อดีตนักรบติดอาวุธ"คองโก" ทิ้งปืนมาทำสวน"กาแฟ"

อดีตนักรบติดอาวุธ"คองโก" ทิ้งปืนมาทำสวน"กาแฟ"

อดีตนักรบ"คองโก"เกือบ 2,400 คนถูกจ้างให้เป็นเกษตรกรปลูก"กาแฟ"บนเกาะโดยสหกรณ์กาแฟ ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นนักรบกองกำลังติดอาวุธ และนี่คือเรื่องราวกาแฟเพื่อสันติภาพ

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความโหดเหี้ยมทารุณของกลุ่มกบฏต่างๆ มากกว่าคุณภาพของกาแฟ แต่มีโครงการหนึ่งพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงชื่อเสียงทางลบของประเทศ

สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมและภูมิประเทศที่เป็นเนินเขา ทำให้เกษตรกรชาวคองโกหลายชั่วอายุคนทำอาชีพปลูกกาแฟอราบิก้าบนเกาะอิจวี่ในทะเลสาบคีวู ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและรวันดา

เมื่อเร็วๆ นี้ อดีตนักรบกลุ่มกบฎจำนวนหลายพันคน ซึ่งรวมทั้งโคโค่ บิคูบา บอกว่า การได้ทำงานบนเกาะอิจวี่ ทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป

“เมื่อเรามาถึงที่นี่ ผู้คนต่างหวาดกลัวเรา” บิคูบา วัย 37 ปีกล่าว “ชีวิตผมเปลี่ยนไป เพราะงานใหม่ที่ผมทำที่นี่ ตอนนี้ผมมีหน้าที่ดูแลเด็ก 6 คนที่กำลังเรียนหนังสือ”

แม้ว่าบิคูบาจะไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยเรื่องราวในอดีตของเขา แต่เขาก็บอกว่า “ผมเสียใจมากที่ทำในสิ่งที่เป็นการทำร้ายประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชุมชนของผม"

อดีตนักรบติดอาวุธ\"คองโก\" ทิ้งปืนมาทำสวน\"กาแฟ\" กิลเบิร์ท มาเกเลเล่ เจ้าของสหกรณ์SCPNCK(ภาพจากFacebook/This Side Up Coffees)

อดีตนักรบกลุ่มกบฎบนเกาะอิจวี่ ส่วนใหญ่มาจากเมืองมาซีซีในจังหวัดนอร์ดคีวู ซึ่งผ่านการสู้รบมาหลายทศวรรษ

องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า มีกองกำลังติดอาวุธมากกว่า 120 กลุ่มปฏิบัติการทั่วภาคตะวันออกของคองโก ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ และมักถูกกองกำลังติดอาวุธหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น

ทิ้งปืนมาทำสวน

ตอนที่บิคูบาและเพื่อนร่วมกองกำลังกบฎมาถึงที่อิจวี่ใหม่ๆ ชาวบ้านบางคนเรียกเขาและเพื่อนๆ ว่าเป็น “ขโมยบ้าง เป็นฆาตกรบ้าง”

แต่หลังจากนั้นพวกชาวบ้านก็หยิบยื่นไมตรีและแสดงความเห็นอกเห็นใจต่ออดีตนักรบมากขึ้น และนั่นทำให้กำลังใจของพวกเขาก็มีมากขึ้นด้วย

“ตอนนี้ความขัดแย้งหรือการสู้รบในป่าลึกอยู่ห่างไกลจากตัวผมมาก และตอนนี้ผมมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงแล้ว” บิคูบา ซึ่งทำงานด้านโลจิสติกส์ในไร่กาแฟ กล่าว

อดีตนักรบเกือบ 2,400 คนถูกจ้างให้เป็นเกษตรกรบนเกาะอิจวี่โดยสหกรณ์ กาแฟ Innovative Coffee (SCPNCK)ในคีวู โดยส่วนใหญ่เคยเป็นนักรบกองกำลังติดอาวุธ แม้ว่าบางคนรวมถึงบิคูบาเคยเป็นทหาร

สหกรณ์ SCPNCK ก่อตั้งขึ้นในภาคตะวันออกของคองโกตั้งแต่ปี 2011 โดยมีเป้าหมาย เพื่อขจัดความอดอยาก ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์และพิทักษ์สายพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์

สหกรณ์ดังกล่าวส่งเมล็ดกาแฟไปขายให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเบลเยียม

อดีตนักรบติดอาวุธ\"คองโก\" ทิ้งปืนมาทำสวน\"กาแฟ\" เกาะอิจวี่ในทะเลสาบคีวู (ภาพโดยMOSES SAWASAWA/BBC)

ปลูกกาแฟเพื่อสันติภาพ

กิลเบิร์ท มาเกเลเล่ เจ้าของสหกรณ์ SCPNCK อธิบายว่า โครงการจ้างอดีตนักรบให้มาทำไร่กาแฟเริ่มต้นขึ้นในปี 2012 โดยเป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มที่จะสร้างสันติภาพในคองโก

นอกจากนี้เขายังต้องการปราบปรามคนลักลอบขนกาแฟจากเกาะอิจวี่ข้ามพรมแดนไปยังรวันดาและนำไปขายข้ามชาติในราคาถูกๆ

เขาภูมิใจที่ SCPNCK มีส่วนช่วยให้อดีตนักรบสามารถหารายได้ด้วยตนเองจากอาชีพที่สุจริต ไม่ใช่จากการลักพาตัวหรือข่มขืน

“ทหารในกองทัพแห่งชาติคองโกทุกคนอยู่ที่นั่น เพราะไม่มีงานทำ" มาเกเลเล่ กล่าว

สหกรณ์กาแฟดังกล่าวได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล เอกอัครราชทูตต่างประเทศหลายคน มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมการทำกาแฟของสหกรณ์ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการทำงาน รวมถึงไมค์ แฮมเมอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกด้วย

อิซาเบล พรีโก้ ผู้ซื้อเมล็ดกาแฟชาวเบลเยียมอธิบายว่า กาแฟอราบิก้าจากพื้นที่นี้ได้รับความนิยม เพราะมีความหนาหรือบอดี้มากๆ และมีรสผลไม้ที่ให้ความเป็นกรดระดับกลาง

เมล็ดกาแฟมาจากต้นกาแฟ ซึ่งมีการปลูกครั้งแรกในเอธิโอเปียเมื่อหลายพันปีก่อน ในการเพาะปลูกกาแฟในยุคปัจจุบัน จะใช้กล้าไม้ปลูกในถุงดิน จากนั้นปล่อยให้โตประมาณ 5 เดือนก่อนที่จะย้ายไปปลูกบนดินหรือในไร่

ภูมิประเทศที่มีพื้นที่ลาดชันอย่างบนเกาะอิจวี่นั้นเหมาะแก่การปลูกต้นกาแฟ เพราะเนินเขาหรือความลาดเอียงช่วยป้องกันไม่ให้ดินพังทลาย

การเดินทางของเมล็ดกาแฟ

โรงตากกาแฟในไร่กาแฟของ SCPNCK ถูกตั้งเรียงรายอยู่กลางไร่ และนั่นคือที่ที่ผลกาแฟสีแดงสุกหรือกาแฟเชอร์รี่ จะถูกนำไปวางไว้หลังจากถูกเด็ดจากต้นด้วยมือ

ฌาคส์ อดีต นักรบติดอาวุธวัย 29 ปี กำลังใช้มือเลือกผลกาแฟที่วางตากไว้ ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการควบคุมคุณภาพเมล็ดกาแฟ โดยกาแฟเชอร์รี่ที่ยังไม่สุกหรือเน่าเสียจะถูกคัดออก สำหรับอุตสาหกรรมกาแฟแล้ว ความแม่นยำในกระบวนการนี้ยิ่งมีมากเท่าไหร่ ผู้ผลิตกาแฟก็จะได้เมล็ดกาแฟที่มีรสชาติดียิ่งขึ้นเท่านั้น

หลังจากตากให้แห้งสนิททั้งเปลือกแล้ว กระบวนการต่อมาคือ การปอกเปลือกชั้นนอกสีแดงของผลกาแฟออกด้วยกระบวนการที่เรียกว่าการสี

ผู้ผลิตเมล็ดกาแฟบางรายใช้การสีแบบเปียกหรือนำผลกาแฟเชอรี่มาแช่ในน้ำหมักข้ามคืนแล้วนำเข้าเครื่องกระเทาะเปลือกจากนั้นนำมาตากให้แห้ง ในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นๆ ใช้การสีแบบแห้งหรือที่เรียกว่า สีแบบธรรมชาติ

SCPNCK ใช้วิธีการสีแบบเปียกซึ่งจะเผยให้เห็นลักษณะโดดเด่นของต้นกำเนิดของเมล็ดกาแฟและปัจจัยแวดล้อมตามธรรมชาติอื่นๆ ของพื้นที่ปลูกที่ส่งผลต่อรสชาติและคุณภาพของกาแฟยามเสิร์ฟ ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ ดิน ความลาดชันของพื้นที่เพาะปลูก

โดยเอากาแฟกะลาหรือผลกาแฟที่เอาส่วนของผนังผลชั้นนอกและผนังผลชั้นกลางออก แต่ยังคงมีผนังผลชั้นในหรือเปลือกชั้นในหรือที่เรียกว่ากะลาติดอยู่ ลอกเมือกของผลกาแฟรวมทั้งเยื่อสีแดงออก หลังจากที่ล้างกาแฟแล้วค่อยนำมาตากให้แห้ง

บิซิมวา คาโบ อดีตทหารที่ผันตัวมาเป็นนักชิมกาแฟ วัย 27 ปี ได้รับมอบหมายให้ดูแลกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟให้ได้มาตรฐานสูงสุด เพราะเพียงแค่หนึ่งหรือสองเมล็ดที่เปรี้ยวก็อาจทำให้รสชาติของเมล็ดทั้งชุดเสียทั้งหมด

ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการผลิตคือ การนำเมล็ดที่ตากแห้งแล้วใส่กระสอบพร้อมจัดส่งต่อไป

กระบวนการคั่วและบดเมล็ดกาแฟมักจะทำขึ้นที่ประเทศปลายทางหรือผู้รับโดยมีผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้ดำเนินการ

อดีตนักรบติดอาวุธ\"คองโก\" ทิ้งปืนมาทำสวน\"กาแฟ\" กาแฟเชอร์รี่ (ภาพจากวิกิพีเดีย)

หวังทวงบัลลังก์ผู้นำการผลิตคืน

“ในช่วงทศวรรษ 1980 เราเคยส่งออกเมล็ดกาแฟไปยังสหรัฐอเมริกา ซูดาน และเอธิโอเปีย” คริสติน มูโกลี เจ้าหน้าที่สำนักงานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแห่งชาติของคองโกกล่าวโดยผลผลิตต่อปีในตอนนั้นอยู่ที่ 500,000 ตัน เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีเพียง 10,000 ตัน

มูโกลี บอกว่า เมื่อหลาย 10 ปีก่อน การจัดการเรื่องการส่งออกอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลคองโก แต่ปัจจุบันสหกรณ์เป็นผู้ดูแล แม้ว่ารัฐบาลมีแผนจะลงทุนในการผลิตเมล็ดกาแฟมากขึ้น

“อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลคองโกไม่สนใจวัฒนธรรมกาแฟมากเท่ากับในอดีต” เธอกล่าว

“เรายังต้องการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งของเรากลับคืนมาจากประเทศผู้ผลิตกาแฟชั้นนำของทวีปแอฟริกาและทั่วโลก” มูโกลี กล่าว

สำหรับอดีตนักรบอย่างบิคูบาแล้ว เขาแค่หวังว่า วิสัยทัศน์ดังกล่าวของสหกรณ์จะช่วยให้การผลิตเมล็ดกาแฟบนเกาะอิจวี่กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

“ผมแค่ขอให้ทางการเพิ่มระบบการรักษาความปลอดภัยในภาคตะวันออกของประเทศให้มากขึ้น เพื่อที่ว่าทหารคนอื่นๆ ที่มีความปรารถนาคล้ายกับผมจะสามารถฉกฉวยโอกาสแบบนี้ได้เช่นกัน” บิคูบา กล่าว

................

ที่มา : เว็บไซต์บีบีซี

ภาพปก :อดีตนักรบติดอาวุธที่ผันตัวมาเป็นชาวสวนกำลังคัดเลือกผลกาแฟ (ภาพโดยMOSES SAWASAWA/BBC