รู้จัก "Jar of Life" เมื่อเวลามีจำกัด เปิดวิธีจัดลำดับความสำคัญในชีวิต
"เวลา" 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน คุณ "บริหารเวลา" ได้คุ้มค่าแค่ไหน? ชวนรู้จัก "Jar of Life" แนวคิดที่มาจากพื้นฐานว่า เวลาของคนเรามีจำกัด จึงควรจัดลำดับความสำคัญให้ดีทั้งในเรื่องงานและเรื่องการใช้ชีวิต
เชื่อว่ามีหลายคนกำลังอินกับแนวคิด "Jar of Life" ที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่อย่าง "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ได้เอ่ยถึงอยู่เสมอ โดยคำคุ้นหูที่เป็นคีย์เวิร์ดครองใจชาวกรุงก็คือ "หินก้อนใหญ่สำคัญที่สุดให้ทำก่อน" ซึ่งก่อนหน้านี้ ชัชชาติ ได้พูดถึงในหลายกรณี เช่น
การตื่นไปวิ่งตอนเช้า (การออกกำลังกาย) เป็นหินก้อนใหญ่ในชีวิต สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ตื่นขึ้นมาทำให้จบก่อน รวมถึงการเดินทางไปร่วมงานรับปริญญาของลูกชายที่ต่างประเทศเมื่อครั้งล่าสุด ชัชชาติก็ได้พูดผ่านสื่อโซเชียลว่า ที่ตนตัดสินใจลางานไปหาลูกชายเพราะครอบครัวก็เป็นเหมือนหินก้อนใหญ่ในชีวิตเช่นกัน
แล้วคำว่า "หินก้อนใหญ่" คืออะไร? เกี่ยวโยงกับแนวคิด "Jar of Life" อย่างไร? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนคนที่ยังไม่รู้หรือมีข้อสงสัยเรื่องนี้ มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เรื่องเล็กๆ แบบไหน.. ที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ทำได้เลย
- "ชัชชาติ" ประกาศคำสั่ง กทม.ออก 9 มาตรการสกัด "กัญชา-กัญชง" โรงเรียนในสังกัด
- มองแนวบริหาร “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผ่านหนังสือที่อ่าน ก่อนเป็นผู้ว่าฯ กทม.
1. แนวคิด "Jar of Life" คืออะไร?
Jar of Life หรือ Pickle Jar Theory เป็นแนวคิดการบริหารเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการเลือกและลำดับความสำคัญสิ่งต่างๆ ในชีวิตให้เหมาะสม รวมถึงนำไปปรับใช้ในการทำงานในแต่ละวันผ่านการเปรียบเทียบด้วยขวดโหลเปล่า หินก้อนใหญ่ กรวด และทราย ซึ่งแต่ละอย่างมีความหมายดังนี้
- ขวดโหลเปล่า เปรียบเหมือน “เวลา” ที่เรามีอยู่อย่างจำกัดในชีวิตประจำวัน
- หินก้อนใหญ่ เปรียบเหมือน “สิ่งที่สำคัญมากที่สุด” ในชีวิต จะมีผลร้ายแรงต่อชีวิตหากเราขาดสิ่งเหล่านี้ไป เช่น ครอบครัว ความสัมพันธ์ สุขภาพ เพื่อน
- หินกรวด เปรียบเหมือน “สิ่งสำคัญรองลงมา” ในชีวิต ซึ่งหากขาดสิ่งนี้ไปเราก็ยังคงอยู่ได้ และชีวิตก็ยังคงเต็มเปี่ยมจากหินก้อนใหญ่ เช่น อาชีพการงาน บ้าน รถ งานอดิเรก
- ทราย เปรียบเหมือน “สิ่งสำคัญน้อยที่สุด” ในชีวิต มีก็ได้ไม่มีก็ได้ ไม่มีผลร้ายแรงต่อชีวิต เช่น ความสุขจากการได้ครอบครองสิ่งของที่อยากได้ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นโซเชียลมีเดีย
แต่ทั้งนี้ การจัดลำดับความสำคัญที่สุดในชีวิตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อาจจะขึ้นอยู่กับช่วงวัย ประสบการณ์ชีวิต และสภาพสังคมของแต่ละคน แต่ในภาพรวมคนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ "ครอบครัว"
2. รู้จัก "Jar of Life" ในโลกการทำงาน
นอกจากการนำแนวคิด Jar of Life มาเป็นหลักในการบริหารจัดการเวลาและความสำคัญในชีวิตแล้ว ยังสามารถนำมาปรับมาใช้กับการทำงานของ "พนักงานออฟฟิศ" หรือมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายได้ด้วย เนื่องจากบางครั้งคุณมักเจอปัญหาการเสียเวลาไปกับงานเล็กๆ น้อยๆ มากเกินไป ทำให้งานที่สำคัญจริงๆ ไม่เสร็จตามเป้าหมาย หรืออาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
โดยแนวคิดนี้ช่วยปรับปรุงการบริหารเวลาในการทำงานในแต่ละวันให้ดีขึ้นได้ โดยเปรียบเทียบขวดโหล หินก้อนใหญ่ กรวด และทราย ในบริบทของการทำงาน ดังนี้
- ขวดโหลเปล่า เปรียบเหมือน “เวลา” ที่เรามีอยู่อย่างจำกัดในแต่ละวัน
- หินก้อนใหญ่ เปรียบเหมือน เป็นงานขนาดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงหากไม่เสร็จสิ้นอย่างถูกต้องและตรงเวลา นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว งานที่เป็นหินก้อนใหญ่นี้มักเป็นงานเฉพาะทางที่คุณเท่านั้นที่ทำมันได้
- หินกรวด เปรียบเหมือน งานเล็กๆ ที่คุณต้องจัดการทุกวัน ซึ่งจำเป็นต้องทำให้เสร็จ แต่สามารถเลื่อนไปวันอื่นหรือมอบหมายงานได้ตามต้องการ
- ทราย เปรียบเหมือน การเช็กอีเมล โทรศัพท์ และการแจ้งเตือนทางโซเชียลมีเดีย
3. วิธีบริหารเวลาในการทำงานแบบ "Jar of Life"
จากการเปรียบเทียบขวดโหล หินก้อนใหญ่ กรวด และทรายข้างต้น คราวนี้ลองมาดูตัวอย่างกันบ้าง ลองนึกภาพเหตุการณ์ตามนี้ หากคุณได้รับการแจ้งเตือนว่ามีอีเมลเข้ามาในกล่องจดหมายของคุณ เป็นเรื่องปกติที่จะหยุดและดู และอาจเกิดการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน 4-5 นาที เกี่ยวกับเนื้อหาในอีเมลนั้น หรือการมีงานแทรกเข้ามาระหว่างที่ทำงานหลักอยู่ หรือแม้แต่การพูดคุยระหว่างวัน การประชุมที่ไม่จำเป็น ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้คุณเสียเวลามากขึ้นในตอนท้ายของวัน ส่งผลให้งานหลักไม่เสร็จ ผิดพลาด และอาจเกิดความเสียหายได้
วิธีแก้ไขคือ ให้คุณย้อนกลับไปทำตามแนวคิด Jar of Life เริ่มจากใส่หินก้อนใหญ่ลงในขวดโหลก่อน คือ การทำงานหลักให้เสร็จก่อน ไม่ว่าจะมีอีเมลเข้ามา มีแจ้งเตือนแชท หรือเพื่อนชวนคุย หรืองานแทรก (ที่ไม่สำคัญ) ก็ให้ละวางสิ่งเหล่านั้นไปก่อน เมื่องานหลักเสร็จแล้ว ค่อยจัดการงานแทรกอื่นๆ ที่เข้ามา จากนั้นค่อยไปเช็กอีเมล หรือเช็กการแจ้งเตือนในโซเชียลมีเดียต่างๆ
กรณีงานแทรกที่เข้ามาเป็นงานด่วนและสำคัญ ต้องทำทันทีเช่นกัน ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน และปรึกษาทีมว่าต้องการให้งานชิ้นไหนเสร็จก่อนหลัง จากนั้นให้ลงมือทำตามลำดับ ดังนั้น แนวคิดนี้จึงไม่ใช่แค่การเตือนให้เรารู้ตัวว่ากำลังวางแผนการทำงานผิดเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างกรอบการทำงานให้ถูกต้องเหมาะสมมากขึ้นด้วย
4. "ชัชชาติ" ถ่ายทอดแนวคิดนี้ให้นักศึกษาฝึกงาน
ล่าสุด! "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด ได้กล่าวให้โอวาทนักศึกษาฝึกงานในวันที่ 16 มิ.ย. 65 โดยมีบางช่วงบางตอนได้กล่าวถึงแนวคิด "Jar of Life" ไว้ด้วยว่า
"คนที่มีวินัยในตัวเองเท่านั้นถึงจะมีอิสระในชีวิต นิสิต นักศึกษาฝึกงาน ควรมีวินัยในตนเอง จัดสรรเวลาในชีวิตให้ดี วางแผนการเดินทาง การทำงาน การส่งงานให้ตรงเวลา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความไว้วางใจจากพี่ๆ ที่ทำงาน
ชีวิตของคนเราเหมือนโถแก้ว 1 ใบ ที่จะต้องใส่ของ 3 สิ่งในเวลา 24 ชั่วโมง ได้แก่ หินก้อนใหญ่ แทนสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต กรวด แทนสิ่งที่สำคัญรองลงมา และทราย แทนสิ่งที่ไม่สำคัญในชีวิต
ถ้าเราใส่ทรายลงไปในโถแก้วก่อน เช่น เล่นเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ แล้วค่อยใส่กรวดและหิน เราอาจไม่มีที่ว่างเหลือสำหรับหิน คือ อาจไม่มีเวลาในการดูแลสุขภาพ การอ่านหนังสือ การหาความรู้เพิ่มเติม
แต่ถ้าเราใส่หินก่อน ตามด้วยกรวดและทราย กรวดจะแทรกตามช่องว่างของหิน และทรายก็สามารถแทรกลงในช่องว่างที่เหลือได้ครบหมด ดังนั้น เราต้องกำหนดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต และจัดลำดับความสำคัญให้ดี"
-------------------------------------
อ้างอิง : Actitime, Balancedaction, Linkedin