียง
  • มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น จุก เจ็บหน้าอกมาก ตัวบวม รู้สึกเหมือนมีอะไรขวางเมื่อหายใจ มีไข้ คลื่นไส้ หมดสติ และอื่นๆ

หากมีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย รักษาต้นเหตุของอาการ และป้องกันไม่ให้อาการหายใจไม่อิ่ม หรืออาการของโรคต้นเหตุรุนแรงขึ้น

วินิจฉัยอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม

ในการวินิจฉัย แพทย์จะซักประวัติเป็นอย่างแรก เพื่อสอบถามอาการหายใจไม่อิ่ม ความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาที่เกิด และความถี่ของการเกิด รวมถึงสอบถามประวัติอาการป่วยอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเป็นโรคต้นเหตุของอาการหายใจไม่อิ่ม หากมีความเสี่ยงแพทย์จึงจะตรวจละเอียดในด้านนั้นๆ อีกครั้ง เช่น การตรวจเลือด ตรวจปอด ตรวจหัวใจ ตับ ไต ไทรอยด์ หรือสมอง

ดังนั้น ทุกคนควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากมีการจดบันทึกอาการและช่วงเวลาที่เกิดอาการด้วยก็จะมีประโยชน์กับการวินิจฉัยอย่างมาก ยิ่งทราบต้นเหตุของอาการได้เร็ว ยิ่งสามารถรักษาได้ไวขึ้น โอกาสเกิดอาการรุนแรงก็จะยิ่งลดลง

แนวทางการรักษาภาวะหายใจไม่เต็มอิ่ม

เนื่องจากหายใจไม่อิ่ม สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่เป็นชั่วคราว และเป็นอย่างเรื้อรัง ดังนั้นจะต้องมีการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการอย่างละเอียดก่อนการรักษา เพื่อจะได้รักษาได้อย่างตรงจุด

หากอาการหายใจไม่อิ่มเกิดจากโรคบางอย่าง ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาโรคต้นเหตุให้หายเพื่อหยุดอาการหายใจไม่อิ่ม หากเป็นโรคเกี่ยวกับปอดและกล้ามเนื้อควบคุมการหายใจ แพทย์จะให้บริหารฝึกปอด ด้วยการฝึกหายใจอย่างถูกวิธีด้วย เพื่อกระตุ้นการทำงานของปอดให้กลับมาแข็งแรงขึ้นอีกครั้ง

หากหายใจไม่อิ่มชั่วคราวจากพฤติกรรมเสี่ยง แพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง สาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่มต่อไป

วิธีแก้อาการหายใจไม่อิ่ม 

วิธีแก้อาการหายใจไม่อิ่ม มีด้วยกัน 2 วิธีที่แพทย์แนะนำให้ทำ ได้แก่  การฝึกหายใจ และการปรับอิริยาบถให้สามารถหายใจได้สะดวกมากขึ้น

  • การฝึกหายใจสำหรับผู้ที่มีอาการหายใจไม่อิ่ม

 สำหรับผู้ที่หายใจไม่อิ่ม สามารถฝึกหายใจเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการ

  • ฝึกหายใจด้วยท้อง - การหายใจด้วยท้องจะสามารถทำให้เราสามารถหายใจได้ลึกมากขึ้น โดยการฝึกสามารถทำได้ทั้งการนั่งและยืนหลังตรง รวมถึงท่านอน ให้วางฝ่ามือสองข้างไว้ที่หน้าท้อง เมื่อหายใจเข้าต้องรู้สึกว่าท้องป่อง จึงจะถือว่าใช้กล้ามเนื้อในการหายใจอย่างถูกต้อง เมื่อหายใจออกให้ใช้ฝ่ามือกดหน้าท้องเล็กน้อยเพื่อให้ลมออกจนหมด
  • ฝึกหายใจทั้งทางจมูกและปาก - โดยการฝึกหายใจเข้าทางจมูก และหายใจออกทางปาก ซึ่งการหายใจออกทางปาก จะต้องห่อริมฝีปาก ให้ลมค่อยๆออกมาช้าๆ วิธีนี้จะทำให้หายใจยาวขึ้น และช้าลง ช่วงลดอาการหายใจไม่อิ่มได้ สามารถใช้ขณะฝึกหายใจด้วยท้อง หรือขณะออกกำลังกายได้ด้วยเช่นกัน

แนะนำอิริยาบถที่ช่วยให้หายใจสะดวก

อิริยาบถที่ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ขณะรู้สึกหายใจไม่อิ่ม มีทั้งท่ายืน ท่านั่ง และท่านอน ดังนี้

1. ท่ายืน

  • ท่าที่ 1 : ยืนหันหลังให้กำแพง ห่างจากกำแพงเล็กน้อย แยกขาให้ขากว้างเท่าไหล่ ใช้สะโพกยันกำแพงไว้ ทิ้งแขนลงข้างลำตัว ผ่อนคลายไหล่ แล้วโน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย ให้แขนทิ้งอยู่ด้านหน้าโดยไม่ต้องเกร็ง
  • ท่าที่ 2 : ยืนหันหน้าเข้าโต๊ะที่มีความสูงต่ำกว่าไหล่ประมาณหนึ่ง ยืนห่างจากโต๊ะเล็กน้อย วางมือลงที่โต๊ะ โน้มตัวไปที่โต๊ะ ทิ้งน้ำหนักลงเล็กน้อย ผ่อนคลายคอ สามารถพักศีรษะไว้ที่แขนได้ จากนั้นจึงผ่อนคลายหัวไหล่

2. ท่านั่ง

  • ท่าที่ 1 : นั่งเก้าอี้ที่มีความสูงพอเหมาะ ให้เท้าสามารถวางราบไปกับพื้นได้สะดวก โน้มตัวมาด้านหน้า ใช้ศอกวางไว้บนหัวเข่า แล้ววางคางไว้ที่มือ จากให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อคอและไหล่
  • ท่าที่ 2 : นั่งเก้าอี้ที่มีความสูงพอเหมาะ ให้เท้าสามารถวางราบไปกับพื้นได้สะดวก ด้านหน้าควรมีโต๊ะ ความสูงอยู่ในระดับที่สามารถฟุบลงไปได้สะดวก ให้วางแขนหรือหมอนไว้ด้านหน้า แล้วฟุบลงในท่าที่หายใจได้ง่าย

3. ท่านอน

  • ท่าที่ 1 : นอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง หมอนที่หนุนจะเป็นหมอนสูง ใช้ขาหนีบหมอนอีกใบไว้ขณะนอนด้วย
  • ท่าที่ 2 : นอนหงายหนุนหมอนสูง ใช้หมอนอีกใบรองเข่าให้ตั้งขึ้นเล็กน้อย

ป้องกันอาการหายใจไม่อิ่ม

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หายใจไม่อิ่ม ทั้งการใช้ร่างกายหนักเป็นเวลานาน ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย เครียด หรืออยู่ในที่เสี่ยงก่อให้เกิดภูมิแพ้ และที่ที่ทำให้หายใจลำบาก
  • ไม่อยู่ในที่ที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน รวมถึงงดสูบบุหรี่
  • หมั่นสังเกตการหายใจของตนเองอยู่เสมอ ว่ามีอาการหายใจไม่อิ่มหรือไม่ เกิดขึ้นบ่อยครั้งไหม
  • หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหายใจไม่ออกที่รุนแรง ควรนับพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

อ้างอิง: โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ ,โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9  แอร์พอร์ต