เราควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กันกี่โดสดี

วิวัฒนาการของเชื้อก่อโรคโควิด-19 ทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่และการระบาดหลายระลอก สายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่ทำให้เกิดการระบาดทั่วโลก
เริ่มตั้งแต่ตั้งปี 2565 และทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 ในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าการระบาดระลอกก่อนหน้านี้
แม้ว่าสายพันธุ์นี้จะทำให้เกิดโรคที่มีความรุนแรงที่น้อยลง แต่อัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและอัตราการตายยังคงสูงในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน เป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเรื้อรังทางระบบหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ และโรคไต
การป้องกันโรคโควิด-19 และยับยั้งการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจึงมีความสำคัญ
การศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย ชนิดใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะ และ mRNA มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า และแกมมาในระดับปานกลางถึงสูงเมื่อฉีดครบโดสที่กำหนด
ส่วนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะ หรือวัคซีน mRNA มีความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งโปรตีนหนาม ส่งผลให้เชื้อสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกาย และประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง
โดยเฉพาะเมื่อเวลาผ่านไป จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนสูตรต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยวัคซีนชนิดเชื้อตาย
วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ และวัคซีน mRNA และการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นในการป้องกันการเป็นโรคโควิด-19 และในการลดความรุนแรงของโรค
การศึกษานี้ทำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโควิด-19 ที่มาเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565
ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทั่วประเทศไทย โดยเปรียบเทียบการได้รับวัคซีนทั้งชนิด และจำนวนโด๊สระหว่างกลุ่มที่เป็นโควิด-19 และไม่เป็นโควิด-19 หลังติดตามไปครบ 14 วัน
ผลการศึกษาพบว่ามีผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 7,971 คน ซึ่งแบ่งเป็นผู้ที่เป็นโควิด-19 ทั้งหมด 3,104 คน และไม่เป็นโควิด 4,867 คน
ปัจจัยอิสระที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นโควิด-19 ได้แก่ อายุที่มาก เพศชาย ระดับการศึกษาที่ต่ำ การว่างงาน การมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโควิด-19 และการมีบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกันเป็นโควิด-19 ในบรรดาผู้ที่เป็นโควิด-19 จำนวน 3,104 คน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย (ร้อยละ 87)
ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนชนิดใด ๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 สำหรับวัคซีน 2 โดส เป็นร้อยละ 48 สำหรับวัคซีน 3 โดส และร้อยละ 62 สำหรับวัคซีน 4 โดส
โดยประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อจะมากกว่าหากได้รับเข็มสุดท้ายภายใน 90 วันก่อนเข้าการศึกษาเมื่อเทียบกับกรณีได้รับเข็มสุดท้ายมากกว่า 90 วันก่อนเข้าการศึกษา
สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงของโรคของวัคซีนใด ๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 สำหรับวัคซีน 2 โดส เป็นร้อยละ 74 สำหรับวัคซีน 3 โดส และร้อยละ 76 สำหรับวัคซีน 4 โดส โดยประสิทธิภาพจะมากกว่าหากได้รับวัคซีนโดสสุดท้ายมาภายใน 90 วันเทียบกับมากกว่า 90 วันก่อนเข้าการศึกษา
สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนแบ่งตามชนิดและสูตรที่ได้รับในการป้องกันการติดเชื้อ วัคซีนสูตรเชื้อตาย (CoronaVac) 2 โดส และกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (ChAdOx1 nCoV-19) 1 โดส
และวัคซีน mRNA (BNT162b2) 1 โดสมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ร้อยละ 65 สำหรับการป้องกันความรุนแรงของโรค วัคซีนสูตร CoronaVac 2 โดส และกระตุ้นด้วย ChAdOx1 nCoV-19 1 โดส และ BNT162b2 1 โดสมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ร้อยละ 82 (ดังรูปตารางที่ 2)
โดยสรุปจากการศึกษานี้พบว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนของวัคซีนเพิ่มขึ้นตามจำนวนโดสหรือเข็มกระตุ้นที่ได้รับ
โดยวัคซีนสูตร 4 เข็ม (มีเข็มกระตุ้น 2 เข็ม) มีประสิทธิภาพปานกลางในการป้องกันการติดเชื้อ แต่มีประสิทธิภาพสูงในการลดความรุนแรงของโรค
การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในระดับประเทศจึงควรเน้นไปที่การลดความรุนแรงของโรคโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงมากกว่าการป้องกันการติดเชื้อ
และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เป็นชนิดใช้เชื้อไวรัสเป็นพาหะ หรือชนิด mRNA อย่างน้อย 1 เข็มมีความจำเป็นหลังจากฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกครบแล้ว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคงอยู่นาน
(เรียบเรียงจากงานวิจัยชื่อ Real-life effectiveness of COVID-19 vaccine during the Omicron variant-dominant pandemic: how many booster doses do we need? ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประจำปี 2567 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)