‘Check PD’ แอปฯตรวจพาร์กินสัน แม่นยำถึง 90% รู้ไว ชีวิตไม่สั่น
"โรคพาร์กินสัน” หนึ่งในโรคความเสื่อมทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์พบมากในผู้สูงอายุ และยังเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดเพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มโรคความเสื่อมทางระบบประสาทด้วยกัน
KEY
POINTS
- พาร์กินสัน อาจจะไม่ได้เป็นโรคที่รักษาหายขาดได้ แต่การตรวจเช็กความเสี่ยงของโรคด้วยแอป Check PD จะนำไปสู่การวางแผน การป้องกันและรักษาโรคได้ เพราะโรคนี้รู้ไว รักษาได้ทันท่วงที
- Check PD เป็นการนำเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ที่กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุสามารถเช็กได้ด้วยตนเอง
- หากสามารถตรวจเช็กได้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าว เพื่อหาทางป้องกัน หรือลดความรุนแรงของอาการได้ จะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ป่วย เพราะพาร์กินสันเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้หากตรวจพบได้เร็ว
"โรคพาร์กินสัน” หนึ่งในโรคความเสื่อมทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์พบมากในผู้สูงอายุ และยังเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดเพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มโรคความเสื่อมทางระบบประสาทด้วยกัน
ตามข้อมูลองค์กรอนามัยโลก คาดการณ์ว่าปี 2040 จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว
ขณะที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องอายุที่มากขึ้น และปัจจัยทางพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม ล้วนมีผลทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทยเพิ่มสูงมากขึ้น
“โรคพาร์กินสัน”เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท โดยส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อาการของโรคพาร์กินสันแบ่งออกเป็นอาการทางการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดได้แก่ สั่น มักพบที่มือ แขน ขา หรือศีรษะ เคลื่อนไหวช้าลง กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง อาการทางจิตใจได้แก่ ซึมเศร้า วิตกกังวล ความจำและสมาธิไม่ดี มีปัญหาการนอนหลับ ท้องผูก เหงื่อออกมาก และอาการอื่นๆได้แก่ เสียงพูดเบาลง เขียนหนังสือตัวเล็กลง หน้าบึ้ง เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รู้ทัน 'พาร์กินสัน' เช็ก 4 สัญญาณ จับอาการความเคลื่อนไหว
เข้าใจโรคพาร์กินสัน เช็กอาการ-วิธีรักษา ต่างจาก ‘พาร์กินสันเทียม’ อย่างไร
“Check PD” ตรวจหาความเสี่ยงพาร์กินสัน
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จับมือสภากาชาดไทย เปิดตัวแอป “Check PD” หลังร่วมกันพัฒนาเพื่อใช้ตรวจหาความเสี่ยงการเป็นพาร์กินสัน ด้วยสถิติคนไทยเป็นโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นและยังพบในคนอายุต่ำกว่า 60 ปี โดยมีความแม่นยำของการตรวจประเมินมีสูงถึง 90%
“เตช บุนนาค” เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่าแนวโน้มสถิติการเกิดโรคพาร์กินสันในกลุ่มผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้นยังคงทำได้ยาก เพราะอาจจะมีอาการที่แสดงออกมายังไม่มาก อีกทั้งการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยในบางพื้นที่เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาได้ยาก ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยโรคมีอาการที่ค่อนข้างมาก หรืออยู่ในระยะการดำเนินโรคระยะกลาง ทำให้การรักษาค่อนข้างยากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง อีกทั้งตัวผู้ป่วยเองยังอาจเกิดความทุพพลภาพ และส่งผลต่อคุณภาพในการดำเนินชีวิต
“โรคนี้แม้ว่าจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยให้ สามารถวางแผนการรักษาและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพ และทำให้เข้าถึงสุขภาพได้มากขึ้น แอปพลิเคชัน Check PD จะมาช่วยวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ซึ่งการตรวจพบโรคพาร์กินสันตั้งแต่ระยะแรกของการดำเนินโรค มีความสำคัญต่อการวางแผนการรักษาและการดูแลที่เหมาะสม อยากให้มีการประชาสัมพันธ์ เพื่อตระหนักรู้และร่วมกันคัดกรองโรคพาร์กินสันตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะ รู้ไว้รักษาได้ไว” เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าว
ชวนคนอายุ 40 ปีขึ้นไปประเมินความเสี่ยง
“รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า พาร์กินสัน เป็นโรคเรื้อรังทางระบบประสาทที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งการพัฒนาแอปพลิเคชัน Check PD นี้ จะเป็นนวัตกรรมต้นแบบที่มีการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีแบบใหม่ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ขนาดใหญ่ อันนำมาสู่การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันในระยะแรก ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้ป่วย เพราะหากสามารถตรวจคัดกรองโรคพาร์กินสันตั้งแต่ระยะแรกโรคพาร์กินสันจะสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ ป้องกัน รักษาได้อย่างทันท่วงที
“แอป Check PD จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพ การพัฒนาระบบบริการที่ทันสมัยและเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น อยากเชิญชวนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว เพื่อประเมินความเสี่ยงให้ได้รับการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว
พาร์กินสันระยะแรก ไม่แสดงอาการ
“ศ.นพ. รุ่งโรจน์ พิทยศิริ” หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าคนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น และอยากมีสุขภาพที่ดี ซึ่งพาร์กินสัน เป็นโรคที่ไม่ได้แสดงอาการทันที แต่มีระยะเวลาของการเตือนและระยะเวลาของการดำเนินโรคที่ค่อนข้างนาน เฉลี่ยนานถึง 10-20 ปี โดยอาการที่ชัดเจนคืออาการสั่น
ส่วนอาการเตือนอื่นๆ เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง อาการนอนละเมอ ออกท่าทางหรือออกเสียงที่สัมพันธ์กับเนื้อหาความฝัน ฯลฯ มักถูกมองว่าไม่ใช่อาการผิดปกติ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวไม่คิดว่าตนเองเป็น จึงไม่ได้พบแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
ศ.นพ. รุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่าจากการที่อาการของโรคพาร์กินสัน ส่งผลให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะพาร์กินสันเป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติในการทรงตัว ผู้ที่มีอาการมาก จะเคลื่อนไหวด้วยตัวเองลำบาก มีความจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ดังนั้นหากสามารถตรวจเช็กได้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าว เพื่อหาทางป้องกัน หรือลดความรุนแรงของอาการได้ จะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ป่วย เพราะพาร์กินสันเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้หากตรวจพบได้เร็ว
วิเคราะห์ด้วยAI วินิจฉัยพาร์กินสัน
ทางศูนย์ฯ จึงได้ร่วมกับทางสภากาชาดไทย พัฒนาแอปประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสัน หรือแอป CHECK PD ขึ้นมา เพื่อผู้สูงอายุและผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะจากสถิติปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน พบได้ในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยลง และพาร์กินสันเป็นโรคที่มีระยะเวลาในการดำเนินโรคค่อนข้างนาน
“Check PD เป็นแอปพลิเคชันที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ การป้องกัน และการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน โดยสามารถตรวจเช็กความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสันได้ด้วยตนเอง”ศ.นพ. รุ่งโรจน์ กล่าว
สำหรับ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยใช้เวลาประมาณ 25 นาทีในการทำแบบประเมินความเสี่ยง 20 ข้อ ซึ่งการเช็กนี้มีทั้งการตอบคำถาม การทดสอบขยับนิ้ว การทดสอบอาการสั่น การทดสอบการทรงตัว การทดสอบการออกเสียง หลังจบทุกขั้นตอนการเช็กแล้ว สามารถกดรับผลในแอปพลิเคชันได้ทันที ซึ่งผลที่ได้ให้ความแม่นยำสูงถึง 90% สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CHECK PD ได้แล้ววันนี้ทั้งแอปสโตร์และเพลย์สโตร์
บริจาคช่วยค้นหาผู้ป่วยพาร์กินสันทั่วไทย
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ Check PD เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสัน อีกทั้งสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมลงพื้นที่คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสันทั่วประเทศ และส่งต่อระบบสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สภากาชาดไทย เชิญชวนร่วมกันบริจาค ในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย
เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน หรือร่วมบริจาคเงิน 76 บาท ภายใต้แคมเปญ “พาร์พบแพทย์” เพื่อร่วมค้นหา คัดกรอง ช่วยเหลือผู้ป่วยพาร์กินสันกว่า 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยการบริจาคสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนโครงการได้โดยบริจาคได้ที่สภากาชาดไทย