"กัญชา" มีทั้งคุณและโทษ ใช้ประโยชน์อย่างระวัง
เมื่อไม่นานมานี้ "กัญชา" ถูกปลดล็อกให้เป็นสิ่งถูกกฎหมายใช้ทางการแพทย์ ทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงคุณและโทษกันอย่างมาก ส่วนจะมีวิธีการใช้อย่างไรให้เหมาะสม ติดตามได้จากบทความนี้
กลายเป็นประเด็นสุดร้อนชั่วโมงนี้ หลังกระทรวงสาธารณสุข ได้ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้กระแสเรื่องกัญชากำลังเป็นที่สนใจในสังคมอย่างมาก มีการถกเถียงถึงคุณและโทษ รวมถึง "ความเหมาะสม" ในการนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ในมุมมองหนึ่ง "กัญชา" ถือเป็นสมุนไพรมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินความจำเป็น หรือมีสาร THC เกิน 0.2% อาจทำให้เกิดอาการวิกฤติที่ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจของประเทศได้
เรื่องนี้ ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กัญชา มีสาระสำคัญหลากหลายชนิด เช่น แคนนาบินอยด์ นำมาใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดของโรค ซึ่งจากคำแนะนำในการใช้กัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ปี 2564 โดยกรมการแพทย์ ระบุว่า
กัญชารักษา 6 โรค/ภาวะ ได้แก่
- ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
- โรคลมชักที่รักษายาก
- ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- ภาวะปวดประสาท
- ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
- เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานเชิงประจักษ์ในการช่วยควบคุมอาการ แต่ไม่ได้รักษาให้โรคหายขาดอีก 4 โรค
- โรคพาร์กินสัน
- รคอัลไซเมอร์
- โรควิตกกังวลทั่วไป
- โรคปลอกประสาทอักเสบ
ซึ่งควรใช้ตามแพทย์สั่ง ประกอบกับแจ้งยาที่ใช้ส่วนตัว พร้อมศึกษาค้นหาข้อมูลของผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้ที่ถูกต้อง และเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า การปลดล็อก กัญชง-กัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เชื่อว่าได้ผ่านการกลั่นกรองจากทุกฝ่ายครบถ้วนแล้ว แต่การที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติกัญชา-กัญชง ควบคุมเรื่องนี้โดยเฉพาะ จึงเป็นห่วงความปลอดภัยว่าจะถูกใช้ในเชิงสันทนาการ หรือนำไปซื้อ-ขายแบบทั่วไปในทางที่ผิดและอันตราย เพราะประชาชนสามารถจดแจ้งปลูกกัญชา-กัญชง ผ่านแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" หรือเว็บไซต์ ปลูกกัญ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อย่างเสรี
ผลการสำรวจประชากร 5,000 คน ตั้งแต่ ปี 2563–2565 โดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) พบการใช้กัญชาในช่วงโควิด-19 มากขึ้น ขณะที่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นลดลง คาดการณ์ว่า มีผลมาจากการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ระลอกแรก โดยพบผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพิ่มขึ้น 2 เท่าในปี 2564 และปี 2565 ยังพบการใช้สูงต่อเนื่อง และพบว่าเมื่อออกกฎหมายให้นำกัญชาบางส่วนมาใช้ได้ เช่น นำใบมาใส่อาหาร ทำให้เกิดการใช้กัญชา 2 ลักษณะ คือ การดื่ม หรือผสมเครื่องดื่ม (Oral Use) และการสูบ (Smoking Use) โดยพบการดื่มมากขึ้นเพราะกฎหมายอนุญาตแล้ว และหากจำแนกการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ พบว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่หรือวัยกลางคน นิยมใช้กัญชาในรูปแบบของการกินดื่ม ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี พบอัตราการสูบมากถึง 2 เท่า
"ในทางการแพทย์ไม่อยากให้สารจากกัญชาเข้าไปสู่ร่างกายโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้แนะนำให้ใช้จำนวนน้อยที่สุด ขณะที่อาหารมีกฎหมายควบคุม เพียงแต่ขอให้ปฏิบัติตาม เช่น กำหนดให้ใส่ใบกัญชา 1-2 ใบ ก็ใส่แค่นั้น อย่าใส่เกิน เพราะอาจได้รับสารมึนเมาเกินขนาด และต้องระวังการใช้ความร้อนในการปรุงด้วย เพราะมีผลต่อการสกัดให้สาร THC เข้มข้นเกิน 0.2% ซึ่งผิดกฎหมาย และย้ำว่าประชาชนอย่าใช้ช่อดอกมาทำอาหารเพราะผิดกฎหมาย"
เมื่อมีการปลดล็อกกัญชาแล้วมองว่า ไม่ว่ากัญชาจะมีสถานะไหน ถูกหรือผิดกฎหมาย กัญชาก็เป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่มีสารที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือ สาร THC มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา คนที่อยากรู้อยากลองต้องระมัดระวัง เช่น การรับประทานอาหารอย่าบริโภคมากเกินไป ส่วนการสูบไม่แนะนำเพราะจะเกิดผลกระทบกับชีวิต หากได้รับสาร THC มากไป
รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม และนักวิชาการผู้ขับเคลื่อนการเข้าถึงยาในประเทศไทย กล่าวว่า สภาเภสัชกรรม ร่วมกับศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สนับสนุน โดย สสส. ได้จัดการความรู้เกี่ยวกับกัญชา สรุปว่า กัญชามีประโยชน์ทางแพทย์ และสรรพคุณรักษาอาการต่างๆ หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งประเทศไทยมีข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการใช้กัญชา เพื่อควบคุมการบริโภคกัญชาอย่างเหมาะสม อาทิ ผู้ผลิตต้องได้รับใบอนุญาต สถานที่ผลิตต้องแยกออกจากการผลิตอาหารทั่วไป เพื่อป้องกันการปนเปื้อน นอกจากนี้ ต้องระบุส่วนประกอบอย่างชัดเจน ดังนี้
- เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน
- หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที
- ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน
- อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
- แสดงปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลต่อหน่วยบรรจุ พร้อมระบุ มีสาร THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม ต่อหน่วยบรรจุ
- ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ
- ระบุคำว่า "กัญชา" หรือ "กัญชง" ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหาร หรือกำกับชื่ออาหาร การใช้กัญชาเป็นอาหาร
ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ และความปลอดภัยของประชาชนในการบริโภคกัญชา แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือผู้บริโภคในแต่ละวัย มีสภาวะของร่างกายที่แตกต่างกัน อาทิ เด็กอายุ 8 เดือนถึง 12 ปี ที่รับประทานกัญชา จะมีอาการซึม เดินเซ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ใหญ่วัย 18-25 ปี มีแนวโน้มบริโภคกัญชามากขึ้น ทำให้มีความสามารถในการจำและการรับรู้ลดลง บกพร่องในด้านความจำ เกิดความวิตกกังวล เกิดภาวะเฉื่อยเนือย หรือในกลุ่มผู้สูงอายุ จะพบอาการสมองเสื่อม เสี่ยงต่อการหกล้ม เนื่องจากเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เป็นต้น
"ส่วนการใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางก็เป็นที่นิยม จากงานวิจัยการใช้กัญชาสำหรับผิวหนัง พบประโยชน์เช่น ลดการอักเสบของผิว เร่งการสมานของบาดแผล บรรเทาอาการคัน ในโรคสะเก็ดเงิน กลาก ผื่นภูมิแพ้ และป้องกันการเกิดแผลเป็น ลดสิวอักเสบ โดยได้รับการอนุญาตในรูปแบบ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิวหน้า โลชันบำรุงผิว ผงขัดผิว ลิปสติก ซึ่งผู้ผลิตจะต้องมีการระบุข้อความคำเตือน เช่นเดียวกับอาหาร อาทิ 1. ห้ามรับประทาน 2. ผลิตภัณฑ์อาจก่อให้เกิดการแพ้หรืออาจระคายเคืองผิวหนังได้ 3. หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร" รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวเสริม