เรื่องเล็กๆ แบบไหน...ที่“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”ทำได้เลย

เรื่องเล็กๆ แบบไหน...ที่“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”ทำได้เลย

ตื่นตี 4 ไปออกกำลังกาย...เป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เชื่อว่า ถ้าบริหารเวลาดีๆ ยุ่งแค่ไหน ก็ทำได้ ไม่ได้ยากเกินไป

ถ้าไม่คุยกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 8 เรื่องการบ้าน การเมือง การสมัครผู้ว่าฯกทม. ยังมีเรื่องใดคุยกันได้อีก...

ด้วยเวลาจำกัดในการสนทนา เราคุยกันเรื่องหนังสือ ชีวิต แรงบันดาลใจ และเรื่องเล่าแบบชัชชาติ

อย่างไรก็ตาม คงต้องเฉียดๆ เรื่องนโยบายการชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.บ้าง ไม่มากก็น้อย "จุดประกายทอล์ค" คงไม่ร่ายยาวประวัติชีวิตและผลงาน แต่ขอเล่าสักนิด...

ก่อนหน้านี้ ชัชชาติ เคยเป็นทั้งผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และซีอีโอบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

 

“ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตได้ ต้องเริ่มจากความคิด ถ้าเปลี่ยนความคิดไม่ได้ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนอย่างอื่นในชีวิต” บทสนทนาสั้นๆ ที่บอกความเป็นชัชชาติได้ระดับหนึ่ง

เมื่อถามว่า ดูเหมือนจะเป็นคนคิดบวก ชัชชาติ บอกว่า  การคิดลบ บางทีก็มีประโยชน์ ทำให้เราเตรียมใจกับเรื่องแย่ๆ ได้ และอีกหลายเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องคิดบวกเสมอไป

และนี่คือ เรื่องเล่าแบบชัชชาติ และนำไปสู่นโยบายแบบเส้นเลือดฝอย เรื่องเล็กๆ ที่ทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องใช้งบเยอะ ขอเพียงมีวิธีจัดการ

เรื่องเล็กๆ แบบไหน...ที่“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”ทำได้เลย

  • ในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ขอถามสักนิด...จะมีการปราศรัยบนเวทีไหม

คงทำ ไม่ใหญ่ 200-300 คน แล้วถ่ายทอดทางออนไลน์ เดี๋ยวนี้ใครจะมานั่งฟังเป็นพันๆ คน ส่วนเรื่องนี้จะทำวันไหนยังไม่รู้ แผนงานทีมเราวันต่อวัน คงหาสถานที่เอกชน ไม่อยากขออนุญาตหน่วยงานรัฐ วุ่นวาย

  • แรงบันดาลอะไรที่ทำให้คุณอยากทำเพื่อสังคม

จริงๆ แล้วผมไม่ได้อยากทำเพื่อสังคม แต่ผมอยากทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ลูกผมพิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด 

ผมเห็นเลยว่า คนที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ มันไม่ง่าย โดยเฉพาะคนที่มีข้อจำกัดในเรื่องรายได้ ทุกคนต้องมีหน้าที่ดูแลลูก ถ้าเราช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีได้ ก็คือความสุข

ตอนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ผมเคยไปเดินแถวรถไฟตลิ่งชัน ชุมชนโดนไล่ที่ ผมเห็นเด็กสองขวบนั่งอาบน้ำ และไม่มีใครดูแล

เด็กคนนี้ก็ไม่ต่างจากลูกเรา พ่อแม่ก็รักลูก เหมือนเรารักลูก  ถ้าเขาต้องอยู่ในภาวะที่ลำบาก มีช่วงชีวิตที่หายไป ถ้าเราทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น มันจะดีมากๆ

  • คิดแบบนี้มานานหรือยังคะ

ก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้คิด ลั้ลลาไม่สนใจคนอื่น พอเจอเรื่องหนักๆ ในชีวิต ลูกมีปัญหา รู้เลยว่า ชีวิตมันไม่ง่าย ก็เริ่มมองคนที่ลำบาก ค่อยพัฒนาเรื่องเหล่านี้ เข้ามาในชีวิต

  • เห็นบอกว่า เมื่อไม่นานคุณเพิ่งไปอเมริกา เยี่ยมลูกชาย?

ตอนผมไปส่งลูกที่อเมริกา ไปเห็นป้ายหาเสียงของประธานาธิบดีไบเดน เป็นป้ายเล็กๆ แล้วทำไมต้องทำป้ายใหญ่ๆ ที่สนุกคือ คิดแล้วทำ ไม่ต้องผ่านขั้นตอน

เรื่องเล็กๆ แบบไหน...ที่“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”ทำได้เลย

  • ตอนนี้ลูกชายใช้ชีวิตปกติหรือยังคะ

เรียนจบปริญญาตรี ด้านประวัติศาสตร์ อายุ 21-22 ปี เขาชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบการคิดคำนวณ ตอนนี้ลูกผมเกือบปกติแล้ว แต่เวลานอน เขาต้องถอดหูฟังออก ถ้าเกิดไฟไหม้หรือเรื่องอะไร เขาจะไม่ได้ยินเลย 

ตอนนั้นถ้าคุณไม่เพียรพยายามช่วยพัฒนาลูก และพยายามหาหมอผ่าตัดให้ ตอนนี้ลูกจะเป็นอย่างไร

คงต้องใช้ภาษามือสื่อสาร เพราะเขาไม่ได้ยินเสียงเลย คงมีข้อจำกัดในการสื่อสาร ต้องเรียนภาษามือเพิ่ม แต่ตอนนี้เขาฟังได้ยินแล้ว ไม่มีอะไรปิดกั้นการเรียนรู้ของเขา เขาหาข้อมูลเองได้

  • ผ่านความยากลำบากในการดูแลลูกมาได้อย่างไร 

เป็นช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตเลย มีคนเคยถามผมว่า ความเป็นผู้นำของผม อยู่ในช่วงไหนของชีวิต ผมบอกเลย ช่วงที่ดูแลลูกนี่แหละ มันยิ่งใหญ่กว่าการเป็นรัฐมนตรีหรือซีอีโอบริษัท

จริงๆ แล้วการเป็นผู้นำสำหรับผม ไม่ใช่การเป็นรัฐมนตรี แต่เป็นการนำชีวิต นำครอบครัว ดูแลลูกให้ดี เราต้องนำชีวิตตัวเองให้ได้ 

ก่อนจะไปนำชีวิตคนอื่น อย่างน้อยๆ ลูกที่มีปัญหาเรื่องหู ก็พูดได้ เป็นความภูมิใจที่สุดแล้ว ทำให้เรามีสมาธิดูแลงานบริษัท หรือเรื่องอื่นๆ ได้

  • ชอบที่จะใช้ชีวิตเรียบง่าย ?

ผมง่ายๆ ขึ้นรถไฟฟ้า นั่งมอเตอร์ไซค์ ผมไม่ได้ติดดินมากกว่าคนอื่นนะ เพียงแต่คนที่มีตำแหน่งซีอีโอ ไม่ทำแบบนี้ ผมก็เหมือนคนกรุงเทพฯจำนวนมาก ยังนั่งรถไฟฟ้า และมอเตอร์ไซค์ เพราะมันสะดวก

  • คุณส่งต่อแรงบันดาลใจดีๆ ให้คนอื่นอย่างไร ?

ผมเป็นคนชอบคุย ชอบฟังปัญหาคนอื่น และอ่านหนังสือเยอะ ทำให้เห็นหลายมุมมองในการพัฒนา เรื่องอ่านหนังสือสำคัญ ในงานสัปดาห์หนังสือ ผมว่าจะไปเลือกหนังสือ แต่ไม่ได้ไปไหนเลย ซื้อหนังสือสิบนาที อีกสี่ชั่วโมงมีคนขอถ่ายรูป 

มีคนถามว่า ชอบหนังสืออะไร ผมขอแนะนำ Think Again คิดแล้ว, คิดอีก ผมเป็นคนเขียนคำนำ แนวคิดประมาณว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตได้ ต้องเริ่มจากความคิด ถ้าเปลี่ยนความคิดไม่ได้ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนอย่างอื่นในชีวิต จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ปัญหาคือ เรายึดมั่นกับความคิดเดิม การสร้างสังคมก็ต้องคิดใหม่ ถ้าคิดใหม่ไม่ทัน สุดท้ายอาจตกขบวน

หนังสือเล่มนี้เขียนดีมาก Adam Grant ศาสตราจารย์ด้าน organizational psychology แห่ง Wharton เขียน ผมอ่านผลงานมาตลอด อีกอย่าง การเปลี่ยนแปลงความคิดตัวเอง ให้ยำเกรงในความไม่รู้ และให้ถ่อมตนกับความรู้ อย่างผมก็คิดว่า ตัวเองโง่ ก็ต้องอ่านหนังสือหาข้อมูลเพิ่ม อีกอย่างไม่มีใครเปลี่ยนใจคนอื่นได้ นอกจากตัวเขาจะเปลี่ยนเอง

ดังนั้นเวลาเพื่อนคิดเห็นต่างจากเรา อย่าอารมณ์เสีย  ถ้าจะเปลี่ยนใจเพื่อน อย่าพูดถึงจุดอ่อนเขา นั่นเหมือนการฟันดาบ ให้ทำเหมือนการเต้นรำ

เรื่องเล็กๆ แบบไหน...ที่“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”ทำได้เลย

  • ปกติชอบอ่านหนังสือประเภทไหน

ชอบหนังสือที่อ่านแล้วสนุก เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา อย่างเรื่อง think again อ่านแล้วตอบโจทย์ชีวิตได้ หนังสือที่ผมอ่านจบ จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับสร้างเป้าหมายและมายเซ็ท

  • ช่วยขยายความนโยบาย“ไม่ขายฝัน ทำจริง แตะต้องชีวิตได้”สักนิด ?  

หลักการทำนโยบายคือ ต้องเข้าใจชีวิตคนที่เราจะไปรับใช้เขา ถ้าอยู่ในห้องแอร์แล้วคิดนโยบายเพ้อฝัน ก็ไม่ตอบโจทย์ เราต้องออกไปคุยกับชาวบ้าน

จริงๆ แล้วคนไม่ต้องการโครงการอะไรที่หรูหรา ชาวบ้านที่ลาดกระบัง มีถนนเล็กๆ เส้นหนึ่ง เขาแค่อยากได้ถนนที่เลนกว้างขึ้นหนึ่งเมตร เพื่อให้ลูกๆ ขี่จักรยานไปโรงเรียนได้

  • แล้วเรื่องปลูกต้นไม้ล้านต้น นี่ทำได้จริงหรือ

ต้องย่อยก่อนว่า กทม.มี 50 เขต ปีหนึ่งปลูก 250,000 ต้น เขตละ 5,000 ต้นต่อปี 50 สัปดาห์ปลูกแค่เขตละ 100 ต้น วันอาทิตย์ไปปลูกต้นไม้กัน ถ้าแบ่งย่อยๆ ก็ทำได้ หัวใจคือ เราต้องมีแผนแอคชั่นที่ทำได้ ไม่ยาก ผมบอกทีมงานที่เป็นอาสาสมัครว่า ทำแล้วต้องสร้างความหวัง เราจะเป็นผู้นำความหวังของคนกรุงเทพฯ เราจะเดินไปด้วยกัน

มีคนบอกว่า อาจารย์ชัชชาติสั่งงานทีมงานเช้ามาก ทำให้คนรุ่นใหม่ ต้องปรับตัวตื่นเร็วขึ้น ?

ผมออกไปวิ่งตอนเช้า ตี 4 วิ่งเสร็จสมองแล่น คิดอะไรได้ก็รีบแจ้งทีมงาน เพราะผมนอนเร็ว 4 ทุ่ม ตื่นตี 3-4 จากนั้นตอบอีเมล อ่านหนังสือ ดูข่าว  

ผมว่านี่คือ หินก้อนใหญ่ในชีวิต ชีวิตคนเราเหมือนโถแก้วใบหนึ่ง ทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน หน้าที่เราคือ เอาของสามสิ่งใส่เข้าไป หินก้อนใหญ่สำคัญที่สุด รองลงมากรวด และทราย ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระ

หลายๆ ครั้งเราเอาทรายไปจองที่ไว้ก่อน สุดท้ายหินที่เราบอกว่าสำคัญ ไม่มีที่ใส่ ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ไม่มีเวลาให้ครอบครัว

แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเราใส่หินไปจองที่ก่อน สุดท้ายกรวดกับทรายก็มีที่แซก  สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ตื่นขึ้นมาทำให้จบก่อน ทำเสร็จสมองปลอดโปร่ง ก็ดูแลครอบครัว ทำงานได้

  • แสดงว่าเป็นคนมีระเบียบวินัยมาก ?

หนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า ระเบียบวินัยมีเฉพาะในบางเรื่องก็พอ ไม่ต้องมีทุกเรื่อง ไม่อย่างนั้นเหนื่อย  เรื่องการใช้เวลา ผมค่อนข้างมีระเบียบวินัย เป็นหัวใจสำคัญในการใช้ชีวิต เวลาไปพูดที่ไหน ผมต้องเตรียมข้อมูลด้วยตัวเอง เรื่องระเบียบในบางมิติผมก็เลอะเทอะ อย่างโต๊ะทำงานรก เสื้อผ้าไม่ค่อยเป็นระเบียบ

  • ในความคิดของคุณ มีใครที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีมากกว่าคุณ

ผมเจอคนที่แข็งแกร่งกว่าผมเยอะ น้องอ๋อมแอ๋ม ในชุมชนคลองเตย คนพวกนี้แข็งแกร่งมาก บริหารจัดการโควิดระบาดในสถานการณ์ที่ไม่มีทรัพยากร สามารถนำชุมชนผ่านโควิดมาได้ คนที่แข็งแกร่งจริงๆ ในโลกคือ คนที่ดูแลลูกพิการซ้ำซ้อนในช่วงโควิด ผมว่าพวกเขาแข็งแกร่งมาก

ผมเห็นเลยว่า พ่อแม่ที่มีลูกพิการซ้ำซ้อน ชีวิตมีปัญหาอยู่แล้ว พอโควิดมา ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำชัดขึ้น ทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่แถวทองหล่อ มีเด็กๆ จำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา  

  • ถ้าไม่ได้เป็นผู้ว่าฯกทม. จะกลับไปทำงานบริษัทอีกไหม

ก็กลับไปทำธุรกิจแบบเดิม ต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัว งานช่วยสังคมก็ต้องทำต่อไป

  • อาสาสมัครคนรุ่นใหม่ที่มาช่วยหาเสียง ทำงานเป็นอย่างไรบ้างคะ

ผมเรียนรู้จากพวกเขา ไม่ใช่เขาเรียนรู้จากผม ยกตัวอย่าง ป้ายเล็กๆ ที่ใช้หาเสียง วิธีการสื่อสาร การกำหนดแคมเปญ จะแต่งเพลงและเขียนเฟซบุ๊คยังไง พวกเขาช่วยแนะนำ

เด็กพวกนี้ผมชอบอย่าง คือ กล้า เมื่อวานเขาบอกว่า ทำไมช่วงนี้อาจารย์ดุจัง เขากล้าวิจารณ์เรา เด็กส่วนใหญ่ไม่กล้าวิจารณ์ผู้ใหญ่ แต่บรรยากาศออฟฟิศเรา เน้นว่าห้ามเก็บความในใจ มีอะไรก็พูดออกมา เรามีอาสาสมัครวงใน 30-40 คน

เรื่องเล็กๆ แบบไหน...ที่“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”ทำได้เลย

  • เปิดกว้างทางความคิด ? 

เรื่องเปิดกว้างทางความคิดสำคัญนะ เหมือนหนังสือที่ผมพูด Think again จงดีใจเมื่อรู้ว่าตัวเองคิดผิด จะได้ปรับปรุงตัว

  • ออกกำลังกายมากี่ปีแล้วคะ

กว่า 30 ปี ตั้งแต่เรียนหนังสือ ผมชอบวิ่ง เพราะแก้เครียดได้ เวลาวิ่ง ไม่มีโทรศัพท์เข้า การวิ่งก็คือ นั่งสมาธิ อยู่กับลมหายใจเข้าออก ผมวิ่งวันละ 1 ชั่วโมงครึ่ง บางวันผมก็ขี่จักรยาน เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อคนละส่วน

  •  ยังมีคนทัก"อาจารย์ชัชชาติ"กับ"คุณหมอฉันชาย"ผิดอีกไหม

ทักผิดบ่อย นิสัยผมไม่เหมือนพี่ชาย และไม่จำเป็นต้องเหมือน เขาก็เป็นห่วงผมและเตือนผม เขาถามผมว่า สมัครเป็นผู้ว่าฯกทม.นี่อิสระจริงหรือเปล่า

 ขนาดเราสองคนเป็นฝาแฝดกัน ยังเห็นไม่ตรงกันเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แล้วผมจะไปกังวลกับคนอื่นทำไม ไม่ต้องไปเปลี่ยนความคิดเขา แต่เคารพความเห็นซึ่งกันและกัน

  • หลายคนมองว่า ชัชชาติ เป็นคนคิดบวก เคยคิดลบบ้างไหม

มีบ้าง บางทีกังวลเรื่องลูก คิดไปไกลว่าเขาจะอยู่ต่อไปอย่างไร ผมมองว่า คิดลบไม่ใช่เรื่องแปลก มีหนังสือเล่มหนึ่งของ จิม คอลลินส์ เป็นหนังสือดีมาก เขาเล่าถึงพลทหารอเมริกาที่โดนยิงและเครื่องบินตก แล้วถูกขังคุกอยู่เวียดนาม ขณะที่คนส่วนใหญ่ตายในคุก แต่เขาเอาชีวิตรอดมาได้

มีคนไปถามว่า ทำไมเขาเอาชีวิตรอดมาได้ เขาบอกว่า ให้มองโลกในแง่ร้าย เพราะบางทีคนมองโลกในแง่ดีมาตลอด พอเหตุการณ์ไม่เป็นอย่างที่คิด ก็ใจสลาย

แต่คนที่มองโลกในแง่ร้าย คือการรับมือกับสิ่งที่แย่ๆ ดังนั้นคิดบวกในบางกรณีก็ดี แต่บางกรณีต้องคิดลบเตรียมไว้ อย่างเรื่องลูก พอเราคิดลบ ก็ต้องมีแผนรองรับ ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลย

เหมือนการบริหารกทม. เราก็ต้องคิดเผื่อไว้ว่า จะเกิดน้ำท่วมไหม จะได้เตรียมรับมือ คิดลบก็มีประโยชน์ ทำให้เราเตรียมใจกับเรื่องแย่ๆ ได้ แต่ต้องสร้างสมดุล

  • ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯกทม.ยืนยันได้ไหมว่าจะทำตามสัญญา

นโยบายที่เราเขียนไว้ 200 ข้อ ไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อผมขึ้นข้อมูลออนไลน์ไปแล้ว ทำได้หรือไม่ได้ ผมต้องบอกความจริง ซึ่งผมคิดว่า ประชาชนรับได้ ถ้าเรามีคำอธิบาย