เชื่อหรือไม่? “ญี่ปุ่น” มี “ไร่กาแฟ” ปลูกกันมาเป็นร้อยปีแล้ว!
บางคนบอกว่าใน "ตลาดกาแฟ" ระหว่างประเทศมีนวัตกรรมอะไร "ญี่ปุ่น" ก็มีครบถ้วนแล้ว ยกเว้นก็แต่การ "ปลูกกาแฟ" นั่นแหละที่แดนซามูไรไม่ได้หวือหวาเหมือนแหล่งปลูกในประเทศอื่นๆ
ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงอย่างมากในแวดวงธุรกิจกาแฟระหว่างประเทศ ประกอบด้วยความเป็นเลิศในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ผู้ผลิตอุปกรณ์ชงกาแฟรายใหญ่ และผู้นำตลาดกาแฟพร้อมดื่ม ผู้นำเข้าและส่งออกกาแฟคั่วบดรายใหญ่ ไปจนถึงผู้นำวงการกาแฟดริประดับโลก ญี่ปุ่นนำเข้าสารกาแฟมาคั่วจำหน่ายจากแหล่งปลูกทั่วโลกถึงกว่า 40 ประเทศ คนในประเทศเองก็มีอัตราการบริโภคกาแฟค่อนข้างสูง
บางท่านถึงกับออกปากว่าใน ตลาดกาแฟ ระหว่างประเทศมีนวัตกรรมอะไร ญี่ปุ่นก็มีครบถ้วนแล้ว ยกเว้นก็แต่การปลูกกาแฟนั่นแหละที่แดนซามูไรไม่ได้หวือหวาเหมือนแหล่งปลูกในประเทศอื่นๆ
เชื่อหรือไม่ว่า "ญี่ปุ่น" มี “ไร่กาแฟ” เป็นของตนเอง?
"ญี่ปุ่น" มีการทำไร่กาแฟจริงๆ ยิ่งกว่านั้นยังมีประวัติปลูกกันมาเป็นร้อยปีแล้ว เพียงแต่พื้นที่ไม่ได้กว้างขวางใหญ่โตอะไร ปลูกกันในพื้นที่เล็กๆ ทางตอนใต้ของประเทศซึ่งสภาพอากาศเอื้ออำนวยพอที่จะส่งผลให้ต้นกาแฟเจริญเติบโตและออกดอกออกผลได้ โดยเฉพาะ "เกาะโอกินาวา" จังหวัดทางใต้สุดที่มีสมญาว่า "ฮาวายแห่งญี่ปุ่น" มีไร่กาแฟที่ได้มาตรฐานหลายแห่งด้วยกัน บางแห่งได้คัปปิ้งสกอร์เกิน 80 คะแนนเสียด้วย คุณภาพจัดอยู่ในเกรด "กาแฟพิเศษ" (Specialty coffee) เลยทีเดียว
ร้านกาแฟในโตเกียวบางแห่งนำกาแฟโอกินาวาไปชงจำหน่ายให้ลูกค้า โปรโมทให้เป็นกาแฟท้องถิ่นที่หาดื่มยากออกแนว "แรร์ ไอเทม" เนื่องจากแต่ละปีมีผลผลิตน้อย ถือเป็นเครื่องดื่มสุดพิเศษจริงๆ สำหรับคอกาแฟแดนอาทิตย์อุทัย ท่ามกลางกาแฟชั้นดีจากทั่วโลกที่มีวางขายกันอยู่ทั่วไปในประเทศนี้
ค๊อฟฟี่ โพโตะโฮโตะ ร้านกาแฟพิเศษชั้นนำในโอกินาวา / ภาพ : instagram.com/coffeepotohoto
การที่ญี่ปุ่นปลูกกาแฟได้ เรียกว่ามีไร่กาแฟเป็นของตนเอง นำมาซึ่งความแปลกใจให้กับหลายๆ คน เพราะสถานที่ตั้งประเทศไม่ได้อยู่ภายในเส้น "ค๊อฟฟี่ เบลท์" หรือ "บีน เบลท์" (Coffee belt/Bean belt) ซึ่งเป็นแนวเส้นเข็มขัดแสดงพื้นที่ปลูกกาแฟที่พาดผ่านโซนร้อนรอบโลก บริเวณเส้นศูนย์สูตร ระหว่างช่วงละติจูดที่ 25 องศาเหนือ ถึงละติจูดที่ 30 องศาใต้ (บางสำนักก็ตีเส้นแบ่งเขตที่ 23.5 องศาทั้งเหนือและใต้) มีสภาพภูมิประเทศ, อากาศ, ดิน และน้ำ เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นกาแฟแทบจะทุกสายพันธุ์ แหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงใน 3 ทวีป ทั้งเอเชีย, อเมริกากลาง/ใต้ และแอฟริกา ก็ล้วนแต่ตั้งอยู่ในแนวนี้ทั้งสิ้น รวมไปถึงประเทศไทยเราด้วย
อย่างเกาะโอกินาวานั้น อยู่ห่างจากเส้นบนสุดของแนวค๊อฟฟี่ เบลท์ ประมาณ 340 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรราว 3,000 กิโลเมตร “คำถาม” ที่ตามมาก็คือ เป็นไปได้อย่างไรที่ต้นกาแฟจะเติบโตอย่างสมบูรณ์ในโซนกึ่งเขตร้อนกึ่งภูมิอากาศแบบทะเลที่มีพายุไต้ฝุ่นเป็นอุปสรรคของการทำเกษตรกรรม ไหนจะเรื่องระดับความสูงที่ถือว่าไม่เพอร์เฟ็กต์สำหรับปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าอีกเล่า ขนาดจุดสูงสุดบนเกาะยังมีความสูงเพียง 500 เมตรจากระดับน้ำทะเลเท่านั้น
coffee belt แสดงโซนปลูกกาแฟที่พาดผ่านโซนร้อนรอบโลก / ภาพ : crema.co/guides/coffee-processing-methods
ใช่ว่าในทุกพื้นที่ทุกสภาพอากาศจะให้กาแฟเหมือนๆ กันเสียเมื่อไร แม้จะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความสูงที่เหมาะต่อการเติบโตของสายพันธุ์อาราบิก้าต่างกันแต่ก็ไม่มากนัก บ้างก็ว่า 900 เมตร -1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล บ้างก็ว่า 1,000- 1,800 เมตร แต่จุดสูงสุดของเกาะโอกินาวาก็ยังสูงไม่ถึงอยู่ดี
อุปสรรคคือความท้าทาย...แม้มี "จุดด้อย" อยู่พอสมควร แต่ "จุดเด่น" ก็มีไม่น้อย ปริมาณฝน,แอุณหภูมิที่หนาวเย็น กับดินภูเขาไฟที่อุดมสมบูรณ์บนเกาะ เป็นที่ชื่นชอบของกาแฟอาราบิก้า ประกอบกับการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้ และการดูแลเอาใจใส่ต่อแปลงปลูกกาแฟ พร้อมกับนำวิธีการทำไร่แบบปลูกต้นกาแฟใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ (Shade-grown coffee) ไม่ต้องรับแสงแดดเต็มๆ และรับลมแรงๆ หรือการปลูกกาแฟในโรงเรือน ภายใต้ปัจจัยบวกเหล่านี้ ต้นกาแฟจึงเติบโตพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว จากนั้นเริ่มมีการขยับขยายพื้นที่ปลูกออกไป เป้าหมายของเกษตรกรชาวไร่นั้นอยู่การนำพาให้กาแฟโอกินาวาเป็นที่รู้จักของคอกาแฟทั่วโลก
นอกจากโอกินาวาแล้ว...ข้อมูลของสมาคมกาแฟญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นยังมีปลูกกาแฟกันอีกหลายจุดหลายพื้นที่ เช่น เกาะโทคุโนะชิม่า, จังหวัดคาโกชิม่า, มิยาซากิ และนางาซากิ ของเกาะคิวชู และเกาะชิชิจิมะ หนึ่งในเกาะเล็กๆของหมู่เกาะโองาซาวาระ ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการท่องเที่ยวและธรรมชาติความสวยงามของท้องทะเล เกาะนี้อยู่ห่างจากโตเกียวไปทางใต้ประมาณ 1,000 กิโลเมตรทีเดียว
เป็นเกาะชิชิจิมะนี่แหละครับ ที่ปูมประวัติศาสตร์กาแฟโลกระบุว่า คือพื้นที่ปลูกกาแฟเป็น "จุดแรก" ของญี่ปุ่น เรื่องราวต้องย้อนไปถึงยุคเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ที่บรรพบุรุษของ "ตระกูลโนเสะ" ได้อพยพโยกย้ายไปอยู่บนเกาะชิชิจิมะ แล้วเริ่มลงมือทำไร่กาแฟในปีค.ศ.1878 หลังจากนั้นกระแสชาวญี่ปุ่นนับหมื่นคนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขายแรงงานยังไร่กาแฟที่บราซิล ระหว่างปี ค.ศ. 1908-1924 หลายคนพอเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน ก็นำเมล็ดกาแฟติดไม้ติดมือมาปลูกด้วย
ต้นกาแฟที่ปลูกโดยบรรพบุรุษตระกูลโนเสะยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนบนกาะถูกสั่งให้อพยพออกนอกพื้นที่ ซึ่งยังให้การทำไร่กาแฟต้องหยุดชะงักลง จวบจนกระทั่งสหรัฐอเมริกาคืนเกาะให้ญี่ปุ่นในปีค.ศ. 1968 ลูกหลานของตระกูลโนเสะก็กลับมายังเกาะชิชิจิมะอีกครั้ง ไร่กาแฟจึงได้รับการฟื้นฟูใหม่ จากสภาพที่รกครึ้มเป็นป่ากลับกลายเป็นไร่ดังเดิม จากต้นที่โค่นล้มเพราะพายุก็มีการปลูกทดแทน ปัจจุบัน ไร่กาแฟของตระกูลโนเสะ มีชื่อว่า "โนเสะส์ ฟาร์ม การ์เด้น" (Nose’s Farm Garden) มีต้นกาแฟอยู่ในไร่ประมาณ 1,200 ต้น แต่ละต้นสูงราว 2 เมตร ให้ผลผลิตตก 200 กิโลกรัมต่อปี
แม้ว่าผลผลิตมีอย่างจำกัดจำเขี่ยตามขนาดพื้นที่ปลูก กาแฟจากโนเสะส์ ฟาร์มการ์เด้น ก็เคยมีเสิร์ฟอยู่ตามร้านกาแฟบางแห่งของโตเกียวและโยโกฮาม่า รวมไปถึงร้านชื่อ "คาเฟ่ อะพาสซิโอนาโต" (Caffe Appassionato) ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟโตเกียวด้วย
Caffe Appassionato ร้านกาแฟในโตเกียวที่นำกาแฟโอกินาวามาจำหน่าย / ภาพ : instagram.com/caffe_appassionato_japan
ในเกาะโอกินาวาเอง หนึ่งในฟาร์มกาแฟรุ่นบุกเบิกก็คือ "มาตาโยชิ ค๊อฟฟี่ ฟาร์ม" (Matayoshi Coffee Farm) ที่เริ่มต้นทำไร่กาแฟด้วยการนำพันธุ์กาแฟมาจากบราซิล มาปลูกในพื้นที่ 60 กว่าไร่ เป็นสายพันธุ์คาทุยและพันธุ์เยลโล่เบอร์บอน ต้นกาแฟเติบโตเป็นแถวภายใต้ร่มเงาของสแลนกันแดด ต่างไปจากหลายๆ ไร่ที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ กาแฟจากไร่นี้นอกจากถูกส่งไปตามร้านกาแฟและโรงแรมท้องถิ่นของโอกินาวาแล้ว ยังเปิดหน้าร้านเองขายตรงให้ลูกค้าทั้งแบบเครื่องดื่มกาแฟและกาแฟคั่วบด ตำแหน่งของร้านก็อยู่หน้าไร่กาแฟนั่นเอง
สำหรับร้านกาแฟที่มักติดอันดับต้นๆจากการรีวิวหรือแนะนำให้ไปเยี่ยมยามมาเยือนโอกินาวาก็คือ "ค๊อฟฟี่ โพโตะโฮโตะ" (Coffee Potohoto) เปิดขายมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2006 ตั้งอยู่ย่านตลาดซาเกอิมาชิ ซึ่งเป็นตลาดเก่าของเมืองฮานะ เมืองหลวงของเกาะโอกินาวะ ร้านกาแฟแบบพิเศษแห่งนี้ถือว่าดังมากในโอกินาวา แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศอาจจะยังไม่รู้จักกันเท่าใดนัก เนื่องจากอยู่ไกลถึงเกาะทางใต้ของประเทศ ออกแนวประมาณ "ร้านลับในซอยลึก" อะไรทำนองนั้น
ว่ากันว่าเจ้าของร้านมีความเชี่ยวชาญด้านการชงกาแฟและคั่วกาแฟเป็นอย่างยิ่ง เวลาชงกาแฟให้ลูกค้าก็จะให้ข้อมูลแหล่งปลูกและสายพันธุ์อย่างครบถ้วน รวมไปถึงรายละเอียกต่างๆ ของขั้นตอนการชงด้วย
กาแฟจากไร่เอดะ ฟาร์ม มีจำหน่ายภายในร้านค๊อฟฟี่ โพโตะโฮโตะ / ภาพ : instagram.com/coffeepotohoto
ค๊อฟฟี่ โพโตะโฮโตะ เป็นร้านกาแฟที่ร่วมด้วยช่วยกันในความพยายามปลุกปั้นคุณภาพของกาแฟโอกินาวา ดังนั้น นอกจากจะมีกาแฟดังๆ จากทั่วโลกมาบริการลูกค้าแล้ว ยังมีกาแฟท้องถิ่นจากไร่ในโอกินาวาจำหน่ายด้วย เช่น ไร่เอดะ ฟาร์ม (Ada Farm) และนากายาม่า ค๊อฟฟี่ ฟาร์ม (Nakayama Coffee)
เมื่ออาทิตย์อุทัยไขแสง กาแฟก็ผลิดอกสะพรั่ง...กาแฟจาก "ไร่เอดะ ฟาร์ม" ในหมู่บ้านคูนิกามิ สร้างชื่อเสียงให้กับกาแฟโอกินาวาเป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นกาแฟที่ผลิตเองในญี่ปุ่นเจ้าแรกที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานกาแฟแบบพิเศษ หลังจากเจ้าของไร่ได้จัดการส่งตัวอย่างกาแฟของไร่ไปให้ "สถาบันคุณภาพกาแฟ" (Coffee Quality Institute) ซึ่งเป็นสถาบันระหว่างประเทศที่กำหนดมาตรฐานทางด้านรสชาติและรูปแบบในการชิมกาแฟ ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพกาแฟ ปรากฎว่า กาแฟของเอดะ ฟาร์ม ได้คะแนนคัปปิ้งสกอร์ถึง 84.67 ซึ่งหมายความว่าเมล็ดกาแฟและกระบวนการผลิตมีคุณภาพสูง เพราะกติกาสากลมีอยู่ว่า กาแฟที่ได้ 80 คะแนนขึ้นไป ถึงจะเรียกว่ากาแฟแบบพิเศษ
ต้นกาแฟจากไร่เอดะ ฟาร์ม ในโอกินาวา / ภาพ : instagram.com/ada_farm_okinawa
อาจเป็นเพราะ...เป็นไร่กาแฟขนาดเล็กมาก มีพื้นที่ปลูกกาแฟน้อย มีคนทำงานกันไม่กี่คน ไม่ใช่ผู้ผลิตขนาดใหญ่ จึงมีเวลาพิถีพิถัน, ปรุงแต่ง และดูแลเอาใจใส่ ทั้งเรื่องการปลูกและกาแฟแปรรูป ไร่กาแฟเล็กๆ แต่สามารถสร้างกาแฟที่เปี่ยมคุณภาพ ด้วยโปรไฟล์กลิ่นรสที่ไม่ซ้ำแบบใครนี่แหละ เป็นที่ต้องการของคนทำกาแฟและคนชิมกาแฟมานักต่อนักแล้ว
เพื่อเร่งขยายปริมาณการปลูกกาแฟในประเทศที่ยังมีสเกลน้อยอยู่ ประมาณปีค.ศ. 2017 บริษัทเครื่องดื่มชั้นนำของญี่ปุ่นอย่าง "อายิโนะโมะโต๊ะ เอจีเอฟ" ได้เข้าไปทำโครงการเพิ่มปลูกกาแฟบนเกาะโทคุโนะชิม่า, จัดหาช่องทางการตลาดให้ และช่วยคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟที่เหมาะกับสภาพอากาศของเกาะ รวมทั้งหาวิธีการป้องกันไม่ให้ไร่กาแฟได้รับความเสียหายจากภัยพายุไต้ฝุ่น ตั้งเป้าเริ่มนำออกจำหน่ายเป็นล็อตแรกในปีค.ศ. 2022 หรือปีนี้นั่นเอง
โครงการในลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นบนเกาะโอกินาวาเช่นกัน เมื่อ "เนสท์เล่ เจแปน" ร่วมกับสโมสรฟุตบอล "โอกินาวา เอสวี" จัดทำแผนปลูกกาแฟประมาณ 10,000 ต้น โดยปลูกนำร่องไปก่อนแล้ว 240 ต้นในไร่กาแฟแห่งหนึ่งที่นาโกะเมื่อปีค.ศ. 2019 คาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลกาแฟสุกได้ล็อตแรกในปีนี้เช่นเดียวกัน
ชาวญี่ปุ่นเป็นนักดื่มกาแฟตัวยง ปีหนึ่งๆ บริโภคกาแฟประมาณ 470,000 ตัน ติดอันดับต้นๆ ของโลก และก็เป็นชาติผู้นำเข้ากาแฟรายใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ส่วนใหญ่นำเข้าจากบราซิล, โคลอมเบีย, กัวเตมาลา, เอธิโอเปีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่การปลูกกาแฟในประเทศนั้นแทบไม่เป็นที่รู้จัก เพราะผลผลิตอยู่ในสเกลต่ำมาก พื้นที่ปลูกก็มีเฉพาะจังหวัดหรือเกาะในเขตร้อนเท่านั้น ปลูกและบริโภคกันเองภายในท้องถิ่นเสียมากกว่า หมายความว่าญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อการบริโภคกาแฟส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม การบริโภคกาแฟที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกาแฟแบบพิเศษ กำลังเป็นปัจจัยเร่งเร้าให้บรรดาเจ้าไร่กาแฟรายเล็กรายน้อยบนเกาะแก่งทางตอนใต้ของประเทศ เพิ่มผลผลิตกาแฟทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ท่ามกลางความท้าทายที่ทอดรออยู่เบื้องหน้า ทั้งจากสภาพพื้นที่ปลูกที่ไม่เอื้ออำนวย, จากภัยธรรมชาติ และจากการแข่งขันด้านราคาของผู้ผลิตกาแฟระหว่างประเทศ