"คำสาป 7 ปี" ศิลปิน "K-POP" สิ่งที่แฟนคลับกลัวมากที่สุด?

"คำสาป 7 ปี" ศิลปิน "K-POP" สิ่งที่แฟนคลับกลัวมากที่สุด?

แฟนคลับต่างใจเต้นตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ เมื่อศิลปิน K-POP รุ่นเดบิวต์ในปี 2558 ใกล้หมดสัญญา โดยเฉพาะเหล่าบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ป ที่อาจจะไม่ต่อสัญญา หรือ อาจจะต่อสัญญาเป็นบางคน หรือถูกยุบวง หลังอยู่ครบอายุสัญญา 7 ปี

ปกติแล้ว อายุสัญญาของศิลปิน K-POP กับค่ายเพลงมักจะอยู่ที่ 7 ปีทำให้เมื่อใกล้ครบอายุสัญญา แฟนเพลงต่างต้องลุ้นกันว่าศิลปินที่ตนเองชื่นชอบนั้นจะต่อสัญญากับค่ายเดิมหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ป ซึ่งมีสมาชิกหลายคนต่อวง ที่ไม่รู้ว่าจะพร้อมใจกันต่อสัญญาครบทั้งวง หรือจะมีเพียงบางคนที่ต่อสัญญา หรือสุดท้ายแล้วทุกคนอาจจะแยกย้ายกันไปหมดและเหลือไว้เพียงความทรงจำเท่านั้น ทำให้หลายคนเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็น “คำสาป 7 ปี” (seven-year curse) อันเป็นเอกลักษณ์ของวงการ K-POP

คณะกรรมการการค้าเพื่อความเป็นธรรมแห่งเกาหลีใต้ หรือ KFTC ได้ออกข้อบังคับไว้ตั้งแต่ปี 2552 ระบุว่า ระยะเวลาสัญญาของศิลปินและคนดังที่มีกับต้นสังกัดจะต้องไม่นานกว่า 7 ปี เพื่อป้องกันการทำสัญญาที่ยาวนานเกินไป และผูกมัดตัวศิลปินจนกลายเป็นสัญญาทาสดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับศิลปินหลายคนในอดีต

เมื่อสัญญาใกล้จะหมด ค่ายต้นสังกัดจะเรียกสมาชิกแต่ละคนเข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว อำนาจการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับตัวศิลปินเองว่าจะต่อสัญญากับค่ายเดิมและเดินหน้าอยู่ร่วมกันเป็นวง หรือถึงเวลาที่จะต้องแยกย้ายกันไปตามเส้นทางของตน ซึ่งการออกจากค่ายนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าวงจะต้องยุบตามไปด้วย เพราะมีหลายวงที่แม้สมาชิกบางคนจะไม่ต่อสัญญากับค่ายเดิม แต่ก็ยังคงอยู่ร่วมเป็นสมาชิกวงอยู่ แม้ว่าการทำงานร่วมกันของต่างสังกัดอาจจะเป็นเรื่องยาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม

แต่ไม่ใช่สำหรับ “GOT7” ที่แม้ทั้ง 7 คนพร้อมใจกันไม่ต่อสัญญากับค่ายเดิมและมีสังกัดใหม่กันหมดแล้วแต่ยังสามารถกลับมาร่วมงานกัน และพึ่งคัมแบ็กไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา

วงเดบิวต์ปี 2558 เริ่มส่งสัญญาณจะไปต่อหรือพอแค่นี้

ในปีนี้ ถึงคิวของศิลปินที่เดบิวต์ในปี 2558 เป็นปีที่มีการเดบิวต์ศิลปินทั้งบอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ปมากกว่า 50 วง เนื่องจากเป็นช่วงที่วงการ K-POP กำลังผลิบานและแพร่ขยายความนิยมไปทั่วโลก แต่ไม่ใช่ทุกวงที่จะประสบความสำเร็จ หลายวงไปไม่ถึงฝั่งฝัน ถูกยุบไปกลางทาง ท่ามกลางการแข่งขันสูง ขณะที่หลายคนผันตัวไปเป็นนักแสดง มีเพียงไม่กี่วงเท่านั้นที่เหลือรอดและสามารถก้าวขึ้นมาศิลปินแถวหน้าวงการ 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การต่อสัญญาของศิลปินเหล่านี้จะถูกจับจ้องจากเหล่าแฟนคลับจำนวนมากทั่วโลก ดังนั้นการไม่ต่อสัญญาและการยุบวงเป็นเหมือนโศกนาฏกรรมของเหล่าแฟนคลับ

หลายวงเริ่มมีความชัดเจนออกมาตั้งแต่ยังไม่หมดสัญญา อย่างเช่น “Seventeenวงบอยแบนด์แถวหน้าของวงการ ที่อัลบั้มล่าสุดพึ่งทำยอดขายทะลุ 2 ล้านชุดไปภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว โดยสมาชิกทั้ง 13 คนพร้อมใจกันต่อสัญญากับต้นสังกัดตั้งแต่ก่อนที่สัญญาจะหมดกว่า 1 ปี

 

เช่นเดียวกับ “N.Flying” วงดนตรีเจ้าของเพลงฮิต “Rooftop” ที่ต่อสัญญาไปตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่วงเกิร์ลกรุ๊ป “DIA” ประกาศยุบวงไปแล้วเมื่อ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ตามมาด้วย “CLC” ที่ประกาศยุบวงไปแล้วเช่นกัน

ทางด้านวงเกิร์ลกรุ๊ป “Oh My Girl” ที่โด่งดังจากการแข่งขันในรายการ “Queendom” และสามารถขึ้นมาเป็นแถวหน้าของวงการได้สำเร็จ แต่เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา WM Entertainment ได้ประกาศว่า “Jiho” หนึ่งในสมาชิกของวงตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับทางค่ายและออกจากวง แต่ Oh My Girl ยังคงดำเนินกิจกรรมต่อไปด้วยสมาชิก 6 คน

ในวันเดียวกันนั้นเอง Starship Entertainment ต้นสังกัดของ “Monsta X” หนึ่งในวงบอยแบนด์ชื่อดังของเจน 3 ได้ประกาศว่ามีสมาชิก 3 คนได้ต่อสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 3 คนกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ทำให้แฟนคลับต่างเป็นกังวลกับทิศทางในอนาคตของวง

ส่วนวงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น “iKONที่พึ่งปล่อยอัลบั้มใหม่ไปเมื่อเดือนที่แล้ว หรือ “Twice” เกิร์ลกรุ๊ปแถวหน้าของเจน 3 นั้นสถานการณ์ยังคงคลุมเครือ ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการเปิดเผยออกมา (ข้อมูลวันที่ 10 มิ.ย. 2565) แฟนคลับก็ได้แต่คาดเดาว่าใครจะต่อสัญญา ใครมีแววว่าจะออกจากวง

 

ต้นสังกัดผู้ตัดสินอนาคตของวง

การที่สมาชิกในวงแต่ละคนเลือกต่อสัญญากับต้นสังกัดหรือไม่นั้น ล้วนส่งผลต่ออนาคตของวงทั้งสิ้น เพราะวงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปทั้งหลาย เกิดจากการที่ค่ายคัดเลือกเด็กฝึกมารวมตัวกัน

“วง K-POP ส่วนมากไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความสนิทสนมกันส่วนตัวหรือรสนิยมทางดนตรีของสมาชิกวง” อี กยู-แท็ก ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเพลงป๊อปและสื่อศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เกาหลี “ในอุตสาหกรรมเพลงป๊อปสากล วงดนตรีมักเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนที่ตั้งวงดนตรีกันในโรงรถ หรือคนที่ชอบในดนตรีแนวเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากวง K-POP ที่ถูกค่ายจับมารวมกันแล้วฟอร์มเป็นวง โดยไม่ได้คำนึงถึงมิตรภาพระหว่างสมาชิกหรือแนวเพลงที่พวกเขาต้องการทำ มันจึงกลายเป็นความสัมพันธ์เชิงธุรกิจไปหมด แม้ว่าภายหลังสมาชิกหลายวงก็กลายเป็นเพื่อนสนิท หรืออยู่กันเป็นเหมือนครอบครัว แต่หลายคนก็เลือกแยกย้ายกันไปหลังหมดสัญญา”

ขณะเดียวกัน มีหลายครั้งที่การยุบวงนั้นไม่ได้ขึ้นจากความต้องการของสมาชิกวง แต่เกิดขึ้นจากค่ายต้นสังกัดไม่ต้องการต่อสัญญากับพวกเขา อาจจะด้วยเหตุผลทางการเงินหรือต้องการเดบิวต์วงใหม่ที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่า

“วงดนตรีฝั่งตะวันตกจะยุบวงก็ต่อเมื่อสมาชิกในวงมีปัญหากัน หรือวงเสื่อมความนิยมไปแล้ว แต่สำหรับวงการ K-POP แม้ว่าสมาชิกอยากต่อสัญญามากแค่ไหน มีแฟนคลับพร้อมสนับสนุนมากเพียงใด แต่ถ้าค่ายเลือกจะไม่ต่อสัญญา วงก็จะถูกยุบภายในชั่วข้ามคืน นี่จึงเป็นจุดอ่อนที่อันตรายของวงการ K-POP”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมาชิกของวงแต่ละคนล้วนมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของวง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริหารค่ายเป็นผู้กำหนดทิศทางให้กับวง K-POP โดยเฉพาะในวงที่สมาชิกเลือกต่อสัญญาไม่ครบ ผู้บริหารจะทำอย่างไรให้วงสามารถดำเนินต่อไปได้

คิม ยอง-แด นักวิจารณ์เพลงกล่าวว่า “สำหรับวงดนตรีฝั่งตะวันตก ส่วนใหญ่ถ้านักร้องนำออกจากวง นั่นก็เท่ากับว่าวงใกล้เดินทางมาถึงจุดจบแล้ว แต่สำหรับวง K-POP ผู้บริหารและค่ายจะเข้ามาดูแลให้วงสามารถไปต่อได้ แม้จะสูญเสียสมาชิกบางคนไป ด้วยการเปลี่ยนแนวเพลงหรือสไตล์ หรือแม้กระทั่งเพิ่มสมาชิกใหม่ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหารว่าจะสามารถทำให้วงอยู่รอดต่อไปได้อีกหรือไม่”
 

ยอง-แด ยังกล่าวอีกว่า “ศิลปินไอดอลสามารถปรับตัวให้เป็นซับยูนิตได้ ดังนั้นเมื่อมีสมาชิกบางคนออกไป สมาชิกที่เหลืออยู่ก็ฟอร์มวงอยู่ด้วยกันในรูปแบบซับยูนิต แม้จะมีคนน้อยกว่าเดิม แต่ก็ยังถือว่าเป็นวงเดิม อาจจะใช้ชื่อคล้ายเดิม หรือเปลี่ยนชื่อไปเลยก็ได้ ช่วยลดแรงเสียดทานจากแฟน ๆ และสร้างการยอมรับได้เร็วขึ้น

ขณะที่กยู-แท็ก ระบุว่า “สำหรับแฟนคลับวงบอยแบนด์ อาจจะเข้าใจดีกับการไม่เห็นสมาชิกบางคนไปพักหนึ่ง เนื่องจากพวกเขาจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหากวันหนึ่งสมาชิกในวงบางคนจะหายไป”

แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะเทียบกันไม่ได้ เพราะการไปรับใช้ชาติ แฟนคลับยังได้ตั้งหน้าตั้งตารอคอยวันปลดประจำการให้สมาชิกกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง ไม่เหมือนกับการไม่ต่อสัญญา ที่แม้จะขาดเพียงใครคนใดคนหนึ่งไป แม้ว่าวงจะดำเนินกิจกรรม แต่ก็แทบจะไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นสมาชิกอยู่ครบดังเดิม

ดังนั้นการไม่ต่อสัญญาของสมาชิกแม้แต่คนเดียวจึงเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่แฟน K-POP มองหาความสัมพันธ์และเคมีระหว่างสมาชิกภายในวง

“มันอาจจะง่าย หากมีการปรับเปลี่ยนสมาชิกและปรับปรุงภาพลักษณ์ของไอดอลในช่วงที่พึ่งเดบิวต์ใหม่ ๆ แต่หลังจากภาพลักษณ์ของวงกลายที่จดจำของแฟนคลับไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงสมาชิกอาจส่งผลกระทบต่ออาชีพของพวกเขา ที่ต้องอาศัยฐานแฟนคลับเพื่อประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในกรณีที่สมาชิกตัวท็อปของวงต้องอำลา อาจจะทำให้วงนั้นไม่สามารถประสบความสำเร็จในระดับเดิมได้อีกต่อไป แต่มันก็แล้วแต่กรณีไป” กยู-แท็กกล่าวเสริม

 

คำสาปที่เป็นตัววัดความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน คำสาป 7 ปี ก็เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของวง ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถอยู่รอดมาได้ถึง 7 ปี กยู-แท็ก กล่าวต่อว่า “เมื่อถึงจุดนี้ ศิลปินเหล่านี้ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นที่ยอมรับในวงการ และที่มีฐานแฟนคลับที่มากเพียงพอ แม้ว่าท้ายที่สุดจะลงเอยด้วยการไม่ต่อสัญญาและแยกย้ายกัน แต่ตราบใดที่วงยังไม่ยุบ พวกเขาก็ยังเดินหน้าต่อไป ก็มีตัวอย่างให้เห็นมากมายที่หลายวงมีอายุมากกว่า 10 ปีและยังได้รับความนิยมอยู่ตลอดมา”

เห็นได้จาก “TVXQ”, “Super Junior”, “EXO”, “CNBLUE”, “T-ARA”, “Apink” และเกิร์ลกรุ๊ปแห่งชาติอย่าง “Girls’ Generation” ที่กำลังจะคัมแบ็กในเดือน ส.ค.นี้ ก็ล้วนแต่เป็นวงที่มีการสูญเสียสมาชิกวงไปทั้งสิ้น แต่ก็ยังคงยืนหยัดสร้างผลงาน และเป็นตำนานอยู่กับวงการ K-POP จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าวงจะมีอายุมากกว่าสิบปีแล้วก็ตาม

“เหล่าไอดอลเจน 2 และ เจน 3 โดยเฉพาะเจน 3 เดินทางกันมาไกลมาก พอเปรียบเทียบกับเจนแรกที่มีอายุงานแทบจะไม่ถึง 5 ปีด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันมีทางเลือกมากมายที่จะทำให้วงไอดอลมีอายุการทำงานที่ยาวนานยิ่งขึ้น” กยู-แท็ก กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: Korea Joongang Daily