สิบหนัง LGBTQ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2022
ชวนดูหนัง LGBTQ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ที่มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ทั้งหนังเควียร์ หนังสตรีนิยม ชีวประวัติของเดวิด โบวี่ หนังของชาวทรานส์ในปากีสถาน หนังที่ก้ำกึ่งระหว่างความ “วาย” กับ “ไม่วาย” และอื่นๆ อีกมากมาย
เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month ทุก ๆ เดือนมิถุนายน ของทุกปี ‘กัลปพฤกษ์’ ขอรวบรวมหนังนานาชาติที่มีประเด็น LGBTQ ในแง่มุมหลากหลายซึ่งเพิ่งจะออกฉายรอบปฐมทัศน์ไปที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี 2022 จำนวนสิบเรื่อง ไว้ให้ได้ติดตามกันเมื่อหนังมีโอกาสได้เข้าฉายในวาระต่าง ๆ กันต่อไป ดังนี้
1) WILL-O’-THE-WISP กำกับโดย Joao Pedro Rodrigues สาย Directors’ Fortnight
หนังที่เรียกได้ว่ามีความเควียร์สูงที่สุดในเทศกาลคานส์ประจำปีนี้ ก็เห็นจะเป็นงานเรื่องใหม่ Will-o’-the-Wisp ของผู้กำกับโปรตุเกส João Pedro Rodrigues ซึ่งถึงแม้จะได้รับการขนานนามจากผู้กำกับว่าเป็น musical fantasy ที่เล่าเรื่องราวจินตนาการฝันที่เป็นจริงของกษัตริย์ Alfredo ในวัยชราที่อยากจะประกอบอาชีพเป็นนักดับเพลิงเสียเหลือเกิน กลับมีกลิ่นอายของการเป็นเทพนิยายผสมหนังโป๊อีโรติกสำหรับชายเกย์เสียมากกว่า
เพราะเหตุผลที่แท้จริงของพระประสงค์ในการเป็นนักดับเพลิงมิใช่เพราะต้องการช่วยเหลือผู้คนจากเปลวอัคคี แต่เพราะอาชีพนี้มันช่างทำให้ผู้ชายแลดูเซ็กซี่ไปทุกอิริยาบถมากกว่า หนังจึงมุ่งเน้นการจับจ้องเรือนร่างกึ่งเปลือยไปจนถึงเปลือยหมดจดของผู้ชาย ลามไล่ไปจนถึงฉากสลับหัวหางผลัดกันกระทำโอษฐกามกันกลางป่าอย่างโจ๋งครึ่ม ปลดปล่อยความต้องการเบื้องลึกแห่งจอมราชันที่ถูกปิดกั้นมานาน ในหนังที่แสดงอิสระเสรีแห่งวิถีเพศระดับสมบูรณ์เรื่องนี้
2) FEMINIST RIPOST กำกับโดย Marie Perennes และ Simon Depardon สาย Special Screening
หนังสารคดีแสดงกิจกรรมทางอุดมการณ์ของเหล่าสตรีนิยมหรือ Feminism ในฝรั่งเศสยุคปัจจุบัน ซึ่งถึงแม้ว่ากระแสสตรีนิยมจะเริ่มก่อตัวขึ้นก่อนที่ Simone de Beauvoir จะเขียนหนังสือ The Second Sex (1949) ออกมาเสียด้วยซ้ำ แต่กลุ่มสตรีนิยมในยุคแห่งโควิด-19 นี้ ก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยนัดหมายกันในยามค่ำคืน เพื่อช่วยกันเขียนถ้อยคำประกาศข้อความด้วยหมึกดำลงบนกระดาษ A4 แนวตั้งแผ่นละตัวอักษร แล้วออกไปติดตามจุดต่าง ๆ ของเมือง
กระตุ้นเตือนให้สังคมได้รับรู้ว่าสตรีในยุคปัจจุบันยังไม่ได้ความเท่าเทียมประการใดบ้าง และแน่นอนว่าหลาย ๆ นางในกลุ่มสตรีนิยมร่วมสมัยเหล่านี้ก็ประกาศตนเองอย่างชัดเจนว่าเป็นหญิงเลสเบี้ยนที่ยังต้องส่งเสียงเรียกร้องไม่แพ้สตรีรักต่างเพศคนอื่น ๆ
3) MOONAGE DAYDREAM กำกับโดย Brett Morgen สาย Midnight Screening
สารคดี Rockumentary เล่าเรื่องราวชีวิตในเส้นทางสายดนตรีที่แสนจะประหลาดพิสดารของนักร้องดังชาวอังกฤษ David Bowie ผู้เคยประกาศตนเองไว้ไม่ปล่อยให้ใคร ๆ ต้องคาดเดาว่าเขาเป็นไบเซ็กชวล ดังนั้นอย่าได้ประหลาดใจถ้าจะเห็นเขาแต่งหน้าแต่งตา หรือสวมเสื้อผ้าอาภรณ์แบบสตรีวิถีพังค์ขึ้นเล่นคอนเสิร์ต
โดยสารคดีของ Brett Morgen เรื่องนี้ ก็ตีแผ่ให้เห็นเลยว่า รสนิยมทางเพศที่มีความเลื่อนไหลของ David Bowie มีอิทธิพลต่อแนวทางดนตรีและวิธีการร้องการแสดงของเขาอย่างไร กลายเป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์สำคัญที่ทำให้นักร้องหนุ่มคนนี้ไม่มีทางเหมือนใครและจะไม่มีใครทำได้เหมือน
4) THE BLUE CAFTAN กำกับโดย Maryam Touzani สาย Un Certain Regard
หนังเล็ก ๆ จากโมร็อกโก เรื่องนี้ เล่าเรื่องราวที่ชวนให้นึกถึง Eyes Wide Open (2009) ของ Haim Tabakman จากอิสราเอลเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นเรื่องความรักระหว่างชายวัยกลางคนเจ้าของกิจการ กับลูกจ้างหนุ่มที่ต้องแอบคบหากันในสังคมเคร่งศาสนา
โดยใน The Blue Caftan ตัวละครเอก Halim เปิดร้านตัดเสื้อคลุมคาฟทานในตลาดเมดินา ร่วมกับ Mina ศรีภรรยา แต่กลับแอบเสน่หา Youssef ผู้ช่วยหนุ่มที่เพิ่งจะเข้ามาสมัครงาน ทว่าพวกเขาน่าจะเก็บความลับนี้ไม่ได้นาน เมื่อ Mina เริ่มระแคะระคายความสนิทสนมเกินนายจ้าง-ลูกจ้างของชายทั้งสอง ในขณะที่เธอเริ่มมีอาการป่วยจนต้องการการดูแลจาก Halim มากขึ้น ๆ
หนังเล่าเรื่องราวลับ ๆ ในโลกมุสลิมที่หลาย ๆ จุดก็อาจจะดูโลกสวยจนเกินไป แต่การแสดงอันลุ่มลึกของนักแสดงฝ่ายชายก็ช่วยให้หนังมีมิติที่น่าสนใจและน่าจะถูกใจสมาชิกชมรมนิยมหนังวายได้อยู่
5) BURNING DAYS กำกับโดย Emin Alper สาย Un Certain Regard
จริง ๆ แล้วหนังจากตุรกีเรื่องนี้มีรูปแบบเป็นงานแนวสืบสวนสอบสวนของตัวละครหลัก Emre อัยการหนุ่มหล่อรุ่นใหม่ไฟแรง เมื่อเขาต้องเข้ามาพัวพันกับกรณีคอร์รัปชันของนายกเทศมนตรีเมืองบัลคายา อนาโตเลีย ในตุรกี ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำอุปโภคอย่างหนัก แถม Emre ยังถูกล่อลวงให้เข้ามาติดบ่วงกรณีข่มขืนสตรีท้องถิ่นขณะมึนเมา โดยเขามี Murat นักข่าวท้องถิ่นมาดหล่อเซอร์คอยให้ความช่วยเหลือ และปกป้องเขาจากการถูกแว้งกัด
ซึ่งที่ตัวละครหลัก ทั้ง Emre และ Murat ต่างก็เป็นหนุ่มหล่อชวนฝันด้วยกันทั้งคู่ก็มิใช่เรื่องบังเอิญ เพราะบทหนังใช้รายละเอียดในส่วนนี้ให้ทั้งคู่ต้องตกเป็นขี้ปากชาวบ้านว่าแอบมีความสัมพันธ์ถึงขั้นถอดเสื้อถอดผ้าอาบน้ำอาบท่าชำระล้างร่างกายให้ กระทั่ง Emre อาจต้องยอมรับว่าเขาเป็นชายรักชายจริง ๆ เพื่ออย่างน้อยก็ให้รอดจากคดีข่มขืนผู้หญิง
เรียกได้ว่าเป็นหนังสืบสวนสอบสวนที่ใช้ความสัมพันธ์ชายรักชายระหว่างสองหนุ่มมาเป็นกลไกในการเดินเรื่องได้อย่างชาญฉลาด สะท้อนทัศนคติต่าง ๆ ที่มีต่อความสัมพันธ์แบบชาย-ชายของสองหนุ่มหล่อในตุรกีได้เป็นอย่างดี
6) JOYLAND กำกับโดย Siam Sadiq สาย Un Certain Regard
นับเป็นหนังเรื่องแรกจากประเทศปากีสถานที่ได้เข้าร่วมฉายในสายทางการของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และแม้จะเป็นเรื่องแรกแต่ก็สร้างประวัติศาสตร์ด้วยเนื้อหาที่จัดว่า ‘แรง’ จนสามารถคว้ารางวัล Queer Palm สำหรับหนัง LGBTQ ยอดเยี่ยมประจำเทศกาลปีนี้ไปได้ในที่สุด
Joyland เล่าเรื่องราวชีวิตของ Haider บุตรชายของครอบครัวใหญ่ในลาฮอร์ที่มีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้ว แต่ยังงอมืองอเท้าอยู่กับบ้านไม่ยอมทำมาหากิน แรงกดดันของครอบครัวปิตาธิปไตยที่ฝ่ายชายจะต้องเลี้ยงดูครอบครัวทำให้ Haider จำเป็นต้องออกหางานทำ
สุดท้ายเขาก็ได้งานเป็นหางเครื่องชายในโรงระบำจ้ำบ๊ะให้กับ Biba ทรานส์สาวดาวเด่นแห่งโรงละคร แต่ Haider จะสามารถปริปากบอกครอบครัวของเขาได้หรือว่าเขาทำงานอะไร โดยเฉพาะเมื่อเขาเริ่มแอบเผลอมีใจให้กับ Biba ผู้มีพระคุณ!
เนื้อหาที่ว่าด้วยโลกโลกีย์ในปากีสถานถือว่าแปลกใหม่และล้ำมาก ๆ สำหรับหนังจากประเทศนี้ โดยเฉพาะตัวตนของบุคคลที่เรียกตัวเองว่าทรานส์ และการเลื่อนไหลทางเพศที่สวนทางกับวัฒนธรรมความเชื่อเดิมของคนส่วนใหญ่ในชาตินี้ได้อย่างแสนท้าทาย
7) PACIFICTION กำกับโดย Albert Serra สายประกวดหลัก
หนังที่เรียกได้ว่าน่าจะแปลกประหลาดและพิสดารมากที่สุดในสายประกวดหลักประจำปีนี้
Benoît Magimel รับบทนำเป็น de Roller กรรมาธิการหนุ่มฝรั่งเศส ที่เดินทางมายังรีสอร์ทแห่งหนึ่งบนเกาะตาฮิติ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อสืบหาว่ากองทัพเรือฝรั่งเศสมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการขนย้ายโสเภณีและการทดลองระเบิดนิวเคลียร์บนน่านน้ำแปซิฟิกหรือไม่ และได้พบกับ Morton (รับบทโดย Sergi López )เจ้าของไนท์คลับที่มีทั้งนักเต้นหญิงและชายในชุดนุ่งน้อยห่มน้อยคอยเอนเตอร์เทนแขก
แต่ตัวละคร LGBTQ ที่โดดเด่นที่สุดก็เห็นจะเป็น Shannah สาวทรานส์ชาวเกาะสวยคมที่ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับ ณ รีสอร์ทแห่งนั้น ที่ทำให้ de Roller รู้สึกหึงหวงเมื่อ Shannah เริ่มสนิทสนมกับแขกชาวโปรตุเกสคนหนึ่งมากเกินไป ถึงขั้นมาขอดื่มสุรา ณ บ้านพักของเธอ สร้างบรรยากาศในแบบเควียร์ ๆ ได้อย่างมากมาย ในหนังที่เหมือนจะสนใจถ่ายทอดสภาพแวดล้อมอันอึมครึมขมุกขมัวมากกว่าจะมุ่งเน้นการดำเนินเรื่องของผู้กำกับสายอาร์ตอย่าง Albert Serra เรื่องนี้
8) FOREVER YOUNG กำกับโดย Valeria Bruni Tedeschi สายประกวดหลัก
Patrice Chéreau (1944-2013) เป็นผู้กำกับละครเวที อุปรากร และภาพยนตร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส เขาเปิดเผยตัวตนอย่างชัดเจนว่ามีรสนิยมทางเพศเป็นเกย์ แม้ว่าจะสนใจเล่าเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงเสียมากกว่า
หนังเรื่อง Forever Young ของผู้กำกับหญิง Valera Bruni Tedeschi ได้นำพาผู้ชมย้อนเวลาไปสำรวจการเรียนการสอนในโรงเรียนการแสดงชื่อดัง Les Amandiers ณ กรุงปารีสช่วงปลายยุค 1980s ที่ Patrice Chéreau เป็นหนึ่งในผู้ดูแล
โดยหนังแสดงให้เห็นทั้งความเข้มงวด และการเป็นคนเจ้าอารมณ์ตามประสาศิลปินของ Patrice Chéreau เอง จนทำให้ลูกศิษย์หัวหมุนไปตาม ๆ กัน ไล่ไปถึ
งความสัมพันธ์ระหว่าง Patrice Chéreau กับเพื่อนอาจารย์หนุ่มของเขาในสถาบัน
นักแสดงหนุ่ม Louis Garrel จากที่เคยรับบทบาทเป็นผู้กำกับ Jean-Luc Godard มาแล้วในหนังเรื่อง Le redoutable (2017) ของผู้กำกับ Michel Hazanavicius ก็ได้มาสวมบทบาทเป็นผู้กำกับ Patrice Chéreau ด้วยในเรื่องนี้
9) TCHAIKOVSKY’S WIFE กำกับโดย Kirill Serebrennikov สายประกวดหลัก
หนังที่ใช้ประเด็นความเป็นรักร่วมเพศของตัวละครหลักมาเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องมากที่สุดในสายประกวดปีนี้ก็เห็นจะเป็นเรื่อง Tchaikovsky’s Wife ของผู้กำกับ Kirill Serebrennikov จากรัสเซีย ซึ่งตั้งใจเล่าเรื่องราวความบอบช้ำทางใจของ Antonina สตรีที่ตกลงปลงใจแต่งงานอยู่กินกับคีตกวี Pyotr Tchaikovsky เพียงเพื่อบังหน้าโดยที่เขาหาได้มีหัวใจให้เธอเลย
ทว่าลึก ๆ แล้ว Antonina มั่นใจอยู่ตลอดเวลาว่าความดีของเธอจะเอาชนะหัวใจที่นิ่งเย็นเป็นน้ำแข็งของ Tchaikovsky ได้ ในขณะที่ทุกคนรู้แฟนคลับก็รู้ว่า Tchaikovsky มีรสนิยมทางเพศเป็นอย่างไร และเธอมีบทบาทอย่างไรในชีวิตของเขา
หนังเสียดเย้ยความล้มเหลวอุดมการณ์การเปลี่ยนวิถีเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวตนของแต่ละบุคคลได้อย่างเจ็บแสบ และแสดงความเป็นเกย์ออกมาด้วยลีลาการกำกับที่อาศัยร่างกายเปลือยเปล่าของผู้ชายขณะกำลังร่ายระบำด้วยท่าพิสดารผ่านวิสัยทัศน์และมุมมองที่มีแบบฉบับเฉพาะตัวของผู้กำกับ Kirill Serebrennikov
10) CLOSE กำกับโดย Lukas Dhont สายประกวดหลัก
สำหรับหนัง LGBTQ ที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดประจำเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นหนัง coming-of-age สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคู่เด็กชาย ที่จริง ๆ แล้วจะมองว่า ‘วาย’ หรือ ‘ไม่วายเลย’ ก็ได้ เรื่อง Close ของผู้กำกับ Lukas Dhont จากเบลเยียม
เพราะหนังสามารถคว้ารางวัล Grand Prix ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่เป็นรองเพียงแค่รางวัลปาล์มทองคำไปได้ หลังโกยกระแสตอบที่ดีทั้งจากการฉายรอบสื่อและรอบสำหรับผู้ชมที่ร่วมงาน ที่บอกว่าจะมองเป็นหนังวายหรือไม่วายก็ได้
เนื่องจากตัวละครหลักในเรื่อง Leo และ Remi เป็นเด็กชายอายุเพียง 13 ปี ที่ยังไม่ถึงช่วงวัยตื่นตัวทางเพศเสียด้วยซ้ำ แต่ทั้งคู่อยู่บ้านใกล้กัน ปั่นจักรยานไปกลับโรงเรียนด้วยกันทุกวัน สนิทสนมกันจนเจอใครที่ไหนก็ต้องเจออีกคนที่นั่นเป็นเงาตามตัว และที่สำคัญคือทั้งคู่มีความสุขที่จะได้ใช้เวลาร่วมกัน โดยไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่ามันคือความสัมพันธ์แบบชายรักชายที่ใคร ๆ ต่างขนานนามไว้หรือไม่
เมื่อความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นที่สงสัยของเพื่อนร่วมชั้นจนมีคนเอ่ยปากถามว่าพวกเขาเป็น ‘คู่จิ้น’ กันใช่ไหม เรื่องเลยลุกลามบานปลายทำให้ทั้งคู่เกิดความอึดอัดที่จะเป็นเพื่อนซี้กันต่อไป สร้างรอยร้าวฉานที่สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน
หนังเล่าทุกอย่างได้สมจริงผ่านการแสดงอันวิเศษชวนให้เชื่อได้ทุกอารมณ์ความรู้สึกของนักแสดงเด็กทั้งสอง จนผู้ชมอาจจะต้องร้องไห้เสียน้ำตาไปพร้อม ๆ กับตัวละครในเรื่องกันเลยทีเดียว
หนังเรื่องนี้มีผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว คือ บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล และน่าจะเข้าโรงฉายในบ้านเราภายในปีนี้
นอกเหนือจากหนังทั้ง 10 เรื่องนี้แล้ว เทศกาลคานส์ประจำปีนี้ ยังมีหนังเรื่องอื่น ๆ ที่กล่าวถึงตัวละคร LGBTQ อย่างสั้น ๆ ไว้ด้วย เช่น หนังรางวัลปาล์มทองคำ Triangle of Sadness ของผู้กำกับ Ruben Östlund ได้แสดงให้เห็นว่าโลกของอุตสาหกรรมแฟชั่นต่างอยู่ภายใต้รสนิยมของกลุ่มเกย์ทั้งที่เป็นสไตลิสท์ และพิธีกรดำเนินรายการ
เรื่อง Dodo ของผู้กำกับ Panos H. Koutras เกี่ยวกับอภินิหารนกโดโด้ที่มาป่วนสมาชิกในคฤหาสน์สุดหรูไฮโซ และ The Vagabonds ของผู้กำกับ Doroteya Droumeva เกี่ยวกับสาวใหญ่หุ่นเซี๊ยะที่ตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ยอมแก่ และจะเป็นอมตะด้วยการมีความสัมพันธ์กับหนุ่มกระทงตลอดไป ต่างก็มีตัวละครทรานส์ ร่วมเป็นตัวละครสมทบด้วย
สำหรับหนังชนะรางวัล Un Certain Regard Award เรื่อง The Worst Ones ของสองผู้กำกับหญิง Lise Akoka และ Romane Gueret ก็มีฉากแฟนตาซีที่เด็กผู้ชายจอมวายร้ายเป็นฝ่ายตั้งครรภ์
ปิดท้ายด้วยหนังใหม่เรื่อง Masquerade ของผู้กำกับ Nicolas Bedos ที่ได้นักแสดงสวยอมตะ Isabelle Adjani มารับบทใกล้ตัวเป็นนักแสดงรุ่นใหญ่วัยเกษียณ ก็เคยมีสามีที่แอบพาหนุ่ม ๆ มาเล่นน้ำในสระแล้วหาจังหวะทีเผลอเล่นจ้ำจี้กันเองจนโดนไล่ตะเพิดออกจากคฤหาสน์ ซึ่งอาจเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็มีความสำคัญต่อจุดเปลี่ยนของเนื้อหาเรื่องราวไม่น้อยเลยทีเดียว!