ไกล่เกลี่ยแล้ว ฟอนต์ Thailand บนเสื้อปันจักสีลัตทีมชาติไทยในซีเกมส์ 31 ออกแบบโดย บึก-สุชาล
เปิดที่มา "ฟอนต์ Thailand" บนเสื้อนักกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติไทยไปซีเกมส์ 2021 ออกแบบโดยกราฟิกดีไซเนอร์ไทย บึก สุชาล ฉวีวรรณ แต่ถูกละเมิดสิทธิ์โดยพลการ ล่าสุดอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไกล่เกลี่ยแล้ว กลับมาแล้วทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
พฤหัสฯ ที่ 12 พ.ค.2565 สมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย ออกหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่อง การใช้ข้อความ “Thailand” ปรากฏอยู่ในชุดแข่งขันนักกีฬาปันจักสีลัตทีมชาติไทย เนื่องจากเกิดกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ ฟอนต์ Thailand ซึ่งออกแบบโดยคุณ บึก-สุชาล ฉวีวรรณ กราฟิกดีไซเนอร์
ฟอนต์คำว่า Thailand ดังกล่าว ผ่านการคิดและออกแบบเป็นพิเศษ หากมองเป็นภาษาอังกฤษก็สามารถอ่านได้ว่า Thailand หากมองเป็นภาษาไทยก็สามารถอ่านได้ว่า ไทยแลนด์ ซึ่งหมายถึงประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้คุณ บึก-สุชาล ได้เผยแพร่ภาพ ฟอนต์ Thailand ซึ่งอ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เขาออกแบบเองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Buk Babor ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้รับคำชื่นชมเป็นวงกว้างทั้งในหมู่เพื่อนสนิทของผู้ออกแบบ และประชาชนทั่วไปหลากหลายสาขาอาชีพที่ได้มีโอกาสเห็นผลงาน ซึ่งได้รับการแชร์ภาพออกไปหลายพันครั้ง
คุณสุชาลเคยให้สัมภาษณ์ "Art & Living กรุงเทพธุรกิจ" ถึงการทำงานออกแบบฟอนต์คำว่า Thailand นี้ว่า
“ผมกำลังออกแบบป้ายของร้านอาหารชื่อ ‘ชาติไทย’ อยู่ดีๆ ผมก็เห็นคำว่า ‘ไทย’ ที่กำลังออกแบบอยู่ สามารถต่อยอดการออกแบบให้อ่านได้ทั้ง ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ ในคำเดียวกันได้”
ฟอนต์ Thailand อ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
หลังจากเห็นอักขระกลุ่มนี้ตรงกับภาษาอังกฤษได้ สามารถมีลูกเล่นอ่านได้ทั้งสองภาษา จึงออกแบบคำว่า ‘แลนด์’ ต่อออกมา จากนั้นนำดีไซน์มาปรับแต่งอีกหลายครั้งกว่าจะลงตัว อ่านแล้วลื่นไหล เป็นชิ้นงานแบบที่เห็น
เมื่อออกแบบเสร็จสมบูรณ์ คุณสุชาลยังได้ประยุกต์ฟอนต์นี้เข้ากับเทคนิคงานศิลปะที่เรียกว่า Glass Gilding (กลาส กิลดิ้ง) หรือ "การปิดทองบนกระจก" ซึ่งเป็น ศิลปะยุควิกตอเรียน ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งหลังจากเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ศิลปะประเภทนี้เหมือนถูกลืมเลือน ถูก disrupt ชะงักหายไป ทำให้ฟอนต์คำว่า Thailand มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ยิ่งขึ้น
โพสต์จากคุณบึก สุชาล ฉวีวรรณ ผู้ออกแบบ
อย่างไรก็ตาม คุณบึก สุชาล ฉวีวรรณ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความยินดีกับ ทีมปันจักสีลัตลีลาไทย ที่คว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้กับทัพนักกีฬาไทย ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2021 เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 แต่เสียใจตรงการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ฟอนต์ Thailand
"แต่สิ่งที่ผมเศร้าใจคือ งานออกแบบตัวอักษร #ไทยแลนด์ ของผมได้ถูกนำไปใช้เป็นแบบปักอยู่บนเสื้อของทีมนักกีฬาทีมนี้โดยที่ผมได้เห็นภาพจากในข่าวเป็นครั้งแรก ซึ่งทางผมไม่ได้รับการติดต่อจากทางสมาคมหรือองกรค์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาประเภทนี้เลย และผมก็ไม่เคยให้ไฟล์ผลงานนี้ไปกับใครเพื่อเอาไปใช้ในกิจการต่างๆ กับองกรค์ใดๆ"
พร้อมกับขอโอกาสนี้ชี้แจงว่า งานออกแบบตัวอักษร #ไทยแลนด์ ที่ตนได้ออกแบบนั้น มีการขอลิขสิทธิ์ถูกต้องและได้เอกสารรับรองจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น การที่งานออกแบบของตนจะไปอยู่บนสินค้าหรือพื้นที่ใดๆ นั้น จะต้องมีการขออนุญาตก่อน
“และสุดท้ายผมอยากแนะนำให้ทุกคนมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การนำผลงานการออกแบบที่เห็นจากโลก online ไปใช้ในกิจการงานต่างๆ ในทางส่วนตัวหรือนำไปใช้ในองค์กรที่ท่านสังกัดอยู่โดยไม่ได้ขออนุญาตนั้นถือว่ามีความผิดนะครับ, ด้วยความเคารพ, บึก สุชาล ฉวีวรรณ”
บึก สุชาล ฉวีวรรณ ผู้ออกแบบฟอนต์ Thailand
ล่าสุด วันพฤหัสฯ ที่ 12 พ.ค.2565 เวลา 20.00 น. คุณบึก สุชาล ฉวีวรรณ ให้สัมภาษณ์กับ "Art & Living กรุงเทพธุรกิจ" ว่าเมื่อสักครู่ นาย วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ท่านอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรุณาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ขอให้ "สมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย" ได้ใช้เสื้อ "ฟอนต์ Thailand" จนเสร็จสิ้นการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้
"ผมได้ขอคำปรึกษาจากท่านอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ท่านกรุณาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย โดยร่วมพูดคุยกับนายกสมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย ท่านชี้แจงว่าไม่ได้มีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เนื่องจากทีมงานของสมาคมฯ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดึงผลงานฟอนต์ Thailand มาจากอินเทอร์เน็ต พอใช้แล้วถูกโฉลก นำโชค สมาคมฯ ไม่เคยได้เหรียญทองมาก่อนเลย รู้สึกอักษรนี้เป็นขวัญกำลังใจให้นักกีฬา...
ท่านอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ไกล่เกลี่ยขอให้สมาคมฯ ได้ใช้เสื้อจนจบทัวร์นาเมนต์ ผมก็คิดว่าถ้าเป็นขวัญกำลังใจให้กับนักกีฬาได้ ผมก็ยินดีครับ...
ท่านอธิบดีฯ แนะนำว่า เมื่อทางสมาคมฯ กลับมาแล้วขอให้ชี้แจงเป็นทางการกับสื่ออีกที และพูดคุยรายละเอียดการขอใช้ลิขสิทธิ์ให้ถูกต้องอีกครั้ง...
จริงๆ ผมก็เป็นแค่นักออกแบบที่ทำงานฟรีแลนซ์ ไม่อยากให้เป็นเรื่องราวขึ้นโรงขึ้นศาล ต้องใช้พลังงานเยอะ แต่เมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์มันก็เสียใจครับ" คุณ บึก สุชาล ฉวีวรรณ ผู้ออกแบบฟอนต์ Thailand กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งนี้