ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

ถ้าเด็กคือผ้าขาว สภาพแวดล้อมคือสีสันที่จะระบายลงไป การศึกษาคือผู้ช่วยให้ผ้าขาวจะไม่ใช่แค่ผ้าเปื้อนสี แต่งดงามด้วยโอกาสที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” มอบให้

“หนูอยากทำให้พ่อแม่สบายกว่านี้ แล้วถ้าดูแลตัวเองได้ดีมากๆ หนูก็อยากทำเหมือนผู้อุปการะหนู อยากเป็นผู้ให้บ้าง เพราะหนูเป็นผู้รับแล้วก็อยากให้ทุนเขาต่อไปเท่าที่หนูจะช่วยได้”

จากคนที่เคยด้อยโอกาสสู่การได้รับโอกาส วันนี้ มณีนุช เยเพียว เด็กสาวอ่าข่าจากพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงรายกำลังจะส่งต่อโอกาสนั้นถึงเด็กคนอื่นๆ ด้วย เพราะเธอได้มีหน้าที่การงานมั่นคงในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ การเงิน องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองนอก หลังจากได้เป็นเด็กคนหนึ่งภายใต้การดูแลของ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก” มณีนุช เยเพียว

ความฝันบนดอยสูง

มณีนุชเป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ช่วยเหลือพลิกฟื้นคุณภาพชีวิต เพราะในพื้นที่ห่างไกลยังมีเด็กอีกมากมายที่ถูกปิดกั้นอนาคตของพวกเขา เพียงเพราะคำว่า “ยากจน”

เด็กสาวอ่าข่าเล่าว่า ฐานะทางบ้านของเธอถือว่ายากจนมาก และเธอก็ได้เข้าโครงการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ ซึ่งเข้ามาช่วยพลิกชีวิตของเด็กด้อยโอกาสยังพื้นที่ห่างไกลถึง 35 โครงการใน 34จังหวัดทั่วประเทศ

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

“ตอนนั้นบ้านหนูยังเป็นหญ้าคาอยู่เลยค่ะ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วยซ้ำไป ถามว่าลำบากไหมก็ลำบากนะคะ เพราะการศึกษาทุกอย่างต้องมีทุน แล้วถ้าหนูไม่มีทุนก็ไปต่อไม่ได้ ที่สำคัญที่ลำบากมากๆ ก็คือบัตรประชาชน แต่พอหนูเข้ามาอยู่ในโครงการ เขาก็ให้ทุนการศึกษา สนับสนุนเสื้อผ้า ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน สนับสนุนทุกด้านเลย ทำให้หนูได้เรียนต่อ ถ้าหนูไม่ได้เรียนต่อก็อาจจะไม่ได้บัตรประชาชนก็ได้ เพราะมีช่วงหนึ่งที่เขามีโครงการทำบัตรให้เด็กนักเรียน ตอนนั้นหนูอยู่ ปวส. คือถ้าไม่มี ซี.ซี.เอฟ หนูคงไม่ได้เรียนต่อ พ่อแม่ก็ส่งไม่ไหว”

ทุนที่ได้รับกลายเป็นส่วนสำคัญที่แบ่งเบาภาระของครอบครัว นอกจากมณีนุชแล้ว เธอยังมีน้องอีกสองคนที่พ่อแม่ต้องส่งเสียเลี้ยงดู เมื่อลดรายจ่ายส่วนของลูกสาวคนโตไปได้ ฐานะทางบ้านก็ขยับขึ้นมาเป็นพอมีพอกิน เด็กหญิงอ่าข่าคนนี้ก็ไม่ต้องกังวล มุ่งมั่นเรียนหนังสือได้เต็มที่

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

สำหรับเธอ ทุนการศึกษาไม่ใช่แค่การช่วยเหลือค่าใช้จ่าย แต่ยังเป็นแรงผลักดันให้ตั้งใจเรียนและประพฤติตัวดี สมกับที่ได้ชื่อว่ารับทุน ความตั้งใจต่อยอดไปเรื่อยๆ จากช่วงประถมสู่มัธยม แต่เท่านั้นไม่พอ ยังลงไปเรียนต่อในระดับ ปวส. ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาพณิชยการเชียงราย สาขาการบัญชี แน่นอนว่าเป็นทุน ซี.ซี.เอฟ เช่นกัน

“ตั้งแต่หนูลงไปเรียนข้างล่าง (ที่เชียงราย) หนูก็ตั้งใจมาก ได้เกรดเฉลี่ย 4.00 ตลอดทุกเทอมจนจบเลยค่ะ เพราะหนูเห็นพ่อแม่ลำบาก เราอยากมีอนาคตที่ดีขึ้น แล้วอีกอย่างหนูเป็นเด็กทุน ก็อยากให้เขาภูมิใจว่าฉันให้ทุนไปแล้ว เหมือนเป็นการขอบคุณที่เขาสนับสนุนหนู มันทำให้หนูตั้งใจเรียนและกระตุ้นตัวเองขึ้นมา

การศึกษาเป็นเหมือนใบเบิกทาง อย่างหนูฝันเป็นนักบัญชีแต่หนูไม่มีการศึกษา หนูก็ได้แค่ฝันไง เพราะหนูก็ไม่มีหลักประกันว่ามีความรู้ด้านนี้ การศึกษาจึงช่วยได้มากเลยค่ะ เมื่อหนูมีการศึกษา ก็วางแผนอนาคตได้ว่าอยากเป็นอะไร ก็เสริมสร้างอนาคตให้หนู แต่ถ้าไม่มีการศึกษาความฝันก็แค่ฝัน”

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

ปัจจุบันมณีนุชอายุ 24 ปีแล้ว เมื่อมองย้อนกลับไป เธอยอมรับว่ามาไกลเกินฝันมากๆ จากเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจน สู่การเป็นกำลังหลักของบ้าน เลี้ยงดูตัวเองแล้วยังจุนเจือครอบครัวได้ค่อนข้างดี

“ถ้าไม่มี ซี.ซี.เอฟ ตอนนี้หนูก็คงจะมีแค่วุฒิ ม.3 ที่เอาไปทำอะไรไม่ได้ ก็อยากขอบคุณที่เล็งเห็นความสำคัญของเด็กๆ อย่างพวกหนู เพราะตอนนั้นหนูก็ไม่ใช่คนไทย แล้วเขายังให้ความสำคัญว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ สนับสนุนให้ทุนการศึกษา

เด็กบางคนมีความสามารถแต่ขาดโอกาสเรื่องทุน เขาไม่ได้ศึกษาต่อ ความฝันของเขาก็ไม่ได้ไปต่อ การที่ผู้ใจดีทุกคนมาให้การสนับสนุน ไม่ใช่แค่ให้ทุน แต่เหมือนการมอบอนาคตให้เด็กคนหนึ่ง ให้เขามีอนาคตที่ดีขึ้น

อย่างเรื่องที่หนูได้บัตรประชาชน ก็เพราะหนูได้เรียนต่อ ตอนนั้นหนูเรียน ปวส. แล้วมีโครงการของรัฐที่ให้บัตรกับเด็กนักเรียน ตอนที่ได้บัตรดีใจมาก มันเปิดโอกาสให้ชีวิตหนูเลย เพราะถ้าเราไม่มีบัตร ถึงเราจะมีความสามารถก็จะทำอะไรมากไม่ได้”

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

วิชาชีพที่ติดตัวตลอดไป...ในที่ไร้สัญญาณของโอกาส

ชีวิตที่พลิกผันไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่มณีนุชเท่านั้น ที่ผ่านมายังมีเด็กๆ อีกหลายคน ได้รับโอกาสทางการศึกษาจนเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีอนาคตสดใสผ่านการสนับสนุนของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. แต่กว่าที่โอกาสนั้นจะเดินทางไปถึง ไม่ใช่เรื่องง่าย

เหมือนกับสายน้ำกกที่ไหลผ่านป่าเขาและพื้นที่ทุรกันดาร สายน้ำให้ความชุ่มชื้น และยังพาเราไปรู้จักโรงเรียนผาขวางวิทยา โรงเรียนที่ไม่มีแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ แต่กำลังสร้างโอกาสแก่เด็กๆ ได้มีรายได้รวมทั้งวิชาชีพติดตัว

ครูเก๋ - ศุภรดา ล้านกันทา ครูโรงเรียนผาขวางวิทยา กับอีกบทบาทคือครูอาสา ซี.ซี.เอฟ. เพื่อการพัฒนาเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล เล่าว่า ตลอดเวลา 9 ปีของการเป็นครูที่นี่ได้เห็นความยากลำบากของทั้งสภาพภูมิประเทศและสภาพความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียน

“ปัญหาของเด็กๆ ในพื้นที่นี้คือความยากจน ปัญหาครอบครัวที่ส่วนมากพ่อแม่ออกไปทำงานข้างนอก แล้วให้ลูกอยู่กับตายาย ซึ่งบางทีท่านก็แก่เฒ่าแล้วหรือไม่มีเงินที่จะส่งให้หลานเรียน ก็เสี่ยงที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษา”

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

นอกจากสอนหนังสือ คนเป็นครูยังต้องช่วยเหลือดูแลนักเรียนด้วย ครูเก๋จึงได้ประสานงานกับมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. โดยทำหน้าที่คัดกรองนักเรียน ไม่ว่าจะนักเรียนยากจน นักเรียนที่มีปัญหาครอบครัว นักเรียนที่มีโอกาสจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากลำบากและสภาพครอบครัว

การเข้ามาของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ทำให้เด็กๆ มีทุนการศึกษา มีโอกาสมากขึ้น ครูเก๋ยกตัวอย่างเด็ก 7 ขวบคนหนึ่งที่มูลนิธิฯกับโรงเรียนกำลังช่วยเหลืออยู่ แม้อายุจะเกินเกณฑ์ที่จะเริ่มเข้าเรียนหนังสือในระบบ แต่ด้วยสภาพร่างกาย ปัญหาการเงิน ทำให้เด็กขาดโอกาสมานาน จนกระทั่งมูลนิธิฯ ได้รับเด็กคนนี้เข้าโครงการเสมือนได้มีชีวิตใหม่

“ล่าสุดมีเด็กคนนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะปัญหาสุขภาพร่างกายและความยากจน ซึ่งเด็กก็อายุเกินเกณฑ์ไปแล้วแต่ก็ยังไม่ได้เข้าเรียนสักที ซี.ซี.เอฟ. เลยเข้ามาดูแล พาน้องไปรักษา พอเริ่มอาการดีขึ้น แล้วเขาอยากจะเรียนหนังสือแล้ว พวกเราก็ดึงเขาเข้ามาสู่ระบบการศึกษา จนตอนนี้เด็กคนนี้ก็ได้เรียนหนังสือเหมือนเด็กคนอื่น ก็เหมือนเป็นการให้โอกาสเด็กๆ ได้รับการศึกษาที่จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต

หนึ่งในเรื่องที่เด็กที่นี่เคยขาดโอกาสแล้วได้รับจากมูลนิธิฯ คือ เด็กๆ ที่นี่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เขาจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กในเมือง เนื่องจากเรื่องการใช้ภาษาของเขาจะช้ากว่า วิชาการก็เลยช้ากว่า ไม่มีโอกาสได้เรียนพิเศษ แต่ที่นี่ได้เพิ่มทักษะวิชาชีพให้พวกเขา เพื่อที่เรียนจบไปแล้วจะได้มีงานทำ”

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

วิชาชีพที่ครูเก๋พูดถึง คือไฮไลท์ของโรงเรียนผาขวางวิทยาก็ว่าได้ เพราะไม่ได้สอนเล่นๆ แต่เน้นปฏิบัติจริง ทั้งยังมีมากถึง 12 งานอาชีพ ได้แก่ กาแฟ, อาหารคาวหวาน, จักสาน, ปักผ้าชนเผ่า, ซักอบรีด, ล้างอัดฉีด, เกษตรเบื้องต้น, ปศุสัตว์, โฮมสเตย์, ดนตรีสู่อาชีพ, งานประดิษฐ์ และเสริมสวยและตัดผมชาย

ครูโอปอ - ณชญาดา ต่อสวย ครูคณิตศาสตร์ที่ควบตำแหน่งสอนงานอาชีพด้านอาหารคาวหวาน บอกว่าทุกวันพฤหัสบดีที่มีการเรียนวิชาเหล่านี้ บรรยากาศจะคึกคักมาก โดยได้วิทยากรจากวิทยาลัยกาญจนาภิเษกเชียงราย มาช่วยถ่ายทอดความรู้วิชาเบเกอรี่และขนมไทยให้ จนเด็กหลายคนได้นำไปต่อยอด

“ถ้ามีแขกมา โรงเรียนจะให้เด็กทำขนมเสิร์ฟ ส่วนมากเป็นเบเกอรี่ เพราะเด็กชนเผ่าเขาจะไม่ค่อยรู้จักขนมไทยสักเท่าไร ทาง ซี.ซี.เอฟ. เข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับทำงานอาชีพ อย่างเช่น อุปกรณ์ทำเบเกอรี่ อุปกรณ์ทำคุกกี้ เครื่องมือต่างๆ ซึ่งสำคัญมาก และได้ใช้ประโยชน์จริงๆ 100 เปอร์เซ็นต์ พออุปกรณ์ครบก็ทำเลี้ยงแขกได้ แล้วยังทำจำหน่ายได้ด้วย เพราะเรามีร้านกาแฟอยู่แล้วคือผาขวางคาเฟ่ นักเรียนทำคุกกี้บรรจุกระปุกแบรนด์ผาขวางเบเกอรี่ขายที่นั่นด้วย รายได้ที่เกิดขึ้น หักลบต้นทุนแล้วนักเรียนก็นำกำไรมาหารแบ่งกัน

นอกจากนี้ยังมีเด็กหลายคนนำไปต่อยอด เช่นบางคนอยากเรียนต่อด้านคหกรรม เรียนจบมาจะทำขนมขาย เป็นแรงกระตุ้นที่เกิดจากการเรียนในโรงเรียน”

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

นี่จึงเป็นทางเลือกให้เด็กๆ ได้สร้างรายได้ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่นี้ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มักจะมีอาชีพจำกัดอยู่เพียงไม่กี่อย่าง คือ เป็นเกษตรกรแบบตามมีตามเกิด ขณะเดียวกันการเข้าถึงระบบการศึกษาก็ค่อนข้างน้อย สุรเจต ปาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนผาขวางวิทยา บอกว่าคนที่มีโอกาสเรียนสูงๆ หาได้น้อย รายได้ที่เด็กๆ หาได้จากวิชาชีพ จึงช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้มาก

“เราคิดถึงขนาดว่าถ้าเขาเรียนต่อสูงขึ้น ถ้าเขาจบแล้วไม่ได้ไปทำงานในเมือง แต่มาต่อยอดที่บ้านจากแนวคิดเล็กๆ ของเรา ให้เขาจุดประกายด้วยตัวเอง เพราะสิ่งที่เด็กๆ ได้ไปไม่ใช่กระดาษ ไม่ใช่ใบประกาศ แต่สิ่งนี้จะติดตัวเขาไป 12 อาชีพ ตั้งแต่ ป.4 จนถึง ม.3 เขาอาจจะปิ๊งในอาชีพหนึ่ง แล้วไปต่อยอด เพราะฉะนั้นเราสอนให้เขาคิด เราไม่ได้สอนให้เขาเพียงแค่เรียนจบ”

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

ผอ.สุรเจต เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจว่าอดีตเด็กเรียนจบม.3 จากที่นี่แล้วไปเรียนต่อมีน้อยมาก ทว่าปัจจุบันตั้งแต่มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เข้ามาสนับสนุนทั้งทุนการศึกษาและทุนด้านทักษะอาชีพ มีเด็กได้เรียนต่อมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะ ปวช. หรือต่อไปถึง ปวส.

ไม่เพียงเท่านั้น รุ่นพี่ที่เรียนต่อก็กลับมาสร้างแรงบันดาลใจให้รุ่นน้องได้เห็นประโยชน์ของโอกาสซึ่งเกิดจากการศึกษาด้วย

“เด็กเขาพูดภาษาเดียวกัน เราบอกเขาไม่ได้ แต่พี่ๆ ที่เป็นไอดอลเขามาบอกด้วยภาษาเดียวกัน ทำให้ง่ายต่อการอธิบายมากกว่าที่เราอธิบายอีก ซึ่งการที่โรงเรียนกับมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ร่วมกันทั้งส่งเสริมการศึกษาและส่งเสริมอาชีพ พบว่าเด็กในวัยเรียนกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาเยอะ จากเมื่อก่อนที่เด็กก็ไปใช้แรงงานในภาคเกษตรเยอะ เช่น ไม่จบม.3 พ่อแม่ก็ให้ไปทำไร่ทำนาแล้ว”

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

การศึกษาสร้างคน เพราะความจนมันน่ากลัว

คำว่าทุรกันดารอาจมาพร้อมกันความยากลำบาก แต่สำหรับความยากจน ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในถิ่นทุรกันดารเท่านั้น แม้แต่ในพื้นที่ที่ไม่ได้ยากลำบากมากนัก แต่ปัญหาความยากจนก็ยังส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษา ซ้ำยังบานปลายเป็นความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

ความกึ่งชุมชนกึ่งชายขอบของ ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ได้ซุกซ่อนปมปัญหาดังกล่าวเอาไว้ตลอดหลายสิบปี จนกระทั่งมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ได้เข้ามาปัดกวาดฝุ่นใต้พรมนี้ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีหนึ่งในแกนนำคือ สุรชาติ ขจรทวีไพศาล ผู้ใหญ่บ้านห้วยอื้น หมู่ที่ 10

ด้วยสายตาที่มองไปยังเป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กๆ พ่อหลวงสุรชาติเล่าว่าเดิมทีที่นี่เต็มไปด้วยปัญหายอดนิยมของกลุ่มชาติพันธุ์ คือพูดภาษาไทยไม่ได้ ทำให้เส้นแบ่งกั้นโอกาส ขยายตัวมากขึ้นๆ

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

“พื้นเพของเด็กที่นี่คือคนชายขอบ แต่เด็กรุ่นหลังที่ได้อยู่ในโครงการของ ซี.ซี.เอฟ. เป็นกลุ่มที่ได้มีโอกาสตรงนี้ สื่อสารภาษาไทยได้ตั้งแต่ ป.1 เช่นเด็กบางคนเรียนเก่งแต่ไม่มีเงินเรียน พวกเราก็ให้ทุนการศึกษาไปจนจบปริญญาตรี เหมือนเราชุบชีวิตให้เด็กในพื้นที่

ซึ่งการคัดเลือกเด็กที่เหมาะสมจะได้รับทุนการศึกษา ต้องผ่านขั้นตอน โดยคนที่จะคัดเด็กเข้าโครงการคือคุณครูแต่ละโรงเรียน แต่ละเขตบริการ เพราะคุณครูจะมีข้อมูลของนักเรียน จะได้เด็กที่ยากจนจริงๆ การกินการอยู่ บางวันเด็กคนไหนไม่มาเรียนเพราะไม่มีกิน คุณครูจะรู้ดี แล้วพวกผมกับคณะกรรมการคัดเลือกจะเข้าไปดูว่าจริงไหม”

ระดับความยากจนของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่เมื่อถามถึงความรุนแรงในพื้นที่นี้ พ่อหลวงสุรชาติยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าที่โรงเรียนบ้านห้วยอื้นมีเด็กที่ต้องอยู่หอพักราว 10 กว่าคน เหตุผลที่พวกเขาต้องอยู่หอพักเพราะถ้าต้องไป-กลับบ้าน ต้องเดินเท้าวันละ 1-2 ชั่วโมง เพราะไม่มีเงินซื้อแม้กระทั่งจักรยาน ซึ่งหอพักก็เกิดจากเงินทุนของ ซี.ซี.เอฟ. ช่วยบรรเทาปัญหาตรงนี้ได้

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

อีกตัวอย่าง ชาวบ้านที่นี่มีทั้งทำสวนทำไร่บนพื้นที่ตัวเอง อีกไม่น้อยไปรับจ้างทำไร่ทำสวนบนพื้นที่คนอื่น ซึ่งกลุ่มนี้เองที่มักจะยากจนเพราะไม่มีที่ดินทำกิน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะลืมตาอ้าปากได้จากการเป็นลูกจ้างบนที่ดินคนอื่น ทว่าการมอบโอกาสทางการศึกษาช่วยทลายความยากจนที่ตกทอดเป็นมรดกมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนลืมตาอ้าปากได้ในคนรุ่นนี้

“สิ่งที่ทำให้ครอบครัวเหล่านี้ลืมตาอ้าปากได้ คือถ้าลูกมีการศึกษา คนที่นี่ส่วนมากจะเรียนสองภาษา ทั้งไทยและจีน พอเรียนจบก็มักจะไปต่อที่ต่างประเทศ พวกจีน เกาหลี ไต้หวัน เลยทำให้ครอบครัวที่ไม่มีฐานะ ประมาณสิบกว่าปีมานี้ก็มีการเปลี่ยนแปลง มีกินมีใช้ บางคนมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง” พ่อหลวงบอก

สมชาย แซ่หมื่อ วัย 24 ปี เป็นอีกตัวอย่างผลผลิตของโครงการฯ ที่นอกจากได้ทุนการศึกษาแล้ว ยังได้เข้าโครงการแกนนำนักธุรกิจพลังบวก ที่ทาง ซี.ซี.เอฟ. จะพิจารณาแผนธุรกิจจากเด็กๆ เพื่อมอบทุนนำไปสร้างสรรค์ธุรกิจให้เกิดเป็นรูปธรรม

สมชายเล่าถึงธุรกิจของตัวเองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชาอัสสัมคั่วมือ แบรนด์ LEE LAE TEA ที่นำชาจากสวนของทางบ้านมาเพิ่มมูลค่า แปรรูปเอง ออกแบบบรรจุภัณฑ์เอง ขายเอง ตัดวงจรพ่อค้าคนกลางออกไปทำให้รายได้ถึงมือเขาและครอบครัวโดยตรง

“ผมทำมาได้หกเดือนแล้ว ยอดขายถือว่าดีครับ ขายไปได้เกือบร้อยห่อ ลูกค้าของผมเป็นกลุ่มวัยทำงานตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ผมขายทางเพจเฟซบุ๊ก คนที่ซื้อส่วนหนึ่งก็เป็นเพื่อนในเฟซ และเป็นคนที่แนะนำกันไปปากต่อปาก อย่างล่าสุดก็มีคนไทยในเยอรมนีก็ทักมาในเพจ ด้วยความที่คนแถวบ้านผมไม่ค่อยทำกัน บางคนบอกว่าทำแบบนี้จะขายได้เหรอ มาถึงจุดนี้ได้ผมก็คิดว่าสุดยอดแล้ว เป็นความภูมิใจ อนาคตผมก็คิดว่าจะเอาชาที่ผมทำขายสู่ตลาดสากลครับ

ซึ่ง ซี.ซี.เอฟ. ช่วยตั้งแต่พาพวกผมไปอบรมเรื่องการเขียนแผนธุรกิจครับว่าเราจะทำอะไร กลุ่มลูกค้าคือใคร ขายทางไหน แล้วอบรมการคิดคอนเทนต์ การถ่ายภาพสินค้า การตัดต่อวิดีโอ และให้ทุนสนับสนุนด้วย เพราะถ้าเรามีแต่ความรู้แต่ไม่มีทุนสนับสนุนก็ทำออกมาไม่ได้ครับ”

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก” สมชาย แซ่หมื่อ

ขณะที่สมชายและเด็กจำนวนหนึ่งได้รับโอกาส แต่ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ยังรอโอกาส การทำงานของมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ต้องเข้มข้นขึ้นทุกวัน เพราะโจทย์สำคัญไม่ได้อยู่แค่เรื่องการขาดโอกาสเพียงเพราะเด็กอยู่พื้นที่ห่างไกลอย่างในอดีต แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้นไปพร้อมๆ กับความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้ถ้าหากเด็กๆ เหล่านี้ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วย พวกเขาจะไม่เพียงเป็นคนชายขอบ แต่ยังเหมือนถูกผลักไสออกจนตกหล่นไปจากสังคมก็ได้

จากการช่วยเหลือที่ทำมาหลายสิบปี จึงเดินหน้าสู่โครงการ “เพาะรัก” ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเด็กอย่างมั่นคง ยั่งยืนด้วยการมอบความรัก ความห่วงใย ผ่านการสนับสนุนและให้โอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาชีวิตรอบด้าน การเกิดขึ้นของ “เพาะรัก” นับเป็นการช่วยเหลือเชิงรุกมากขึ้น ในขณะที่ปัญหาเก่ายังต้องแก้ไข ปัญหาใหม่ก็ต้องรับมือ จำนวนเงินบริจาคที่ต้องเพิ่มขึ้นและทดแทนอัตราการยกเลิกของผู้บริจาครายเดิมไปนั้นสำคัญมาก เพราะทุกบาทที่หายไปอาจหมายถึงหนึ่งโอกาสของเด็กคนหนึ่งเช่นกัน

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”

ร่วมบริจาคผ่านมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ฯ โทร. 0 2747 2600 หรือ www.ccfthai.or.th หรือสแกนที่ QR Code นี้

ห่างไกลแต่ไม่ห่างกัน “โอกาส” ที่ “มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.” ยังสานต่อ “เพาะรัก”