ย้อนรอยแนวคิด "ปลูกต้นไม้ล้านต้น" ในอดีตสู่ "วันต้นไม้ประจำปี" ในไทย
จากนโยบาย "ปลูกต้นไม้ล้านต้น" ของ ผู้ว่าฯ กทม. ชวนรู้จัก "วันต้นไม้ประจำปี" ที่มีต้นกำเนิดจากประเพณีการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นจากสหรัฐ ที่มีมายาวนานกว่า 100 ปี ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
หนึ่งในนโยบายของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ที่เป็นกระแสฮือฮาไม่น้อยก็คือนโยบาย "ปลูกต้นไม้ล้านต้น" สร้างพื้นที่สีเขียวทั่วกรุงเทพฯ โดยเริ่มกิจกรรมครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา และมีแผนการปลูกต้นไม้ 400 ต้น/เขต/สัปดาห์ เพื่อให้ครบ 1 ล้านต้นภายใน 4 ปี
รู้หรือไม่? แนวคิดและกิจกรรม "ปลูกต้นไม้ล้านต้น" เคยมีมานานแล้วในอดีต เกิดขั้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า "วันต้นไม้ประจำปี" ต่อมาประเทศไทยได้นำแนวคิดนั้นมาปฏิบัติตาม โดยมีการทำกิจกรรมนี้ครั้งแรกในไทยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2481
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จักประวัติความเป็นมาของแนวคิดนี้อีกครั้ง
1. วันต้นไม้ประจำปี เกิดขึ้นครั้งแรก 100 กว่าปีก่อน
วันต้นไม้ประจำปี (Arbor Day) ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว ในสหรัฐอเมริกา โดยนาย J.Sterling Morton เลขาธิการรัฐเนแบรสกา ได้เสนอต่อสภาการเกษตรของรัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา ณ ขณะนั้น ให้สมควรมีวันปลูกต้นไม้ประจำปี ซึ่งต่อมาก็ได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าการรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง
โดยในวันต้นไม้ประจำปีครั้งแรกของโลก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2415 (ค.ศ.1872) มีประชาชนในรัฐเนแบรสกา ร่วมกันปลูกต้นไม้ได้กว่า 1 ล้านต้น และได้ถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อมา หลังจากนั้นรัฐอื่นๆ นำแนวคิดนี้ไปดำเนินการตามด้วย โดยกำหนดวันต้นไม้ประจำปีของแต่ละมลรัฐขึ้นมา
2. วันต้นไม้ประจำปี ได้รับเสียงตอบรับจากทั่วโลก
ต่อมาแนวคิดและกิจกรรมนี้ได้แพร่หลายไปทั่วโลก ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมเผยแพร่กิจกรรมนี้ไม่น้อยกว่า 61 ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศได้กำหนดวันต้นไม้ประจำปีของตนเองขึ้น บางประเทศไม่ได้กำหนดแค่วันเดียว แต่จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ยาวนานขึ้นกลายเป็น "สัปดาห์แห่งการปลูกต้นไม้" เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และเลบานอน เป็นต้น
3. วันต้นไม้ประจำปี "ครั้งแรก" ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2481 กรมป่าไม้ ได้เชิญชวนข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน ร่วมกันปลูกต้นไม้ใน "วันชาติ" ของประเทศไทย ซึ่งในยุคนั้นวันชาติตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน นับเป็นครั้งแรกที่มีการปลูกต้นไม้ตามแบบที่ทำกันในต่างประเทศ ซึ่งเรียกว่า Arbor Day
ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 กรมป่าไม้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในส่วนภูมิภาค เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการจังหวัดและอำเภอ จัดให้มีการปลูกต้นไม้ขึ้นในวันชาติ คือวันที่ 24 มิถุนายน 2484 ถือว่าเป็นวันต้นไม้ประจำปีอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย
4. ครม.เคาะมติ "วันต้นไม้ประจำปีของชาติ" ในไทย
ถัดมาในปี พ.ศ. 2494 ที่ประชุมใหญ่ของ FAO มีมติให้ประเทศสมาชิก จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ประจำปีของแต่ละชาติ แต่กรมป่าไม้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 แล้ว โดยถือเอาวันชาติเป็นวันต้นไม้อยู่แล้ว จึงได้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในขณะนั้น ซึ่งมีมติเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2495 ให้ถือเอาวันชาติ คือวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันต้นไม้ประจำปีของชาติ"
ต่อมา ปี พ.ศ. 2503 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 ให้ยกเลิกวันชาติ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2503 กำหนดให้ วันเข้าพรรษาของทุกปี เป็น "วันต้นไม้ประจำปีของชาติ" แทน
5. วันวิสาขบูชา สู่ วันต้นไม้ประจำปีของชาติ
อย่างไรก็ตามใน ปี พ.ศ. 2532 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีว่า สภาพของฤดูกาล (ณ ขณะนั้น) ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ต้นไม้ที่ปลูกในวันเข้าพรรษา ไม่นานจะเจอสภาวะฝนทิ้งช่วงและขาดแคลนน้ำ ต้นไม้ไม่สามารถตั้งตัวได้ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงขอให้พิจารณาอนุมัติ "วันวิสาขบูชา" ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของฤดูฝน ให้เป็น "วันต้นไม้ประจำปีของชาติ" แทน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2532 เป็นต้นมา
6. ส่อง Tree City พื้นที่สีเขียวเมืองใหญ่ทั่วโลก
ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่มีนโยบาย “ปลูกต้นไม้ล้านต้น” เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชาวกรุงเทพฯ แต่ในเมืองใหญ่ทั่วโลก ก็มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนเมืองเช่นกัน และบางประเทศก็ทำกันมานานแล้ว ปัจจุบันมีโครงการระดับโลกอย่าง Tree Cities of the World เป็นการสำรวจพื้นที่สีเขียวในเมืองผ่านเว็บไซต์แผนที่ ‘Treepedia’ ที่ดึงเอาข้อมูลจาก Google Street View มาคำนวณและประมวลผลเพื่อหาดัชนีมุมมองสีเขียวหรือปริมาณต้นไม้ในเมืองใหญ่ พร้อมจัดมอบรางวัล Tree Cities of the world ให้แก่เมืองต่างๆ ทั่วโลกที่ผ่านเกณฑ์ของโครงการนี้ด้วย
นอกจากเมืองที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Tree Cities of the world แล้ว ก็ยังมีเมืองอื่นๆ อีกมากมายที่มีนโยบายปลูกต้นไม้ แต่อาจจะยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม เราขอยกตัวอย่างเมืองใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมาให้ชมบางแห่ง ดังนี้
- อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์
อัมสเตอร์ดัมเป็นหนึ่งในเมืองที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ในเมืองนี้มีสวนสาธารณะมากกว่า 30 แห่ง ซึ่งล้วนมาจากแผนพัฒนาเมืองที่กำหนดว่า ต้องเพิ่มพื้นที่ให้คนอยู่ร่วมกับต้นไม้ ลดพื้นที่รถยนต์ แต่ไม่ถมคลอง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้สัดส่วน “พื้นที่สีเขียว” ของอัมสเตอร์ดัม ณ ปี ค.ศ. 2020 มีถึง 20.6% ต่อจำนวนประชากร อีกทั้งในปี ค.ศ. 2021 อัมสเตอร์ดัมเคยประกาศว่าจะรื้อถอนที่จอดรถมากกว่า 11,000 แห่งภายในปี ค.ศ. 2025 เพื่อปลูกต้นไม้เพิ่มอีก
- แวนคูเวอร์, แคนาดา
แวนคูเวอร์ เคยได้รับการโหวตว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อปี ค.ศ. 2014 อีกทั้งมีนโยบายสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มขึ้นด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มอีก 150,000 ต้นในเมือง ระหว่างปี ค.ศ. 2010 – 2020 ส่วนในปี ค.ศ. 2021 มีรายงานว่าแวนคูเวอร์มีสวนสาธารณะใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอเมริกาเหนือนั่นคือ ‘Stanley Park’ และมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในเมืองมากถึง 25.9% ต่อจำนวนประชากร
- เซาเปาโล, บราซิล
เซาเปาโลเป็นเมืองใหญ่ของประเทศบราซิลที่เคยมีจำนวนประชากรหนาแน่นและเผชิญกับปัญหามลพิษอย่างหนัก ต่อมาได้เกิดนโยบายในการดูแลผังเมืองและลดมลพิษให้ชาวเมือง โดยในปี ค.ศ. 2017 João Doria นายกเทศมนตรี ณ ขณะนั้น ได้ออกนโยบายปลูกต้นไม้ในเมือง อนุมัติให้มี "ทางเดินสีเขียว" ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมทั้งจัดทำ “สวนแนวตั้ง” ตลอดข้างถนน Avenida 23 de Maio ที่มีระยะทาง 3.5 กม. ซึ่งเป็นถนนสิบเลนที่คับคั่งในใจกลางเมือง คาดว่าต้นไม้เหล่านั้นจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 3,300 ตัน ในปี ค.ศ. 2021 เซาเปาโลได้รับการยอมรับว่าเป็น Tree Cities of the world มีต้นไม้ใหญ่ในเมืองถึง 13,869 ต้น
- สหรัฐอเมริกา
หลายเมืองในสหรัฐถูกยกย่องให้เป็น Tree Cities of the world ไม่ว่าจะเป็นเมืองแซคราเมนโต รัฐแคลิฟอร์เนีย, ไมอามีและแทมปา รัฐฟลอริดา, ซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน, นิวยอร์กซิตี้ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็น Tree City ที่มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เป็นปอดของคนเมืองได้อย่างดี ยกตัวอย่างเช่น ‘แซคราเมนโต’ มีนโยบายมุ่งสู่เมืองสีเขียวมาตั้งแต่ปี ค.ศ 2017 ภายใต้แนวคิด ‘Sac-to-ZERO’ นอกจากนี้เมืองแซคราเมนโต ยังถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีความหนาแน่นของพื้นที่สีเขียวเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียว 23.6% ต่อประชากร
- สิงคโปร์
สิงคโปร์ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ทั้งความสะอาด ความเป็นระเบียบ และคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2030 สิงคโปร์จะขยายพื้นที่สีเขียวโดยรวมให้มากขึ้น และทำให้ผู้อยู่อาศัย 85% อยู่ใกล้สวนสาธารณะไม่เกิน 400 เมตร ในปี ค.ศ. 2020 สิงคโปร์มีพื้นที่สาธารณะ 350 แห่ง และเป็นเมืองที่มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเป็นอันดับ 2 ของโลก มากถึง 29.3% ต่อจำนวนประชากร
- ปักกิ่ง, จีน
อีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่น่าจับตามองคือ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่มีนโยบายปลูกต้นไม้เพื่อฟอกอากาศให้ชาวเมืองมานานหลายปีแล้ว โดย สี จิ้นผิง ผู้นำของจีนได้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้เป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่การประชุมแห่งชาติ CPC ครั้งที่ 18 ในปี 2012 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2022 มีรายงานว่า ณ สิ้นปี 2020 ที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ของจีนขยายมากขึ้นอยู่ที่ 220 ล้านเฮกตาร์ โดยมีอัตราการครอบคลุมป่า 23% และกักเก็บคาร์บอนในป่า 9.19 พันล้านตัน จีนตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2030 และบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2060
- กรุงเทพฯ, ไทย
สำหรับประเทศไทย ก็เริ่มดำเนินการตามนโยบาย “ปลูกต้นไม้ล้านต้น” ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด โดยเริ่มกิจกรรมครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา และมีแผนการปลูกต้นไม้ 400 ต้น/เขต/สัปดาห์ เพื่อให้ครบ 1 ล้านต้นภายใน 4 ปี
ปัจจุบันมีรายงานการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ (ณ วันที่ 24/06/2022) ระบุว่า พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 210,214,908.45 ตร.ม. เมื่อนำมาคำนวณกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ จำนวน 5,588,222 คน พบว่ามีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร (รายเขต) อยู่ที่ 37.62 ตร.ม./คน
----------------------------------------
อ้างอิง : กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติฯ, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, chadchart, treecitiesoftheworld.org, urbancreature, dgb.earth, CGTN News, ระบบติดตามพื้นที่สีเขียวกรุงเทพฯ