ผู้ป่วย และคนกลุ่มไหน ไม่ควรใช้ "กัญชา"

ผู้ป่วย และคนกลุ่มไหน ไม่ควรใช้ "กัญชา"

นอกจากกลุ่มเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี คนท้อง และผู้หญิงให้นมบุตร ยังมีคนป่วยบางกลุ่ม รวมถึงผู้สูงอายุ ไม่ควรใช้ "กัญชา" เพื่อรักษาโรค เนื่องจากบางโรคยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน  

แม้สารสกัดจากกัญชาจะใช้รักษาได้หลายโรค แต่ไม่ใช่ทุกโรค บางโรคยังมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอ และยังไม่มีงานวิจัยรับรอง โดยเฉพาะสารสกัดจากกัญชาที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคหรือภาวะทางระบบประสาท 

อัลไซเมอร์ และสมองเสื่อม

ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนในมนุษย์ว่า กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาสามารถใช้ป้องกันชะลอโรคสมองเสื่อม หรือรักษาอาการอันเนื่องมาจากการเสื่อมของสมอง เช่น ความผิดปกติด้านการรู้คิด และอาการทางประสาทจิตเวชได้

โรคพาร์กินสัน

ข้อมูลในปัจจุบันพบว่า กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาไม่สามารถใช้รักษาอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ ซึ่งเป็นอาการหลักของโรคพาร์กินสัน เช่น การเคลื่อนไหวช้า หรืออาการยุกยิกจากยาเลโวโดปาได้

อย่างไรก็ตามบางการศึกษา พบว่าอาจช่วยบรรเทาอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น อาการปวด อาการผิดปกติของการนอนหลับ ที่พบในโรคพาร์กินสัน

โรคลมชักชนิดอื่นๆ 

นอกจากโรคลมชักชนิด ดราเว่ และเลนนอกซ์ แกสโตท์ในเด็ก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยากันชักในผู้ใหญ่ ข้อมูลในมนุษย์ยังไม่มีหลักฐานมากพอ จึงไม่ควรใช้ 

ยกเว้นในกรณีที่อาการชักไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชักมาตรฐาน และได้รับการรักษาโดยกุมารแพทย์ประสาทวิทยาหรือประสาทแพทย์อาจพิจารณาใช้รักษาร่วมในรูปแบบของการศึกษาวิจัย ที่มีการติดตามผลการรักษา และอาการไม่พึงประสงค์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้สารสกัดจากกัญชาอาจมีผลต่อระดับยากันชักที่ใช้ร่วมอยู่ รวมทั้งอาจมีผลต่อการทำงานของตับเมื่อใช้ร่วมกับยากันชักบางชนิด

โรคปวดศีรษะปฐมภูมิ เช่น ไมเกรน

ยังไม่มีหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะบ่งชี้ว่าสารสกัดจากกัญชามีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดหรือลดความถี่ในการปวดในโรคปวดศีรษะปฐมภูมิได้ดีกว่าการรักษามาตรฐาน

ความผิดปกติเส้นประสาทส่วนปลาย

ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่แสดงว่าการใช้สารสกัดจากกัญชา ดีกว่าการรักษามาตรฐานในปัจจุบันในการลดความปวดปลายประสาท ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดที่เกิดตามหลังเส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ ปวดปลายประสาทจากยาเคมีบำบัด หรือจากเบาหวาน แต่มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากกว่า

จึงไม่แนะนำให้ใช้เป็นการรักษาทดแทนการรักษามาตรฐานที่มีอยู่แล้ว ยกเว้นในกรณีที่การรักษาด้วยยามาตรฐานไม่ได้ผลหรือเกิดผลข้างเคียง อาจพิจารณาการใช้สารสกัดจากกัญชา ในรูปแบบของการวิจัยที่มีประสาทแพทย์เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

โรคนอนไม่หลับ

กัญชามีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการเคลิ้ม และง่วง แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานอย่างเพียงพอถึงประโยชน์ของการใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการนอนหลับ นอกจากนี้ยังมีรายงานผลข้างเคียงจากกัญชาได้แก่ การเกิดภาพหลอนจากการได้รับสาร THC

กลุ่มคนที่ไม่ควรใช้กัญชา

นอกจากเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี คนท้อง และผู้หญิงให้นมบุตร ไม่อนุญาตให้ใช้กัญชาแล้ว ยังมีกลุ่มเหล่านี้อีกคือ 

-กลุ่มสูงอายุ

มีการศึกษาถึงผลข้างเคียงของสารสกัดจากกัญชา พบว่า มีผลต่อการเดิน และการทรงตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม รบกวนความจำระยะสั้น และการตอบสนองทางอารมณ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจเสียชีวิตกะทันหัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเพิ่มความเสี่ยงของอาการทางจิต รวมทั้งการฆ่าตัวตาย

-ผู้ป่วยอาการทางจิต 

เนื่องจากกัญชาจะทำให้อาการทางจิตเป็นมากขึ้น และมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าการใช้กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต รวมทั้งผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวที่มีอาการป่วยด้วยโรคทางจิต

-หัวใจ และหลอดเลือด 

ทั้งโรคหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ควรใช้กัญชา และสารสกัดจากกัญชา เนื่องจากมีผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ และทำให้มีการหดตัวของหลอดเลือด เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง และมีข้อมูลว่ากัญชาเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

...........

อ้างอิง : 

-สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย

-สมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์