เช็กสัญญาณเตือน! ร่างกายป่วย สุขภาพเริ่มแย่ ต้องรีบพบแพทย์

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในร่างกายเพียงเล็กน้อย ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติในระบบอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแล ถูกปล่อยผ่าน อาจนำไปสู่โรคร้ายได้
KEY
POINTS
- หากร่างกายมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย และเป็นระยะเวลานาน อย่าปล่อยทิ้งไว้ ต้องสำรวจร่างกายและสังเกตอาการต่างๆ แล้วรีบพบแพทย์
- 12 สัญญาณเ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในร่างกายเพียงเล็กน้อย ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติในระบบอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแล ถูกปล่อยผ่าน ไม่คิดว่าจะเป็นอาการป่วย ทั้งที่ความผิดปกติของร่างกายเหล่านั้น อาจนำมาสู่โรคร้ายแรงได้
ยุคที่เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมภายนอก พฤติกรรมการใช้ชีวิต ความเร่งรีบ มลพิษทางอากาศ การรับประทานอาหาร และการไม่ออกกำลังกาย ล้วนก่อให้เกิดโรค การเข้ารับ "การตรวจสุขภาพ"จึงถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันการเกิดโรคในระยะยาวแล้ว หากตรวจพบโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ก็สามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ทำให้มีโอกาสหายขาดได้
หลายครั้งเราอาจหลงลืมดูแลสุขภาพตัวเอง แล้วสัญญาณเตือนของร่างกายแบบใด ที่บ่งบอกว่าร่างกายเราเริ่มป่วย สุขภาพเราเริ่มแย่ มาร่วมค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สังเกต "ร่างกาย"อาการแบบไหน? บ่งบอกสุขภาพแย่
การที่สุขภาพแย่ลงหรือสุขภาพไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าเราอยู่ในสภาพที่เจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายรูปแบบ ทำให้เราอาจคิดไม่ถึงว่าขณะนี้สุขภาพแย่แล้ว ดังนั้นเราจึงควรหันมาใส่ใจกับสัญญาณเตือนจากร่างกายสักหน่อย เพื่อที่จะได้เตือนให้เราแก้ไขได้ทันเวลา โดยอาการที่สามารถสังเกตได้ว่าสุขภาพของเราเริ่มแย่ลง อาทิ
1. นอนหลับยากบ่อย
การนอนหลับยากบ่อยหรือนอนไม่หลับต่อเนื่องกันหลายคืน อาการเช่นนี้คล้ายคนเป็นเบาหวาน
2. ผิวพรรณไม่ดีมีริ้วรอย
ผิวหยาบกร้าน มักเป็นกระหรือจุดด่างดำง่าย เป็นผดผื่นบ่อย ผมร่วง เพราะร่างกายขาดสารอาหารจำพวกวิตามินอี ขาดไบโอติน
3. ปวดหัวบ่อย ๆ
การนอนไม่พอก็อาจส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะได้ อย่าได้นิ่งนอนใจควรสังเกตตัวเองว่าปวดบ่อยหรือไม่ มีอาการข้างเคียงอื่นๆ หรือเปล่า เช่น หน้ามืด ตาลาย อาเจียน อาการปวดศีรษะนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิตได้หลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดสมองโรคเนื้องอกในสมอง
4. มีอาการตาเหลือง
ตัวเหลือง อาจเป็นโรคตับอักเสบหรือดีซ่าน ต้องรู้จักสังเกตและรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทัน
5. ท้องเสียบ่อย
อาการท้องเสีย ท้องผูกบ่อย หรือท้องผูกสลับท้องเสียเป็นภาวะแปรปรวนของระบบขับถ่ายที่ทานอะไรนิดหน่อยก็ท้องไม่ดี ทานอาหารตามปกติแต่ตอนเช้าไม่ขับถ่าย ถ้ามีอาการอย่างนี้บ่อย ๆ อย่าคิดว่าธรรมดา เพราะคุณอาจป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้หรือโรคไตได้
6. เบื่ออาหาร
อาการเบื่ออาหารอาจเป็นสัญญาณโรคตับ วัณโรค และอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยไม่สบายได้ เพราะร่างกายอ่อนแอและไม่มีภูมิต้านทาน
7. ปวดหลัง ปวดเอว ปวดต้นคอ
อาการปวดหลัง ปวดเอวและปวดต้นคออาจมีสาเหตุมาจากการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ก็หักโหมกับการทำงานมากเกินไปจนกล้ามเนื้อล้า
8. น้ำหนักเพิ่มหรือลดลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ
การที่น้ำหนักเพิ่มหรือลดลงเร็วผิดปรกติอาจเป็นสัญญาณบอกโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคต่อมไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับไต หรือโรคมะเร็ง
9. มีอาการเหน็บชาและเหนื่อยง่าย
เป็นเหน็บชาหรือตะคริวบ่อย ๆ อาจขาดวิตามินบี 1 จึงควรกินเต้าหู้ รำข้าว ตับ และข้าวซ้อมมือเป็นประจำ บางรายอาจมีอาการเหนื่อยง่ายร่วม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการไม่เคยออกกำลังกายหรือออกกำลังกายน้อย
10. สีของปัสสาวะเป็นสีเหลืองจัด
สีของปัสสาวะที่เหลืองจัดเป็นไปได้ว่าดื่มน้ำน้อยเกินไป หรืออาจเป็นสัญญาณบอกอาการของโรคดีซ่าน แต่ถ้าสีเหลืองจัดเข้มข้นจนเป็นสีกาแฟแสดงว่ากินยาบางอย่างมากเกินไป หรืออาจเป็นวัณโรคได้
11. ระคายคอ
อาการระคายคอ เจ็บคอ หรือไอบ่อยๆ อาจมีปัญหาที่ระบบหายใจ อาจเป็นภูมิแพ้หรือกำลังเป็นหวัด
12. อ่อนเพลียง่าย ไม่มีกำลังวังชา
มือไม้สั่น อารมณ์แปรปรวนง่ายอาจเป็นไปได้ว่าต่อมไทรอยด์ผิดปกติ บางรายอาจมีอาการขี้หลง ขี้ลืม บ่อยๆ สมองและระบบประสาทไม่ดี อาจเพราะขาดสารอาหารบำรุงสมอง
เตือนสุขภาพเด็กที่พ่อแม่ควรรู้
คุณเคยสงสัยไหมว่าอาการบางอย่างของลูกคือเรื่องปกติ หรือเป็น สัญญาณเตือนสุขภาพเด็ก ที่ต้องรีบดูแล?
1. อาการป่วยเด็กที่พบบ่อย
การเข้าใจอาการป่วยเป็นก้าวแรกของการดูแลสุขภาพลูกให้ปลอดภัย
อาการที่ไม่ควรละเลย
- ไข้สูงไม่ลด: ถ้าลูกมีไข้เกิน 38.5°C และกินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง
- ไอเรื้อรังหรือไอจนหอบเหนื่อย: เสียงไอที่ฟังดูลึกหรือทำให้เด็กหายใจลำบาก หน้าอกบุ๋ม
- ท้องร่วงอย่างรุนแรง: ถ้าลูกถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งในวันเดียวหรือ ถ่ายมี มูกเลือดปน
- มีอาการแพ้ หลังทานอาหารหรือทานยา : ผื่นขึ้น ปากบวม ตาบวม หายใจลำบาก
ควรทำยังไง?
- ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- สังเกตการหายใจที่ใช้กล้ามเนื้อช่วยในการหายใจ ปลายมือปลายเท้าเขียว
- สังเกตสีของปัสสาวะ ถ้าสีเข้มหรือ ปัสสาวะไม่ออก, ออกน้อย ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- หากอาการไม่ดีขึ้น พาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด
2. อาการภูมิแพ้รุนแรงในเด็ก
อาการที่ต้องเฝ้าระวัง
- ผื่นแดงขึ้นทั่วตัวอย่างรวดเร็ว
- หายใจลำบาก หรือเสียงหายใจดังวี๊ด
- บวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก หรือคอ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- หากลูกมีอาการรุนแรง โทรหา 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทันที
- ใช้ยา EpiPen (ถ้ามี) ตามคำแนะนำของแพทย์
3. การดูแลสุขภาพเด็กให้แข็งแรง
ป้องกันดีกว่ารักษา! การสร้างสุขภาพที่ดีให้ลูกเริ่มต้นได้ง่ายๆ ในทุกวัน
- โภชนาการที่ดี : ให้ลูกกินอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ และโปรตีน
- ออกกำลังกาย: พาลูกเล่นกีฬาเบาๆ เช่น วิ่งเล่น หรือขี่จักรยาน
- การนอนหลับ: ควรให้ลูกนอนอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงทุกคืน
4. อาการแพ้อย่างเฉียบพลัน
บางครั้ง อาการแพ้อย่างเฉียบพลัน อาจดูเหมือนไม่รุนแรง แต่ส่งผลใหญ่หลวงได้
ตัวอย่างสถานการณ์จริง
- เด็กทานอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วแล้วมีผื่นขึ้น
- เด็ก ทานอาหารที่มีส่วนผสมของแป้งสาลี แล้ว ปากบวมหน้าบวม หายใจไม่สะดวก
- ลูกเล่นกับแมวแล้วเริ่มไออย่างหนัก
แนวทางการดูแล
- ใช้ยาต้านฮิสตามีน (เช่น Loratadine) เพื่อลดอาการเบื้องต้น
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ทันที
- นำลูก ไปยังโรงพยาบาลไกล้บ้านทันที
5. เมื่อต้องพาลูกแอดมิทโรงพยาบาล
ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
แต่บางครั้ง การ พาลูกแอดมิทโรงพยาบาล เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
สัญญาณที่ต้องรีบพาเด็กไปโรงพยาบาล
- ไข้สูงต่อเนื่อง
- อาเจียนหรือท้องร่วงรุนแรงจนลูกหมดแรง
- หายใจติดขัด
วิธีสังเกตตัวเองง่ายๆ ว่าเสี่ยงเป็นโรคร้าย
1. สังเกตดูคุณเคยรู้สึกอ่อนเพลียไปทั้งตัวจนก้าวเท้าแทบไม่ออก เหงื่อออก ตัวเย็นไหม
- หากเคยแล้วมีอาการหิวน้ำบ่อย ถ่ายปัสสาวะบ่อย แต่ไม่ใช่เพราะเมาค้าง อาจเป็นโรคเบาหวาน แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานจะไม่มาก แต่ผู้เสียชีวิตด้วยอาการแทรกซ้อนกลับมีไม่น้อย เช่น ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง อัมพาต และโรคหัวใจขาดเลือด
- ดังนั้น จึงไม่ควรประมาท ต้องรีบตรวจรีบรักษา ควบคุมอาหารแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนรุนแรง
2. สังเกตดูคุณเคยเวียนศรีษะขณะนั่งรถ หน้ามืด ตาลาย ต้องยืนเกาะราวเอาไว้ไหม
- หากเคยคุณอาจมีอาการของโรคโลหิตจางชนิดขาดธาตุเหล็ก การสูญเสียธาตุเหล็กไปกับเลือด พบได้ในสตรีมีประจำเดือน สตรีขณะตั้งครรภ์ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ริดสีดวงทวารเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งอาการของผู้ป่วยจะมีสีผิวซีด มึนศีรษะ ใจสั่น เหนื่อยง่าย มุมปากเปื่อย
- การป้องกันทำได้แต่ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เสียเลือด และรักษาตามสาเหตุนั้น ซึ่งแพทย์จะให้ยาบำรุงซึ่งมีธาตุเหล็กเพื่อกินทดแทนเป็นเวลานานติดต่อกัน ขณะเดียวกันก็ควรเลือกกินอาหารที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ ไข่แดง ปลาแห้ง ผักปวยเล้ง เป็นต้น
3. สังเกตดูคุณเคยขาอ่อนแรง รู้สึกเลือนรางหรือแปลกแยกจากคนอื่นไหม
- หากเคยคุณอาจเป็นโรคจิตเภท ลักษณะอาการคือคุณรู้สึกเหมือนกับมีอำนาจลึกลับบางอย่างสั่งการ ควบคุม หรือจะทำร้ายตนเองตลอดเวลา เห็นลำแสงพิเศษส่งพลังมาบังคับ ได้ยินอวัยวะของตนเองพูดได้ หูแว่วเสียงคนนินทาว่าร้ายทั้งที่อยู่คนเดียว
- ได้กลิ่นผิดปกติทั้งที่ความจริงไม่มี อาจเป็นโรคจิตเภท ซึ่งมักเกิดจากมีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ผิดปกติ ปราศจากความสุข โดยพบกับเหตุการณ์เช่นนี้ตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้พัฒนาการด้านจิตใจผิดปกติ ดังนั้นป้องกันได้โดยการเสริมสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้อบอุ่น
ตรวจร่างกาย หากเป็นบ่อยๆ เป็นนานๆ อาจมีโรคร้ายซ่อนอยู่
อาการคันเรื้อรัง คันนาน ๆ อาจมีโรคร้ายซ่อนอยู่
- อาการคันความจริงแล้วมีหลายแบบและหลายสาเหตุ แต่ที่น่าเป็นห่วงเลยก็คืออาการ คันเรื้อรัง ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับตับและไตของเราได้ นอกจากนี้ยังอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคที่เกี่ยวกับระบบเลือด โลหิตจาง โรคเบาหวาน โรคจากต่อมไร้ท่อ หรือร้ายกว่านั้นอาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้
- ดังนั้นหากมีอาการ คันเรื้อรัง นานกว่า 1 สัปดาห์ จนถึงหลายเดือน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และการพักผ่อนของคุณ แนะนำให้คุณพบแพทย์ผิวหนังเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุ และทำการรักษาเพื่อป้องกันโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
เจ็บหน้าอก อาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ
- เจ็บแปลบที่หน้าอกสัญญาณลับเริ่มต้นของปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยภาวะนี้อาจเป็นอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงฉับพลันอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ หากหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนมาเลี้ยงไม่เพียงพออาจทำให้เกิดอาการเจ็บ แน่น หรือรู้สึกเหมือนถูกกดหรือทับที่หน้าอก
- อาการอาจลุกลามไปยังแขน หัวไหล่ คอ ขากรรไกร หรือหลังได้ ซึ่งภาวะนี้ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้อาการเจ็บหน้าอกก็ยังสามารถยังบ่งบอกได้ถึงอีกหลายโรค เช่น กรดไหลย้อน การมีลิ่มเลือดอุดตันในปอด การอักเสบของตับอ่อน โรคหอบ การบาดเจ็บของกระดูกซี่โครงหรือมีรอยช้ำ หรือกระดูกหัก เป็นต้น
นอนไม่หลับ จุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรง
- อาการ นอนไม่หลับ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และเสี่ยงต่อการเป็นโรคลำไส้อักเสบ ที่มาของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และอีกหลาย ๆ โรคตามมา แรกเริ่มของอาการนอนไม่หลับนั้นเกิดจากการนอนไม่เพียงพอ เนื่องด้วยไลฟ์สไตล์ การทำงาน อ่านหนังสือสอบจนดึก กินเที่ยว ปาร์ตี้ และการใช้ชีวิตแบบคนสมัยใหม่ที่แตกต่างกัน
- เมื่อสะสมนานวันเข้าก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะตื่นสาย กลิ่นตัวแรง มีอาการเครียด หงุดหงิดง่าย และสุดท้ายก็คืออาการนอนไม่หลับเรื้อรัง เพราะร่างกายและสมองชินต่อการนอนดึก จนทำให้พ่วงปัญหาสุขภาพด้านอื่นตามมา ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่ควรใส่ใจให้มาก เพราะหากโรคใดโรคหนึ่งมาเยือนคุณแล้ว ทรมานทั้งร่างกาย เสียเงินจ่ายค่ารักษา เสียการเสียงาน หรือการเรียนอีกซึ่งไม่คุ้มเลย
เหนื่อยง่าย ทำไมขยับตัวนิดหน่อยก็เหนื่อยแล้ว
- หากคุณรู้สึกเหนื่อยผิดปกติ ให้ลองเปรียบเทียบกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันในกิจกรรมที่ทำ เช่น เดิน ยกของ หรือออกกำลังกายเหมือนกัน ลองเทียบการเดิน 100 เมตร แต่ก่อนไม่รู้สึกเหนื่อยขนาดนี้ แต่ตอนนี้ละเหนื่อยลิ้นห้อย
- นั่นแสดงว่าร่างกายของคุณอาจมีความผิดปกติของสุขภาพที่ส่งสัญญาณเตือนว่าคุณอาจจะเข้าสู่จุดเริ่มต้นสาเหตุอาการเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคปอด โรคโลหิตจาง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และโรคของประสาท ก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน โดยผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการเหนื่อยง่ายที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน
ไอเรื้อรัง ไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการของปัญหาสุขภาพ
- ไอเรื้อรัง คืออาการไอที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยผู้ใหญ่มักจะมีอาการไอติดต่อกันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ขึ้นไป และเด็กจะมีอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งนั่นอาจสัญญาณของโรคร้าย บอกถึงปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ปอด หรือภายในท้องก็เป็นไปได้
- สำหรับสาเหตุหลักของอาการไอเรื้อรังมีหลากหลายอาการ อาทิเช่น น้ำมูก หรือเสมหะไหลลงคอ โรคหืด โรคกรดไหลย้อน โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง หลอดลมอักเสบ การติดเชื้อ และการสูบบุหรี่ ให้สังเกตุว่าหากการไอเรื้อรังรบกวนการใช้ชีวิตของคุณ ทั้งการทำงาน การเรียน หรือการนอน แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาดีกว่าปล่อยทิ้งไว้
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด จุดเริ่มต้นของโรคร้าย
- ความจริงแล้วอาการเบื่ออาหาร ร่างกายอ่อนเพลีย สาเหตุหลักอาจมาจากปัญหาสุขภาพจิต เครียดจากสภาวะต่างๆ เช่น ความรัก การงาน การเงิน หรือสังคมรอบๆ ตัว แต่หากให้มองลึกลงไปอีกหากคุณเริ่มมีอาการ รู้สึกไม่เจริญอาหาร อยากอาหารน้อยลง ของกินที่เคยชอบกลับไม่ชอบ ไม่อยากกิน รวมถึงน้ำหนักตัวลดลง ก็อาจมีความเสี่ยงของสัญญาณเริ่มต้นของโรคร้ายแรงก็เป็นไปได้
- โดยโรคที่เป็นปัจจัยให้เกิดอาการเบื่ออาหาร เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งตับอ่อน ตับวาย ไตวาย ตับอักเสบ ติดเชื้อเอชไอวี ไข้เลือดออก เป็นต้น แน่นอนว่าหากปล่อยไว้ก็คงไม่ดีแน่ หากไม่อยากให้โรคร้ายเหล่านี้ลุกลามจนยากที่จะรักษา
เต้านมมีความผิดปกติ เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
- สำหรับคุณผู้หญิง หากบริเวณเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ เช่นมีก้อนเนื้อใหม่เกิดขึ้น เต้านมมีอาการบวม ผิดรูปไปจากเดิม และรู้สึกเจ็บ ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษา หาสาเหตุและทำการรักษาก่อนที่จะลุกลาม เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของโรคมะเร็งเต้านม โรคร้ายที่หลายคนหวาดกลัว
- นอกจากนี้ไม่ใช่แค่คุณผู้หญิงที่มีโอกาสเสี่ยงสูงกับโรคมะเร็งเต้านม คุณผู้ชายก็มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน แต่มักพบได้น้อยมากและส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ ถึงอย่างไรก็ตาม เราควรหมั่นดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายกินอาหารที่มีประโยชน์ และสำคัญเลยคือตรวจสุขภาพร่างกายอยู่เป็นประจำนะครับ เพื่อสุขภาพที่ดีและการใช้ชีวิตที่มีความสุข
ถ่ายเป็นเลือด อาจร้ายแรงมากกว่าเป็นริดสีดวง
- ถ่ายเป็นเลือดปล่อยไว้คงไม่ดีแน่ หากวันหนึ่งคุณเข้าห้องแล้วการถ่ายครั้งนั้นมีเลือด หรือลิ่มเลือดปนออกมาด้วย ซึ่งนั่นคือสัญญาณอันตรายของปัญหาสุขภาพที่มากดกระดิ่งเรียกคุณถึงประตูหน้าบ้านเลยล่ะครับ
- โดยอาการถ่ายเป็นเลือดสามารถบ่งบอกถึงการบาดเจ็บที่อวัยวะในระบบย่อยอาหารอย่างลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง และทวารหนัก กล่าวได้ว่าคุณอาจเสี่ยงที่จะเป็นโรค ริดสีดวงทวาร ลำไส้ใหญ่อักเสบ ภาวะลำไส้ขาดเลือด หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งคงไม่มีใครอยากจะให้เกิด
- เพราะฉะนั้นหากคุณมีอาการดังกล่าวแล้วก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นะครับ ควรพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาจะดีกว่า
เท้าบวม สัญญาณเตือนโรคหัวใจ
- แม้ว่าอาการเท้าบวมจะสามารถบ่งบอกได้ถึงหลากหลายสาเหตุของโรค อาทิเช่น มีอาการบาดเจ็บที่เท้า หรือข้อเท้า ภาวะบวมน้ำเหลือง ลิ่มเลือดอุดตัน การติดเชื้อ หลอดเลือดดำบกพร่อง จากที่กล่าวมาฟังดูแล้วอาจจะไม่อันตรายมาก แต่ก็ควรสังเกตุอาการเพิ่มเติม
- เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคตับ หรือโรคไต หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการบวมที่บริเวณเท้าได้
- โดยอาการบวมนั้นเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดน้ำและเกลือออกจากร่างกายได้หมด และเมื่อร่างกายมีของเหลวส่วนเกินสะสมอยู่มากเกินไป แรงโน้มถ่วงจะดึงให้น้ำส่วนเกินลงมาอยู่ที่เท้า จนทำให้ข้อเท้า และเท้าเกิดอาการบวมได้
อย่างไรก็ตาม การรู้ทัน สัญญาณเตือนสุขภาพ พร้อมวิธีดูแลตัวเองในทุกสถานการณ์ ตั้งแต่อาการป่วยเบื้องต้นจนถึงเมื่อมีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์ อย่าปล่อยไว้ หรือไปหาซื้อยาทานเอง
อ้างอิง : โรงพยาบาลรามคำแหง,โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ,เมืองไทยประกันชีวิต ,คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล