เปิดความหมาย "สีธง" ของกลุ่มต่าง ๆ ใน "LGBTQIA+"

เปิดความหมาย "สีธง" ของกลุ่มต่าง ๆ ใน "LGBTQIA+"

เปิดที่มาและความหมายของ “สีธง” ของกลุ่ม “LGBTQIA+” และเพศวิถีอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีเพียง “ธงสีรุ้ง” ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีเท่านั้น

นอกจาก “ธงสีรุ้ง” (Rainbow Flag) อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ “LGBTQIA+” ที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว ในแต่กลุ่มเพศวิถีนั้นก็มีธงสัญลักษณ์เป็นของตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งมีสีสันและความหมายที่แตกต่างกันออกไป

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงได้รวบรวมที่มาและความหมายของธงกลุ่มเพศวิถีต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจในความหลากหลายมากยิ่งขึ้น หากใครสนใจและอยากรู้ความหมายของวิถีเพศแต่ละแบบนั้นสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

ธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) 

เริ่มต้นกันที่ “ธงสีรุ้ง” (Rainbow Flag) สัญลักษณ์หนึ่งที่เป็นที่นิยมและมักจะเห็นในการประดับประดาสถานที่ต่าง ๆ ตลอดเดือนมิ.ย. เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ออกแบบโดย “กิลเบิร์ต เบเกอร์” (Gilbert Baker) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาว LGBTQIA+ โดยเบเกอร์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลง “Over the Rainbow” เป็นประกอบภาพยนตร์สุดคลาสสิกเรื่อง “The Wizard of Oz” ขับร้องโดย “จูดี การ์แลนด์” (Judy Garland) นักร้องและนักแสดง ผู้ถูกยกย่องให้เป็นเกย์ไอคอนคนแรก 

รวมถึงเบเกอร์ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ธงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ” (Five Races Under One Union) ที่ใช้ในช่วงการการปฏิวัติซินไฮ่ เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจีน การปฏิวัติได้เปลี่ยนการปกครองของประเทศไปสู่ประชาธิปไตยและสถาปนาสาธารณรัฐจีน ที่เป็นธง 5 สีแนวนอน ประกอบไปด้วยสีแดง เหลือง น้ำเงิน ขาว ดำ

นอกจากนี้ สายรุ้งยังเป็นสิ่งสวยงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แสดงถึงการรวมตัวกันของทุกเฉดสี ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นตัวแทนของมนุษย์ เพราะแต่ละบุคคลก็เปรียบเสมือนสีที่หลากหลาย แตกต่างกันด้วยทั้งเพศสภาพ เชื้อชาติ อายุ และศาสนา 

 

ธงสีรุ้ง ถูกใช้ครั้งแรกในงานพาเหรด “San Francisco Gay Freedom Day” เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2521 ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 สี และแต่ละสีมีความหมายแตกต่างกันออกไปดังนี้ 

  • สีชมพูเฉดฮอตพิงก์ (Hot pink) เป็นตัวแทนของ เพศ (Sex)
  • สีแดง (Red) เป็นตัวแทนของ ชีวิต (Life)
  • สีส้ม (Orange) เป็นตัวแทนของ การเยียวยา (Healing)
  • สีเหลือง (Yellow) เป็นตัวแทนของ แสงอาทิตย์ (Sunlight)
  • สีเขียว (Green) เป็นตัวแทนของ ธรรมชาติ (Nature)
  • สีเทอร์ควอยส์ (Turquoise) เป็นตัวแทนของ เวทย์มนตร์ (Magic)
  • สีน้ำเงินคราม (Indigo) เป็นตัวแทนของ สันติสุข (Serenity)
  • สีม่วง (Violet) เป็นตัวแทนของ จิตวิญญาณ (Spirit) 

หลังจากนั้น ในปี 2522 ธงสีรุ้งก็เหลือเพียง 6 สี ตามที่ใช้อยู่ปัจจุบัน สีชมพูแบบฮอตพิงก์ถูกตัดออก เพราะผ้าสีนี้หายากและมีราคาสูง ขณะที่สีน้ำเงินครามถูกปรับมาเป็นสีน้ำเงิน และสีเทอร์ควอยส์ถูกตัดออก เพื่อให้สามารถใช้ประดับสิ่งต่าง ๆ เช่น เสาไฟตามถนนได้อย่างสมดุล

เปิดความหมาย \"สีธง\" ของกลุ่มต่าง ๆ ใน \"LGBTQIA+\" (ด้านซ้าย) ธงสีรุ้งแบบเก่า, (ด้านขวา) ธงสีรุ้งที่ใช้ในปัจจุบัน

ธงเลสเบี้ยน (Lesbian Flag)

ธงเลสเบี้ยน (Lesbian Flag) แบบ 7 แถบสีที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 2561 โดย “เอมิลี เกว็น” (Emily Gwen) บล็อกเกอร์ชื่อดัง ซึ่งมีด้วยกัน 7 สี โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้

  • สีส้มเข้ม (Dark Orange) เป็นตัวแทนของ ความไม่สอดคล้องทางเพศ (Gender Nonconformity)
  • สีส้ม (Orange) เป็นตัวแทนของ ความเป็นอิสระ (Independence)
  • สีส้มอ่อน (Light orange) เป็นตัวแทนของ ชุมชน (Community)
  • สีขาว (White) เป็นตัวแทนของ ความสัมพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิง (Unique Relationships to Womanhood)
  • สีชมพู (Pink) เป็นตัวแทนของ ความสงบและความสงบสุข (Serenity and Peace)
  • สีชมพูเทา (Dusty Pink) เป็นตัวแทนของ ความรักและเพศ (Love and Sex)
  • สีดอกกุหลาบเข้ม (Dark Rose) เป็นตัวแทนของ ความเป็นผู้หญิง (Femininity)

หลังจากนั้นไม่นาน เกว็นออกแบบธงเลสเบี้ยนเวอร์ชัน 5 แถบสีขึ้นมาด้วย โดยตัดสีส้มเข้มและสีดอกกุหลาบเข้มออก

 

ธงเกย์ (Gay Flag)

ในปี 2562 ผู้ใช้งาน Tumblr ชื่อว่า @gayflagblog ได้ออกแบบธงเกย์ (Gay Flag) ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับธงเลสเบี้ยนที่มีทั้งแบบ 5 แถบ และ 7 แถบสี โดยธงเกย์นั้นใช้เฉดสีเทอร์ควอยส์ เขียว ขาว ฟ้า และม่วงเป็นหลัก โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้

  • เฉดสีเทอร์ควอยส์ (Turquoise) จนถึงสีเขียว (Green) เป็นตัวแทนของ ชุมชน (Community), การเยียวยา (Healing) และความสุข (Joy)
  • สีขาว (White) เป็นตัวแทนของ ความไม่สอดคล้องทางเพศ (Gender Nonconformity), นอนไบนารี (non-binary), และกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender Folks)
  • เฉดสีฟ้า (Blue) จนถึงสีม่วง (Purple) เป็นตัวแทนของ ความรักบริสุทธิ์ (Pure Love) ความแข็งแกร่ง (Fortitude) และความหลากหลาย (Diversity)

อย่างไรก็ตาม มีข่าวลือว่าแท้จริงแล้วผู้ที่ออกแบบธงเกย์นี้เป็น ผู้ที่เกลียดกลัวคนข้ามเพศ (Transphobic) รวมถึงเลียนแบบธงเลสเบี้ยน แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ถูกลบล้างไป และธงเกย์นี้ก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

 

ธงไบเซ็กซวล (Bisexual Flag)

ไมเคิล เพจ (Michael Page) นักเคลื่อนไหวออกแบบธงไบเซ็กซวล (Bisexual Flag) ขึ้นเพื่อต้องการสร้างความตระหนักและเน้นย้ำว่ากลุ่มไบเซ็กซวลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยใช้การซ้อนกับกันของสีที่มักถูกใช้แทนเพศ 

  • สีชมพู ที่ถูกมองว่าเป็นสีของเพศหญิง และยังเป็นตัวแทนของการดึงดูดเพศเดียวกัน
  • สีน้ำเงิน ที่ถูกมองเป็นสีของเพศชาย และยังเป็นตัวแทนของการดึงดูดคนต่างเพศ
  • เมื่อมาผสมกันก็จะได้เป็นสีลาเวนเดอร์ ที่อยู่ตรงกลางของทั้ง 2 สี แสดงถึงการดึงดูดทั้งสองเพศ 

ธงนี้ถูกใช้ครั้งแรกในงานปาร์ตี้เฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปีร้าน BiCafe เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2541

 

ธงทรานส์เจนเดอร์ (Transgender Flag)

ธงทรานส์เจนเดอร์ (Transgender Flag) ออกแบบโดย โมนิกา เฮมส์ (Monica Helms) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวข้ามเพศชาวอเมริกัน โดยธงนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกที่งานไพรด์พาเหรดในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา สหรัฐ 

ธงทรานส์เจนเดอร์นี้ประกอบไปด้วย 3 สี คือ สีฟ้า ที่มีความหมายแทนเด็กผู้ชาย สีชมพูที่มีความหมายเป็นเด็กผู้หญิง และมีสีขาวอยู่ตรงกลางเป็นตัวแทนของผู้ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเพศ ผู้ที่ไม่ระบุเพศ และอินเตอร์เซ็กซ์

เปิดความหมาย \"สีธง\" ของกลุ่มต่าง ๆ ใน \"LGBTQIA+\"

(ซ้ายบน) ธงเลสเบี้ยน, (ขวาบน) ธงเกย์, (ซ้ายล่าง) ธงไบเซ็กชวล, (ขวาล่าง) ธงทรานส์เจนเดอร์

 

ธงเควียร์ (Genderqueer Flag)

มาริลิน ร็อกซี (Marilyn Roxie) ช่างภาพและตากล้อง ได้ออกแบบธงเควียร์ (Genderqueer Flag) รูปแบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ในปี 2554 ก่อนที่จะมีการอัปเดตสีใหม่ในปี 2555 ซึ่ง ธงเควียร์นี้มีด้วยกัน 3 สี คือ

  • สีลาเวนเดอร์ เป็นสีที่ผสมมาจากสีฟ้าและสีชมพูที่ถูกมองว่าเป็นสีของเพศชายและเพศหญิง โดยเป็นตัวแทนของ เควียร์ ที่ในสมัยก่อนเป็นคำพูดในเชิงเหยียดหยามกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตามความหมายดั้งเดิมที่แปลว่าแปลกประหลาด
  • สีขาว เป็นตัวแทนของ ความเป็นกลางทางเพศ และไม่มีเพศ เช่นเดียวกับในธงของทรานส์เจนเดอร์
  • สีเขียวเข้ม เป็นสีตรงข้ามกับสีลาเวนเดอร์ ตัวแทนของกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ 2 เพศ (ไบนารี)

 

ธงเควสชันนิง (Questioning Flag)

ธงเควสชันนิง (Questioning Flag) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกเพศวิถีใด มีด้วยกันหลากหลายแบบ แต่แบบที่คนคุ้นชินและได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ธงที่มีเครื่องหมายคำถามสีขาวโดดเด่นอยู่กลาง ธงที่มี 4 แถบสี คือ ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน ซึ่งออกแบบโดย Swocks ผู้สร้างพื้นที่สำหรับพบปะกันของชาว LGBTQIA+ ในเกม Roblox และถูกใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563

 

ธงอินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex Flag)

ธงของกลุ่ม อินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) หรือ ภาวะเพศกำกวม ออกแบบโดย มอร์แกน คาร์เพนเตอร์ แห่ง องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ที่มีภาวะเพศกำกวมแห่งออสเตรเลีย (Intersex Human Rights Australia) ในปี 2556 

ธงมีวงกลมสีม่วงอยู่ตรงกลางพื้นหลังที่เป็นสีเหลือง โดยสีเหลืองและสีม่วงนั้นเป็นสีที่ไม่ได้ถูกใช้แทนเพศต่าง ๆ อีกทั้งในอดีตยังเคยใช้เป็นสีของกลุ่มอินเตอร์เซ็กซ์อยู่แล้ว ส่วนวงกลมมีความหมายถึงความสมบูรณ์ ความเต็มเปี่ยม และศักยภาพของกลุ่มอินเตอร์เซ็กซ์

เปิดความหมาย \"สีธง\" ของกลุ่มต่าง ๆ ใน \"LGBTQIA+\" (ซ้ายบน) ธงเควียร์, (ขวาบน) ธงเควสชันนิง, (ล่าง) ธงอินเตอร์เซ็กซ์

 

ธงอะเซ็กซวล (Asexual Flag)

ในปี 2553 เครือข่ายการศึกษาและการรับรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มอะเซ็กซวล หรือ AVEN (Asexual Visibility and Education Network: AVEN) ได้จัดการประกวดออกแบบธงเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของกลุ่ม โดยแบบที่ชนะเลิศคือ ธง 4 แถบ ที่มีสีดำ เทา ขาว และม่วง โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้

  • สีดำ เป็นตัวแทนของ ความเป็นอะเซ็กซวล
  • สีเทา เป็นตัวแทนของ พื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างเพศและอะเซ็กซวล
  • สีขาว เป็นตัวแทนของ เพศ
  • สีม่วง เป็นตัวแทนของ ชุมชน

 

ธงอะโรแมนติก (Aromantic Flag)

สำหรับธงของกลุ่มอะโรแมนติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้น ออกแบบโดย “คาเมรอน วิมซี” นักวาดรูปและนักแต่งเพลง ในปี 2557 ซึ่งธงมีด้วยกัน 5 สี โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้

  • สีเขียวอ่อนและสีเขียว แสดงถึงสเปคตรัมของกลุ่มอะโรแมนติก
  • สีขาว (ก่อนหน้านี้เป็นสีเขียว) เป็นตัวแทนของความรักแบบที่ไม่มีความใคร่ (Plantonic Love) และ ความสัมพันธ์
  • สีเทาและสีดำ แสดงถึงสเปคตรัมทางเพศที่มีหลากหลายภายใต้ร่มของอะโรแมนติก

 

ธงอะเจนเดอร์ (Agender Flag)

ในปี 2557 Salam X หนึ่งในผู้ใช้งาน tumblr ได้ออกแบบธงอะเจนเดอร์ (Agender Flag) ซึ่งมีลักษณะเป็นธง 7 แถบที่มีขนาดเท่ากัน ประกอบไปด้วย 4 สี ดังนี้

  • สีดำและสีเทา เป็นตัวแทนของ กลุ่มไร้เพศ (Lack of Gender)
  • สีขาว เป็นตัวแทนของ กลุ่มกึ่งไร้เพศ (semi-genderless)
  • สีเขียวอ่อน เป็นตัวแทนของ กลุ่มนอนไบนารี

เปิดความหมาย \"สีธง\" ของกลุ่มต่าง ๆ ใน \"LGBTQIA+\" (บน) ธงอะเซ็กชวล, (ซ้ายล่าง) ธงอะโรแมนติก, (ขวาล่าง) ธงอะเจนเดอร์

 

ธงนอนไบนารี (Non - Binary Flag)

คาย โรแวน (Kye Rowan) ผู้ใช้งาน Tumblr ได้ออกแบบธงนอนไบนารี (Non - Binary Flag) เมื่อปี 2557 โดยเป็นธง 4 สี ประกอบไปด้วย สีเหลือง สีขาว สีม่วง และ สีดำ ซึ่งมีความหมายดังนี้

  • สีเหลือง เป็นตัวแทนของ กลุ่มเพศวิถีที่อยู่นอกเหนือจากความเชื่อว่าโลกมีเพียงแค่ 2 เพศ (Binary)
  • สีขาว เป็นตัวแทนของ ทุกเพศ
  • สีม่วง เป็นตัวแทนของ กลุ่มคนที่มีเพศแบบผสมผสานระหว่างชายกับหญิง (a male and female mix)
  • สีดำ เป็นตัวแทนของ กลุ่มคนไม่ระบุเพศ หรือ ไม่มีเพศ

 

ธงทูสปิริต (Two-spirit Flag)

ธงทูสปิริต (Two-spirit Flag) แบบที่เห็นบ่อยที่สุดและรู้จักกันในวงกว้างคือ รูปแบบของธงสีรุ้ง ที่มีวงกลมและขนนก 2 เส้นพาดอยู่ ซึ่งออกแบบโดยผู้ใช้งาน Tumblr ที่ชื่อว่า 2Sanon เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2559 โดยวงกลมหมายถึงความสามัคคีและรวมกันเป็นหนึ่ง ส่วนขนนกหมายถึงเพศชายและหญิง ซึ่งอาจจะนำสัญลักษณ์นี้ไปแปะบนธงของทรานส์เจนเดอร์ หรือ นอนไบนารีก็ได้เช่นกัน

 

ธงแพนเซ็กชวล (Pansexual Flag)

แจสเปอร์ วี. (Jasper V.) ผู้ที่ระบุว่าตนเองเป็นเควียร์ นอนไบนารี่ ออกแบบธงแพนเซ็กซวล (Pansexual Flag) ในปี 2553 เป็นช่วงที่แพนเซ็กซวลกำลังเป็นที่พูดถึงในอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะใน Tumblr และในกลุ่มคนรุ่นใหม่ สำหรับธงของแพนเซ็กซวลนั้นเป็นธง 3 แถบ ประกอบด้วยสีม่วงแดง (Magenta) สีเหลือง (Yellow) และ สีเขียวแกมน้ำเงิน (Cyan) โดยมีความหมายดังนี้

  • สีม่วงแดง (Magenta) เป็นตัวแทนของ ผู้ที่ระบุว่าตนเองอยู่ในสเปคตรัมของเพศหญิง โดยไม่คำนึงถึงสรีระทางเพศ
  • สีเหลือง (Yellow) เป็นตัวแทนของ กลุ่มที่ระบุตนเป็นเพศวิถีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชายหรือหญิง
  • สีเขียวแกมน้ำเงิน (Cyan) เป็นตัวแทนของ ผู้ที่ระบุว่าตนเองอยู่ในสเปคตรัมของเพศชาย โดยไม่คำนึงถึงสรีระทางเพศ

 

ธงเดมิเซ็กชวล (Demisexual Flag)

ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ออกแบบธงเดมิเซ็กซวล (Demisexual Flag) แต่เว็บไซต์ Queer in the World ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเพศวิถีต่าง ๆ สันนิษฐานว่าธงนี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2010 ไล่เลี่ยกับธงของอะเซ็กชวล เนื่องจากสีธงเดมิเซ็กชวลนั้นเป็นสีเดียวกับธงอะเซ็กชวล

ลักษณะของธงเดมิเซ็กชวลแตกต่างจากธงอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ที่เป็นเพียงธงแถบสีแนวนอน แต่ธงเดมิเซ็กชวลนั้นมีรูปสามเหลี่ยมสีดำยื่นออกมาทางด้านซ้าย มีเส้นหนาสีขาวด้านบน ตามด้วยเส้นสีม่วงบาง ๆ ตรงกลาง จากนั้นเส้นสีเทาหนาที่ด้านล่าง โดยความหมายของแต่ละสีมีดังนี้

  • สีดำ แสดงถึง อะเซ็กชวล
  • สีเทา แสดงถึง เดมิเซ็กชวล
  • สีขาว แสดงถึง เรื่องเพศ
  • สีม่วง แสดงถึง ชุมชน

เปิดความหมาย \"สีธง\" ของกลุ่มต่าง ๆ ใน \"LGBTQIA+\" (ซ้ายบน) ธงนอนไบนารี, (ขวาบน) ธงทูสปิริต, (ซ้ายล่าง) ธงแพนเซ็กชวล, (ขวาล่าง) ธงเดมิเซ็กชวล

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธงที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเพศวิถีและความหลากหลายทางเพศเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วยังมีธงและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงความหลากหลายทางเพศอีกมากมาย ธงเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อแสดงความภาคภูมิใจในตัวตนของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และพร้อมประกาศให้โลกรู้ว่าพวกเขาคือใครอย่างเต็มภาคภูมิ
 

บทความโดย: กฤตพล สุธีภัทรกุล

ที่มา: AMHERST, BBCGLBT HistoryMarie ClaireOld Dominion UniversityOutRight Action InternationalThe Sydney Morning HeraldUK Gay News, USA Today