มุ่งแก้ปม ลดเจ็บตาย จัดใหญ่สัมมนาระดับชาติ ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 15
เมื่อถนนไทยไม่ปลอดภัย ติด 1 ใน 10 ถนนที่อันตรายที่สุดของโลก แม้โควิดเปลี่ยนวิถีการทำงาน ลดการเดินทางไปออฟฟิศ แต่ทำไมดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุกลับเพิ่มสูงขึ้น สัมมนาระดับชาติ ความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 15 มีคำตอบ พร้อมมุ่งแก้ปม สร้างระบบที่ปลอดภัยร่วมกัน
รายงานขององค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2561 ระบุประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุทางถนน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติด 1 ใน 10 อันดับถนนที่อันตรายที่สุดของโลก ถึงแม้ในปี พ.ศ. 2563 จะมีสถานการณ์ โควิด-19 แม้คนไทยทั้งประเทศหยุดการเดินทางบนท้องถนน โดยหันมาทำงานที่บ้าน จนทำให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลง หากแต่ดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุกลับเพิ่มขึ้นเป็น 13.45 จาก 8.73 ในปี พ.ศ.2562
เมื่อลองสาวลึก และวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหา มีข้อมูลจากหลายภาคส่วนชี้ชัดว่า เหตุผลที่ประเทศไทยยังไม่สามารถลดอุบัติเหตุได้ตามเป้าหมายของสหประชาชาตินั้น ส่วนหนึ่งเกิดจาก "ปัจจัยด้านโครงสร้างการจัดการ มิติทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม วิธีคิดของประชาชน" หนทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องเริ่มต้นด้วยการปรับชุดความคิด เพื่อ "สร้างวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย" ให้เกิดขึ้นในสำนึกคนไทยเสียใหม่ตั้งแต่วันนี้
วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย
นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวช่วงหนึ่งในการแถลงข่าวการจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 15 ว่า การสร้างวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย หรือ Safe System Approach หมายถึงระบบที่ให้อภัยต่อความผิดพลาดของมนุษย์ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ แต่ต้องไม่นำไปสู่การสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บรุนแรง
"รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้จัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 ตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยลง 50% ภายในปี 2573 หรือ กำหนดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรภายในปี 2570 โดยมี 4 จุดเน้นสำคัญได้แก่ 1.การจัดการอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 2.การจัดการอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน 3.การจัดการความเร็ว (speed management) และ 4.การติดตามและประเมินผล (monitoring and evaluation) ซึ่งทั้ง 4 จุดเน้นต้องอยู่บนมาตรการที่สามารถดำเนินการได้จริง เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม" นิพนธ์ กล่าว
วิถีใหม่ที่ปลี่ยนไป
สำหรับการจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2565 นี้ ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เป็นความร่วมมือของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย (มท.) ตลอดจนศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) พร้อมด้วยภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยแนวคิดปีนี้ จะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน"
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลเสริมว่า สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการเดินทางของผู้คนเปลี่ยนไป เกิดวิถีชีวิตใหม่ ประกอบกับสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น ซึ่ง สสส. ได้ติดตามสถานการณ์และตระหนักถึงปัญหา และได้กำหนดเรื่องการจัดการความปลอดภัยทางถนนเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ขับเคลื่อนการทำงานด้วยไตรพลัง พลังความรู้ พลังสังคม และ พลังนโยบาย ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
"การทำงานในทศวรรษที่ 3 ของ สสส. มุ่งสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ส่งเสริมพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยและลดพฤติกรรมเสี่ยง เน้นป้องกันกลุ่มเด็กและเยาวชน วัยแรงงาน ดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงเพื่อลดความสูญเสียให้ได้ผลสูงสุด ร่วมสนับสนุนให้เกิดวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย (Safe System Approach) โดย สสส.จะดำเนินการร่วมกับเครือข่ายภาคี เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้" ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.สุปรีดา ยืนยันว่า ปัญหาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องขององค์กรเดียวที่จะจัดการได้แต่ต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างมหาศาล และเป็นเหตุผลที่ต้องจัดงานประชุมวิชาการในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน
"เราจะมาสังเคราะห์ร่วมกันของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับชุมชนหรือท้องถิ่น ซึ่งทุกคนจะเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เข้ามาหาความรู้ใหม่ ที่สำคัญในครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบรับเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมมอบรางวัล Prime Minister Road Safety Awards พร้อมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อบทบาทผู้นำประเทศ โดยในช่วงโควิดอาจมีผลต่ออุบัติเหตุทางถนนลดลงเพราะคนงดเดินทาง แต่ปัจจุบันเมื่อมาตรการที่เริ่มผ่อนคลายลง อีกทั้งเรายังมีปัจจัยใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่น ไรเดอร์ที่ส่งอาหารหรือส่งสินค้า คือกลุ่มอาชีพใหม่ที่เพิ่มเข้ามา" ดร.สุปรีดา กล่าวถึงตัวละครใหม่ที่ต้องให้ความสำคัญ
ตัวละครใหม่ที่เพิ่มเติม
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า ในแง่ตัวเลขบนท้องถนน ยังไม่มีการสำรวจเรื่องนี้ เชื่อว่าเป็นปกติที่คนเราเมื่อใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนหรือสัญจรเยอะก็จะต้องมีโอกาสเสี่ยง
"อย่างที่ทราบปัจจุบันผู้คนอาจสัญจรน้อยลง แต่ก็ให้ไรเดอร์สัญจรแทน ซึ่ง สสส. ให้ความสนใจกลุ่มนี้ ทั้งในแง่ประเด็นเรื่องอุบัติเหตุทางท้องถนน และในแง่การที่เป็นแรงงานซึ่งอยู่นอกระบบอีกกลุ่มหนึ่ง โดยเราพบปัญหาเบอร์ต้นของเขา คือปัญหาด้านจิตวิทยา เนื่องจากอาชีพนี้เป็นอาชีพที่เป็นคนกลาง เขาอยู่ตรงกลางระหว่างลูกค้าผู้สั่งสินค้าและร้านค้าหรือเจ้าของสินค้า การที่ต้องรองรับความคาดหวังคนหลายคน ทำให้เขาได้รับแรงกดดันมาก ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นปัญหาสะสมที่ส่งผลกระทบในระยะยาว ถ้าจะแก้ปัญหาของเขาเราต้องมองภาพรวม แก้ปัญหาทีเดียวทั้งระบบ ดูว่าอะไรที่กดทับเขาอยู่บ้าง เช่น เราจะไปพูดว่าให้ขับช้าๆ เถอะ เพื่อลดความเสี่ยงก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะเขาต้องปั่นรอบให้ทัน มีเวลาวิ่งจำกัด ถ้าเราแก้พฤติกรรมปลายทางบางทีอาจจะต้องมองที่ต้นน้ำ เพราะคิดว่าถ้าเราแก้ที่ต้นเหตุได้ก็จะช่วยลดอุบัติเหตุได้" ดร.สุปรีดา ชี้ให้เห็นถึงปัญหา
สำหรับการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนของ สสส. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สสส. มีบทบาทสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนให้การขับเคลื่อนงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ลงถึงระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น สร้างต้นแบบการทำงานในระดับพื้นที่ ในทางสังคม สสส. ได้เชื่อมโยงเครือข่ายนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เช่น การรณรงค์ 7 วันอันตราย ตั้งสติก่อนสตาร์ท การรณรงค์หมวกนิรภัย และร่วมกับภาคีเครือข่าย ผลักดันการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ท้าทาย ของทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนของสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยต้องลดการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573
ไฮไลท์ในการประชุมวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน มีการเสวนาในหัวข้อที่เป็นสาระสำคัญ โดยรูปแบบการจัดงาน จะเป็นการนำเสนอสถานการณ์เสี่ยงด้านอุบัติเหตุทางถนนในรูปแบบใหม่ ภายใต้การระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เกิดการปรับตัวของผู้เดินทางเป็นวิถีชีวิตใหม่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในการปรับมาตรการ นโยบายการจัดการของทุกภาคส่วน ให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งภายในงานจะมีการนำเสนอ Key Message สำคัญ อาทิเช่น 50 by 30 ต้องทำอะไร จึงจะลดตายได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573 ความรับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ในการสร้างระบบความปลอดภัยทางถนนภายใต้วิถีชีวิตใหม่
ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าร่วมการสัมมนา และติดตามการสัมมนา ผ่านระบบออนไลน์โดยสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน หรือ หากมีข้อสงสัย สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 วันที่ 25-26 พฤษภาคม 2565 นี้ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์แจ้งวัฒนะ และทางออนไลน์
ทำไมต้อง Safe System Approach?
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวถึงแนวคิดการจัดงานในปีนี้ว่า เป้าหมายหนึ่งของการจัดงานประชุมการเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน คือการเป็นกระบอกเสียงจากภาคสังคม และภาคประชาชนที่จะส่งเสียงต่อภาคนโยบายว่ามีความจริงจังต่อเรื่องนี้แค่ไหน เพื่อนำไปสู่การพัฒนากลไกการจัดการและการสร้างวิถีแห่งระบบความปลอดภัยบนท้องถนนให้เกิดขึ้น ซึ่งภายในงานจะมีการนำเสนอ Key Message สำคัญ อาทิเช่น 50 by 30 ต้องทำอะไร จึงจะลดตายได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573 ความรับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ในการสร้างระบบความปลอดภัยทางถนนภายใต้วิถีชีวิตใหม่
"สำหรับโจทย์สำคัญปีนี้ ถามว่าทำไมเราต้องใช้แนวคิดการจัดงานเรื่อง Safe System Approach สิ่งที่เราอยากสื่อสะท้อนผ่านงานนี้ คือคำว่า Safe System ตามแนวคิดหลักสากลคือการยอมรับว่ามนุษย์ยังไงก็ต้องมีความผิดพลาด บ้านเราต้องเปลี่ยนระบบการจัดการถึงจะปลอดภัย การมีระบบเข้ามาช่วยในการกำกับดูแล อย่างกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คือการที่มีคุณป้ารายหนึ่งขี่จักรยานยนต์ข้ามจุดตัดรถไฟแล้วโดนชนเสียชีวิต สิ่งที่สังคมมองจะมองว่าประมาท ขาดจิตสำนึก แต่หากมองอีกมุมในเชิงระบบ เราจะเห็นว่าผู้เสียชีวิตมองว่ารถไฟขบวนแรกเพิ่งผ่านไปรางแรกไป ไม่น่าจะมีอีกขบวนมาจึงคิดข้ามจุดตัด แต่กลับมีมา เป็นโจทย์เชิงระบบ ที่ทำอย่างไรให้ระบบช่วยเซฟ หรือคอยกำกับเพื่อลดความผิดพลาด" นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
อีกกรณี นพ.ธนะพงศ์ เล่าถึงคุณป้าที่ข้ามทางม้าลายตรงบางลำพูแล้วเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากตรงนั้นมีจุดอับเยอะ ทำให้มองไม่เห็นรถเมล์คันที่สองที่ขับจี้รถเมล์คันแรกมาจึงข้ามถนน ซึ่งกรณีนี้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าคือจุดอับ ดังนั้นการมองในเชิงระบบคือต้องแก้ให้รถเมล์ขับทิ้งระยะห่างกัน และทำอย่างไรให้ไฟเขียวไฟเหลืองไม่เหลื่อมกัน คนเดินมองว่าไฟเขียว แต่รถเมล์มองว่าไฟเหลืองไปได้ หรือในกรณีรถเมล์สาย 8 ที่ชนกันบ่อยมักเกิดจากการแย่งกันเข้าป้ายเพื่อแย่งลูกค้า นี่คืออีกปัญหาเชิงระบบในเรื่องรถร่วมขนส่งมวลชนที่มีผู้ประกอบการ 3 รายแข่งขันกัน ดังนั้น ทำอย่างไรจะปล่อยรถระยะเวลาให้ห่างกัน นั่นคือการแก้ที่ระบบ ไม่ใช่ปลายทางหรือพฤติกรรมของผู้ขับรถอย่างเดียว