รับ pride month ชวนดู "สีรุ้ง" บนถุง "อิเกีย" สะท้อนค่านิยม ที่มากกว่าการตลาด

รับ pride month ชวนดู "สีรุ้ง" บนถุง "อิเกีย" สะท้อนค่านิยม ที่มากกว่าการตลาด

เบื้องหลังดีไซน์ “สีรุ้ง” ทั้งบนถุงช้อปปิ้ง และเสื้อยืดจาก “อิเกีย” ต้อนรับเทศกาล "Pride Month" ที่ไม่ใช่แค่ Seasonal Marketing เอาใจ "LGBTQ+" แต่กำลังขับเคลื่อนองค์กรบนความหลากหลาย ความแตกต่างอย่างเท่าเทียม

"สีรุ้ง" ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างของคนในสังคม เหมือนสีที่มีหลากหลายและสวยงามในแบบของตัวเอง โดยสีรุ้งเป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศในสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสื่อสารเพื่อแสดงพลังและสนับสนุนการยอมรับความหลากหลายเหล่านี้ โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน ที่ถูกยกให้เป็น "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

  •  สีรุ้ง กับ Seasonal Marketing 

เมื่อเข้าเดือนมิถุนายนทีไร เราก็มักจะเห็นหลายแบรนด์จับกระแส Pride Month บ้างก็เปลี่ยนโปรไฟล์เป็นสีรุ้งเพื่อแสดงจุดยืน จัดแคมเปญ ทำโปรโมชั่นต่างๆ รวมไปถึงออกผลิตภัณฑ์ที่สื่อสารว่าแบรนด์มีส่วนร่วมในการสนุนความหลากหลายในสังคม

รับ pride month ชวนดู \"สีรุ้ง\" บนถุง \"อิเกีย\" สะท้อนค่านิยม ที่มากกว่าการตลาด

ในปีนี้ หนึ่งในนั้นคือ "อิเกีย"  ที่เปิดตัวถุงช้อปปิ้งรุ่นพิเศษ STORSTOMMA/สตอร์สต็อมม่า "ถุงหิ้วสีรุ้ง" ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธงสีรุ้งของกิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความเท่าเทียม ถึงแม้จะเรียกกันติดปากว่าสีรุ้ง แต่ธงสีรุ้งของกิลเบิร์ตนั้นมีแค่ 6 สี ไม่ใช่ 7 อย่างที่เราคุ้นเคย ซึ่งรุ้งแต่ละสีสะท้อนความหมายที่แตกต่างกันอออกไป

สีแดงคือชีวิต สีส้มคือการรักษา สีเหลืองคือดวงอาทิตย์ สีเขียวคือธรรมชาติ สีครามคือความสงบ และสีม่วงคือจิตวิญญาณ 

พร้อม "เสื้อคอลเลคชั่นพิเศษ Make the World Everyone's Home" รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 17 พ.ค. 65 - 14 มิ.ย. 65 มอบให้ "สมาคมฟ้าสีรุ้ง" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตรถคลินิกเคลื่อนที่เพื่อบริการตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ที่จำเป็น

  •  เบื้องหลังอิเกีย คือพลังจากความหลากหลาย 

แม้ในระยะหลัง เมื่อได้เห็นการทำการตลาดหรือแคมเปญรับเทศกาล โดยเฉพาะเพื่อการรณรงค์ผ่านแคมเปญต่างๆ สังคมเริ่มมีการตั้งคำถามถึง "ความจริงใจ" ของแบรนด์ ว่ามีความตั้งใจจริง  หรือเพียงแค่อยากเกาะกระแสเท่านั้น?

แต่สำหรับอิเกีย การออกสินค้าข้างต้น ก็ไม่ได้เป็นแค่ Seasonal Marketing ทั่วๆ ไปที่หวังแค่ยอดขาย หรือเพื่อภาพลักษณ์ หรือการรับรู้ของแบรนด์เท่านั้น

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าและเสื้อ คือ "ค่านิยม" ของอิเกีย ที่สะท้อนให้สังคมและองค์กรเห็นความสำคัญของความหลากหลาย แล้วก็ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่แทรกอยู่ในค่านิยมของอิเกียที่ "เชื่อว่าทุกคนมีดี" มานานแล้ว

หนึ่งในปัญหาที่หลายคนเคยเจอ ในบริบทของการ "ทำงาน" หรือ "สมัครงาน" ความแตกต่างหลากหลายถูกจำกัดกรอบตั้งแต่ประกาศรับสมัคร กำหนดรับเพศ ชาย หรือหญิง และปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้สมัครงานอาจถูกปัดตกง่ายๆ ถ้าพฤติกรรมทางเพศไม่ตรงกับเพศสภาพอย่างที่กำหนด

ทว่า อิเกีย (IKEA) เห็นพลังของความแตกต่างนี้จนเรียกได้ว่า "อิเกียมีวัฒนธรรมองค์กรแห่งความเท่าเทียม สร้างโลกให้เป็นบ้านที่ต้อนรับทุกความแตกต่าง" โดยเน้นให้ความสำคัญกับ "ศักยภาพ" ของพนักงาน ไปจนถึงผู้บริหาร ที่เลือกที่จะเป็นและแสดงของได้ในแบบของตัวเอง

รับ pride month ชวนดู \"สีรุ้ง\" บนถุง \"อิเกีย\" สะท้อนค่านิยม ที่มากกว่าการตลาด พูดเรื่องการให้โอกาสทุกความหลากหลายทั้งเรื่องรสนิยมทางเพศ วัย และตัวตนของพนักงาน อิเกีย มักจะเป็นองค์กรแรกๆ ที่ถูกเอ่ยถึง เช่น บทสัมภาษณ์หนึ่งใน "เพจมนุษย์กรุงเทพฯ" ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของ กิจชยา โกศินานนท์ พนักงานฝ่าย ISL (IKEA In-store Logistic) ที่เล่าถึงประสบการณ์ถูกปฏิเสธการเข้ารับทำงานเพราะเรื่องเพศ

"ถ้าบริษัทนั้นปฏิเสธเข้าทำงานด้วยเรื่องความสามารถ เราเข้าใจได้นะ แต่การโดนปฏิเสธด้วยเรื่องเพศ โดยใช้คำว่า 'เราไม่มีนโยบาย' มันเจ็บปวดนะ"

"กลุ่ม LGBTQ+ มีความสามารถกันเยอะนะ แต่ที่ผ่านมาพวกเราถูกจำกัดไว้แค่บางอาชีพ เราเรียนจบเอกภาษาฝรั่งเศส แต่ไม่ได้ใช้สิ่งที่เรียนเลย เสียดายเหมือนกันนะ ถ้าพวกเราได้รับโอกาสมากกว่านี้ มีองค์กรที่มองที่ความสามารถเยอะๆ ตัดเรื่องเพศออกไป เราว่าหลายอย่างในประเทศนี้คงพัฒนาอีกเยอะเลย" กิจชยา กล่าว

รวมถึง พิพัฒน์ เหล่าบุศณ์อนันท์ พนักงานฝ่ายบุคคลของอิเกีย กับประสบการณ์ที่เคยถูกตัดสินเพราะรอยสักนอกร่มผ้ามาแล้ว

สำหรับผมที่อยู่ฝ่ายบุคคล ดูแลน้องๆ สามร้อยกว่าคนในบริษัท รวมทั้งคัดเลือกคนเข้ามาทำงานด้วย สิ่งสำคัญคือความสามารถและประสบการณ์ ผมไม่เคยมองเรื่องรอยสัก ไม่เคยมองที่อัตลักษณ์อื่นๆ หรือแม้แต่วุฒิการศึกษา ผมพิจารณาจากการพูดคุยกันว่า คุณเคยทำงานอะไรมาบ้าง ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ คุณจะแก้ปัญหายังไง

เรามี IKEA Value เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน เราเชื่อในความแตกต่างหลากหลาย มันเป็นเรื่องปกติของสังคมโลกเลย ซึ่งการไม่ปฏิเสธคนเข้าทำงานจากเรื่องภายนอกตั้งแต่แรก องค์กรนั้นจะไม่เสียโอกาสในการเจอคนที่มีความสามารถด้วย"

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าความ "ไม่เหมือน" หรือ "ความต่าง" ของตัวบุคคลไม่ใช่ปัญหาในการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นความแตกต่างหลากหลายของคนในองค์กร ยังส่งผลดีต่อผลลัพธ์และเป้าหมายขององค์กรด้วย

  •  พนักงานที่หลากหลาย ส่งผลดีกับองค์กรอย่างไร ? 

ลีโอนี่ ฮอสกิ้น ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันอิเกียประเทศไทยที่สัดส่วนพนักงานชายและหญิงใกล้เคียงกัน คือ 50:50 ที่ผ่านมาไม่มีการติดตามข้อมูลเรื่องรสนิยมทางเพศ เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่เน้นการให้ความสำคัญกับ "ศักยภาพ" ที่เหมาะกับตำแหน่งงาน

ลีโอนี่ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่องค์กรได้รับเมื่อมีนโยบายที่เปิดกว้างให้พนักงานได้เป็นตัวของตัวเอง แสดงความศักยภาพได้บนความหลายและได้เคารพต่อความต่าง คือไอเดียที่หลากหลาย มุมมองที่แตกต่าง และความน่าตื่นเต้น ดังนั้นการมีวัฒนธรรมที่เข้าใจความแตกต่างหลากหลายจะช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตได้อย่างแตกต่างเช่นเดียวกัน

พร้อมทั้งแชร์ประสบการณ์ของตัวเองว่า ในฐานะที่เธอเป็นผู้นำหญิงและเป็น LGBTQ+ การทำงานในจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น การประชุมกับผู้นำที่เป็นผู้ชายทั้งหมด แต่การยอมรับความแตกต่างของทุกคนในองค์กร ทำให้คนทำงานรู้สึกว่ามีความปลอดภัย แฟร์ และเป็นตัวเองได้เต็มที่ขณะปฏิบัติงาน เช่น นโยบายใช้สิทธิลาคลอด 4 เดือนเต็ม และผู้ปกครองหรือคุณพ่อที่ภรรยาคลอดลูกสามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ 1 เดือนเช่นกัน 

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ที่ผ่านมาความหลากหลายไม่ใช่ปัญหาในการทำงานของอิเกีย สะท้อนจากการวัดผลความสุขของคนในองค์กรในแต่ละปี ที่จะมีแบบสำรวจพนักงาน ที่ให้สะท้อนการมีส่วนร่วมของพนักงาน ความรู้สึก โดยเปรียบเทีบกับทั้งบริษัทท้องถิ่นในระดับโลกและเทียบกับอิเกียเองด้วย ลีโอนี่ เล่าว่าพนักงานพอใจในความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้นในองค์กร ภูมิใจและมีความรู้สึกที่ดีต่อองค์กรด้วย 

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียง "ระหว่างทาง" ในการขับเคลื่อนองค์กรแบบเข้าใจความเป็นมนุษย์ และความแตกต่างหลากหลายของอิเกียเท่านั้น เป็นที่น่าสนใจว่าในระยะยาวความหลากหลายเหล่านี้จะขับเคลื่อนอิเกียต่อไปอย่างไร และนโยบายเหล่านี้จะเริ่มขยายไปสู่สังคมไทยมากน้อยแค่ไหน 

---------------------------------------------

อ้างอิง: เพจมนุษย์กรุงเทพฯ, IKEA, Urbancreature