‘ต้มยำกุ้ง’ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก - 'อาหารเป็นยา'อย่างแรกของไทย สรรพคุณเพียบ

 ‘ต้มยำกุ้ง’ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก - 'อาหารเป็นยา'อย่างแรกของไทย สรรพคุณเพียบ

ต้มยำกุ้ง มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นอย่างที่ 4 ของไทย  นับเป็น 1 เมนูอาหารเป็นยา  สรรพคุณทางยาจากสมุนไพร-คุณค่าโภชนาการ สารอาหารเพียบ แต่มีข้อต้องระวังในการทาน

KEY

POINTS

  • ต้มยำกุ้ง มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่ยูเนสโกประกาศรับรองล่าสุด นับเป็นอย่างที่ 4 ของประเทศไทย  ซึ่งไทยจัดเป็นเมนูอาหารเป็นยา
  • 1 ถ้วยต้มยำกุ้ง มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบมากมาย ล้วนแต่มีสรรพคุณทางยา ในการช่วยสุขภาพร่างกาย และมีคุณค่าโภชนาการด้วย
  • แต่การรับประทาน ต้มยำกุ้ง ก็มีขัอที่ควรระวัง โดยเฉพาะคนที่แพ้ส่วนประกอบ และการเลือกวัตถุดิบจะต้องคัดสรร

ล่าสุด คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The 19th Session of the Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” เป็นรายการตัวแทน มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) ในการประชุมฯ ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก

ต้มยำกุ้ง นับเป็นมรดกอย่างที่ 4 ของประเทศไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนจากที่ก่อนหน้านี้มีมาแล้ว 3 อย่าง ได้แก่ 
ปี 2561 ‘โขน’  เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่แตกต่างจากประเทศอื่นในรายละเอียดของการแสดง โดยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้แสดงในงานมหรสพหลวงและพิธีต่าง ๆ สำหรับสร้างความบันเทิง และเป็นสื่อเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สอดแทรกคติธรรมต่าง ๆ สู่ผู้ชมผ่านตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของความดี ความชั่ว ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ 

ปี 2562 ‘นวดไทย’  ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยที่มีการสืบสานมาแต่โบราณกาล มีบันทึกจารึกกล่าวถึงตั้งแต่ยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) และในเชิงโครงสร้างก็มีการจัดตั้งกรมหมอนวด จวบจนสมัยปัจจุบันได้มีการแตกหน่อต่อยอดองค์ความรู้แห่งศาสตร์แขนงนี้อย่างหลากหลาย พัฒนาเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย

ปี 2564 ‘โนรา’  เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ ที่มีแบบแผนในการร่ายรำและขับร้องเป็นเอกลักษณ์ฉพาะถิ่น โดยมีเครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี และผู้รำโนรา มีความสามารถในศาสตร์และศิลป์แห่งโนรา

ปี 2566 ‘ประเพณีสงกรานต์’ เป็นขนบธรรมเนียมอันสวยงามของไทย แสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคและในประเทศไทย รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมบทบาทอันแข็งขันของชุมชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าถึง พัฒนา และสงวนรักษาประเพณีและศิลปะ


 ‘ต้มยำกุ้ง’ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก - \'อาหารเป็นยา\'อย่างแรกของไทย สรรพคุณเพียบ

สรรพคุณสมุนไพรในต้มยำกุ้ง

  • ข่า  ขับลมในลำไส้ กินรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด  แก้บิด และขับเหงื่อ ช่วยย่อยอาหาร
  • ตะไคร้ ยาขับลม  แก้จุกเสียด แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต แก้ไอ  ขับเหงื่อและขับปัสสาวะ
  • ใบมะกรูด  ดับกลิ่นคาว ขับลม แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นเลือด และมีสารต้านมะเร็ง
  • น้ำมะนาว  ขัลเสมหะ  บำรุงธาตุ  เจริญอาหาร ลดอาการไอ
  • หอมแดง ขับลม ช่วยแก้หวัด เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
  • พริกขี้หนู ขับลม  ทำให้อบอุ่น  ช่วยย่อย บำรุงธาตุ  ช่วยขับเหงื่อ  ขับความเย็น  ทำให้เจริญอาหาร

ต้มยำกุ้ง เมนูอาหารเป็นยา

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึง โภชนาการของเมนู “ต้มยำกุ้ง”ว่า ภาพรวมคุณค่าทางโภชนาการของต้มยำกุ้ง หากปรุงได้พอเหมาะ ไม่หวาน มัน เค็ม เกินไป ต้มยำกุ้ง 1 ถ้วยขนาดเท่าถ้วยข้าวต้มกุ๊ย จะให้พลังงาน 270 กิโลแคลอรี เทียบเท่ากับข้าว 3 ทัพพีครึ่ง (ข้าว 1 ทัพพีเท่ากับ 80 กิโลแคลอรี)

หากเป็นต้มยำกุ้งน้ำข้น จะเติมกะทิจะไปเพิ่มพลังงาน 100 แคลอรี อีกทั้งในกะทิ ยังมีไขมันอิ่มตัว คนที่มีปัญหาคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ผู้ที่มีปัญหาโรคหลอดเลือด คนน้ำหนักตัวเกิน  อาจจะต้องเลี่ยงเมนูน้ำข้นที่ใส่กะทิ โดยเปลี่ยนมาเป็นใส่นมจืดแทน จะลดพลังงานลง หรือเปลี่ยนมาเป็นเมนูต้มยำกุ้งน้ำใส

“ตุ้มยำกุ้งเป็นเมนูอาหารที่มีคุณค่าทั้งแง่ของความสวยงามของอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ และคุณทางยาที่ได้จากสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีทั้งเมนูน้ำข้นและน้ำใส ทำให้คนที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างสามารถเลือกรับประทานได้ ถือเป็นเมนูชูสุขภาพ เข้าหลักการรับประทานอาหารเป็นยาของไทย”พญ.อัมพรกล่าว  

คุณค่าสารอาหาร ต้มยำกุ้ง

เมื่อจำแนกคุณค่าสารอาหารที่จะได้รับจากการรับประทานเมนูต้มยำกุ้ง ซึ่งจะมีพืช ผัก สมุนไพรเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า จะมีโปรตีน วิตามินหลายตัว มีเกลือแร่ ให้พลังงานต่ำ ไม่มีไขมันจากตัวเห็ด แต่มีใยอาหารสูงจึงช่วยเรื่องการขับถ่าย

ส่วนพริกขี้หนู มีวิตามินซี ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ป้องกันหวัด ลดภาวะท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร นอกจากนี้ ยังมีวิตามินเอช่วยบำรุงสายตา และมีสารแคปไซซิน ซึ่งเป็นตัวที่ให้ความเผ็ดจะมีฤทธิ์กระตุ้นความอยากอาหาร  

ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง ข่า จัดเป็นสมุนไพร ที่มีเกลือแร่หลายตัว มีวิตามินหลายตัว และยังมีคุณค่าทางยา ที่ช่วยย่อยอาหาร การดูดซึม และระบบการขับถ่ายได้ดี โดยข่ายังช่วยระบบปอด ระบบการหายใจด้วย พระเอกอีกตัวคือสารให้รสเปรี้ยว หากใช้มะนาว ก็จะให้วิตามินซีสูง ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน หากใช้มะขามเปียก ก็จะมีวิตามินซี และมีฤทธิ์ช่วยย่อย ช่วยขับถ่าย ลดปัญหาท้องผูก

“กลุ่มผักสมุนไพรในต้มยำกุ้ง เจอการแพ้ไม่มาก แม้ดูเผ็ดร้อน ส่วนใหญ่คนจะรู้สึกระคาย หรือเกิดความตื่นเต้นกับความเผ็ดร้อน แต่ไม่ใช่อาการแพ้อาหาร หรือสารอาหาร สมุนไพรประกอบในต้มยำกุ้ง ไม่ค่อยมีฤทธิ์ที่ทำให้เกิดการแพ้ ในทางกลับกันมีฤทธิในการเสริมภูมิคุ้มกัน เสริมสุขภาพด้านดีค่อนข้างมาก”พญ.อัมพรกล่าว

ต้มยำกุ้ง สิ่งต้องระวัง

อย่างไรก็ตาม มีข้อพึงต้องระวัง คือกุ้ง เพราะเป็นสัตว์ที่มีคนจำนวนหนึ่งแพ้ อีกทั้งกุ้งยังเป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูง มีแคลเซียมสูงช่วยบำรุงกระดูกให้แข้งแรง หากกุ้งทะเลก็จะเป็นแหล่งไอโอดีนที่สำคัญ แต่อีกด้าน กุ้งมีคอเลสเตอรอลค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์อื่น เช่น ปลา จึง อาจจะกินเป็นต้มยำรวม มีเนื้อปลา เนื้อสัตว์ชนิดอื่นร่วมด้วย ไม่ทำให้รสชาติเสียไป

และการใช้วัตถุดิบ เตรียมวัตถุดิบ ต้องเลือกที่สดใหม่ ล้างให้สะอาด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในแวดวงเกษตรกรรมยังมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ จึงต้องล้างให้สะอาด เช่น แช่ในน้ำ 15 นาที แล้วเปิดน้ำไหลผ่าน คลี่ล้างทีละใบ หรือจะแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5% สัดส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมเบกกิ้งโซกา 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 10 ลิตร แช่นาน 15 นาที จากนั้นให้ล้างอีกครั้งด้วยน้ำสะอาด จากนั้นสู่ขั้นตอนการปรุงก็ต้องสะอาด ไม่เค็มจัด หวานจัด รับประทานอาหารแล้วก็ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย