'ชมรมผู้สูงอายุ' พื้นที่คลายเหงาสูงวัย หมดยุคพึ่งพิงลูกหลาน

'ชมรมผู้สูงอายุ' พื้นที่คลายเหงาสูงวัย หมดยุคพึ่งพิงลูกหลาน

“ชมรมผู้สูงอายุ” ถือเป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบงาน ผู้สูงอายุ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย

KEY

POINTS

  • ชมรมผู้สูงอายุ เป็นเส

ชมรมผู้สูงอายุ” ถือเป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบงาน ผู้สูงอายุ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับชุมชน เปรียบเสมือนเครื่องมือขับเคลื่อนและจัดการกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วยตัวผู้สูงอายุเอง โดยการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ มุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมที่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของผู้สูงวัย ทั้งในด้านสุขภาพ สังคม และสวัสดิการ

ปัจจุบันชมรมผู้สูงอายุในประเทศไทย มีเกือบทุกหมู่บ้าน หรือชุมชน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป และวัยที่มีอายุระหว่าง 25-59 ปี ไม่เกิน 1 ใน 4 ของสมาชิกที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โดยจะต้องมีสมาชิกระหว่าง 30-100 คน เพื่อให้ดูแลกันได้อย่างทั่วถึง และต้องมีกลุ่มวัยอื่นๆ ที่มีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ สถิติจำนวนผู้สูงอายุ พ.ศ. 2567 โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าในปีนี้มีผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นจำนวน 20.7% จากประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Society เรียบร้อยแล้ว

โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีมากที่สุดคือ กลุ่มผู้อายุวัยต้น (60-69 ปี) อยู่ที่ 59.3% รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) อยู่ที่ 29.8% และกลุ่มที่มีน้อยที่สุดได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ 10.9%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดเหตุผล ILO และที่มา 65 ปี ไทยต้องขยายอายุผู้ประกันตน

'ยังแฮปปี้'คอมมูนิตี้สูงวัย เสิร์ฟอาชีพ ความสุข สนุกแก่วัยเก๋า

ทางเลือกแก้ปัญหาสูงวัยในชุมชน

“คมคาย บุญเสริมสุข” หัวหน้าสำนักงานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวว่าสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นศูนย์ประสานงานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีชมรมผู้สูงอายุเป็นสมาชิกประมาณ 29,774 ชมรม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้องค์ความรู้ และสร้างให้ชมรมผู้สูงอายุมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้

“ชมรมผู้สูงอายุในประเทศไทย มีเกือบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ชุมชน ซึ่งถือเป็นการรวมตัวของคนในชุมชน โดยทางสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ และชมรมผู้สูงอายุ มีสถานภาพเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกัน ซึ่งทางสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ จะมีการกำหนดระเบียบว่าด้วยเกณฑ์มาตรฐานชมรมผู้สูงอายุในเครือข่ายสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”

ชมรมผู้สูงอายุ เป็นเสมือนทางเลือกสำหรับชุมชนในการจัดการปัญหาในสังคมผู้สูงอายุ เพราะต้องยอมรับว่าสภาพสังคมผู้สูงอายุไทยนั้น จะเป็นในกลุ่มที่ติดเตียง หรือพึ่งพาลูกหลานค่อนข้างมาก หลายคนเมื่อเกษียณอายุ มีปัญหาทั้งด้านการเงิน และสุขภาพ การจะมาร่วมกิจกรรม หรือทำงานหาเลี้ยงตนเองย่อมมีข้อจำกัด ชมรมผู้สูงอายุ จะทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในชมรม ทั้งเรื่องของสุขภาพ การใช้ชีวิต และการจัดกิจกรรมสันทนาการ ให้ผู้สูงอายุไม่เหงา ไม่เศร้าซึม และมีคุณภาพ ความสุขมากขึ้น

\'ชมรมผู้สูงอายุ\' พื้นที่คลายเหงาสูงวัย หมดยุคพึ่งพิงลูกหลาน

โอกาสคนในชุมชนจัดตั้งชมรมสูงวัย

ล่าสุดสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ได้มีการจัดทำ “คู่มือชมรมผู้สูงอายุ” เพื่อให้คนทั่วไปสามารถก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุได้ โดยต้องเน้นการพบปะสังสรรค์ สร้างความสามัคคี รักใคร่ เบิกบาน หายเหงา และมีความสุข ผ่านกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ กิจกรรมเสริมรายได้ กิจกรรมประเพณีท้องถิ่นและภูมิปัญญา และกิจกรรมอื่นๆ

แต่ละชุมชนจะมีการจัดตั้งชมรม และเกิดการรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว แต่การจะขับเคลื่อนชมรมให้เดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง และมีการพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้สูงอายุนั้น จะเป็นบทบาทของคนในชุมชน และคนในชมรมเอง ซึ่งที่ผ่านมาจะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าร่วมของผู้สูงอายุในชุมชน เพราะต้องเข้าใจว่า ผู้สูงอายุในชุมชนส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง การจะให้กลุ่มเหล่านี้เข้าร่วม อาจต้องไปเยี่ยมที่บ้าน หรือกลุ่มติดบ้าน ต้องให้ลูกหลานพามาเข้าร่วม ซึ่งหลายคนอาจจะไม่อยากมา

“แนวทางที่จะทำให้ชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็ง และมีการส่งเสริมพัฒนาผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องได้ ต้องเริ่มจากประธานชมรมที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดการดูแล พัฒนา สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ จะเข้าไปสนับสนุนทุนในบางส่วน การให้ความรู้ในการเข้าถึงแหล่งทุน เพิ่มเติมองค์ความรู้ให้แก่ชมรมต่างๆ ให้ผู้สูงอายุ ได้พบปะพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกัน เล่นกีฬา ฟังเทศน์ จะได้ไม่เหงา หรือซึมเศร้าอยู่บ้าน”

\'ชมรมผู้สูงอายุ\' พื้นที่คลายเหงาสูงวัย หมดยุคพึ่งพิงลูกหลาน

เสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่สูงวัย

ปัญหาหลักๆ ของผู้สูงอายุ คือ รายได้ และสุขภาพ ซึ่งผู้สูงอายุไทยมีคุณภาพและมีหลายบริบท แต่ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมีรายได้ไม่สูงมาก และต้องพึ่งพิงลูกหลาน ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุที่ดีที่สุด ควรเตรียมความพร้อมและวางแผนตั้งแต่วัยทำงาน และควรจะส่งเสริมอาชีพ เปิดโอกาสให้มีงานทำ และผู้สูงอายุ หากมีศักยภาพ มีกำลังที่จะทำงานได้ ควรทำ ไม่ควรออกตอนเกษียณ เพราะต้องยอมรับว่าสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุของไทย ยังไม่เพียงพอ ต้องทำงาน มีอาชีพ เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง

“หากอยากให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นหมายถึงต้องมีเงินทุน และจากการคำนวณของหลายๆ หน่วยงาน พบว่า ผู้สูงอายุต้องมีเงินอย่างน้อย 13 ล้านบาท เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้ ทั้งเข้าถึงการรักษาสุขภาพที่ดี อาหารที่สุด และการใช้ชีวิตที่ดี แต่ในความเป็นจริงผู้สูงอายุไทยเพียงส่วนน้อยมากๆ ที่จะมีเงินใช้อย่างเพียงพอ หลายคนประสบปัญหาสุขภาพ ไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพ ดังนั้น อยากให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มาทำงาน สร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเอง ขณะที่ผู้สูงอายุเองถ้าทำงานได้ ควรทำงานไม่ว่าจะเป็นงานจิตอาสา หรืองานที่ได้เงิน”

\'ชมรมผู้สูงอายุ\' พื้นที่คลายเหงาสูงวัย หมดยุคพึ่งพิงลูกหลาน

ดูแลสูงวัย สนุก สังสรรค์ ลดซึมเศร้า

“ไชยเดช จันทนสถาน” ประธานชมรมผู้สูงอายุทัดชาวิลล่า กล่าวว่าชมรมผู้สูงอายุทัดชาวิลล่า มีสมาชิกประมาณ 95 คน โดยชมรมจะมีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ และจัดกิจกรรมสังสรรค์ร่วมสนุกกันเดือนละครั้ง ทั้งการนำอาหารมารับประทานร่วมกัน การออกกำลังกายร่วมกัน เช่น การเต้นลีลาศ ร้องคาราโอเกะ รำกระบี่กระบอง ให้ผู้สูงอายุได้มาร่วมกัน เป็นพื้นที่เปิดสำหรับผู้สูงอายุ

“ชมรมผู้สูงอายุทัดชาวิลล่า ไม่ได้มีการเก็บค่าสมาชิก แต่จะชวนให้ผู้สูงอายุในชุมชนมาร่วมกิจกรรมฟรีๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทำ ไม่นั่งเหงาอยู่บ้านคนเดียว เพราะหลายคนต้องอยู่บ้านคนเดียว เนื่องจากลูกหลานไปทำงาน หรือมีปัญหาสุขภาพไม่สามารถเดินได้สะดวก ต้องรอให้ลูกหลานพาไปร่วมกิจกรรม ชมรมจะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ของชมรมไปให้การช่วยเหลือ ดูแลด้านสุขภาพ หรือพามาร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ท่านอื่น”

อย่างไรก็ตาม “ผู้สูงอายุ” เมื่ออยู่บ้านคนเดียว หรือจากที่ทำงานไม่ได้ทำงานอยู่บ้านเฉยๆ หลายคนมีอาการจิตตก เศร้าซึม วิตกกังวล ฉะนั้น หากได้ทำกิจกรรมด้านความรู้ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดี ได้พูดคุย พบปะกับเพื่อนฝูงวัยเดียวกัน หรือลูกหลานต่างวัย ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้หัวเราะ มีความสุขในการใช้ชีวิต

\'ชมรมผู้สูงอายุ\' พื้นที่คลายเหงาสูงวัย หมดยุคพึ่งพิงลูกหลาน

\'ชมรมผู้สูงอายุ\' พื้นที่คลายเหงาสูงวัย หมดยุคพึ่งพิงลูกหลาน

\'ชมรมผู้สูงอายุ\' พื้นที่คลายเหงาสูงวัย หมดยุคพึ่งพิงลูกหลาน

\'ชมรมผู้สูงอายุ\' พื้นที่คลายเหงาสูงวัย หมดยุคพึ่งพิงลูกหลาน