'Kakeibo' ทริคเก็บเงินแบบญี่ปุ่น เรียบง่าย แต่ได้ผล
หากพูดถึงการเก็บออมเงิน ในความเป็นจริงอาจมีไม่มากนักที่ทำได้อย่างสม่ำเสมอตามที่ตั้งใจไว้ เว้นแต่ว่าจะใช้วิธีเก็บเงินแบบญี่ปุ่นอย่าง "Kakeibo" (คะเคโบะ) ที่อาจช่วยให้บรรลุเป้าการออมได้ง่ายขึ้น
เมื่อพูดถึงการเก็บอาจจะดูเป็นเหมือนเรื่องที่ดูง่าย แต่พอได้เริ่มทำจริงแล้วกลับกลายเป็นว่าไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องเสียอย่างนั้น การออมที่จะได้ผลดีต้องอาศัยความสม่ำเสมอและความใจแข็งในการใช้จ่ายเสียหน่อย และเมื่อตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะเก็บออมนั้น สิ่งที่ต้องรู้อีกอย่างคือนิสัยการใช้เงินของตัวเอง แล้วหาตัวช่วยในการเก็บเงินที่หามาได้อย่างยากลำบาก และตัวช่วยที่ว่านั้นคือหลักการเก็บเงินแบบ Kakeibo สุดคลาสสิคของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง
ต้นกำเนิดวิธีออมเงินสุดเก่าแก่
เป็นที่รู้กันว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีศิลปะอยู่ในแทบทุกเรื่อง ในเรื่องการเก็บเงินก็เช่นกัน ดังนั้นชาวญี่ปุ่นจึงมีสิ่งที่เรียกว่า Kakeibo (คะเคโบะ) แปลว่า “บัญชีแยกประเภทการเงินในครัวเรือน” โดย คะเคโบะเป็นสมุดการจัดทำงบประมาณ (คล้ายๆ กับร่ายรับรายจ่ายแต่ขั้นตอนละเอียดกว่า) ที่ผู้ใช้งานจะได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง และได้ทบทวนค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้ไป
เมื่อ 118 ปีที่แล้ว คะเคโบะถูกคิดค้นขึ้น โดย Hani Motoko (ฮานิ โมโตโกะ) นักหนังสือพิมพ์หญิงคนแรกของญี่ปุ่น ที่ต้องการหาทางช่วยให้แม่บ้านจัดการรายรับรายจ่ายของครอบครัวได้ดีขึ้น เนื่องด้วยผู้หญิงในยุคนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานนอกบ้าน จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ให้อิสระแก่พวกเธอ
และในปี 2561 Fumiko Chiba (ฟูมิโกะ ชิบะ) ได้ตีพิมพ์หนังสือ “คะเคโบะ: ศิลปะแห่งการออมเงินของญี่ปุ่น” (Kakeibo: The Japanese Art of Saving Money) วัฒนธรรมสุดแสนคลาสสิคนี้จึงได้เริ่มขึ้นในฝั่งตะวันตก
หลักคิดของ 'Kakeibo'
หลักการคิดของคะเคโบะ จะเน้นไปที่การได้คุยกับตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจซื้อของ เพื่อตัดสินใจว่าของชิ้นที่จะซื้อนั้นจำเป็นจริงๆ หรือเพียงแค่อยากได้ โดยการตอบคำถามง่ายๆ เหล่านี้
- ถ้าไม่มีของชิ้นนี้สามารถอยู่ได้หรือไม่?
- สถานการณ์ทางการเงินตอนนี้สามารถซื้อได้หรือไม่?
- จะใช้สินค้าชิ้นนี้จริงๆ หรือไม่?
- มีพื้นที่พอสำหรับของชิ้นหรือไม่?
- เจอสินค้าชิ้นนี้ได้อย่างไร? (เคยเห็นบนหน้าฟีดในโซเชียล หรือเจอโดยบังเอิญในตอนที่กำลังเดินในห้างสรรพสินค้า)
- อารมณ์ในวันนี้เป็นอย่างไร? (ใจเย็น มีความเครียด อยู่ในช่วงเทศกาล หรือกำลังรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง)
- เมื่อได้ซื้อมาแล้วจะรู้สึกอย่างไร? (มีความสุข ตื่นเต้น หรือ เฉย ๆ)
ขั้นตอนการเก็บเงินแบบคะเคโบะ
คะเคโบะ เป็นบันทึกการใช้จ่ายแบบแยกประเภทที่จะช่วยทำให้ไปถึงเป้าหมายของการออมได้ โดยการติดตามการใช้จ่ายอย่างใกล้ชิด การเขียนคะเคโบะไม่ยาก เพียงแค่ต้องใช้ความพยายามและการจดลงไปอย่างซื่อสัตย์เสียหน่อย
โดยการเขียนคะเคโบะเริ่มได้จากการเตรียมสมุดและปากกาให้พร้อม (หรือจะใช้แอปพลิเคชันในการจดบันทึกก็ได้ ขอเพียงแค่ไม่ลืมก็พอ) จากนั้นลองนึกดูว่าที่ผ่านมานั้น มีรายรับมาเท่าไร แล้วได้ใช้จ่ายอะไรไปเท่าไรบ้าง จากนั้นก็เริ่มลงมือจดลงไป ดังนี้
1. จดรายได้ทั้งหมด
บันทึกรายได้ทั้งหมดที่ได้รับมาในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนจากงานประจำหรืองานเสริมก็บันทึกลงไปให้ครบ
2. จดค่าใช้จ่ายประจำที่แน่นอน
บันทึกค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องจ่ายในทุกๆ เดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน, ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร, ค่าโทรศัพท์ และหนี้สินต่างๆ
3. หาจำนวนเงินที่เหลือ
หักค่าใช้จ่ายประจำออกจากรายรับ เพื่อดูว่าจำนวนเงินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายประจำแล้วมีเท่าไร เพื่อนำมาวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่อไป
[เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย (Discretionary Income) = รายรับต่อเดือน - ค่าใช้จ่ายประจำ]
4. ตั้งเป้าหมายจำนวนเงินออม
เมื่อที่รู้ว่ามีเงินเหลือท่าไรจากการหักค่าใช้จ่ายประจำแล้ว จากนั้นเริ่มกำหนดเป้าหมายในใช้จ่ายและเก็บออม ในขั้นเริ่มแรกของการเก็บอาจจะเริ่มตั้งจากจำนวนน้อยๆ ก่อน เมื่อคุ้นชินแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มเป้าหมายในการออมทีละนิดให้เป็นการท้าทายตัวเองเล็กๆ เพื่อการออมเงินจะได้สนุกขึ้น (หรือเปล่า)
5. ระบุหมวดหมู่การใช้จ่าย
เมื่อได้รู้แล้วค่าใช้จ่ายประจำต่อเดือน เงินที่เหลือจากการค่าใช้จ่ายประจำ และเป้าหมายการออมอย่างชัดเจนแล้ว หลังจากนั้น เมื่อใช้จ่ายอะไรไป ก็จดค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้น โดยแยกออกเป็นหมวดๆ (ในการจัดหมวดหมู่ก็สามารถแยกย่อยไปได้อีกเพื่อความชัดเจนและเข้าใจง่าย) ได้แก่
Survival: ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการมีชีวิตอยู่ได้ เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ค่าอาหาร
Optional: ค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นที่ในบางครั้ง ไม่ต้องมีก็ได้ เช่น ออกไปกินข้าวนอกบ้าน มีเสื้อผ้าใหม่ ไปเที่ยวพักผ่อน งานอดิเรก
Culture: การใช้จ่ายในกิจกรรมด้านความบันเทิงต่างๆ เช่น หนังสือ ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต และการสมัครสมาชิกสตรีมมิงต่างๆ
Extra: ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และเกิดขึ้นไม่บ่อย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ
6. การสรุปประจำเดือน
เมื่อถึงสิ้นเดือนก็มาสรุปจากสิ่งที่ได้บันทึกไป ว่าใช้อะไรไปเท่าไรและได้ทำตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ หรือว่ามีจุดใดที่มีปัญหา ซึ่งในขั้นตอนนี้สามารถสรุปได้โดยตอบคำถาม 4 ข้อนี้
- มีเงินออมอยู่เท่าไร?
- ต้องการออมเงินเท่าเท่าไร?
- ใช้เงินไปเท่าไร?
- จะปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายอย่างไร? เพื่อให้การออมดีขึ้น
เมื่อตอบคำถาม 4 ข้อนี้ได้แล้ว ก็จะทำให้ได้รู้จักการใช้จ่ายของตัวเอง และได้รู้ว่าควรจะปรับนิสัยทางการเงินอย่างไร และเริ่มใหม่ในครั้งต่อไป
7. บันทึกรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ
แม้การบันทึกคะเคโบะในช่วงแรกจะค่อนข้างจุกจิกไปบ้าง แต่เมื่อทำจนคุ้นเคยแล้ว รับรองได้เลยว่าจะช่วยให้การเก็บเงินนั้นได้ผลดีอย่างแน่นอน แถมยังช่วยให้มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้อย่างง่ายดาย และทำให้เป็นคนที่มีวินัยและรู้จักตัวเองมากขึ้นอีกด้วย
คะเคโบะ เป็นหนึ่งขั้นตอนที่จัดทำงบประมาณรายรับรายจ่าย ที่จะทำให้เห็นภาพรวมในการใช้จ่ายของตัวเอง รอบคอบในการใช้เงิน รู้ว่าการใช้เงินเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อปรับปรุง เพื่อให้เดินทางไปถึงเป้าหมายในการออมที่ตั้งไว้
ที่มา: moneyunder30, bbc, refinery29, moneycrashers, bustle, cnbc, elitereaders, everybuckcounts, realtor