ไทยแบกค่าใช้จ่ายสุขภาพ 'คนต่างด้าว' กว่า 92,083 ล้านบาท

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ได้เผยแพร่ "ข้อมูลภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวม ปี 2567" ประเด็น "คนต่างด้าวกับระบบสาธารณสุขชายแดน"
KEY
POINTS
- ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้จากคนต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนไทย พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีมูลค่าถึง 92,083 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ถึง 8.2 เท่าตัว
- รพ.ชายแดนมีภาระในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และภาระงานมากขึ้นจากจำนวนแพทย์ที่
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ได้เผยแพร่ "ข้อมูลภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวม ปี 2567" ประเด็น "คนต่างด้าวกับระบบสาธารณสุขชายแดน" ระบุว่า ระบบสาธารณสุขของไทย ถือเป็นระบบที่มีศักยภาพการรักษา และการให้บริการที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านชายแดน ทำให้มีคนต่างด้าวเข้ามาใช้บริการการรักษาในไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ซึ่งต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้จากคนต่างด้าวคิดเป็นมูลค่าสูง
จึงเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลต่อสังคม และกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรของโรงพยาบาลชายแดน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว มีความจำเป็นในฐานะด่านหน้าป้องกันโรคระบาดที่จะเข้าสู่ประเทศ และการยึดหลักปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงมีประเด็นที่ต้องให้ดำเนินการเพื่อให้สาธารณสุขชายแดนมีความมั่นคงมากขึ้น
ระบบสาธารณสุขของไทย เป็นระบบที่มีศักยภาพในการรักษา และการให้บริการที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านชายแดน ทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา ส่งผลให้ประชากรจากทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวเข้ามาใช้บริการการรักษาในไทยเป็นจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เด็ก GenZ เสพโซเชียลมีเดียหนัก สศช.เตือนเสี่ยง 'สุขภาพจิต' เสียหาย
ปี 67 ไทยใช้งบค่าใช้จ่ายสุขภาพคนต่างด้าว 92,083 ล้านบาท
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีคนต่างด้าวเข้ามาใช้บริการสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนทั้งสิ้น 3.8 ล้านครั้ง แบ่งเป็น
- คนต่างด้าวที่มีสิทธิการรักษาจำนวน 4.9 แสนครั้ง
- คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิการรักษาจำนวน 1.5 ล้านครั้ง
- คนต่างด้าวที่ไม่ระบุสิทธิจำนวน 1.8 ล้านครั้ง
หากพิจารณาคนต่างด้าว จังหวัดชายแดน ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ที่มีสิทธิการรักษา พบว่า
- กว่าร้อยละ 49.2 ใช้สิทธิผ่านกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าว และแรงงานต่างด้าว
- ร้อยละ 29.5 ใช้สิทธิกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาประกันสถานะ และสิทธิ (ท.99)
- ร้อยละ 21.2 ใช้สิทธิประกันสังคม
ขณะที่กลุ่มคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิการรักษา ส่วนใหญ่สามารถชำระค่าบริการได้ แต่มีเพียงร้อยละ 1.8 เท่านั้นที่ไม่สามารถชำระค่าบริการ
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้จากคนต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนไทย พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีมูลค่าถึง 92,083 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ถึง 8.2 เท่าตัว โดยกว่าร้อยละ 81.1 ของมูลค่าดังกล่าวมาจากพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนคนต่างด้าวเข้ามารับบริการมากที่สุด เมื่อเทียบกับชายแดนอื่น
สถานการณ์ข้างต้นสร้างความกังวลกับคนไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะความกังวลต่องบประมาณที่ต้องมาสนับสนุนบริการดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสำรวจของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ที่พบว่า คนไทยกว่าร้อยละ 93.9 มีความกังวลมากถึงมากที่สุดต่อการเสียงบประมาณของประเทศให้กับคนต่างด้าวในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา รัฐสวัสดิการ ฯลฯ
โรงพยาบาลชายแดนแบกรับค่าใช้จ่ายคนต่างด้าวสูง
อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหน่วยบริการสาธารณสุขของจังหวัดตาก โรงพยาบาลอุ้มผาง และโรงพยาบาลท่าสองยาง ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีอาณาเขตติดกับชายแดนประเทศเมียนมา ที่กำลังเผชิญกับการเข้ามาใช้บริการจากคนต่างด้าวเป็นจำนวนมาก และมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้จากคนต่างด้าวทั้งจังหวัดสูงที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดชายแดนอื่นที่ 16,766.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.1 ต่อค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งหมดของคนต่างด้าวในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พบข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้
1) ชายแดนประเทศเมียนมาตรงข้ามกับจังหวัดตาก ขาดแคลนสถานพยาบาล รวมทั้งการให้บริการที่มีข้อจำกัด และยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้คนต่างด้าวจำเป็นต้องข้ามแดนเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทย โดยกรณีของอำเภอท่าสองยาง และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีพื้นที่ติดกับรัฐกะเหรี่ยงของประเทศเมียนมา ซึ่งไม่มีสถานพยาบาล แพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย อีกทั้งคนต่างด้าวที่ข้ามแดนมาทำการรักษาส่วนใหญ่มีอาการป่วยหนัก และมีฐานะยากจน ทำให้ไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลได้
2) คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิในการรักษา และมารับบริการสาธารณสุขในประเทศไทย ในความเป็นจริงบางกลุ่มเป็นคนที่เกิดในประเทศไทยซึ่งควรจะได้รับสิทธิ ท.99 อาทิ กรณีของจังหวัดตาก ซึ่งจากข้อมูลของ
สำนักสาธารณสุขจังหวัดตาก ปี 2568 พบว่า มีประชากรรวมประมาณ 9.7 แสนคน ซึ่งเกือบครึ่งหรือร้อยละ 43.2 เป็นคนต่างด้าว ทั้งนี้ กว่า 2 ใน 5 ของประชากรต่างด้าวเป็นคนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบทะเบียน ซึ่งบางส่วนอาจมีภูมิลำเนาอยู่ในไทยมาตั้งแต่แรก แต่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ ท.99 27
3) โรงพยาบาลชายแดนไทย ต้องเป็นด่านหน้าในการรับมือ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อร้ายแรงไม่ให้ระบาดในประเทศไทย ซึ่งหลายกรณี แพทย์ตามโรงพยาบาลชายแดนจำเป็นต้องไปตรวจรักษา และให้บริการในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การข้ามแดนไปรักษาอหิวาตกโรคในฝั่งเมียนมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรค
งบต่อหัวลดลง ปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 40
ภาพรวมงบประมาณต่อหัวสำหรับผู้มีสิทธิ ท.99 ลดลงจาก 1,546 บาท ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เป็น 8,333 บาท ในประมาณ พ.ศ.2567คำนวณอัตราต่อหัวของผู้มีสิทธิ ท.99 คำนวณจากสัดส่วนของงบประมาณที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลได้รับการจัดสรร โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 อยู่ที่ร้อยละ 60 และในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 อยู่ที่ร้อยละ 40
รวมทั้ง ต้องรักษาการเจ็บป่วยให้กับคนต่างด้าว เพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนในการรักษาที่สูงขึ้นจากการเจ็บป่วยหนัก เช่น โรควัณโรค ที่มีผู้ป่วยในกลุ่มคนต่างด้าวเพิ่มขึ้นต้องในช่วงปี 2564 - 2567 โดยในปี 2567 มีจำนวนถึง 474 ราย หรือมีสัดส่วนร้อยละ 54.4 มากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยคนไทย ซึ่งหากมีการรักษาที่รวดเร็ว
นอกจากจะป้องกันการแพร่ระบาดได้แล้ว ยังมีต้นทุนการรักษาที่ต่ำประมาณ 3,000 - 4,000 บาท แต่หากไม่ทำการรักษา จะเกิดภาวะดื้อยา ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 บาท ในทำนองเดียวกัน โรคคอตีบ ซึ่งสามารถให้วัคซีนได้ตั้งแต่เด็ก และมีต้นทุนวัคซีนต่ำกว่าการรักษาภายหลังการเป็นโรค
แพทย์ในโรงพยาบาลชายแดน จ.ตาก รับภาระงาน1: 8,424 คน
จากสาเหตุดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลชายแดนมีภาระในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และภาระงานมากขึ้นจากจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยหากพิจารณากรณีของจังหวัดตาก จากดัชนีต้นทุนการรักษา (Summned Adjusted Relative Weight) ซึ่งในทางสาธารณสุขใช้วัดระดับภาระงาน และทรัพยากรที่โรงพยาบาลใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย พบว่า ในปี 2567 คนต่างด้าวที่เป็นผู้ป่วยในมีต้นทุนการรักษาอยู่ที่ร้อยละ 33.1 ของผู้ป่วยในทั้งหมด ซึ่งหมายถึง ประมาณ 1 ใน 3 ของต้นทุนรวม (ทรัพยากรบุคคล วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ และเวลา) ที่ใช้ในการดูแลรักษาคนไข้ที่ต้องนอนโรงพยาบาลถูกใช้ไปกับผู้ป่วยที่เป็นคนต่างด้าว
ขณะเดียวกันหากพิจารณาจำนวนวันนอนรวม ยังพบอีกว่า เกือบครึ่งหรือร้อยละ 45.6 เป็นคนต่างด้าวไร้สิทธิ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ และมีสัดส่วนการครองเตียงสูงกว่าผู้ป่วยในกลุ่มมีสิทธิการรักษาประมาณหนึ่งเท่าตัวตลอดมา
"อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรของจังหวัดตาก ในปัจจุบันอยู่ที่ 1 : 3,373 คน ซึ่งได้รับการจัดสรรโดยพิจารณาเฉพาะจากจำนวนประชากรไทยเท่านั้น หากรวมประชากรต่างด้าวในพื้นที่เข้าไปด้วย อัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นถึง มี 1 : 8,424 คน สูงกว่าอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมทั้งประเทศ ถึงเกือบ 10 เท่าตัว ซึ่งการที่บุคลากรของโรงพยาบาลต้องทำงานหนักเกินไป อาจทำให้เกิดความเครียด และความเหนื่อยล้า ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่ส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการ"
ขณะเดียวกัน ภาระทางการเงินของโรงพยาบาลชายแดนยังเพิ่มขึ้น อาทิ กรณีโรงพยาบาลชายแดน 5 แห่ง ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเมียนมา มีค่าใช้จ่ายด้านสังคมสงเคราะห์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 132.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 อยู่ที่ 101.9 ล้านบาท ถึงร้อยละ 30.4 ซึ่งเกือบครึ่งหรือร้อยละ 45.6 ของรายจ่ายดังกล่าวเป็นของโรงพยาบาลอุ้มผาง โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 60.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ถึง 1.1 เท่า และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินบำรุงคงเหลือหลังหักหนี้ของโรงพยาบาลอุ้มผางติดลบสูงถึง 26.3 ล้านบาท
อีกทั้ง โรงพยาบาลยังมีค่าใช้จ่ายบางรายการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณได้ โดยเฉพาะงบประมาณที่ต้องใช้ไปในพื้นที่ชายแดนเมียนมา อาทิ การจัดตั้งศูนย์กักกันโรคในช่วง COVID-19 การลงพื้นที่สำรวจการระบาดของโรคไอกรน และโรคเท้าช้างในหมู่บ้านฝั่งเมียนมา เพื่อควบคุมโรค และลดการเดินทางของคนต่างด้าวที่ข้ามมารักษาในไทย ทำให้โรงพยาบาลชายแดนส่วนใหญ่จำเป็นต้องขอรับเงินบริจาคจากภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินภารกิจดังกล่าว
ข้อเสนอเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโรงพยาบาลชายแดน
จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานของโรงพยาบาลชายแดน โดยเฉพาะจังหวัดตาก แม้จะมีผลต่อภาระงบประมาณ และบุคลากรของไทย แต่มีความจำเป็นในการป้องกันโรคระบาดต่างๆ ไม่ให้เข้ามายังประเทศไทย รวมถึง ยังเป็นการดำเนินการตามหลักเหตุผลทางมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่แพทย์จะไม่เลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ ภาษา หรือศาสนา ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของโรงพยาบาลชายแดนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำเป็นต้องพิจารณาประเด็น ดังต่อไปนี้
1.การจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุขให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ทั้งทรัพยากรบุคคล และงบประมาณ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากเกณฑ์จัดสรรทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่ส่วนใหญ่เป็นแบบ One size ft all มิได้คำนึงถึงบริบทของความแตกต่างของแต่ละพื้นที่เท่าที่ควร ทำให้การกำหนดอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่หรืองบประมาณของแต่ละโรงพยาบาลชายแดนถูกจัดสรรโดยอิงจากจำนวนประชากรไทยในพื้นที่ โดยไม่ได้นำประชากรต่างด้าวที่อยู่นอกระบบประกันสุขภาพมาประกอบการพิจารณา รวมถึงอุปสรรคในการทำงานของบุคลากร อาทิ ความยากลำบากในการเดินทางของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการเชิงรุกในพื้นที่ ซึ่งมีความห่างไกล และทุรกันดาร ทำให้บุคลากรในพื้นที่ชายแดนมีภาระงานเกิน (Overload) จนบุคลากรบางส่วนขอย้ายไปปฏิบัติงานในพื้นที่อื่น หรือเกิดปัญหาบุคลากรรั่วไหล
นอกจากนี้ อาจจัดสรรทุนการศึกษาในสาขาทางการแพทย์ และสาธารณสุขแก่นักเรียนในพื้นที่เพื่อให้กลับมาเป็นทรัพยากรบุคคลประจำพื้นที่ รวมถึงการอบรมหลักสูตรการดูแลสาธารณสุขเบื้องต้นแก่คนในพื้นที่เพื่อลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์
2.การสร้างกลไกความร่วมมือในการยกระดับสาธารณสุขชายแดน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการสาธารณสุขชายแดน พ.ศ.2565 - 2570 เป็นแนวทางสำคัญในการยกระดับสาธารณสุขชายแดน และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีแนวทางที่สำคัญคือ การยกระดับสาธารณสุขในพื้นที่ และการสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการฝึกอบรม ฯลฯ ซึ่งต้องมีการเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าประสงค์ของแผนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาศัยกลไกภาคีเครือข่ายทั้งภายใน และต่างประเทศ อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์กร NGO สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เครือข่ายอาสาสมัคร และมูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับสาธารณสุขชายแดนทั้งฝั่งในไทย และประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ระบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิแข็งแรง และสามารถพึ่งตัวได้
3.การเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิในกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะ และสิทธิให้ครบถ้วน โดยกลุ่มที่สามารถใช้สิทธิ ท.99 มีอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่คณะรัฐมนตรีรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวรตามมติ ครม. ปี 2553 และกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอกระบวนการแก้ปัญหา หรือกลุ่มที่มีปัญหาการส่งกลับ ซึ่งบุตรหลานของทั้งสองกลุ่มจะได้รับสิทธิ ท.99 ไปด้วย ทำให้ปัจจุบันผู้มีสิทธิ ท.99 มีจำนวนเพิ่มขึ้น และภาครัฐต้องใช้จ่ายงบประมาณเกินกว่าที่งบประมาณตั้งไว้ทุกปี
อย่างไรก็ตาม ยังมีคนตกหล่นที่เป็นคนไทยแต่ไร้สิทธิ รวมทั้งคนต่างด้าวที่แอบอ้างสิทธิ ซึ่งหากมีการพิสูจน์สิทธิให้ชัดเจน จะทำให้คนไทยได้รับสิทธิที่ควรได้ ทั้งนี้ การพิสูจน์สิทธิอาจใช้กลไกภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนช่วยในการประสานการดำเนินการ ดังเช่นในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ สสส. ร่วมกับภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการในการพิสูจน์สิทธิกับคนในพื้นที่ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการดำเนินการลงจาก 10 - 20 ปี เหลือเพียงไม่เกิน 12 เดือน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์