สำรวจความมั่นคง "วัตถุดิบพื้นบ้านไทย" ในสถานการณ์ "วิกฤติอาหาร"โลก
ผักหวาน-เห็ดถอบ-ไข่มดแดง และอีกสารพัดอาหารพื้นบ้านไทยยังอยู่ดีไหม? สำรวจคลังอาหารพื้นบ้านไทย ในวันที่วิกฤติอาหารโลกกำลังเป็นประเด็นที่ใครต่อใครต่างจับตา
ในระหว่างที่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน, ราคาน้ำมัน, ต้นทางราคาปุ๋ย และอีก ฯลฯ ทำให้วิกฤติอาหารโลกเป็นประเด็นที่ถูกจับตา ในเวลาเดียวกันนี้ ฝนที่ตกพรำและภาพในเฟสบุ๊คที่เชื่อมร้อยป่ากับเมือง ก็ทำให้หลายคนนึกถึงอาหารพื้นถิ่นตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น เห็ดถอบ เห็ดปลวก ผักกูด ผักหวาน ไข่มดแดง ฯลฯ
แม้อุตสาหกรรมอาหารจะก้าวหน้าไปไกล แต่สำหรับคนไทยที่ยังผูกพันกับท้องถิ่นก็ย่อมคิดถึงอาหารพื้นบ้าน ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนมีที่มาจากวัตถุดิบ “ของป่า” ตามฤดูกาล ทั้งนี้เพราะนอกจากจะเป็นของดี ของอร่อย ยังช่วยคลายความคิดถึงถิ่นบ้านเกิด ทั้งวัตถุดิบตามฤดูกาลยังเชื่อกันว่าปลอดภัยจากสารเคมี สะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพที่ไม่ยอมจำนนกับวัตถุดิบเพียงไม่กี่อย่างซึ่งมาจากระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว
- วัตถุดิบพื้นบ้านยังอยู่ดีไหม?
แน่ว่า ทุกวันนี้วัตถุดิบพื้นบ้านไทยหาซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะมีพ่อค้าคนกลางเดินทางไปรับซื้อและโพสต์ขายในตลาดออนไลน์ โดยบวกค่าบริหารจัดการอยู่ที่ประมาณ 30-40% จากราคารับซื้อ
วา แม่ค้าของป่า จ.สุโขทัย ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์”ว่า ของป่าที่หาได้เป็นไปตามฤดูกาล ปีละ 1 ครั้ง หมดแล้วหมดเลย ยังหาซื้อได้และมีลูกค้าประจำอย่างต่อเนื่อง
เช่น ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ เป็นช่วงของเห็ด ซึ่งจะมีเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติอย่างเห็ดถอบ (เรียกแบบภาคเหนือ) หรือเห็ดเผาะ เห็ดปลวก เห็นโคน แต่ที่นิยมมากที่สุดคือเห็ดถอบ ซึ่งต้องเป็นเห็ดอ่อน ซึ่งมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 500-600 บาท คิดค่าส่งตามจริงโดยบริษัทขนส่งเอกชน
“มีทั้งลูกค้าประจำ เป็นร้านอาหารบ้าง ลูกค้ารายย่อยบ้าง แต่ทั้งหมดก็จะอยู่ในประเทศ ยังไม่เคยส่งไปที่ไหน ส่วนตัวมองว่าอาหารพื้นบ้านแบบนี้ยังพอหาได้ ไม่ได้ขาดแคลน ยิ่งปีนี้ฝนตกมาตั้งแต่ปลายเมษา เห็ดก็ยิ่งขึ้นเยอะ แต่ก็ได้เท่าที่เคยมี ไม่ได้มากขึ้นหรือน้อยลง เพราะทั้งหมดเกิดตามธรรมชาติ”
สำหรับของป่าตามฤดูกาลนั้น จากการสำรวจพ่อค้าคนกลางส่วนใหญ่มักอยู่แถบภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ซึ่งจะเน้นโพสต์ขายสินค้าตามแต่ช่วงเวลา เช่น ฤดูฝนที่จะเน้นไปที่เห็ด ทั้งเห็นถอบ เห็นโคน เห็ดปลวก เห็ดระโงก อึ่งอ่าง
เห็ดถอบหรือเห็ดเผาะ สินค้าขายดีในช่วงฤดูฝน
ช่วงฤดูร้อนถึงปลายเมษายน จะเป็น ไข่มดแดง ราคากิโลกรัมละ 500-600 บาท ผักหวานป่า หน่อไม้
ฤดูหนาว เป็นดอกแค ผักปลัง สะเดา แต่ถึงเช่นนั้นก็มีอาหารที่หากินได้ตลอดทั้งปี เช่น ผักหวานบ้าน หน่อไม้ แมลงทอด
เอก พ่อค้าของป่า จ.อุบลราชธานี ตั้งข้อสังเกตว่า ผลผลิตท้องถิ่นไม่ได้น้อยลง แต่ทุกวันนี้พ่อค้าคนกลางมีจำนวนมากขึ้นท่ามกลางผลผลิตเท่าเดิม ซึ่งส่งผลถึงราคารับซื้อที่สูงขึ้น และเมื่อนำมาจัดส่ง จำหน่ายให้ผู้บริโภคในเมืองก็จะถูกบวกราคาสูงขึ้นตาม เช่น เห็ดถอบกิโลละ 500-600 บาท ในตลาดออนไลน์ แต่ถ้าเป็นตลาดชุมชนราคาไม่ถึงกิโลละ 200 บาท ไข่มดแดง กิโลละ 500-600 บาท ราคารับซื้อจริงอยู่ที่ประมาณ 200 บาท
“ชาวบ้านไปเก็บมาได้เท่าเดิม แต่พ่อค้าเยอะขึ้น มันเหมือนต้องแย่งกันซื้อ เพราะพวกนี้จะมีแค่ปีละครั้ง พอรับซื้อแล้วช่องทางไหนที่คิดว่าจะบวกราคาเพิ่มได้ก็ทำ ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่ราคาในตลาดชุมชนกับราคาที่ขายในออนไลน์จะต่างกันมาก แต่ก็ขายได้เรื่อยๆ นั่นเพราะถ้าไม่ซื้อจากแหล่งนี้ก็ไม่รู้จะซื้อจากที่ไหน ร้านอาหารในเมือง สวนอาหาร ถ้าจะทำเมนูพื้นบ้านก็ต้องหาวัตถุดิบจากในป่าเช่นนี้”
ผักหวาน วัตถุดิบสำคัญสำหรับการทำแกงพื้นบ้าน เช่น แกงผักหวาน แกงป่า แกงอ่อม
แกงป่าผักหวาน ใส่ไข่มดแดง
- วิกฤติอาหารโลก วิกฤติอาหารไทย ?
ธรรมชาติไม่ได้สร้างให้ผักทุกชนิดโตได้ดีตลอดปี การที่เราเห็นผักนอกฤดูกาลบางชนิดเรียงรายในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือท้องตลาดตลอดปี นั่นหมายความว่ามาจากแหล่งเพาะปลูกที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ใช่ผักที่ออกตามฤดูกาลที่ธรรมชาติสร้างให้มันโตในช่วงเวลาที่มีศัตรูธรรมชาติน้อย แข็งแรงทนทาน และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์
ในความกังวลด้านวิกฤตอาหารอย่างที่เป็นอยู่นี้ ถ้าย้อนกลับมาที่วัตถุดิบอาหารพื้นบ้านของไทยว่ายังมีความเป็นอยู่ดีแค่ไหน ก็ต้องตอบว่า ยังอยู่ดี มีพอให้บริโภค หากคำถามต่อมาคือแหล่งอาหารเช่นนี้ เข้าถึงบรรดาประชาชนมากน้อยแค่ไหน?
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย กล่าวถึง คลังอาหารพื้นบ้านว่า จากการสำรวจยังมีความหลากหลาย และผู้ทำเกษตรกรรมรายย่อยก็ต่างมีความรู้และปรับตัวเพื่อสร้างผลผลิตได้ตามฤดูกาล ซึ่งมูลนิถิชีววิถีเคยทำสำรวจและมีตัวเลขในระดับร้อยละ 54 จากคนทำเกษตรกรรมรายย่อยทั้งหมด แต่ถึงเช่นนั้นคนที่เข้าถึงอาหารกลุ่มนี้มีน้อยมากเช่นกัน
นั่นเพราะวิธีการเข้าถึงอาหารของคนไทยมาจาก 4 กลุ่มใหญ่คือ 1.การซื้อจากตลาด หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีจำนวนมากกว่าครึ่ง โดยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-70 2.กลุ่มที่ผลิตอาหารได้เอง ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 15 3.กลุ่มที่เข้าถึงแหล่งฐานทรัพยากร และ 4.กลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายชุมชน รวมกันที่ประมาณร้อยละ 15
“นั่นหมายความว่า ความหลากหลายที่ยังคงอยู่ ตอบสนองชาวบ้านที่เข้าถึงทรัพยากร หรือกลุ่มที่ผลิตอาหารได้เองจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนเมืองหรือคนจนเมือง ยังต้องบริโภควัตถุดิบซึ่งมาจากตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตอยู่ ซึ่งการบริโภคเช่นนี้ แน่ว่าเป็นผลผลิตที่มาจากระบบอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ ดังนั้นแม้ว่า แนวโน้มวิกฤตอาหารโลกจะไม่ได้ส่งผลถึงวัตถุดิบพื้นบ้านของไทย แต่ความหลากหลายที่มีอยู่ก็ไม่ได้ตอบสนองผู้คนส่วนใหญ่จริงๆ” วิฑูรย์สรุป
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (แฟ้มภาพ)
อย่าลืมว่า นอกจากความหลากหลายที่ยังพอมีอยู่ ปัจจัยวัดความมั่นคงทางอาหารคือ การเข้าถึงอาหาร ทั้งในแง่การผลิตเอง และในแง่ความสามารถในการจับจ่ายซื้อหาอาหาร โดยเฉพาะอาหารคุณภาพดี มีความหลากหลาย แต่ถ้าเราเข้าไม่ถึงก็ไม่มีประโยชน์อะไร
“ถ้าไม่เข้าถึงตลาดชุมชน ไม่ได้เพาะปลูก หรือไปหาของได้เอง บรรดาวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ผักหวาน ไข่มดแดง เห็ด แมลง ผักพื้นบ้าน และอื่นๆ ซึ่งเราเรียกว่าเป็นของดีในชุมชนชน ก็จะมีราคาสูง และก็คงมีไม่กี่คนที่เข้าถึงได้บ่อยๆ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ตั้งข้อสังเกต
ภายใต้ประเด็นวิกฤติอาหารโลกที่กำลังถูกจับตา และบรรดาวัตถุดิบพื้นบ้านที่หลายคนกำลังหวนนึกถึง จึงมีทั้งคำถาม ข้อกังวล ที่ต้องติดตามกันต่อไป